allabout japan
allabout japan

'โอเซจิเรียวริ' อาหารปีใหม่ที่มีแต่ความหมายดีๆ

'โอเซจิเรียวริ' อาหารปีใหม่ที่มีแต่ความหมายดีๆ
www.flickr.com

มาทำความรู้จักกับ“โอเซจิเรียวริ” อาหารวันขึ้นปีใหม่ของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่าทานแล้วมีแต่ความศิริมงคลกัน

By ป้าเมโกะ

โอเซจิคืออะไร

โอเซจิคืออะไร

https://ja.wikipedia.org/wiki/%E3%83%95%E3%82%A1%E3%82%A4%E3%83%AB:Japanese_Osechi.jpg

“โอเซจิเรียวริ” (おせち料理) คืออาหารวันปีใหม่ ในอดีตชาวญี่ปุ่นบางส่วนมีความเชื่อว่าสามวันแรกของปีไม่ควรใช้เตาไฟหรือทำอาหาร จึงเตรียมอาหารไว้ล่วงหน้า โอเซจิเรียวริจึงนิยมทานกันในช่วงวันที่ 1-3 มกราคม ติดกัน 3 วัน โดยปกติจะจัดใส่กล่อง 5 ชั้น แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้เคร่งครัดเท่าไรแล้ว

ป้าเมโกะแอบคิดว่าคนญี่ปุ่นชอบตั้งธีมอาหารในแต่ละเทศกาลหรือโอกาสต่าง ๆ มาก ๆ เช่นวันคริสต์มาสต้องกินไก่ทอด หรือก่อนสอบต้องกินข้าวหน้าหมูทอดคัตสึด้ง เพื่อเป็นเคล็ดให้สอบผ่านเป็นต้น (คัตสึพ้องกับคำว่า ชนะ ในภาษาญี่ปุ่น) ที่ไทยเราก็มีแต่มักทานกันในงานบุญ งานแต่งงาน ซึ่งเป็นวันพิเศษในชีวิตไปเลย

เอาล่ะ กลับเข้าเรื่องอาหารปีใหม่ของญี่ปุ่นกันดีกว่า โอเซจิเรียวริประกอบไปด้วยอาหารหลายชนิด นอกจากสีสันสดใสน่าทานแล้วยังมีเรื่องที่น่าสนใจแฝงไว้ไม่แพ้กัน

ที่มาอาหารปีใหม่ญี่ปุ่น

แรกเริ่มเดิมทีตั้งแต่สมัยเฮอัน โอเซจิเรียวริที่เราเห็นนี้เคยเป็นอาหารที่นำมาถวายเทพเจ้า ซึ่งสมัยก่อนไม่ได้ถวายเฉพาะในวันปีใหม่เท่านั้น แต่มีถึง 5 วันด้วยกัน คือวันที่1เดือน1, วันที่3เดือน3, วันที่5เดือน5, วันที่7เดือน7 และวันที่9เดือน9 ซึ่งเป็นธรรมเนียมจากประเทศจีนที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง สมัยก่อนมักทำกันเฉพาะพวกขุนนางชั้นสูง ต่อมาในสมัยเอโดะธรรมเนียมการไหว้เทพเจ้าทั้ง 5 วัน และการทานของไหว้แบบนี้ก็เริ่มแพร่หลายไปยังคนธรรมดาทั่วไป แต่ปัจจุบันนี้เหลือเพียงการทานอาหารที่เป็นศิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่วันเดียวเท่านั้น

มีอะไรอยู่ในโอเซจิเรียวริบ้าง

ปกติแล้วโอเซจิเรียวรินี้จะประกอบไปด้วยอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นานและไม่ต้องใช้ไฟประกอบอาหารให้ยุ่งยาก โดยสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นอาหารแบบนี้ก็มีหลายที่มา เช่นไม่อยากให้เทพเจ้าไฟโมโหหรือรำคาญเสียงทำอาหารในวันขึ้นปีใหม่ จึงให้ทำอาหารเตรียมไว้ก่อน หรือบ้างก็บอกว่าเพราะครอบครัวต้องอยู่บ้านในวันหยุดปีใหม่ถึง 3 วัน เหล่าแม่บ้านจะได้ไม่ต้องวุ่นวายเตรียมอาหาร ประมาณว่าวันหยุดทั้งทีทุกคนในบ้านต้องได้พักผ่อนเต็มที่ (เหมือนวันเที่ยวในวันตรุษจีนของคนไทยเชื้อสายจีน) ป้าเมโกะว่าดีเหมือนกันเพราะยังเป็นกิมมิคให้คนในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน

ส่วนประกอบของโอเซจิเรียวริในสมัยก่อนก็มักจะมาจากพืชผลเกษตรที่เก็บได้เพื่อเป็นการประกาศให้เทพเจ้ารับรู้และขอบคุณเทพเจ้าสำหรับความอุดมสมบูรณ์ในปีที่ผ่านมา อาหารและวัตถุดิบที่อยู่ในอาหารวันปีใหม่นี้จึงแตกต่างตามแต่ละพื้นที่

อาหารที่แฝงไว้แต่ความหมายที่เป็นมงคล

โอเซจิเรียวริมีส่วนประกอบหลากหลายมาก โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิดหลักด้วยกัน ได้แก่ อาหารสำหรับการเฉลิมฉลอง ของย่าง ของต้ม ของหมักดองและเครื่องเคียง มักถูกจัดเรียงในกล่องเป็นชั้นๆ ซึ่งเรียกว่าจูบะโกะ (重箱) ป้ามักเห็นเป็นแบบ 3-5 ชั้นที่ขายกันทั่วไป โดยเริ่มต้นทานจากชั้นบนสุดก่อน โดยแบบมาตรฐานจะประกอบไปด้วย 4 ชั้นดังนี้

ชั้นที่ 1 หรือที่เรียกว่า อิจิโนะจู (一の重) ในชั้นนี้จะเป็นอาหารสำหรับการเฉลิมฉลอง เพราะเป็นชั้นแรกที่จะทานกันในวันขึ้นปีใหม่ ประกอบไปด้วย ถั่วดำ คามาโบโกะ (ลูกชิ้นปลาเส้น) ของหวานจากเกาลัด คินปิระโกโบ (เครื่องเคียงจากผักโกโบซึ่งเป็นผักตระกูลเผือก)
ชั้นที่ 2 หรือที่เรียกว่า นิโนะจู (ニの重) ชั้นนี้จะเน้นที่ของย่าง เช่นปลาไทหรือปลาบุริย่างและกุ้ง
ชั้นที่ 3 หรือที่เรียกว่า ซานโนะจู (三の重) เป็นชั้นของหมักดอง เช่น โคฮะคุนามะสึ (ของดองสีขาวแดง มักทำจากหัวไชเท้าและแครอท)
ชั้นที่ 4 หรือที่เรียกว่า โยโนะจู (よの重) ชื่อเรียกต่างไปเล็กน้อย เพราะเลข 4 ในภาษาญี่ปุ่นพ้องเสียงกับคำว่าตาย จึงใช้คำว่าโยโนะจูแทนเพื่อเป็นศิริมงคล ในชั้นนี้เป็นชั้นของต้ม เช่น เผือกและรากบัวต้ม

ป้าบอกเลยว่าแต่ละอย่างที่อยู่ในอาหารวันปีใหม่ของชาวญี่ปุ่นไม่ธรรมดาเพราะแต่ละอย่างแฝงไว้ด้วยความหมายดีๆทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่ โอเซจิเรียวริมีลักษณะเป็นกล่องเป็นชั้นวางซ้อนกัน มีความหมายว่ารวมความโชคดีความสุขเอาไว้ แต่ป้าอ่านเจอว่าจริงๆแล้วสมัยก่อนไม่มีที่แรปอาหารดังนั้นจึงต้องเอาใส่กล่องเป็นชั้นๆของจะได้ไม่เสีย หรือไม่ก็ตอนปีใหม่มักมีงานฉลองหรือมีแขกมาเยี่ยมบ้านเยอะ ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้จานและล้างจานให้เปลืองแรงแถมใส่กล่องแบบนี้ยังดูดีดูไฮโซน่ารับประทานขึ้นอีก แหม่แม่บ้านญี่ปุ่นก็ช่างคิดหากิมมิคน่ารักๆเสียจริงๆ

ความหมายของอาหารแต่ละชนิด ตัวอย่างเช่น

ถั่วดำ : พ้องเสียงกับคำว่าแข็งแรง ทนทาน ขยันขันแข็ง
คุริคินทน (ขนมหวานจากเกาลัด) : สัญลักษณ์ของทองคำ ร่ำรวย
กุ้ง: อายุยืนยาวจนหลังค่อมเหมือนกุ้ง
ดาเตะ (ไข่ม้วน): ความมั่งคั่ง สีเหลืองเหมือนทองคำ
คาซุโนะโคะ (ไข่ปลาแฮริ่ง) : มีลูกหลานมากๆ เหมือนไข่ปลา
ปลาไท : พ้องเสียงกับคำว่า ‘เมเดไท’ ที่แปลว่าไชโย เป็นคำพูดในงานมงคล

โอเซจิเรียวริในปัจจุบัน

โอเซจิเรียวริในปัจจุบัน

ป้าเดินซุปเปอร์แถวบ้าน สะดุดตากับสีสันของอาหารปีใหม่นี้มาก พอหยิบใบราคามาดู ถึงกับตกใจว่าทำไมถึงได้แพงขนาดนี้ เท่าที่ป้าเห็นก็ราคาตั้งแต่ห้าพันจนถึงสามหมื่นกว่าเยน ตอนแรกกะจะสั่งจองมาลองทานที่บ้านดูแต่เปลี่ยนใจดีกว่า ใครสนใจแนะนำว่าให้สั่งจองล่วงหน้าได้ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่มักต้องสั่งจองล่วงหน้า ส่วนมากสั่งได้ถึงวันที่ยี่สิบปลาย ๆ ของเดือนธันวาคม ดังนั้นใครสนใจอยากลองทานอาจต้องวางแผนล่วงหน้าไว้นิดนึง

ราคาแรงไม่เบา

โอเซจิเรียวริของเด็กก็มีแต่ราคาไม่เด็กเท่าไร~

เนื่องด้วยราคาอาจจะแรงสักหน่อย ปัจจุบันบางครอบครัวก็เลือกที่จะทำเองแล้วจัดใส่กล่องตามใจชอบ หรือจะซื้อสำเร็จรูปจากซุปเปอร์แล้วมาจัดใส่เองก็ได้เช่นกัน ราคาก็จะเบาลงมาหน่อย ใครที่อยากลองทำดูสามารถหาสูตรในเว็บได้ทั่วไป

อาหารวันปีใหม่ญี่ปุ่นมีความละเอียดลึกซึ้งและแฝงไว้ด้วยความหมายดีๆมากมาย ใครมาเที่ยวญี่ปุ่นตอนปีใหม่ ป้าว่าลองทานดูก็ดีนะ จะได้เฮงๆตลอดปี~

สุขสันต์วันปีใหม่
รัก

ป้าเมโกะ

ป้าเมโกะ

ป้าเมโกะ ผู้ที่ไม่ได้มีคำว่า`ญี่ปุ่น`ในหัวเลย แต่ต้องมาใช้ชีวิตติดเกาะ
ด้วยไลฟ์สไตล์อันเป็นเอกลักษณ์คนรอบข้างให้ตำแหน่ง`ป้า` มาตั้งแต่จำความได้