All About Japan

หาเพื่อนญี่ปุ่นกัน : มารยาทโต๊ะอาหารแบบญี่ปุ่น

อาหาร & เครื่องดื่ม
หาเพื่อนญี่ปุ่นกัน : มารยาทโต๊ะอาหารแบบญี่ปุ่น

แต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมที่ต่างกันไป ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญเรื่องขนบธรรมเนียมและมารยาทเป็นอย่างมาก เราจึงควรเรียนรู้และปฏิบัติตามของเขาเพื่อเป็นการให้เกียรติและเข้ากันได้ดีอย่างไม่ต้องอึดอัดใจ

เรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารญี่ปุ่นนั้นยังมีหลายคนที่ปฏิบัติด้วยความเข้าใจผิด ดังนั้นจึงถือโอกาสมาแนะนำมารยาททั่วไปที่พึงปฏิบัติบนโต๊ะอาหาร

มารยาทบนโต๊ะอาหาร

1 วิธีใช้ตะเกียบที่ถูกต้อง

อุปกรณ์รับประทานอาหารที่สำคัญของญี่ปุ่นคือตะเกียบ จึงควรใช้ให้ถูกต้องและพึงระวังว่าไม่ควรใช้ตะเกียบเหมือนเป็นช้อน มีด หรือส้อม วิธีใช้ตะเกียบและข้อควรระวังง่ายๆ มีดังนี้

1 ไม่ควรใช้ตะเกียบเขี่ยเพื่อเลื่อนจานชามให้มาใกล้ตัว
2 ไม่ปักตะเกียบบนข้าวเพราะถือเป็นการให้อาหารคนตาย
3 ระหว่างรับประทานหากต้องการพักให้วางตะเกียบลงบนที่วางตะเกียบ
4 หากไม่มีให้พับซองตะเกียบเพื่อใช้วางแทน
5 และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วให้วางตะเกียบที่ด้านข้างเยื้องไปข้างหน้าจะเป็นการสุภาพที่สุด

2 ห้ามเอาศอกเท้าโต๊ะ

เวลารับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับคนญี่ปุ่น ควรนั่งอย่างสำรวม ไม่เอาศอกเท้าบนโต๊ะเพราะเป็นการทำเสียมารยาท ควรถือชามข้าวหรือถ้วยซุปขณะรับประทานอาหารจึงเป็นมารยาทที่ถูกต้อง โดยยกชามหรือถ้วยขึ้นมาอยู่ในระดับอก

3 ผ้าเย็นสำหรับเช็ดมือเท่านั้น

ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการเสิร์ฟผ้าเย็น เป็นผ้าขนหนูผืนเล็กที่แช่ไว้ในตู้เย็นสำหรับเช็ดมือ ผ้าดังกล่าวไว้ใช้สำหรับทำความสะอาดมือเท่านั้น ไม่นำมาใช้ซับเหงื่อ เช็ดหน้า ลำคอ ขา โต๊ะ และของใช้อื่นๆ

4 เมนูเส้นซดมีเสียงได้

เมื่อรับประทานอาหารที่เป็นเมนูเส้นๆ เช่น โซบะ อุด้ง ราเม็ง คนญี่ปุ่นมักจะซดเสียงดังมาก ในการดูดเส้นเสียงดังแบบนี้ไม่ถือเป็นการเสียมารยาทเนื่องจากการซดเสียงดังเป็นการแสดงถึงความอร่อยของอาหารเส้น และเป็นการให้เกียรติพ่อครัว

5 ของที่กัดแล้วห้ามใส่คืนในจาน

อาหารที่หยิบมารับประทานและกัดลงไปแล้วไม่ควรเอากลับคืนไปวางบนจานอีก สำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ตามมารยาทอย่างเดียวเนื่องจากมีหลายคนถือ อีกทั้งโดยสามัญสำนึกแล้วก็เป็นเรื่องน่ารังเกียจที่เอาของเหลือจากตัวเองไปให้คนอื่นรับประทานต่อ ให้คีบอาหารชิ้นนั้นค้างไว้จนกว่าจะรับประทานจนหมดชิ้น รวมไปถึงไม่ควรใช้ตะเกียบสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของอาหารที่ตัวเองรับประทานไม่ได้ด้วย ให้คีบเฉพาะของที่ตัวเองจะกินเท่านั้น

6 มารยาทในการรับประทานซาชิมิและซูชิ

การรับประทานซาชิมิกับซูชิโดยปกติแล้วจะรินโชยุใส่จานเล็กพอประมาณ ทาวาซาบิลงบนชิ้นซูชิหรือซาชิมิที่ต้องการโดยตรง ไม่ละลายวาซาบิลงในโชยุ ถ้าเป็นซูชิให้จิ้มโชยุด้านที่เป็นเนื้อปลาไม่ใช่ด้านที่เป็นข้าวเพราะข้าวอาจแตกกระจายได้ และรับประทานให้หมดภายในคำเดียว สามารถใช้มือแทนตะเกียบได้

7 กล่าวคำว่า "อิตะดะคิมัส" ก่อนรับประทานอาหาร

"อิตะดะคิมัส (Itadakimasu)" เป็นประโยคที่น่าจะคุ้นหูใครต่อใครดี มีความหมายว่าขอรับอาหารมื้อนี้ กล่าวเพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อพ่อครัว บรรดาเกษตรกรทั้งหลายที่ทำการเพาะปลูกวัตถุดิบในจาน และขอบคุณต่อวัตถุดิบทุกประเภทที่ได้สละชีวิตมาเป็นอาหาร

8 กล่าวคำว่า "โกะจิโซซามะเดชิตะ" หลังรับประทานอาหารเสร็จ

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย คนญี่ปุ่นก็มีคำกล่าวเป็นธรรมเนียมเหมือนเช่นตอนก่อนรับประทาน "โกะจิโซซามะเดชิตะ (Gochisousamadeshita)" คือคำที่ควรกล่าว แปลได้ว่า “ขอบคุณสำหรับมื้ออาหาร” เพื่อแสดงความซาบซึ้งในความเหนื่อยยากของผู้ที่ประกอบอาหารนั้นในทุกฝ่าย

9 น้ำซุปไม่มีช้อนให้

ชุดอาหารญี่ปุ่นมักจะมีน้ำซุปมาด้วย แต่ไม่มีช้อนให้เนื่องจากคนญี่ปุ่นยกถ้วยขึ้นดื่ม มารยาทที่ดีในการดื่มซุปคือใช้มือซ้ายประคองด้านข้างถ้วยซุป ส่วนมือขวาเปิดฝาถ้วย วางหงายฝาเอาไว้ด้านขวามือของถ้วย และเมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็ให้ปิดฝากลับไปเหมือนเดิม

10 ตำแหน่งในการนั่งรับประทานอาหาร

เมื่อมีงานเลี้ยงรับประทานอาหารร่วมกันในห้องส่วนตัว ควรจัดให้แขกคนสำคัญ ผู้หลักผู้ใหญ่ และเจ้านายอาวุโสนั่งไกลจากประตู หรือที่นั่งนั้นสามารถมองเห็นวิวสวยๆ ได้ถนัด แบบนี้ถือเป็น "ที่นั่งสูง" เพื่อเป็นการให้เกียรติ ส่วนที่นั่งซึ่งอยู่ใกล้ประตูมากที่สุดถือเป็น "ที่นั่งต่ำ" สำหรับผู้ร่วมงานที่อายุน้อยกว่า เด็กกว่า

ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย

know-before-you-go