allabout japan
allabout japan

ถามคนไทยในญี่ปุ่น: สถานการณ์โควิด 2021

ถามคนไทยในญี่ปุ่น: สถานการณ์โควิด 2021

เชื่อว่าคนที่อยู่ไทยคงได้ข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดของญี่ปุ่น อย่างที่ทราบกันไปเลยค่ะว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเยอะขนาดนี้ คนญี่ปุ่นใช้ชีวิตกันอย่างไร ญี่ปุ่นมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างเทียบกับก่อนโควิด วันนี้ผู้เขียนจะมาไขข้อข้องใจให้กับทุกท่านเองค่ะ

By Japan Travel Editor

ญี่ปุ่นก่อน-หลังโควิด

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าโควิดนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนญี่ปุ่นไปอย่างมากในทุก ๆ ด้านเลยค่ะ ต่อจากนี้ผู้เขียนจะเปรียบเทียบระหว่างช่วงที่ไม่มีโควิดและหลังเกิดการระบาดของโควิดเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจและเห็นภาพง่าย ๆ มาดูกันเลยค่ะ

การใช้ชีวิต

การใช้ชีวิต

ก่อนโควิด
ผู้คนต่างออกไปจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ ตอนจะชำระเงินก็ไม่ต้องต่อคิวแบบยืนห่างกัน ห้างร้านต่าง ๆ เต็มไปด้วยคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว สำหรับคนที่ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ก็สามารถออกไปรับของจากมือพนักงานได้เลยโดยไม่ต้องกังวล อีกทั้งเรายังสามารถไปทานข้าวนอกบ้าน นัดเจอเพื่อนฝูงเพื่อสังสรรค์ได้อย่างสะดวกใจ จะไปผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเสี่ยงติดโตวิด ผู้คนไปร้านค้าและสถานบันเทิงได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการจำกัดจำนวนคนที่เข้าใช้บริการ ถึงแม้ว่าจะต้องนั่งใกล้กับโต๊ะข้างๆแค่ไหนหรือร้านจะคนแน่นเพียงใดก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ

หลังโควิด
ผู้คนออกไปจับจ่ายใช้สอยโดยคำนึงถึงปริมาณของจำนวนคนในร้านนั้น ๆ พยายามเลี่ยงช่วงที่คนเยอะ ๆ (แต่ทว่าที่ซุปเปอร์มาเก็ตคนยังเยอะอยู่ค่ะ) คนเริ่มซื้อของจากออนไลน์มากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกไปซื้อได้ด้วยตัวเอง ผู้คนหลีกเลี่ยงการออกไปทานอาหารนอกบ้าน งดการไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานเพราะคนญี่ปุ่นมองว่าร้านอิซากายะ(ร้านเหล้า)นั้นเป็นที่ ๆ อันตรายและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงเนื่องจากค่อนข้างแออัดและอากาศไม่ถ่ายเท

สำหรับคนที่ออกไปทานอาหารนอกบ้าน ทางร้านค้าจะพาไปนั่งแบบโต๊ะเว้นโต๊ะ บางร้านจะมีฉากกั้นใสกั้นระหว่างโต๊ะ รวมไปถึงมีการตรวจอุณหภูมิร่างกายและต้องฉีดแอลกอฮอลล์เจลล้างมือก่อนเข้าใช้บริการ เนื่องจากรัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้คนไม่ออกจากบ้าน ดังนั้นธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารจึงรุ่งเรืองเป็นอย่างมากเลยค่ะ บางคนที่ตกงานหรือเงินไม่พอใช้ ไปรับจ็อบพิเศษส่งอาหารก็เยอะเช่นกัน อีกทั้งวิธีการส่งอาหารก็ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นี้ด้วยการออกออปชั่นส่งอาหารไว้ที่ด้านหน้าประตู เพื่อไม่ต้องเจอกับพนักงานโดยตรงอีกด้วย

การทำงาน

การทำงาน

ก่อนโควิด
ผู้คนต่างไปทำงานด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วง Rush hour (7-9โมง) และตอนเลิกงาน (5โมง-1ทุ่ม) คนจะแน่นเบียดเสียดกันในขบวนรถไฟตามภาพที่เราเห็นกันจนชินตา แน่นจนยืนติดกัน หรือถึงขั้นหายใจไม่ค่อยออกเลยก็มีค่ะ ซึ่งคนญี่ปุ่นก็จะไม่ได้ใส่ใจว่าต้องเข้าไปอัดเป็นปลากระป๋องหรือต้องไปเบียด ใกล้ชิดกับใคร ขอให้ได้เข้าในขบวนก็โอเคแล้ว เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

สำหรับคนที่กำลังหางาน ก็จำเป็นต้องเข้าไปสัมภาษณ์ที่บริษัท เนื่องจากญี่ปุ่นนั้นยังขาดแคลนบุคคลากรอย่างมากจึงมีตำแหน่งงานเปิดอย่างกว้างขวางและมีให้เลือกอย่างหลากหลาย วัยทำงานทั่วไปก็ต้องเข้าบริษัท 5 วัน ต่อสัปดาห์เช่นกันค่ะ (อันนี้ก็แล้วแต่บริษัทนะคะ แต่ส่วนใหญ่พนักงานออฟฟิศก็จะเป็นแบบนี้)

หลังโควิด
บริษัทส่วนใหญ่ออกนโยบายให้คนทำงานจากบ้านมากขึ้น (Work from home) สำหรับอาชีพที่หลีกเลี่ยงการเจอผู้คนไม่ได้อย่างเช่นงานบริการ งานขายก็ต้องไปทำงานปกติแต่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ส่วนบางบริษัทที่ยังให้พนักงานเข้าออฟฟิศอยู่ก็ขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงรถไฟช่วง Rush hour แล้วมาทำงานในช่วงบ่ายแทนก็มีค่ะ การประชุมและสัมภาษณ์งานต่าง ๆ จากที่ต้องเจอกันต่อหน้าก็เปลี่ยนไปเป็นการใช้โปรแกรมประชุมโดยผ่านวีดีโอแทน การส่งงานและเซ็นต์เอกสารต่าง ๆ ก็ทำผ่านออนไลน์

เนื่องจากมีข้อจำกัดในการทำงานเพราะต้องทำงานจากที่บ้าน รวมไปถึงยอดขายต่าง ๆ ที่ลดลงจากก่อนเกิดการระบาดเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้หลาย ๆ บริษัท/ร้านค้าปิดตัวลง ก่อให้เกิดคนตกงานและว่างงานเป็นจำนวนมากค่ะ บริษัทจึงลดการเปิดรับการจ้างงานพนักงานใหม่เพื่อคุมงบประมาณ จึงทำให้ตลาดการหางานมีการแข่งขันสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้เองคนจึงไม่ค่อยลาออกจากงานแล้วหางานใหม่ในช่วงนี้กันเท่าไหร่

การท่องเที่ยว

การท่องเที่ยว

ก่อนโควิด
ญี่ปุ่นเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก วีซ่าท่องเที่ยวสามารถทำได้ง่าย (ก่อนโควิดจะมา คนไทยเองก็มาเที่ยวญี่ปุ่นเกินหนึ่งล้านคนต่อปีแล้ว) ธุรกิจการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการบิน โรงแรม ทัวร์และร้านค้าต่าง ๆ นั้นสามารถทำกำไรจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างมาก แต่ละสถานที่ท่องเที่ยวสามารถรับนักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการได้เต็ม 100% โดยไม่ค่อยมีกฏในการเข้าใช้บริการมากเท่าไหร่นัก ทั้งเมืองใหญ่อย่างโตเกียว โอซาก้าหรือแม้แต่เมืองเล็กๆ มองไปทางไหนก็จะพบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่เต็มไปหมด ส่วนคนญี่ปุ่นเองก็ออกมาเที่ยวกันเยอะในช่วงคืนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เช่นกัน เวลาที่ไปเที่ยวแล้วต้องต่อแถวก็สามารถยืนต่อกันติดๆ ได้เลยโดยที่คนข้างหน้าจะไม่รู้สึกรังเกียจอะไร

หลังโควิด
เนื่องจากการประกาศปิดประเทศของญี่ปุ่นเพราะไม่สามารถควบคุมสถาณการณ์ได้ การขอวีซ่าไม่ว่าจะเป็นวีซ่าทำงานหรือติดตามครอบครัวนั้นใช้เวลานานและยากขึ้นมาก ส่วนวีซ่าท่องเที่ยวนั้นถูกระงับไม่ให้ใช้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จึงทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลงอย่างมากจนเกือบเป็นศูนย์ นักท่องเที่ยวในประเทศก็ลดลงมากเช่นกันเนื่องจากคนกลัวว่าจะติดโควิดจากการออกไปเที่ยว

แม้ว่ากับรัฐบาลจะได้ออกแคมเปญสนับสนุนคนญี่ปุ่นเที่ยวในประเทศ ที่เรียกว่า Go To Travel และ Go To Eat มาก่อนหน้านี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศนั้น แต่พอการระบาดเริ่มกลับมา จึงทำให้ถูกยกเลิกไปอีกครั้ง หลายบริษัทที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวซบเซาลง บางบริษัทได้ปิดตัวลง ร้านค้าต่างๆ ที่เคยขายได้ดีก็เซ้งกิจการก็เยอะค่ะ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะขอความร่วมมือให้คนอยู่บ้าน แต่วัยหนุ่มสาวก็ยังออกมาเที่ยวกันเป็นปกติค่ะ(ไม่รู้ว่าเพราะชินแล้วหรือทนไม่ไหวกันแล้ว)

สำหรับการต่อแถวในสถานที่ท่องเที่ยวก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากค่ะ เราไม่สามารถไปยืนต่อแถวหายใจรดคอคนข้างหน้าได้อีกต่อไป เพราะพนักงานได้ทำการตีเส้นเว้นระยะการยืนให้เรียบร้อย พร้อมกับขอความร่วมมือให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา และขยันใช้แอลกอฮอลล์ล้างมือบ่อย ๆ ด้วย (มีการเตรียมให้เรียบร้อยในหลายจุดเลยค่ะ)

การใส่หน้ากาก

การใส่หน้ากาก

ก่อนโควิด
ส่วนใหญ่แล้วคนญี่ปุ่นใส่หน้ากากอนามัยกันเยอะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ป่วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะว่าไม่ได้แต่งหน้า ป้องกันกลิ่น ขี้เกียจยิ้ม กันคนจำได้ ฯลฯ แต่คนจะใส่กันเยอะที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากคนญี่ปุ่นเป็นโรคแพ้ละอองเกสรดอกไม้เยอะ และบางคนก็ชอบใส่ในช่วงฤดูหนาวเพื่อกันหนาวนั่นเองค่ะ

หน้ากากอนามัยนั้นสามารถหาซื้อได้ทั่วไปทั้งจากร้านยา ซุปเปอร์ ไปจนถึงร้านสะดวกซื้อทุกสาขาทั่วประเทศเลยค่ะ และเนื่องจากความนิยมของหน้ากากนี่เอง ถ้าใส่ก็ไม่ได้ดูผิดปกติอะไร ไม่ได้โดนมองว่าป่วยหรือเป็นโรค (แบบบ้านเรา ที่ถ้าใครใส่หน้ากากจะถูกมองว่าป่วย) ผู้คนสามารถเดินไปเดินมาโชว์หน้าตาหล่อสวยกันได้อย่างปกติเลยค่ะ

หลังโควิด
หน้ากากอนามัยกลายเป็นเครื่องอุปโภคที่จำเป็นสำหรับการพบปะผู้คนและออกไปข้างนอก หากไม่ใส่จะถูกมองแรง และอาจถูกปฎิเสธไม่ให้ใช้บริการร้านค้าและบริการต่าง ๆ ได้ค่ะ เมื่อช่วงที่โควิดระบาดใหม่ ๆ คนญี่ปุ่นแห่กันออกไปกักตุนหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมากจนทำให้ของขาดตลาด หาซื้อยากและราคาของสินค้านั้นพุ่งสูงเป็นอย่างมาก แต่หลังจากนั้นทางรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ก็ร่วมมือกันผลิตจำนวนมากขึ้น จนทำให้ตอนนี้มีสินค้าวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปในราคาปกติแล้วค่ะ

หน้ากากอนามัยแบบใส่ครั้งเดียวแล้วทิ้งนั้นสร้างขยะเป็นอย่างมาก บางคนจึงเลือกใส่หน้ากากแบบผ้าที่สามารถซักได้ หลาย ๆ บริษัทก็ปรับตัวและออกสินค้าใหม่ให้เข้ากับความต้องการของคนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยแบบระบายอากาศได้ดีสำหรับใส่ในฤดูร้อน หรือจะเป็นหน้ากากอนามัยที่ใส่แล้วทำให้หน้าดูเรียวสำหรับคุณผู้หญิงเป็นต้นค่ะ

การเดินทาง

การเดินทาง

ก่อนโควิด
ผู้คนส่วนใหญ่ต่างสัญจรโดยใช้ระบบการขนส่งสาธารณะเป็นส่วนใหญ่มากกว่ารถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากต้องเสียค่าจอดรถแพง แถมรถไฟในญี่ปุ่นนั้นก็สะดวกสบายมาก ๆ คนเลยไม่นิยมซื้อรถเป็นของตัวเองค่ะ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่

ทุกคนคงจะเคยเห็นภาพคนที่อัดแน่นกันเป็นปลากระป๋องกันมาบ้างแล้ว ขอบอกว่าเหตุการณ์ที่ทุกคนเห็นนั้นเกิดขึ้นจริงทุกวันนะคะ โดยเฉพาะในช่วง Rush Hour ที่คนไปทำงานกันในแต่ละวัน สำหรับคนญี่ปุ่นนั้นไม่ว่าคนในขบวนรถไฟจะแน่นแค่ไหนก็สามารถเบียดเสียดเข้าไปได้ขอแค่ให้ทันรถไฟรอบนั้น ๆ หากไปไม่ทันก็อาจทำให้เข้างานสายได้ค่ะ (การทำงานในญี่ปุ่นนั้น การมาสายถือว่าไม่เป็นมืออาชีพและเสียเครดิตมาก ๆ เลยค่ะ) นอกจากนี้ การที่รถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูง อาจทำให้มีการโคลงเคลงบ้าง ผู้คนจึงจับราวและเสาเพื่อไม่ให้ล้มค่ะ

หลังโควิด
หลังจากที่โควิดระบาด รายการทีวีหลาย ๆ ช่องต่างออกอากาศเกี่ยวกับความเสี่ยงในการสัมผัสติดต่อโรคเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือการสัญจรด้วยรถไฟเนี่ยแหละค่ะ เนื่องจากราวจับและเสานั้นเป็นจุดที่ถูกสัมผัสมากที่สุดจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคและไวรัสเป็นอย่างมาก จึงทำให้จากที่คนเวลาขึ้นรถไฟจะต้องจับเพื่อไม่ให้ล้ม กลายเป็นว่าหลีกเลี่ยงที่จะไม่จับเลยค่ะ ถ้าจับก็คือต้องหาที่ล้างมือหลังจากนั้นทันที อีกทั้งคนญี่ปุ่นก็พยายามหลีกเลี่ยงการขึ้นรถไฟที่คนแน่นหนา เลี่ยงเวลา Rush Hour ต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ เนื่องจากหลาย ๆ บริษัทให้พนักงานทำงานจากบ้าน หรือเลื่อนเวลาเข้างาน จึงทำให้รถไฟนั้นโล่งขึ้นเยอะเลย แต่รถไฟบางสายคนก็ยังเยอะอยู่ค่ะ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสิ่งอันตรายที่ผู้เขียนไม่อยากให้ทุกคนมองข้าม นั่นก็คือเสื้อกันหนาวนั่นเองค่ะ ในฤดูหนาวนี้ทุกคนต่างก็ใส่เสื้อโค้ทกันใช่ไหมคะ เสื้อโค้ทนั้นไม่ใช่เสื้อที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะซักกันทุกครั้งหลังจากใส่เสร็จ จึงทำให้มีการหมักหมมของเชื้อโรค กลิ่นและอาจมีเชื้อโควิดติดอยู่ได้ อีกทั้งหลาย ๆ คนก็ลดจำนวนครั้งการอาบน้ำกันเหลือวันละหนึ่งครั้งเนื่องจากมันหนาว ด้วยเหตุนี้จึงมีความเสี่ยงมาก ๆ เวลาที่ได้นั่งใกล้กันบนรถไฟหรือรถประจำทางต่าง ๆ ดังนั้นผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกคนอาบน้ำและผึ่งเสื้อโค้ท (เป็นไปได้ซักแห้งได้ก็ดี) บ่อยๆ หรือทุกครั้งหลังจากออกไปข้างนอกมาด้วยนะคะ

สภาพแถวบ้าน

สภาพแถวบ้าน

ก่อนโควิด
แถวบ้านของผู้เขียนค่อนข้างเงียบสงบค่ะ เนื่องจากไม่ใช่สถานีที่โด่งดังและมีสถานที่ท่องเที่ยวอะไร จึงมีคนสูงอายุอาศัยอยู่เยอะกว่าคนหนุ่มสาว แต่ก็มีย่านการค้าเล็กๆ และมีร้านอิซากายะ (ร้านเหล้า) อยู่หน้าสถานทีประมาณ 5-6 ร้าน มีร้านคาราโอเกะและคาเฟ่เล็ก ๆ ให้เหล่าแม่บ้านและลุง ๆ ทั้งหลายออกไปนัดเจอ จิบกาแฟเม้ามอยกันได้ อีกทั้งมีร้านปาจิงโกะอยู่หน้าสถานีด้วย ตอนบ่ายของวันธรรมดาและวันหยุดก็จะคึกคักเป็นพิเศษค่ะ ส่วนใหญ่ตอนกลางคืนร้านเหล้าคนจะเต็มทุกร้านเลย ทางด้านซปเปอร์มาเก็ตคนไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ส่วนใหญ่คนจะเน้นซื้อสินค้าจากร้านโชว์ห่วย ร้านผักเล็กๆ ที่คุณลุงคุณป้าขายมากกว่า (เพราะว่าถูกกว่า แถมช่วยธุรกิจขนาดเล็กด้วยค่ะ) ส่วนใหญ่คนจะออกจากบ้านกันวันเสาร์อาทิตย์ แถวสถานีคนจะเยอะมาก ๆ เลยค่ะ

หลังโควิด
ทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ แต่น่าแปลกใจที่แถวบ้านของผู้เขียนนั้นคนสูงอายุออกจากบ้านมาซื้อของมากกว่าหนุ่มสาวค่ะ อาจเป็นเพราะว่ามีร้านปาจิงโกะอยู่หน้าสถานีด้วยรึเปล่าก็ไม่แน่ใจ (ถึงจะมีโควิด แต่ปาจิงโกะก็ไม่ปิดนะจ้ะ) จากที่ซุปเปอร์มาเก็ตนั้นคนไม่เยอะ กลายเป็นว่าเยอะตลอดเวลาเลยค่ะ คาดว่าคนน่าจะออกมาซื้อของตุนเอาไว้เยอะ ๆ ทีเดียว ดังนั้นซุปเปอร์ก็อาจตอบโจทย์และซื้อของได้หลากหลายมากกว่าร้านโชว์ห่วย ส่วนร้านอาหารและร้านเหล้านั้นปิดค่ะ เพราะปกติจะเปิดตั้งเเต่ห้าโมงเย็น เนื่องด้วยรัฐบาลบังคับให้ปิดก่อนสองทุ่ม ดังนั้นเปิดกิจการแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็อาจไม่คุ้ม สุดท้ายก็เลยปิดชั่วคราวไปก่อนนั่นเอง บางร้านถึงกับต้องปรับตัวให้อยู่รอดได้ด้วยการรับส่งเดลิเวอรี่อาหารถึงบ้านเลยค่ะ

ส่วนด้านการใส่หน้ากากอนามัยนั้น ผู้เขียนสังเกตได้ว่า 90% ของคนในย่านนี้ใส่หน้ากากกันค่ะ อาจจะมีวัยรุ่นบางคนที่ไม่ใส่เพราะคิดว่าแค่ออกมาซื้อของหน้าบ้านคงไม่เป็นไรอยู่บ้าง แต่คนเหล่านั้นก็โดนมองแรงอยู่นะคะ ถึงแม้ว่าจะออกมาแค่แป๊บเดียว แต่ก็ควรใส่หน้ากาก เพื่อป้องกันโรคจากคนอื่นและป้องกันไม่ให้ส่งต่อโรคจากตัวเองไปสู่คนอื่นด้วย

หลังจากที่อ่านกันไป ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนคงเห็นได้อย่างชัดว่าการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ผู้คนต่างได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง บ้างก็เสียโอกาส เสียเงิน เสียงาน และร้ายแรงที่สุดคือเสียชีวิต ถึงแม้ว่าจะเป็นปีที่หนักหนาสาหัสแต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะเยียวยาประชาชน ไม่ว่าจะให้เงินเยียวยาคนละ 100,000 เยน ให้เงินช่วยเหลือร้านค้าและบริษัทต่าง ๆ และหาวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจต่าง ๆ ควบคุมการติดเชื้อกันอย่างสุดความสามารถ แต่ทว่าตอนนี้ก็ยังไม่เหตุผลสักเท่าไหร่ค่ะเนื่องจากยอดของผู้ติดเชื้อยังเหยียบหลักพันอยู่เรื่อย ๆ คนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็ได้แต่ฝากความหวังไว้กับวัคซีนที่จะได้รับในกลาง-ปลายปีนี้ค่ะ

ผู้เขียนเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงอยากมาเที่ยวญี่ปุ่นกันแล้ว แต่อดทนรอกันสักนิดนะคะ หลังจากที่วัคซีนได้ออกมาแล้วเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ทุกคนก็จะได้มาเที่ยวอย่างแน่นอน ระหว่างนั้นก็อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้านและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยนะคะ

ผู้เขียน: เพิร์ธ \( ˙꒳​˙ )/
สาวน้อย(?)ที่อาศัยอยู่ในโตเกียว มีเป้าหมายคือใช้ชีวิตในญี่ปุ่นให้คุ้มแล้วนำประสบการณ์มาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ♡

Japan Travel Editor

เรารวบรวมไอเดียเที่ยวญี่ปุ่นอันหลากหลายมาให้คุณ ตั้งแต่ถนนใหญ่สายช้อปปิ้งในเมืองโตเกียว วัดและศาลเจ้าโบราณสุดขลัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งดอกซากุระสีชมพู ใบไม้แดง วิวหิมะขาวๆ ทีมงานของเราจะนำข้อมูลดีๆมาให้คุณ