All About Japan

รวมคำศัพท์น่ารู้ของญี่ปุ่น ภาคอดีต

ชินโต ละครโนห์ คาบูกิ กิโมโน โรงภาพยนตร์ ศาสนาพุทธ เรียนภาษาญี่ปุ่น รู้ลึกเรื่องญี่ปุ่น ชีวิตในญี่ปุ่น

ศัพท์ญี่ปุ่นน่ารู้ 10 คำ ที่น่ารู้ไม่ยากไม่ง่ายเกินไป รอบนี้จะเป็นคำเก่าแก่ที่เกิดตั้งแต่สมัยก่อน แต่ยังมีบทบาทต่อวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน และยังมีประโยชน์กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย รู้จักกี่คำเอ่ย

ยามาโตะ (Yamato) 大和 (やまと)

ความหมาย = ยามาโตะ (คำเรียกญี่ปุ่นเองในสมัยก่อน)

สำหรับคำว่ายามาโตะเป็นคำเท่ๆที่หลายๆท่านอาจรู้จัก ทั้งจากชื่อเรือรบประจัญบานยามาโตะ หรือแม้แต่จากการ์ตูนและสื่ออื่นๆ จริงๆแล้วคำว่ายามาโตะเป็นคำที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกประเทศของตนเองในสมัยก่อนโดยมีที่มาจากการติดต่อกับชาวจีนหรือเกาหลี โดยเชื่อกันว่าคำนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสมัยอะสุกะ หรือราวๆปี ค.ศ.538-710 ก่อนหน้าสมัยนาระ ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มติดต่อกับประเทศจีน เริ่มใช้ก่อนหน้าคำว่า Nippon นิปปงหรือนิฮงอีกค่ะ

ซึ่งแท้จริงแล้วคำนี้เป็นเสียงอ่านแบบพิเศษและไม่สามารถอ่านว่ายามาโตะได้ ก่อนหน้านี้ทางจีนจะใช้คันจิ “倭” ในการเรียกคนญี่ปุ่น (อ่านว่า Wa) ซึ่งในมุมมองคนญี่ปุ่นสมัยนั้นมองว่าอักษรคันจิตัวไม่ได้มีความหมายที่ดีนัก จึงนำเสียงอ่านคำว่า “Wa” มาหาตัวอักษรคันจิที่มีเสียงพ้องกัน โดยคนญี่ปุ่นได้เลือก 和 (Wa) ที่แปลว่าความสงบสุข รวมกันการนำคันจิ 大 (O) ที่แปลว่าใหญ่แล้ว O ยังเป็นตัวเสียงที่ใช้เป็นนำหน้ายกย่องคำศัพท์ให้สุภาพขึ้นด้วย จึงกลายมาเป็นคำว่า “大和” หรือยามาโตะนั่นเอง

ในปัจจุบันตัวอักษร 和 (Wa) ก็ยังใช้บอกสิ่งของหรือรูปแบบใดๆที่ที่ของคนญี่ปุ่น เช่น 和室 (Washitsu) ที่แปลว่าห้องสไตล์ญี่ปุ่นที่ปูเสื่อทาทามิเป็นต้น

ทาทามิ (Tatami) 畳 (たたみ)

ทาทามิ (Tatami) 畳 (たたみ)

https://pixta.jp

ความหมาย = เสื่อทาทามิ

สำหรับเสื่อทาทามินั้นเป็นเสื่อปูพื้นห้องที่สานจากฟางของญี่ปุ่น อยู่คู่ญี่ปุ่นมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยเฮอันหรือราวศตวรรษที่ 11 กระทั่งปัจจุบันคนญี่ปุ่นก็ยังคงใช้เสื่อทาทามิในการปูพื้นห้องแบบญี่ปุ่น Washitsu อยู่ และขนาดของห้องแบบญี่ปุ่นนั้นก็จะไม่นับเป็นตารางเมตร แต่นับตามผืนเสื่อทาทามิที่ปูอีกด้วย โดยขนาดเต็มทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าของเสื่อทาทามิหนึ่งผืนคือประมาณ 1.8 ม. X 90 ซม. และแตกต่างกันไปแล้วแต่ท้องที่ของญี่ปุ่น

หากไปพักตามเรียวกัง หรือถ้าจะซื้อบ้านและเช่าห้องพักแบบญี่ปุ่นอาศัย ก็อาจจะเจอการนับพื้นที่แบบจำนวนเสื่อ โดยมีหน่วยเรียกหลังจำนวนว่า โจ ใช้คันจิตัวเดียวกับคำว่าเสื่อทาทามิเลยค่ะ

ตัวอย่างประโยค : お部屋は和室6畳でごさいます。(Oheya wa washitsu roku jo degosaimasu) ห้องนี้เป็นห้องแบบญี่ปุ่นที่มีขนาดกว้าง 6 เสื่อค่ะ

ชิคิ (Shiki) 四季 (しき)

ชิคิ (Shiki) 四季 (しき)

https://pixta.jp

ความหมาย = 4ฤดูของญี่ปุ่น ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาวนั่นเอง

คำว่าชิคิอันนี้มาจากคันจิ2ตัวรวมก็คือ 四 “ชิ” ที่แปลว่าเลขสี่และ 季 “คิ” ที่แปลว่าฤดูกาล โดยคนญี่ปุ่นจะใช้คำนี้เรียกแทนฤดูกาลทั้งสี่ของคนญี่ปุ่นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หรืออาจใช้คันจิ4ฤดูดังกล่าวมาเรียงติดกันอ่านว่า “ชุนกะชูโต” 春夏秋冬 (しゅんかしゅうとう) ซึ่งมีความหมายตรงกันค่ะ อาจพบเห็นคำว่าชิคิได้หากอ่านรีวิวเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆค่ะ

ตัวอย่างประโยค : 四季の中では春が一番好きです。(Shiki no naka de wa haru ga ichiban suki desu) ใน 4 ฤดูนั้นฉันชอบฤดูใบไม้ผลิที่สุด

โออิรัน (Oiran) 花魁 (おいらん)

โออิรัน (Oiran) 花魁 (おいらん)

https://ja.wikipedia.org/wiki/%E3%83%95%E3%82%A1%E3%82%A4%E3%83%AB:Oiran_with_Yarite_and_Kamuro_1.jpg

ความหมาย = โออิรัน คือ หญิงขายบริการกับชนชั้นสูง รวมถึงบริการทางเพศ

โออิรัน หญิงขายบริการกับชนชั้นสูงตั้งแต่สมัยเอโดะ (ช่วงเวลาราวๆศตวรรษที่17-18) มีความคล้ายกับเกอิชาแต่มีฐานะที่ต่างกันมาก รวมถึงการให้บริการที่แตกต่างกัน โออิรันจะเป็นหญิงบริการที่มีเหล่าซามุไรหรือเจ้าเมืองชั้นสูงมากๆ ให้การอุปการะเพื่อให้บริการทางเพศร่วมด้วย หรือเป็นโสเภณีชั้นสูงนั่นเอง แต่ถึงจะเป็นโสเภณีก็มีศักดิศรีในอาชีพของตัวเองนะ
ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ต้องมีการคัดตัวตั้งแต่เด็กเริ่มมาเป็นเด็กฝึกเรียกว่า ทะยู (Tayuu) มาเลี้ยงดูฝึกฝนวิถีการเป็นโออิรัน ตั้งแต่การแต่งหน้าแต่งตัวกระทั่งพร้อมไปเป็นโออิรัน

สำหรับการแต่งตัวของโออิรันนั้นจะสวมด้วยชุดกิโมโนสีฉูดฉาดที่มีลวดลายอลังการมากๆซ้อนกันราว 5 ชั้น และทำผมทรงโออิรันโดยเฉพาะ สวมเครื่องประดับผมหรูหราห้อยระย้าลงมา แต่งหน้าจัดสีฉูดฉาด และที่สำคัญคือผูกผ้าคาดเอวหรือโอบิไว้ข้างหน้า (มีความนัยแฝงว่าสามารถให้ผู้ชายถอดได้ง่ายๆแล้วยังทำให้รูปร่างดูเซ็กซี่ด้วย) สวมรองเท้าเกี๊ยไม้ที่สูงมากๆแต่ไม่สวมถุงเท้า

มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับโออิรันเรื่องหนึ่งก็คือ โออิรันบางคนมีการพกมีดซ่อนไว้กับตัวเอง และถ้าหากโดนบังคับขืนใจก็จะใช้มีดแทงตัวเองตายด้วย แม้จะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ค่อยได้จริงว่าการทำแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าในยุคนั้นโสเภณีเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรีเช่นกัน

ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นแม้ทราบกันดีว่าโออิรันคือโสเภณี (ซึ่งแม้โสเภณีในปัจจุบันจะโดนมองว่าไม่ใช่อาชีพน่ายกย่องนัก) แต่ก็มองว่าพวกนางในอดีตคือผู้นำแฟชั่นของผู้หญิงในยุคสมัยนั้นๆ ทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวและสตูดิโอหลากหลายแห่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปแต่งตัวคอสเพลย์เป็นโออิรันถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึกกันได้ โดยไม่คิดมากเรื่องความหมายของโออิรันกันเท่าไหร่นัก

เกอิชา (Geisha) 芸者 (げいしゃ)

เกอิชา (Geisha) 芸者 (げいしゃ)

https://en.wikipedia.org/wiki/File:Niigata_geisha_dancing2.jpg

ความหมาย = เกอิชา คือ หญิงผู้ให้บริการความบันเทิงทางอารมณ์และการแสดง แต่ไม่ขายบริการทางเพศ

หลายคนอาจมีความเข้าใจว่า เกอิชา คือหญิงขายบริการทางเพศใช่หรือไม่? ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เกอิชานั้นหากเปรียบกับยุคสมัยปัจจุบันก็คล้ายคลึงกับอาชีพของหญิงกลางคืนที่ต้อนรับแขกในการเข้ามาใช้บริการสถานบันเทิง โดยแค่นั่งดื่มด้วย หรือร้องเพลงให้ฟัง แต่บวกกับการแต่งตัวที่มีเอกลักษณ์และความสามารถทางศิลปะชั้นสูงนั่นเอง

เกอิชาเกิดในยุคสมัยเอโดะ (ช่วงราวๆศตวรรษที่17-18) โดยในสมัยนั้นก็เป็นอาชีพของหญิงกลางคืนที่มีหน้าที่ตั้งแต่การรินเครื่องดื่ม พูดคุย ร้องเพลง เล่นดนตรี ร่ายรำให้กับแขกผู้มาเยือนชม ซึ่งพวกนางจะเน้นขายความสามารถทางศิลปะเป็นหลัก ส่วนแขกผู้มาเยือนท่านใดจะสนใจอุปการะเลี้ยงดูไว้ ก็ขึ้นอยู่กับเหล่านางเกอิชาว่าจะยินยอมพร้อมใจด้วยไหม แต่ไม่สามารถจ่ายเงินบังคับให้นางมีความสัมพันธ์ด้วยได้

การเริ่มต้นเป็นเด็กฝึกหรือไมโกะ (Maiko) ตั้งแต่อายุ 10 ขวบต้นๆโดยต้องฝึกการแสดง ร้องรำเล่นดนตรี การแต่งตัว และงานเย็บปักถักร้อยเป็นต้น กระทั่งถึงเวลาสมควรจึงพัฒนามาเป็นเกอิชาที่ให้บริการผู้มีฐานะและข้าราชการ

ในส่วนของการแต่งตัวของเกอิชาแน่นอนว่าต้องเป็นกิโมโนสีสันสวยงามกว่าบุคคลทั่วไปแน่นอน สวมเครื่องประดับ คาดผ้าคาดเอวหรือโอบิผูกไว้ข้างหลังเหมือนการแต่งชุดกิโมโนของคนทั่วไป สวมถุงเท้าและใส่รองเท้าเกี๊ยะไม้เป็นต้น

มุซาชิ (Musashi) 武蔵 (むさし)

มุซาชิ (Musashi) 武蔵 (むさし)

https://en.wikipedia.org/wiki/Musashi_Province

ความหมาย = มุซาชิคือชื่อจังหวัดในสมัยก่อน ปัจจุบันคือโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง

คำว่ามุซาชิหลายๆท่านอาจรู้จักเพียงชื่อของนักรบซามูไรชื่อดัง มิยาโมโตะ มุซาชิ หรือทราบจากชื่อของเรือประจัญบานลำที่ 2 ต่อจากเรือรบยามาโตะที่ใช้ชื่อว่าเรือรบมุซาชิ แต่แท้จริงแล้วมุซาชินั้นมีที่มาจากชื่อจังหวัดหนึ่ง ที่กินพื้นที่อาณาเขตตั้งแต่โตเกียว ไซตามะ และบางส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของคานากาว่าในปัจจุบัน ใครไม่คุ้นชื่อคานากาว่า ก็คือที่ตั้งของเมืองโยโกฮาม่า ฮาโกเนะ คามาคุระนั่นเอง

แต่ชื่อจังหวัดมุซาชินี้ก็ได้หายไปหลังยุคปฏิวัติสมัยเมจิในศตวรรษที่ 18 แล้วแทนที่ด้วยชื่อจังหวัดสมัยใหม่ อย่างไรก็ตามยังมีหลักฐานยืนยันประวัติศาสตร์เรื่องนี้ได้ดีอีกมาก ตั้งแต่การโดนนำไปตั้งชื่อของเรือรบหรือชื่อสายรถไฟเช่น Musashino Line และชื่อย่านบางย่านในโตเกียว ไซตามะ และคานากาว่าก็มีคำว่า Musashi หลงเหลืออยู่ เช่น Musashi-Kosugi, Musashi-Urawa, Musashi-Koganei เป็นต้น

นอกจากมุซาชิจะกลายเป็นโตเกียวแล้ว ชื่อโบราณต่างๆก็มีการเปลี่ยนแปลงมากมายก่อนจะเป็นชื่อแบบปัจจุบัน เช่นในอดีตภูมิภาคของญี่ปุ่นไม่ได้เรียกว่าคันโต คันไซ ชูบุ แต่มีชื่ออื่นอย่างเช่น 東海道 “โทไคโด” ซึ่งแปลว่า "ถนนริมทะเลตะวันออก" หมายถึงพื้นที่ตอนใต้ของโตเกียวยาวไปถึงประมาณนาโกย่า โดยชื่อโทไคโดก็เป็นที่มาของชื่อรถไฟอย่างสาย Tokaido Shinkansen นั่นเอง และมุซาชิก็เป็นเพียงหนึ่งจังหวัดในเขตนี้

ฮานะฟุดะ (Hanafuda) 花札 (はなふだ)

ฮานะฟุดะ (Hanafuda) 花札 (はなふだ)

https://pixta.jp

ความหมาย = ฮานะฟุดะ คือ เกมไพ่ชนิดหนึ่ง มีลายเป็นดอกไม้ทั้ง12เดือนของญี่ปุ่น

ฮานะฟุดะนี้เป็นคำที่รวมคันจิ 2 ตัวที่มีความหมายตรงตัวเลย คือฮานะที่แปลว่าดอกไม้ และฟุดะที่แปลว่าไพ่

ฮานะฟุดะใน 1 สำรับจะมีทั้งหมด 48 ใบ เป็นลายดอกไม้จากแต่ละเดือนทั้ง 12 เดือนของที่ญี่ปุ่น โดย 1 เดือนจะมีไพ่4ใบ ไพ่จะเป็นลายดอกไม้ที่ไล่ระดับดอกไม้เกิดกระทั่งร่วงโรยของแต่ละเดือน โดยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอะซึจิโมโมยามะหรือศตวรรษที่ 15-16 ก่อนยุคเอโดะเสียอีก ก่อนจะถูกแบนสั่งห้ามไม่ให้เล่นไปกว่า 200 ปีเพราะว่าเป็นเกมที่สามารถนำมาเล่นเป็นการพนันได้ แต่หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ยกเลิกการแบน มีกฏใหม่ๆให้เล่นได้หลากหลายรูปแบบ สนุกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่กฏการเล่นและการนับแต้มต่างๆนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทำให้ไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร

อุคิโยเอะ (Ukiyoe) 浮世絵 (うきよえ)

อุคิโยเอะ (Ukiyoe) 浮世絵 (うきよえ)

https://ja.wikipedia.org/wiki/%E8%91%9B%E9%A3%BE%E5%8C%97%E6%96%8E

ความหมาย = ภาพพิมพ์อุคิโยเอะ คือ ภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของยุคเอโดะ ที่ทำจากแม่พิมพ์ไม้

คำศัพท์ที่คนรักศิลปะน่าจะได้ยินบ่อยๆ ภาพพิมพ์อุคิโยเอะนั้นเกิดจากการที่ช่างภาพวาดและระบายสีภาพลงบนแผ่นไม้ที่แกะสลักเป็ฯแม่พิมพ์ แล้วใช้กระดาษวางทับลงไปให้เกิดเป็นภาพ เกิดขึ้นในช่วงยุคสมัยเอโดะช่วงศตวรรษที่ 17 โดยสิ่งที่นิยมทำเป็นรูปภาพก็คือธรรมชาติ ต้นไม้ภูเขา วิถีชีวิต หญิงสวมชุดกิโมโน ซามูไร นักรบ นักซูโม่ ภาพจากวรรณกรรมต่างๆของญี่ปุ่นเป็นต้น ซึ่งภาพอุคิโยเอะที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่นของคลื่นยักษ์กลางทะเลที่แหวกให้เห็นภูเขาไฟฟูจิหรือ The Great Wave of Kanagawa ของคัตสึชิกะ โฮะกุไซ

武士道 (ぶしどう) อ่านว่า บุชิโด(Bushidou)

武士道 (ぶしどう) อ่านว่า บุชิโด(Bushidou)

https://en.wikipedia.org/wiki/Bushido

ความหมาย = วิถีนักรบ

ไม่ว่าคุณจะเล่นเกม ดูการ์ตูน หรือดูหนัง ก็ต้องเคยได้ยินคำว่าบุชิโดแน่ๆ คำว่าบุชิโดเกิดจากคันจิสองคำรวมกันคือคำว่า 武士 "บุชิ" ซึ่งแปลว่านักรบ เกิดจากชาวบ้านที่มีฝีมือในการต่อสู้จับดาบจนกระทั่งได้เลื่อนฐานะขึ้นมาช่วยงานข้าราชการในสมัยก่อน และคำว่า 道 "โด" ที่แปลว่าวิถีชีวิตหรือวิธีการ ซึ่งเมื่อสองคำนี้มารวมกันจึงกลายเป็นวิถีนักรบนั่นเอง

บุชิโดมีความหมายที่ลึกล้ำมากกว่าที่คิด เพราะวิถีบุชิโดนี้เป็นการนำเอาความเชื่อหลายอย่างมารวมกัน โดยได้รับอิทธิพลจากทั้งลัทธิขงจื้อ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการฝึกตน) รวมถึงความเชื่อจากพระพุทธศาสนา ศาสนาชินโต และแม้แต่ลัทธิเต๋ามารวมกัน

ถือกำเนิดในช่วงศตวรรษที่ 9-12 แล้วได้รับความนิยมทั่วญี่ปุ่นหลังจากนั้นเป็นต้นมา ความเชื่อและวิธีบุชิโดที่เกิดขึ้นหลักๆที่ใช้ดำรงชีวิตจะเป็นเรื่องของความกล้าหาญ ซื่อตรงและซื่อสัตย์ ยุติธรรม เมตตา มีเกียรติ นับถือให้เกียรติกัน และความจงรักภักดี จนทำให้เกิดพิธีกรรมต่างๆที่แสดงถึงสิ่งเหล่านี้ตามมา เช่นพิธีการฮาราคิรีหรือการคว้านท้องตนเองตายแล้วให้ซามุไรอีกท่านตัดคอ ที่เรารู้จักกันดีนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบนั่นเอง เพราะ ณ ขณะนั้น ผู้ที่อยู่ในวิถีบุชิโดเชื่อว่าการตายเป็นสิ่งที่มีเกียรติที่สุดแล้ว

茶道 (ちゃどう) อ่านว่า ซะโด หรือ ชะโด (Sadou, Chadou)

茶道 (ちゃどう) อ่านว่า ซะโด หรือ ชะโด (Sadou, Chadou)

https://pixta.jp

ความหมาย = พิธีชงชาของญี่ปุ่น

พิธีชงชาหรือชะโดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยมุโรมาจิหรือประมาณศตวรรษที่ 14 ในระดับชนชั้นสูง แต่เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชนชั้นกลางมาตั้งแต่สมัยเอโดะช่วงศตวรรษที่ 17 พิธีชงชาถือเป็นพิธีที่ทรงคุณค่าสำหรับชาวญี่ปุ่นซึ่งอาจจะเข้าใจได้ยากหน่อยสำหรับชาวต่างชาติ เป็นพิธีที่สะท้อนถึงแนวคิดที่เรียบง่ายแลการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติที่ได้รับมาจากวิถีเซนและศาสนาชินโต แม้จากมุมมองของเราจะดูเป็นเรื่องยาก แต่พิีชงชาถูกใช้เป็นการละทิ้งความวุ่นวาย ผู้ที่เข้าร่วมพิธีชงชาเพื่อแสวงหาความสงบทางใจก็มี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการพักผ่อนแบบนึง

หากพูดถึงพิธีชงชา ชาที่ใช้มักจะเป็นมัทชะซะเป็นส่วนใหญ่ (แต่ในสมัยเอโดะจะเป็น เซ็นชะ) ของใช้ในพิธีจะต้องสะอาดมากๆ ชาเขียวที่ใช้เป็นชาเขียวบริสุทธิ์สำหรับทำพิธีโดยเฉพาะโดยคุณภาพก็แตกต่างกับชาเขียวทั่วไป มีวิธีการชงชาและวิธีการจับถ้วยที่ละเอียดอ่อนมากๆที่ไม่อาจจะทำให้ถูกได้ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อนซักครั้ง

หากไปที่ญี่ปุ่นเราก็แนะนำให้ลองไปเข้าพิธีชงชาสักครั้ง เป็นหนึ่งในพิธีที่คนญี่ปุ่นภูมิใจเสนอและเราอาจจะได้เข้าใจวิธีคิดแบบคนญี่ปุ่นมากขึ้น

ผู้เขียน: Moonlight Yoku
นักเขียนสกิลเป็ดเอกบริหารธุรกิจญี่ปุ่น ที่ตอนเด็กมีความฝันอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นจนกระทั่งปัจจุบันเรียนเอกนี้เต็มตัว
ชอบอาหารญี่ปุ่นมากๆ ฉะนั้นจะสนใจที่กินที่เที่ยวเป็นพิเศษ Hokkaido Lover❤️

know-before-you-go