All About Japan

เที่ยวญี่ปุ่นสุดประหยัดด้วยตั๋ว Seishun 18

การเดินทาง รถไฟ ข้อมูล ประหยัด
เที่ยวญี่ปุ่นสุดประหยัดด้วยตั๋ว Seishun 18

วันนี้เราจะแนะนำให้รู้จักพาสของ JR ที่ถูกที่สุดในญี่ปุ่นที่สามารถไปได้ทั่วประเทศจากเหนือจรดใต้ นั่นก็คือ ตั๋ว Seishun 18 ค่ะ

ตั๋ว Seishun 18 คืออะไร?

ตั๋ว Seishun 18 คืออะไร?

ตั๋วใบนี้เป็นตั๋วเหมาสุดประหยัดที่ทำให้เราขึ้นรถไฟ JR ได้ไม่อั้นเหมือนๆกับ JR Rail Pass โดยตั๋วนี้มีอายุการใช้งาน 5 วัน ในราคาเพียงแค่ 11,850 เยน (ประมาณ 3500บาท) ค่ะ

วิธีการใช้ตั๋ว Seishun 18

วิธีการใช้ตั๋ว Seishun 18

Seishun 18 นั้น ให้ท่านที่ถือตั๋ว ยื่นตั๋วให้นายสถานีของสถานี JR ที่เราขึ้นเป็นที่แรกของวันในตอนเช้า ประทับตราวันที่ของวันนั้นๆให้ จากนั้นก็สามารถใช้งานเหมือนบัตร JR Rail Pass ขึ้น-ลง รถไฟที่สถานีไหนก็โชว์ตั๋วให้เจ้าหน้าที่ดูแล้วผ่านประตูไปได้เลยตลอดทั้งวันที่ลงตราประทับค่ะ

ข้อจำกัด 2 ข้อของ ตั๋ว Seishun 18

ข้อจำกัด 2 ข้อของ ตั๋ว Seishun 18

แน่นอนว่า ของดีก็ต้องมีเงื่อนไข ซึ่งตั๋วใบนี้มีข้อจำกัดดังต่อไปนี้

1 ไม่สามารถใช้ขึ้นรถไฟชินกังเซน และรถไฟด่วนพิเศษ Express ได้
แต่สามารถใช้บริการรถไฟด่วน Rapid, รถไฟทั่วไป Local รวมไปถึงรถไฟท่องเที่ยวขบวนพิเศษต่างๆส่วนใหญ่ ในเครือ JR ได้ทั้งหมดค่ะ (รถไฟที่บังคับต้องจองที่นั่งบางขบวนก็ใช้ได้นะคะ แค่ต้องจ่ายเฉพาะค่าที่นั่งเพิ่มค่ะ)

2 ใช้ได้แค่ 3 ช่วงฤดูกาลในแต่ละปี
คือช่วงวันที่ 1มีนาคม~10เมษายน / 20กรกฏาคม ~ 10กันยายน / และ10ธันวาคม~10มกราคม เท่านั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าคอนเซปของตั๋วใบนี้นั้นแรกเริ่มทำมาให้วัยรุ่นที่ปิดเทอมในช่วง ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูหนาว ได้ท่องเที่ยวในราคาประหยัด จึงมีช่วงวันเฉพาะที่สามารถใช้งานได้ (แต่ตัวตั๋วใบนี้ไม่จำกัดอายุของผู้ใช้นะคะ จะอายุเท่าไหร่ก็ยังเป็นวัยรุ่นได้ค่ะ ^ ^)

ดังนั้นท่านที่จะใช้ตั๋วใบนี้ก็จะต้องท่องเที่ยวญี่ปุ่นใน 3 ช่วงเวลาข้างต้น ใครที่แพลนทริปไว้ตรงกับสามช่วงที่กล่าวมานี่พอดีก็มองๆไว้ได้เลยค่ะ โดยตั๋วจะเริ่มวางขายที่สถานี JR 10 วันก่อนเริ่มของแต่ละช่วงฤดู และหยุดขาย 10 วันก่อนวันสุดท้ายของแต่ละช่วงฤดู


สามารถซื้อได้ที่ Midori no Madoguchi Ticket Office ตามสถานีรถไฟ JR ทั่วประเทศญี่ปุ่นค่ะ มองหาสัญลักษณ์เขียวๆแบบในภาพนี้นะคะ

ข้อดี 3 ประการที่ ตั๋ว Seishun 18 ทำได้ แต่ JR Rail Pass ทำไม่ได้

1 ราคาถูกอย่างไร้เทียมทาน
อันนี้ไม่มีข้อโต้แย้งค่ะ ถ้าเทียบแล้วด้วยระยะทางที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ยังไม่มีตั๋วใบไหนที่ถูกกว่านี้จริงๆ เทียบกันแล้ว JR Rail Pass แบบ 7 วัน ราคา 29,110 เยน ตกวันละประมาณ 4,150 เยน ในขณะที่ Seishun 18 Ticket นั้นราคา 11,850 เยน ใช้ได้ 5 วัน ตกวันละประมาณ 2,370 เยน เท่านั้นค่ะ เรียกว่าถูกกว่ากันเกือบครึ่งเลย

2 ไม่จำเป็นต้องใช้ติดกันทั้ง 5 วัน
ในขณะที่ JR Rail Pass นั้น เปิดใช้แล้วจะนับวันไปเรื่อยๆ ไม่ว่าวันนั้นเราจะนั่งรถไฟหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ก็จะโดนหักจำนวนวันบนตั๋วไปเรื่อยๆ ตั๋ว Seishun 18 ใบนี้นั้น เราสามารถหยิบออกมาให้นายสถานีประทับตราเฉพาะวันที่จะใช้งานได้ โดยลงตรา 1 ครั้งเท่ากับใช้ตั๋ว 1 วัน วันไหนที่คำนวณแล้วใช้รถไฟไม่ถึง 2,000 เยน หรืออยากจะใช้วิธีเดินทางราคาถูกแบบอื่นเพราะจะเที่ยวแค่ในตัวเมือง เราก็สามารถจะข้าม เก็บตั๋วไว้ใช้วันถัดๆไปได้ โดยที่ไม่เสียจำนวนวันไปฟรีๆค่ะ

ในภาพจะเห็นจากตัวปั๊มว่าผู้เขียนขึ้นรถไฟจากโตเกียวไปอาโอโมริในวันที่ 11 สิงหาคม (ตัวปั๊มวันที่ 11 ปั๊มที่สถานีในโตเกียว) วันรุ่งขึ้นผู้เขียนไปเที่ยวต่อในเมืองฮิโรซากิ ซึ่งค่ารถไฟแค่ 670 เยน ใช้ไปก็ไม่คุ้มค่าตั๋วและในตัวเมืองฮิโรซากิก็มีรถบัสราคาถูกให้บริการอยู่แล้ว ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจไม่ใช้ตั๋วในวันที่ 12 สิงหาคม แสตมป์ช่องถัดมาจึงขึ้นเป็นวันที่ 13 สิงหาคมแทนค่ะ (ปั๊มที่ฮิโรซากิ)

3 ตั๋วใบเดียวแบ่งกันใช้หลายคนได้ !
ตั๋ว Seishun 18 ใบนี้ ยังสามารถใช้งานแบบหลายคนพร้อมกันหรือแบ่งกันใช้ได้ ซึ่งจุดนี้ JR Rail Pass ก็ทำไม่ได้อีกเช่นกันค่ะ ในกรณีที่จะไปเที่ยวแบบค่ารถไฟทั้งวันเกิน 2,000 เยน กับเพื่อน 2-5 คน ก็สามารถให้นายสถานี ลงตราใช้ตั๋วในวันเดียวกัน 2-5 ช่อง รวดเดียว จากนั้นก็แค่ เข้า-ออก สถานี ด้วยกันทั้งแก๊ง ไปไหนไปกันได้ทั้งวันเลยค่ะ
ดังนั้นแทนที่จะคิดว่าตั๋วนี้ใช้ได้ 5 วัน ควรจะมองว่า ตั๋วนี้ใช้ได้ "5 ครั้ง" แล้วเราจะคำนวนอะไรๆได้ง่ายกว่า และปรับการใช้ให้เข้ากับลักษณะทริปของเราได้หลากหลายขึ้นค่ะ

แต่เดี๋ยวก่อนไม่เพียงเท่านั้น ! สังเกตไหมคะว่าตั๋วนี้ไม่มีชื่อเจ้าของ นั่นก็แสดงว่าใครถือตั๋วใบนี้ก็สามารถใช้งานได้ทันที ดังนั้นท่านผู้อ่านสามารถส่งต่อให้คนอื่น หรือนำไปขายต่อได้ที่ร้านรับซื้อ-ขายตั๋วรถไฟมือสองซึ่งมักจะตั้งอยู่ใกล้ๆกับสถานีรถไฟใหญ่ๆได้ถ้าใช้ไม่หมดค่ะ !

ร้านรับซื้อ-ขายตั๋วรถไฟมือสอง ร้านพวกนี้บางทีก็มีตั๋วถูกๆแบบอื่นๆ เช่นตั๋ว Disney Land ราคาถูกขายด้วย บางเจ้ายังรับแลกเงินอีกด้วยนะคะ ใครมีตั๋วที่ไม่ใช้นำมาขายได้ค่ะ

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ารถไฟขบวนไหนขึ้นได้?

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ารถไฟขบวนไหนขึ้นได้?

สำหรับเรื่องนี้ เว็บไซต์ตารางรถไฟยอดนิยมอย่าง Hyperdia ช่วยคุณได้ค่ะ เพียงแค่กรอกต้นทางและปลายทาง แล้วเลือกตั้งค่าว่าไม่เอารถชินกังเซนและรถไฟด่วนพิเศษจำพวก Express จากนั้นพอกดค้นหา Hyperdia ก็จะบอกทั้งเส้นทางและขบวนรถไฟที่ใช้งานได้ให้ทราบทันทีค่ะ
สำหรับวิธีการใช้งานโดยละเอียด ศึกษาได้ที่บทความของเว็บไซต์เราบทความนี้ได้เลยค่ะ 「หาไอเดีย นั่งรถไฟในญี่ปุ่นด้วย Hyperdia

ภาพตัวอย่างเส้นทางการเดินทางจากโตเกียวไปอาโอโมริแบบไม่ใช้ชินกังเซนและรถไฟด่วนพิเศษค่ะ เปลี่ยนรถหลายต่อหน่อยแต่สนุกดีนะ

ตั๋วใบนี้เหมาะใช้เที่ยวแบบไหนบ้าง

ตั๋วใบนี้เหมาะใช้เที่ยวแบบไหนบ้าง

ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างไอเดียจากที่ผู้เขียนเคยใช้ตั๋วใบนี้มาค่ะ

1 เป็นตั๋วสำหรับท่านที่เดินทางในเส้นทางที่ไม่มีชินกังเซนผ่าน
ข้อดีของตั๋วครอบจักรวาลอย่าง JR Rail Pass นั้นก็คือ สามารถขึ้นชินกังเซนได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ถ้าท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ชินกังเซนเข้าไม่ถึงแล้ว JR Rail Pass ก็ดูจะสิ้นเปลืองเกินไปสักหน่อย และพื้นที่เหล่านี้นี่แหละค่ะ คือที่ที่ ตั๋ว Seishun 18 จะแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถ

เส้นทางที่พูดถึงนี้ก็อย่างเช่น
เส้นทางในโซนโทโฮคุเลียฝั่ง Sea of Japan บริเวณจังหวัด Aomori, Akita, Yamagata
เส้นทางในโซนชุบุ แถบ Takayama - Kanazawa
เส้นทางโซนของจังหวัด Mie - Wakayama โดยเฉพาะฝั่งที่ติดทะเล
พื้นที่บนเกาะ Hokkaido, Shikoku ที่ยังไม่มีชินกังเซ็นเป็นต้นค่ะ

ซึ่งสถานที่พวกนี้ ไม่มีชินกังเซน หรือมีก็น้อยมากไม่ครอบคลุม และส่วนใหญ่เป็นพวก พื้นที่ Unseen Japan ค่ะ คือไม่ใช่เมืองใหญ่ที่ทัวร์ต่างชาติชอบไปลงนักนั่นเอง แหล่งท่องๆเที่ยวดังๆนั้นมีค่ะ แต่มักจะเป็นที่ที่คนญี่ปุ่นเขาชอบไปเที่ยวกันเองมากกว่า ให้บรรยากาศของญี่ปุ่นที่เป็นธรรมชาติ ไม่ฉาบฉวยเหมือนเมืองใหญ่อย่างโตเกียว - โอซาก้า

2 เป็นตั๋วสำหรับท่านที่มีเวลาล้นเหลือหรือชอบการเดินทางแบบประหยัด
ตั๋วใบนี้ก็เหมาะสำหรับท่านที่ต้องการเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ชมวิวรายทาง ขึ้นลงสถานีเล็กเยอะๆ ดูวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่นั่งรถไฟ Local ซึ่งต่างกับบรรยาการชั่นเฟิร์สคลาสของชินกังเซน ออกแนวผจญภัยหน่อยๆ และถึงแม้จะไม่ต้องกังวลเรื่องที่นั่งแต่ก็ต้องวางแผนเรื่องเวลานะ ต่างจังหวัดญี่ปุ่นบางพื้นที่รถไฟน้อยมากๆ ถ้าตกรถขึ้นมาละแย่เลยค่ะ

อีกอย่างนึงคือตรงตามคอนเซปตั๋วเลย เซชุน (Seishun) นั้นแปลว่าวัยรุ่น สิ่งที่วัยรุ่นไม่มีคือเงิน ส่วนสิ่งที่มีล้นเหลือคือเวลาค่ะ(ฮา) ทำให้ตั๋วนี้เหมาะกับนักศึกษาแลกเปลี่ยนต่างชาติในญี่ปุ่นที่มีช่วงเวลาปิดเทอมตรงกับช่วงใช้ตั๋ว โดยเฉพาะท่านที่ชอบการท่องเที่ยวแต่ไม่มีเงิน เวลาล้นเหลือแล้วได้เที่ยวราคาประหยัดนี่มันฟินจริงๆนะคะ เพราะอย่างนี้นี่ละค่ะ ผู้เขียนถึงเลิกใช้ตั๋วใบนี้ไม่ได้สักที ทุกปีต้องได้หาเรื่องใช้ตั๋วใบนี้ออกต่างจังหวัดเข้าสักช่วงจนได้

3 เป็นตั๋วสำหรับท่านที่อยากจะทำอะไรแปลกใหม่ ท้าทาย แล้วบันทึกไว้เป็นความทรงจำ
ต้องบอกกันก่อนว่า ตั๋ว Seishun 18 ใบนี้นั้น มีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า “ตั๋วในตำนาน” ค่ะ แม้แต่รายการทีวีญี่ปุ่นก็ยังมีที่ได้ไอเดียใช้ตั๋วใบนี้ไปเที่ยวแบบแปลกๆ ออกรายการมาเรื่อยๆ ในอินเตอร์เน็ตก็มีคนทำสถิติ นั่งรถไฟหวานเย็นด้วยตั๋วใบนี้ 2 วัน จากเหนือสุดไปใต้สุดของเกาะฮอนชู (Aomori-Tokyo-Yamaguchi) หรือคนที่ใช้ตั๋วนั่งจาก Osaka ไป Wakkanai ที่อยู่ทางเหนือสุดของฮอกไกโดเป็นต้น

ผู้เขียนเองก็เคยใช้ตั๋วใบนี้เดินทางจากโตเกียวไปอาโอโมริในวันเดียว ยอมรับค่ะ ว่าทรหดเอาเรื่อง สำหรับท่านที่อาจจะกำลังตามหาความท้าทายใหม่ๆ, กำลังค้นหาตัวเอง, อยากลองทำอะไรแปลกๆที่ไม่ค่อยมีใครทำกัน หรืออยากออกเดินทางตามหาแรงบันดาลใจบางอย่างแล้ว ผู้เขียนคิดว่าตั๋วใบนี้ตอบโจทย์ได้ดีทีเดียวค่ะ

สุดท้ายนี้แล้ว ตั๋วรถไฟพิเศษแบบต่างๆ ต่างมีข้อดีและข้อเสียของมันค่ะ ไม่มีใบไหนดีกว่าใบไหนในทุกๆกรณี วันนี้ ตั๋ว Seishun 18 อาจจะไม่เหมาะกับทริปของคุณ แต่ไม่แน่สักวันคุณก็อาจจะมีโอกาสได้ใช้งานมันก็ได้ ดังนั้นถือเสียว่าอ่านเอาไว้เป็นไอเดียกันนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และแรงบันดาลใจให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีค่ะ ^ ^

ผู้เขียน: โพลก้าเนโกะ
นักเรียนต่างชาติที่ชอบการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่นชอบอาหารรสชาติดี และการตามรอยสถานที่ในอนิเมชั่น

know-before-you-go