allabout japan
allabout japan

เงินเดือนญี่ปุ่น ค่าครองชีพ และเงินเก็บ

ค่ากิน-ค่าเช่า-ค่าเทอม-เงินเดือน-ค่าเดินทาง-ภาษีญี่ปุ่น คนที่จะเรียนต่อญี่ปุ่นหรือทำงานมารู้กันไว้ดีกว่า บทความนี้มีทุกคำตอบเรื่องรายรับรายจ่ายในญี่ปุ่น เตรียมตัวเอาไว้ให้ดีสำหรับคนที่ยังมีความฝัน ทั้งคนที่อยากเรียนญี่ปุ่น คิดหางานญี่ปุ่น หรือแม้แต่อยากทำงานต่างประเทศอื่นๆ ก็ควรอ่านเอาไว้

By รัชวุฒิ เชิดชูวานิช

สารบัญ

หน้า 1 รายจ่ายในญี่ปุ่น
- เตรียมตัวเรียนต่อหรือทำงานที่ญี่ปุ่น
- ค่าอาหารในญี่ปุ่น
- ค่าเดินทาง (ไปกลับโรงเรียนหรือที่ทำงาน ต่อเดือน)
- ค่าเทอมของนักเรียนญี่ปุ่น
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆของนักเรียนไทยในญี่ปุ่น
- "ค่าใช้จ่าย" อื่นๆของพนักงานบริษัท

หน้า 2 ค่าเช่าบ้านในญี่ปุ่น
- 1. ที่ตั้ง
- 2. ประเภทอาคาร
- 3. ออพชั่นเสริมด้านความปลอดภัย
- 4. ขนาดห้องและแปลนห้อง
- สรุปเรื่องห้อง

หน้า 3 เงินเดือนญี่ปุ่น
- เงินเดือน
- บำนาญและประกันสุขภาพ
- ภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงเมือง และภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT
- สาเหตุที่คนไทยหลายคนได้เงินเดือนต่ำกว่าที่ควร
- เราควรจะทำงานที่ญี่ปุ่นมั้ย
- งานประจำที่ญี่ปุ่น
- ทำงานญี่ปุ่นเก็บเงินได้แค่ไหน

เงินเดือน

เงินเดือน

ต่อไปก็คือเรื่องที่หลายคนอยากรู้ที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะแตกต่างกันอย่างมาก เพราะงั้นเรามาเริ่มจากค่าเฉลี่ยกันก่อนดีกว่า

เงินเดือนเริ่มต้นเด็กจบใหม่ ปริญญาตรี 199,600 เยน (58,000 บาท)

เงินเดือนเริ่มต้นเด็กจบใหม่ ปริญญาโทและเอก 226,100 เยน (65,800 บาท)

รายได้เฉลี่ยของคนทั้งญี่ปุ่นคือ 253,000 เยนต่อเดือน (73,000 บาท)

รายได้เฉลี่ยของคนโตเกียวคือ 310,900 เยนต่อเดือน (96,000 บาท)

นี่คือข้อมูลจากกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ซึ่งเฉลี่ยข้อมูลจากทุกคนในญี่ปุ่นที่ทำงานในระบบและจ่ายภาษี กลุ่มตัวอย่างเป็นล้านๆคน ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือที่สุดครับ

แต่ทั้งนี้แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้เท่าค่าเฉลี่ย ก็ต้องแตกต่างกันไปตามความสามารถเหมือนประเทศไทยนี่แหละ ประสบการณ์ สายอาชีพ ความสามารถทางภาษาล้วนมีผลกระทบกับเงินเดือน มีคนเก่งที่ได้มากกว่าค่าเฉลี่ย และก็มีคนที่ได้น้อยกว่าเป็นเรื่องธรรมดา

สำหรับตัวเลขของเด็กจบใหม่ นี่เป็นตัวเลขที่น่าจะได้ถ้าหากทำสายงานที่ไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่น้อยคนจะมี ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ วิศวกรรม เขียนโปรแกรม โอกาสได้เงินเดือนเริ่มต้นมากกว่านี้ก็มีแน่นอน

สำหรับตัวเลขเด็กจบใหม่ 199,600 เยน นั้นพอใช้มั้ย ขอตอบเลยว่าเป็นเงินที่ถือว่าไม่เยอะในมาตรฐานคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะโตเกียว แต่ก็ถือว่ายังจ่ายค่าครองชีพญี่ปุ่นได้แบบไม่อดอยาก ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพก็คือ เงิน 199,600 เยนในโตเกียวสามารถกินข้าวได้อิ่มกว่า เช่าห้องได้ดีกว่า และเหลือเงินเก็บมากกว่า 15,000 บาทในกรุงเทพ ระดับคุณภาพชีวิตรวมๆถือว่าดีกว่าเล็กน้อย (ยังไม่นับเรื่องที่มีเงินก็ซื้อไม่ได้ อย่างเช่นสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะ ฟุตบาท รถไฟนะ)

และแน่นอนว่าการทำงานที่ไหนก็ตาม เงินเดือนคุณก็จะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์และฝีมือ ไม่ใช่ว่าเงินเดือนจะเท่านี้ไปตลอดนะ ก็เหมือนที่ไทยนั่นแหละ

บำนาญและประกันสุขภาพ

แต่ว่าเมื่อคุณมีเงินเดือน สิ่งต่อไปที่เจอก็คือ จะโดนเก็บภาษี หักเงินเข้ากองทุนหลากหลายรูปแบบ แล้วภาษีญี่ปุ่นนั้นจะสูงจริงมั้ยนะ

ก่อนอื่นเลยคือกองทุนเงินบำนาญ ในญี่ปุ่นนั้นมีหลากหลายรูปแบบซึ่งไม่ใช่แค่ข้าราชการ แต่พนักงานเอกชนหรือคนทำกิจการส่วนตัวต่างก็มีกองทุนเงินบำนาญทั้งนั้น โดยในกรณีของพนักงานบริษัทเอกชนนั้น เงินที่สมทบกองทุนหักมาจากเงินเดือนของเราส่วนหนึ่ง และบริษัทออกให้อีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งตรงนี้จะมองว่าได้เปรียบคนที่ทำธุรกิจส่วนตัวก็คงไม่ผิดนัก

อัตราสมทบกองทุนบำนาญปัจจุบันอยู่ที่ 9.150% ของเงินเดือน

ประกันสุขภาพก็เช่นกัน มีหลากหลายรูปแบบ ทั้่งประกันสุขภาพที่คนทำกิจการส่วนตัวหรือตกงานต้องใช้ และประกันของพนักงานบริษัทเอกชน โดยการเก็บเงินก็ใช้วิธีการเดียวกันกับกองทุนเงินบำนาญ คือแบ่งจ่ายจากเงินเดือนส่วนหนึ่งและบริษัทออกให้อีกส่วนหนึ่ง

อัตราประกันสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 5% ของเงินเดือน

แต่ราคาของประกันสุขภาพจะแตกต่างกันไปเล็กน้อยแล้วแต่จังหวัด (อย่างเช่นโตเกียว 4.955%)

ภาษีเงินได้

เป็นภาษีแบบหัก ณ ที่จ่าย โดยเรทนั้นเป็นแบบขั้นบันไดเหมือนกับไทยโดยเริ่มตั้งแต่ 5% และสูงสุดที่ 45% โดยคนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกจ้างธรรมดาจะไม่มีใครจ่ายสูงถึง 45% แน่นอน เพราะขั้นบันได้ที่จะเสีย 45% นั้นต้องมีรายได้ถึงปีละ 40 ล้านเยน

หากคุณเป็นคนธรรมดา ตัวอย่างเช่นหากคุณมีรายได้เท่ากับรายได้เฉลี่ยของคนญี่ปุ่น (ที่ประมาณ 3,040,000 เยนต่อปี) ขั้นบันไดสูงสุดที่คุณจะเสียก็อยู่ที่ 10% เท่านั้น (แต่หลังจากคำนวนค่าลดหย่อนแล้วเสียน้อยกว่านั้น 10%)

ภาษีบำรุงเมือง

นอกจากภาษีเงินได้แล้ว ภาษีที่คนรายได้ถึงเกณท์ทุกคนต้องเสียอีกอย่างก็คือ ภาษีเมือง โดยเป็นภาษีเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่จ่ายให้กับเมืองและจังหวัดที่อยู่อาศัย

แต่ละเมืองจะมีเรทของตัวเอง โดยเรทของเมืองส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 10% โดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก 4% เป็นภาษีที่ทาง "จังหวัด" จะได้รับ ส่วนอีก 6% คือภาษีที่จะเข้าสู่ "เมือง" ที่เราอยู่อาศัย (เทียบเท่าอำเภอและเขตของไทย)

เงินภาษีส่วนนี้ก็คือเงินภาษีที่นำไปดูแลเมือง ซ่อมแซมถนน สร้างสวนสาธารณะนั่นเอง

ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT

ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT

ญี่ปุ่นนั้นมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกมากๆเมื่อเทียบกับประเทศเจริญแล้วในระดับเดียวกัน ภาพรวมในยุโรปตะวันตกนั้นอยู่ที่ประมาณ 10-25% (สูงสุดคือเดนมาร์กและสวีเดนที่ 25%) แต่ญี่ปุ่น ณ ปี 2018 ภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 8% เท่านั้น แต่ว่ามีแผนการที่จะเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ในช่วงปลายปี 2019

ที่จริงแล้ว ถ้านับประเทศในกลุ่ม OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นการรวมตัวของหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป บวกกับประเทศพัฒนาแล้วนอกยุโรปเช่นอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียเป็นต้น) โดย VAT เฉลี่ยของ 36 ประเทศในกลุ่ม OECD นี้อยู่ที่สูงถึง 19.2% ด้วยเหตุนี้้เองญี่ปุ่นจึงยังเป็นแหล่งช้อปปิ้งยอดนิยม (คล้ายๆกับสิงคโปร์ซึ่งมี VAT ที่ต่ำมากเหมือนกัน)

สาเหตุที่คนไทยหลายคนได้เงินเดือนต่ำกว่าที่ควร

เหตุผลหลักๆเลยก็คือการทำงานนอกระบบครับ โดยนอกระบบในที่นี้หมายถึงการทำงานแบบไม่ลงทะเบียนกับกรมแรงงาน ไม่เสียภาษีเงินได้ ซึ่งตัวอย่างของการทำงานแบบนี้ก็คือ การทำงานแล้วรับเงินสดๆโดยไม่ลงทะเบียนเสียภาษีเป็นต้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วคนไทยในญี่ปุ่นที่ยังทำแบบนี้ก็มีไม่น้อย

แต่ว่าปัญหานี้จะไม่มีผลกับพนักงานบริษัททั่วๆไปนะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว อย่างเช่นผู้ที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่น เพราะว่าการทำงานนอกระบบแบบนี้ขอวีซ่าไม่ได้นั่นเอง ถ้าไม่ได้ขอวีซ่าด้วยวิธีอื่นอยู่แล้วคุณก็ทำงานแบบนี้ไม่ได้แต่แรกครับ ทีนี้ถ้าถามว่าทำไมทำแบบนี้แล้วถึงเงินเดือนน้อย ก็เพราะว่าเงินเดือนจะไม่เป็นไปตามกลไกตลาด แต่เจ้าของร้านจะกำหนดยังไง กดราคาแค่ไหนก็ได้นั่นเอง

แต่สำหรับเราๆ ถ้าสมัครเป็นพนักงานในบริษัทจดทะเบียนอย่างถูกต้องก็สามารถขอวีซ่าได้ไม่มีปัญหาครับ

แต่สิ่งต่อไปต่อไปที่จะโดนคือต้องเสียภาษี แลกกับการที่จะได้เงินเดือนที่ค่อนข้างตรงกับราคาตลาดและสามารถต่อรองได้พอสมควร นอกจากนี้บริษัทก็ยังนำเราเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพและระบบบำนาญตามกฏหมายให้อีกด้วย ค่าประกันสุขภาพนั้นหักจากเงินเดือน ค่าบำนาญนั้นหักจากเงินเดือนส่วนหนึ่งและบริษัทออกเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งด้วย เป็นต้น ซึ่งถ้าทำนอกระบบจะไม่มีให้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้บริษัทในระบบก็ยังมีสวัสดิการอื่นๆอีกหลายอย่างที่แตกต่างกันไปแล้วแต่บริษัท เช่นค่าเดินทาง การช่วยค่าอาหารหรือค่าที่พัก แล้วแต่จะตกลงกัน

แล้วเราควรจะทำงานที่ญี่ปุ่นมั้ย

แล้วเราควรจะทำงานที่ญี่ปุ่นมั้ย

คำถามง่ายที่ตอบยาก ก่อนอื่นเรามาแบ่งกันก่อนดีกว่าว่ามีกี่กรณี

กรณีแรกคืองานพิเศษสำหรับคนที่เป้าหมายหลักคือมาเพื่อเรียน
ถ้าเป็นคนที่มาเพื่อเรียน ไม่ว่าจะเรียนต่อปริญญาตรีโทเอก หรือเรียนโรงเรียนภาษา หรือโรงเรียนสายอาชีพ ล้วนมีเหตุผลให้ทำงานพิเศษทั้งนั้น เหตุผลแรกก็คือเงินที่ได้จะช่วยค่าครองชีพ แต่อีกเหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการหาประสบการณ์ครับ เพราะโอกาสได้ทำงานที่ต่างประเทศ แวดล้อมไปด้วยผู้คนต่างวัฒนธรรม ได้สัมผัสวิธีคิดและวิธีการทำงาน (ทั้งด้านดีและไม่ดี) ผมเชื่อว่าประสบการณ์เหล่านี้เป็นอะไรที่มีค่ามากๆ ถึงแม้ว่าเรียนจบแล้วจะเลือกกลับไทยก็ตาม ทำไปเถอะครับ

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทงานด้วย ผมไม่ค่อยสนับสนุนให้ทำงานตามร้านอาหารไทย ถ้าจะทำก็ทำร้านญี่ปุ่นทั่วๆไปที่พนักงานส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่น จะได้ประสบการณ์ที่ดีกว่า หรือจะลองงานประเภทเคาน์เตอร์โรงแรม แคชเชียร์ร้านสะดวกซื้อ คอลล์เซ็นเตอร์ พนักงานขายต่างๆ ก็จะได้พูดคุยกับคนเยอะดีครับ

วีซ่าเพื่อทำงานประจำที่ญี่ปุ่น

ใครที่เรียนที่ญี่ปุ่น ถ้าหากเรียนจบแล้วภาษาญี่ปุ่นเก่งพอก็จะสามารถที่จะหางานที่ตรงกับสายอาชีพของตัวเองได้ครับ โดยปัญหาเรื่องวีซ่าจะหมดไปทันทีที่ได้รับจดหมายรับรองเข้าทำงานจากบริษัท

แต่ว่าถ้าคนที่ไม่ได้เรียนที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันเรียนจบแล้วทำงานอยู่ที่ไทย จะมาญี่ปุ่นเพื่อหางานทำโดยเฉพาะล่ะ แบบนี้โอเคมั้ย?

ถ้ามองเรื่องการหางานยากง่าย การจะมาญี่ปุ่นเพื่อหางานเลยนั้นยากมากถ้าไม่ได้เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษที่ญี่ปุ่นต้องการ (และเก่งภาษาจริงๆ) คนไทยที่ทำงานประจำในญี่ปุ่นนั้นเกือบทั้งหมดจะมาเป็นนักเรียนแล้วมาหางานทีหลังครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะด้วยปัญหาเรื่องวีซ่าด้วย วีซ่านักเรียนแค่จ่ายเงินและโรงเรียนรับเข้าเรียนก็จะสามารถออกให้ได้ แต่วีซ่าทำงานต้องให้บริษัทรับรองเข้าทำงานก่อนจึงจะขอได้ ซึ่งถ้าไม่ได้อยู่ในญี่ปุ่นการจะหางานก็คงเป็นเรื่องที่ยากกว่าหรือทำไม่ได้ตั้งแต่แรก

ถ้ามองเรื่องเงินเดือนและการเก็บเงิน ผมรับรองเลยว่าญี่ปุ่นนั้นเก็บเงินง่ายกว่าที่ไทยเยอะมากด้วยเงินเดือนที่สูงกว่าถ้านับเป็นตัวเลขดิบๆ แม้ค่าครองชีพจะสูง แต่เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านต่างๆได้อย่างที่แนะนำไป (แต่ทั้งนี้นิสัยส่วนบุคคลก็ยังมีส่วนมากๆ ในไทยเองก็มีคนเงินเดือนสูงๆมากมายที่เป็นหนี้หรือไม่มีเงินเก็บ ก็ขอให้ระวังกันเองครับ)

แต่การจะตัดสินใจทำงานที่ญี่ปุ่นหรือไม่จริงๆก็ยังมีปัจจัยอื่นๆอีก เช่นความสามารถของเรา โดยคนที่เก่งภาษาญี่ปุ่นก็จะได้เปรียบเรื่องการหางานในญี่ปุ่น ส่วนคนที่ภาษาไม่เก่งแต่เก่งในความรู้เฉพาะทางที่เรียนมา ก็อาจเหมาะกับการกลับไปทำงานระดับหัวหน้าที่บริษัทญี่ปุ่นในไทยมากกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยส่วนบุคคล เช่นการไม่ได้เจอพ่อแม่เพื่อนที่อยู่ไทย ความเหงา เราจะสามารถทนตรงนี้ได้หรือไม่ เรื่องอื่นนอกจากเงินก็มีส่วนกับการตัดสินใจของแต่ละคนครับ

ทุกคนควรเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเองดีที่สุด บทความนี้ผมขอสรุปแค่เรื่องเงินๆทองๆครับ

ทำงานญี่ปุ่นเก็บเงินได้แค่ไหน

ทำงานญี่ปุ่นเก็บเงินได้แค่ไหน

เอาล่ะ ถ้าเลือกทำงานที่ญี่ปุ่นแล้วตกลงฉันจะเก็บเงินได้จริงมั้ย? มีคำถามแบบนี้มาบ่อยๆ

จากสถิติพบว่าคนญี่ปุ่นวัย 20-30 ปี จะเก็บเงินได้เฉลี่ย 19% ของเงินเดือน

เพราะฉะนั้นหากสรุปแบบง่ายๆว่าเรามีรายได้เฉลี่ยเท่ากับรายได้เฉลี่ยของคนญี่ปุ่นที่ 3,040,000 เยนต่อปี (เดือนละ 253,000 เยน) ก็จะเก็บเงินได้ประมาณห้าหมื่นเยนต่อเดือน แต่แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่จะแตกต่างกันมากแล้วแต่บุคคล

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองในสมัยที่เงินเดือนยังประมาณ 250,000 เยน (ซึ่งไม่เยอะเลย) ก็ยังเก็บเงินได้เฉลี่ยเดือนละเกือบๆหนึ่งแสนเยน โดยผมใช้ชีวิตประมาณที่ผมอธิบายไปในหัวข้อค่ากินอยู่นั่นแหละครับ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับว่าเที่ยว ช้อป และกินเยอะแค่ไหน แต่รับรองได้ว่าไม่ได้อยู่แบบอดอยากครับ

แน่นอนว่าเงินเก็บจะแตกต่างกันไปแต่ละคน คนไม่ใช้ของแบรนด์เนมกับคนที่ใช้ก็คงจะเก็บเงินได้ต่างกัน คนที่เที่ยวทุกวันหยุดกับคนที่อยู่บ้านดูทีวีก็คงเก็บเงินได้ต่างกัน เป็นต้นครับ

นอกจากนี้ ผมเห็นว่าคนไทยมีวินัยทางการเงินและโดยเฉลี่ยเก็บเงินเก่งกว่าญี่ปุ่น อย่างในญี่ปุ่นมีคนไม่น้อยเลยที่มีปัญหาทางการเงินในวัยชรา โดยอันดับหนึ่งคือปัญหาการไม่มีเงินเก็บเมื่อปลดเกษียณ โดยคนญี่ปุ่นอายุเกิน 60 ปีที่ไม่มีเงินเก็บเลยนั้นมีมากถึง 30.1% เพราะญี่ปุ่นมีระบบบำนาญที่ทุกคนได้รับหมดถ้าอยู่ในระบบ ทำให้คนญี่ปุ่นที่ไม่เก็บเงินเองแต่หวังพึ่งระบบบำนาญอย่างเดียวนั้นมีเยอะพอควร

กลับกันคนไทยซึ่งชินแล้วกับการไม่มีระบบบำนาญที่ดี สามารถเก็บออมเองเป็น นำไปลงทุนในกองทุนต่างๆก็ได้ เทคนิคการออมและทำให้เงินเติบโตก็เรียนมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งคนญี่ปุ่นทั่วไปที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ผมเชื่อว่าน้อยกว่าคนไทย (เห็นได้จากปริมาณคนญี่ปุ่นที่ไม่มีเงินเก็บตอนแก่ ซึ่งเยอะจนน่าแปลกใจ)

ถ้าเราไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหมือนเจ้าของประเทศ การเก็บเงินนั้นไม่ยากครับ

สรุปว่า

ตราบใดที่ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนเกินตัว การเก็บเงินในญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายยิ่งกว่าที่ไทยอีกครับ จากประสบการณ์ส่วนตัวของคนที่มีบ้านอยู่กรุงเทพ แต่พอมาอยู่โตเกียว (ซึ่งต้องเช่าบ้านเอง) กลับเก็บเงินได้เพิ่มมากกว่าเดิมครับ

คนไทยที่เก็บเงินไม่ได้ก็มี แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเป็นผู้ลักลอบมาทำงานแบบผิดกฏหมายเพราะจะได้เงินเดือนน้อยมากๆและถูกกดขี่ด้านสวัสดิการ (มีข่าวเรื่อยๆ อย่าทำตามนะครับ) หรือถ้าเป็นคนที่ทำงานถูกต้องแล้วยังมีปัญหา ก็อาจเป็นเพราะใช้จ่ายเกินตัว มีบัตรเครดิตหลายใบ ช้อปเกินกว่าที่ตัวเองจะจ่ายไหว เป็นต้น ซึ่งผมไม่พูดถึงเพราะคนแบบนี้ต่อให้อยู่ไทยก็เป็นหนี้ได้ ขอให้ระวังด้วยตัวเองนะเพราะเป็นปัญหาส่วนบุคคลครับ

สุดท้ายนี้ก็อยู่ที่ฝีมือของแต่ละคนแล้ว ใครที่ยังมีความฝันและความหวัง อยากให้ลองวางแผนกันดู และสามารถปรึกษาพวกเราได้เสมอครับ

รัชวุฒิ เชิดชูวานิช

บรรณาธิการ All About Japan ภาษาไทย เขียนบทความเองบ้างตามสมควร แต่ถนัดขอให้คนอื่นเขียนมากกว่า จุดเด่นคือมีเข็มขัดแค่เส้นเดียวที่ใช้มาตั้งแต่มหาลัยปี1