สูตร มิโสะดามะ ซุปมิโสะก้อนเติมน้ำร้อนพร้อมทาน
ใครรักอาหารญี่ปุ่นต้องรู้จักไว้ มิโสะดามะคือซุปมิโสะก้อนแบบพกพา แค่เติมน้ำร้อนก็พร้อมรับประทาน
By ครัวญี่ปุ่นมิโสะดามะ
มิโสะดามะคือซุปมิโสะก้อนสำเร็จรูป มีทรงกลมที่ดูคล้ายช็อกโกแลต เป็นอาหารพร้อมทานของญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่ยุคซามูไร วัตถุดิบหลักก็คือมิโสะ (ที่ใช้ทำซุปนั่นเอง) ปริมาณสำหรับ 1 ที่พอดี นำมาปั้นเป็นก้อนๆ แค่เติมน้ำร้อนก็จะได้ซุปมิโสะพร้อมรับประทาน ไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็อิ่มอร่อยกับซุปมิโสะอุ่นๆได้ ง่าย สะดวก รวดเร็ว ดีต่อสุขภาพค่ะ มีหลักฐานว่าอาหารชนิดนี้นั้นเก่าแก่และทำกินกันมาแต่โบราณ เช่นในยุคเซ็งโงกุที่ประเทศญี่ปุ่นปกครองโดยขุนพลมากมายและมีสงครามกลางเมืองต่อเนื่องยาวนาน มิโสะดามะนั้นเป็นอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังงานแก่เหล่านักรบ ในอดีตจะนำมิโสะที่ปั้นเป็นก้อนไปเผาหรือตากแห้ง ห่อด้วยใบไผ่แห้งหรือผ้าฝ้าย ผูกไว้ที่เอวนักรบญี่ปุ่น ถือเป็นเสบียงสำคัญอย่างหนึ่งของนักรบยุคโบราณค่ะ
ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นหลายรูปแบบ ใส่ส่วนผสมอื่นๆนอกจากมิโสะมากกมาย เช่นกุ้งแห้ง สาหร่ายแห้ง และอื่นๆ แค่เทน้ำร้อนแล้วก็จะได้ซุปมิโสะที่สวยงามและมีคุณค่าทางอาหารหลากหลาย ไม่ได้มีแต่มิโสะอย่างเดียวด้วยค่ะ ซึ่งเนื่องจากเป็นอาหารที่ค่อนข้างสวยและถ่ายรูปขึ้น จะทำเป็นของฝากของขวัญก็ได้ค่ะ มาลองทำซุปเปอร์ฟู้ดของประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ
8 ข้อดีของการทำมิโสะดามะ
1. เพียงเติมน้ำร้อนก็พร้อมรับประทาน
2. มีวิธีการทำที่ง่าย แค่ผสมทุกอย่างแล้วปั้นก้อน
3. เป็นอาหารที่ปรุงเอง จึงสะอาดปลอดภัย
4. ไม่จำกัดในเรื่องของวัตถุดิบ ดัดแปลงสูตรได้หลากหลาย
5. ทำครั้งละมากๆ ใส่ตู้เย็นได้ 1 สัปดาห์ และเก็บได้นานถึง 1 เดือนในช่องฟรีซ
6. พกพาสะดวก จะปิคนิคหรือใส่กล่องไปกินที่ทำงานก็ได้
7. มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยมิโสะที่เป็นซุปเปอร์ฟู้ดของญี่ปุ่น
8. สำหรับคนที่ทำอาหารญี่ปุ่นอยู่ประจำ จะมีส่วนผสมและเครื่องปรุงที่มีติดบ้านอยู่แล้ว ประหยัดทั้งงบและเวลาค่ะ
วิธีรับประทาน
แกะออกจากแรป ใส่ถ้วย ใส่ผักและโปรตีนตามชอบ ได้ทั้งอาหารแห้งและอาหารปรุงแล้ว เติมน้ำร้อนแล้วคนให้เข้ากันก็พร้อมรับประทานค่ะ
ลักษณะของมิโสะ และการเลือกใช้
“มิโสะ” ทำจากถั่วเหลืองหมักกับหัวเชื้อที่เรียกว่า โคจิ (koji/麹)ผสมเกลือ มีแร่ธาตุและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ลักษณะนิ่ม รสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีรสเค็ม เค็มมาก เค็มน้อย ขึ้นอยู่กับเกลือและระยะเวลาในการหมัก นอกจากนี้ยังหมักกับข้าว ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ได้ ฉะนั้นจึงแบ่งลักษณะของมิโสะได้ 3 หัวข้อหลัก ดังนี้
(1.) จากรสชาติ คือ เค็มน้อย เค็มกลาง และ เค็มมาก
(2.) จากสี คือ สีออกขาว สีกลางๆ สีออกแดง และ
(3.) จากวัตถุดิบที่ใช้หมัก
ทั้งหมดนี้ทำให้ในแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นนั้นมีมิโสะแตกต่างกันไป หลายจังหวัดก็มีมิโสะที่มีชื่อเสียงของที่นั้นๆค่ะ
ร้านที่ขายเฉพาะมิโสะที่ญี่ปุ่นบางร้านจะมีให้เลือกชิม เราสามารถซื้อรสที่ชอบได้ ส่วนตามซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆก็จะมีครบแทบทุกประเภท ซึ่งมิโสะหลายยี่ห้อผสมสารกันบูดและสารเสริม แนะนำชนิดปลอดสารค่ะ ซึ่งมีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นคำว่า mutenka (มุเทนคะ) เขียนว่า 無添加 ที่บรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน มักจะมีราคาแพงกว่า แต่ดีต่อร่างกายค่ะ ถ้าหาได้ก็อยากแนะนำสิ่งนี้
สำหรับที่ไทย มิโสะที่ใช้ตามร้านอาหารส่วนใหญ่เป็นมิโสะขาว หลายคนอาจคุ้นเคยรสชาตินี้ จะเลือกใช้แต่มิโสะขาวก็ได้นะคะ แต่ถ้าเป็นไปได้สำหรับสูตรมิโสะดามะนี้ ใช้มิโสะ 3 ชนิด ผสมกันค่ะ
ส่วนผสมที่ใช้ตกแต่งและเพิ่มรสชาติ
ส่วนผสมที่นิยมใช้มักเป็นเป็นอาหารแห้งที่เป็นเครื่องปรุงในซุปต่างๆอยู่แล้วค่ะ ชนิดที่เติมน้ำร้อนก็รับประทานได้เลย ราคาประมาณ 100-300 เยน หาซื้อได้ที่ร้านร้อยเยน และซุปเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นทั่วไปค่ะ แต่อย่างที่บอกไปว่า ไม่มีสูตรตายตัว เพราะฉะนั้นจะลองใส่ของแห้งชนิดอื่นที่ตัวเองชอบก็ได้นะคะ
หากใช้อาหารสดที่นำมาปรุงสุก ยากต่อการปั้นก้อน ด้วยปริมาณที่เยอะและลักษณะที่นิ่มค่ะ ทั้งยังเก็บได้แค่ 1-2 วันเองค่ะ
ถ้าวัตถุดิบพร้อมแล้วมาเริ่มทำกันเลยค่ะ
สูตร มิโสะดามะ
ก่อนอื่นต้องปรุงมิโสะผสมดะชิค่ะ ใช้มิโสะชนิดใดก็ได้ 2-3 ชนิดผสมกัน จะทำให้ซุปมีรสชาติกลมกล่อม อร่อยมีอูมามิยิ่งขึ้นค่ะ หรือชนิดเดียวก็ได้นะคะ ถ้าใช้ชนิดที่ผสมดะชิแล้ว ข้ามไปทำขั้นตอน ”มิโสะมารุ”ได้เลยค่ะ
ส่วนผสม สำหรับ 1 ที่
1. มิโสะ 12 กรัม (2 ช้อนชา)
2. ผงซุปญี่ปุ่น 1 กรัม (1/3 ช้อนชา)
ชงกับน้ำร้อน 180 มิลลิลิตร : 1 ที่
ส่วนผสม สำหรับ 10 ที่
1. มิโสะ 130 กรัม
2. ผงซุปญี่ปุ่น 6 กรัม
ชงกับน้ำร้อน 180~200 มิลลิลิตร : 1 ที่
วิธีทำ
ผสมมิโสะกับผงซุปให้เข้ากัน ใช้แรปห่อแล้วปั้นเป็นก้อนกลม
มิโสะผสมดะชินี้ เก็บใส่ตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์ และ ช่องฟรีซ 2-3 เดือน มิโสะแช่ช่องฟรีซได้ไม่แข็งค่ะ ตู้เย็นตามบ้านเรือน ช่องฟรีซอุณหภูมิ -5℃~-15℃ ซึ่งไม่ต่ำกว่า -20℃ ที่มิโสะจะเป็นก้อนแข็งได้ค่ะ
ขั้นตอนการทำ มิโสะมารุ
“มิโสะมารุ”คือ “มิโสะดามะ”ที่ปั้นเป็นก้อนกลมกิ๊กมีการตกแต่งเก๋ไก๋ เป็นเทรนด์การทำอาหารยุคใหม่ค่ะ เพราะนอกจากจะสวยแล้วยังมีประโยชน์ สะดวก และทำกินในบ้านได้จริงไม่ได้เหนื่อยเกินกว่าเหตุด้วย
“มิโสะมารุ” มีทั้งแบบธรรมดาที่ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันและปั้นก้อน และแบบเดคอเรชั่น (decoration) ที่ใช้ส่วนผสมบางส่วนมาตกแต่งรอบนอกให้สวยงาม เป็นเทรนด์ฮอตฮิตของแม่บ้านสายอินสตาแกรม และเพิ่มความหลากหลายให้ซุปมิโซะที่ได้ ซึ่งไม่จำกัดรูปแบบ ผู้ปรุงสามารถดีไซน์ได้ตามชอบค่ะ
สูตร (1) สาหร่ายแห้ง กับ ต้นหอมแห้ง
ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. สาหร่ายวากาเมะแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
3. ต้นหอมแห้ง 1 ช้อนชา
สูตร (2) โทโรโรคอมบุ กับ เต้าหู้แห้ง
ส่วนผสม
1. มิโสะ (ไม่ผสมดะชิ) 2 ช้อนชา
2. เต้าหู้ทอดอบแห้ง 4-5 ชิ้น
3. งาขาวคั่ว 1 ช้อนชา
4. โทโรโรคอมบุ 5 กรัม
* โทโรโรคอมบุมีส่วนผสมจากสาหร่ายที่ใช้ทำดะชิอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใช้มิโสะผสมดะชิค่ะ
สูตร (3) กุ้งแห้ง กับ อาเกะดามะ(เศษเทมปุระ)
ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. กุ้งแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
3. อาเกะดามะ 1 ช้อนโต๊ะ
4. อาโอโนริ(ผงสาหร่าย) 1/2 ช้อนโต๊ะ
สูตร (4) งาคั่ว กับ หัวไชเท้าแห้ง
ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. สาหร่ายโนริแผ่น(ขนาดห่อข้าวปั้น) ฉีกพอดีคำ 1/2 แผ่น
3. หัวไชเท้าแห้ง หั่นเล็กๆ 5 กรัม
4. งาคั่ว 1/2 ช้อนโต๊ะ
สูตร (5) ผักรวม กับ กุ้งแห้ง
ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. ผักแห้งรวมมิตร 1 ช้อนโต๊ะ
3. กุ้งแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ (ตามรูป กุ้งซากุระ)
สูตร (6) เต้าหู้แห้ง กับ สาหร่าย
ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. สาหร่ายวากาเมะแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
3. ผงสาหร่ายแห้ง (อาโอโนริ) 1/2 ช้อนโต๊ะ
4. เต้าหู้ทอดอบแห้ง 4-5 ชิ้น
วิธีปั้นมิโสะมารุ
1. ตักแบ่งมิโสะสำหรับ 1 ที่
2. ผสมอาหารแห้งโดยเหลือส่วนผสมอย่างหนึ่งไว้คลุกรอบนอก
3. ใช้แรปรอง เพื่อไม่ให้ติดมือ (หากบรรจุกล่อง ข้ามไปขั้นตอนที่ 5 ได้เลยค่ะ)
4. ห่อให้แน่นเป็นทรงกลม
5. วางแป้งฟู (fu/麩) ตกแต่งให้สวยงาม บรรจุกล่องขนาดพอดีชิ้น หรือห่อด้วยแรปเพื่อไม่ให้โดนอากาศค่ะ
หมายเหตุ
- หากทำสูตรเดียวก็ผสมเครื่องก่อนทีเดียว แล้วค่อยแบ่งปั้นทีละก้อนนะคะ
- อัตราส่วนของอาหารแห้งปรับเปลี่ยนได้ตามชอบ ไม่มีสูตรตายตัวค่ะ
วิธีเก็บถนอม
เมื่อห่อด้วยแรปแล้วพันเทปกาวให้แน่นแล้ว บรรจุใส่กล่อง เขียนวันเดือนปีที่ผลิต
- แช่ช่องเย็นได้ 1 สัปดาห์
- แช่ช่องฟรีซได้ 1 เดือน
หากทำจำนวนมาก จะใช้สีของเทปกาว แบ่งแยกแต่ละสูตรของมิโสะดามะก็ได้นะคะ
มิโสะทรัฟเฟิล
สามารถใช้กระดาษห่อสวยๆแบบลูกอม เป็นแพคเกจน่ารักๆ ใส่เบนโตะไปกินที่ทำงาน ทำไปฝากเพื่อนก็ได้นะคะ
”มิโสะดามะ” ปั้นให้กลมแล้วตกแต่งแบบช็อกโกแลตทรัฟเฟิล สามารถปรับสูตรได้หลากหลาย และยังมีรูปลักษณ์ที่สวยงามน่ารัก ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สนุกไปกับการปรุงส่วนผสมได้ จัดใส่กล่องสวยงามเป็นของฝากของขวัญก็ดูดี หรือทำเป็นเมนูบุฟเฟต์ จัดเบรคงานประชุมสัมมนาก็น่าสนใจไม่น้อย มารังสรรค์”มิโสะดามะ”ในรูปแบบของคุณกันนะคะ