เครื่องปรุงอาหารญี่ปุ่นที่ควรมีติดบ้าน
ขอเสนอเครื่องปรุงญี่ปุ่นที่คนไทยควรมีติดบ้านค่ะ เอามาปรุงอะไร ซื้อแบบไหนดี เรามาทำความรู้จักกับเครื่องปรุงสิบชนิดที่จะช่วยยกระดับการทำอาหารญี่ปุ่นที่บ้านของคุณค่ะ
By Japan Travel Editor1. เครื่องปรุงที่ไม่ต้องแช่เย็น

เครื่องปรุงเหล่านี้สามารถวางได้ในอุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงแดด เมื่อเปิดใช้แล้วต้องปิดฝาให้สนิท และไม่ควรวางข้างเตาปรุงอาหารค่ะเพราะอาจเกิดอันตรายจากความร้อนได้ และขวดยังสกปรกมีคราบน้ำมันติดด้วยนะคะ
- โชยุ
- สาเก
- มิริน
- น้ำส้มสายชู
2. เครื่องปรุงที่ต้องเก็บแช่เย็น

เครื่องปรุงญี่ปุ่นทุกชนิด ฉลากจะระบุวิธีเก็บรักษาอย่างชัดเจนค่ะ ที่ต้องเก็บแช่เย็นเพื่อรักษาคุณภาพแลรสชาติให้คงเดิมที่สุดค่ะ ที่สำคัญเมื่อเปิดใช้แล้วควรบริโภคโดยเร็ว ภายใน 1 - 3 เดือนค่ะ แม้เครื่องปรุงนั้นจะมีวันหมดอายุในปีถัดไปก็ตาม
- วาซาบิ
- มายองเนส
- พอนสึ
- ทสึยุ
- โชยุชนิดผสมดะชิ
3. การถนอมเครื่องปรุงโดยแช่ฟรีซ

มิโสะ เมื่อเปิดใช้แล้วควรเก็บในตู้เย็น ไม่ให้โดยอากาศเพราะจะทำให้แห้งแข็งเสียรสชาติและคุณภาพค่ะ
มีวิธีดังนี้
- ลอกกระดาษไขทิ้ง
- ใช้ฟิล์มถนอมอาหารปิดแนบกับเนื้อมิโสะให้สนิท
- นำไปแช่ฟรีซ จะช่วยรักษาคุณภาพเก็บได้นานยิ่งขึ้นค่ะ
ส่วนเครื่องปรุงแห้ง อย่าง คัตสึโอะบุชิ ยังไม่แกะถุงใช้ สามารถเก็บใส่ตู้ให้มิดชิดได้ค่ะ ถ้าแกะถุงแล้ว ก็ควรเก็บใส่ตู้เย็นนะคะ ถ้าช่องฟรีซมีที่พอก็แช่ช่องฟรีซเลยค่ะ เพราะแห้งกว่า ช่วยรักษาความกรอบด้วยค่ะ
อาหารชุดแบบญี่ปุ่น ทำกินเองได้ง่ายๆที่บ้าน

1. ปลาซาบะ เป็นปลาแดดเดียวมีรสเค็มอยู่แล้ว เมื่อกินกับ ”พอนสึ”และหัวไชเท้าขูด จะได้รสชาติที่อร่อยสดชื่น มีรสเค็มน้อยลง
**พอนสึ+หัวไชเท้าขูด ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอโรชิ พอนสึ” ค่ะ**
2. เพิ่มความสดชื่นกันต่อด้วยสลัดหอมใหญ่เย็นๆ ใส่สาหร่ายวากาเมะช่วยลดเผ็ดหอมใหญ่ได้ค่ะ นิยมกินกับน้ำจิ้ม”พอนสึ” และโรย”คัตสึโอะบุชิ”แต่งหน้าเล็กน้อยให้ดูน่ารับประทานค่ะ
3. ซุปมิโสะ เป็นเมนูที่ขาดไม่ได้สำหรับอาหารชุดญี่ปุ่น ปรุงรสอ่อนด้วยเครื่องปรุงจากธรรมชาติเพียง 2 ชนิด คือ มิโสะ และ น้ำซุปญี่ปุ่น (ดาชิ) ที่ได้จากการต้ม ”คัตสึโอะบุชิ”

1. ปลาบุริเทอริยากิ ปรุงรสด้วย โชยุ สาเก มิริน น้ำตาลทราย มีรสชาติหวานเค็มกำลังดี
2. สลัดวาซาบิ ใช้มายองเนสเป็นหลัก แล้วใส่วาซาบิผสมลงไปเพียงเล็กน้อย ค่อยใส่ผักและเนื้อสัตว์คลุกให้ทั่วค่ะ ตามรูปใส่ปูอัดที่หาซื้อง่าย และบล็อกโคลี่ผักที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานค่ะ
3. ซุปมิโสะ ปรุงรสเหมือนเมนูแรก เพียงใส่ผักชนิดอื่น เพื่อให้ได้รสชาติที่ต่างออกไปค่ะ

1. ไก่บดผสมรากบัวทอดคลุกซอสโชยุ(อะมะคาระอาเอะ) ซอสโชยุ มีรสชาติเหมือนเทอริยากิค่ะ
2. เต้าหู้เย็น เป็นเมนูที่ง่ายมาก แค่แกะเต้าหู้ออกจากแพคใส่จาก โรยคัตสึโอะบุชิ ราดพอนสึ ก็พร้อมรับประทานค่ะ หรือ จะราดโชยุใส่ขิงฝนก็อร่อย กินได้หลายแบบค่ะ
3. สลัดญี่ปุ่น ใช้น้ำสลัดงาสูตรมายองเนส ทำเองมีรสเปรี้ยวเค็มมันและหวานได้ตามชอบค่ะ
3. ซุปมิโสะ ปรุงรสเหมือนเดิม เพียงใส่ผักปวยเล้งกับเต้าหู้ทอด ที่อร่อยเข้ากันได้ลงตัวค่ะ

1. ปลาซาบะทอด เป็นเมนู”โอโมเตะนาชิ” คือการเอาใจใส่บริการอย่างเต็มเปี่ยมแบบญี่ปุ่น เพราะปลาก็หั่นชิ้นพอดีคำ รับประทานง่าย แถมยังเลาะก้างให้หมดด้วยค่ะ มีรสหวานเค็มจากโชยุและมิริน จิ้มโคเมะสึเล็กน้อยเพื่อตัดเลี่ยนค่ะ
2. ไข่ม้วนดาชิ ปรุงรสด้วยทสึยุ เหยาะนิดหน่อยให้พอมีรส และใส่มิรินให้มีรสหวานค่ะ
3. ซุปมิโสะ ปรุงรสเหมือนเดิม ใส่ผักที่ต่างออกไปจากสามถ้วยด้านบนค่ะ

1. ข้อไก่ต้มซัปปารินิ สูตรนี้อย่างง่ายค่ะ ปรุงรสแค่พอนสึกับน้ำเปล่าในอัตราส่วนที่เท่ากัน เทให้พอดีไก่แล้วต้มจนเข้าเนื้อค่ะ ตามสูตร”ซัปปารินิ” ต้องใส่เครื่องปรุงหลายชนิด เช่น โชยุ น้ำส้มสายชู น้ำตาล ลองมาใช้พอนสึค่ะ สะดวกมาก
2. ซุปมิโสะ ปรุงรสเหมือนเดิม ใส่ผักกับเต้าหู้คล้ายถ้วยบนค่ะ
หวังว่าตัวอย่างเมนูอาหารญี่ปุ่นเหล่านี้จะพอเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่อยากทำอาหารญี่ปุ่นนะคะ หากคุณมีเครื่องปรุงพร้อมแล้ว ลงมือทำเลยค่ะ ไม่ยากอย่างที่คิด ทำกินที่บ้านได้บรรยากาศเหมือนไปกินที่ญี่ปุ่น ขอให้สนุกกับการปรุงอาหารค่ะ
ผู้เขียน: ครัวญี่ปุ่น
สวัสดีค่ะ ชื่อ มด นะคะ
เริ่มเขียนบล็อกมาตั้งแต่มาญี่ปุ่นใหม่ๆ 10 ปีก่อน
เป็นไดอารี่ทั่วไป หลังๆเริ่มมีสูตรอาหาร ที่ไม่เคยคิดจะเขียน แต่เมื่อเราทำทุกวัน ก็ไม่มีอะไรจะเขียนนอกจากนี้จริงๆ ต่อมาทำเพจอาหารญี่ปุ่น คิดว่าเพียงจดสูตรไว้ดูเอง จนตอนนี้เป็นงานอดิเรกที่ครอบครัวสนับสนุนค่ะ
❤︎❤︎ฝากติดตามครัวญี่ปุ่นกันด้วยนะคะ❤︎❤︎