"โคชิเอ็ง" ปลายทางแห่งความฝันของเบสบอลม.ปลาย
"โคชิเอ็ง" เป็นชื่อเรียกการแข่งขันเบสบอล ม.ปลาย ชิงแชมป์ญี่ปุ่น มีที่มาจากชื่อของสนามกีฬาที่ใช้ ที่นี่เป็นดินแดนแห่งความฝันของนักเรียนชาย ม.ปลายชาวญี่ปุ่นทุกคน ทุกๆปีที่นี่จะมีคนที่สมหวังและผิดหวัง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการแข่งขันเบสบอลที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชีวิตวัยรุ่นญี่ปุ่น "โคชิเอ็ง"
By หนึ่งทุกหนึ่งความฝันที่เป็นจริงจะมีอีก 3,780 ความฝันที่ถูกทำลาย ที่นี่คือ "โคชิเอ็ง" การแข่งขันเบสบอลระดับมัธยมปลายชิงแชมป์ญี่ปุ่น ทุกๆปีนักเรียนชายวัยรุ่นนับหมื่นคนจากรร.มัธยมกว่าสามพันแห่งทั่วญี่ปุ่น จะใช้พลังเฮือกสุดท้ายของชีวิตวัยรุ่นพาตัวเองมาเพื่อเปล่งประกายหรือดับสูญลงที่สนามแห่งนี้
โคชิเอ็งคืออะไร
โคชิเอ็ง แต่เดิมเป็นเพียงชื่อย่อของสนามกีฬาฮันชิงโคชิเอ็ง (Hanshin Koshien Kyujo) ที่ตั้งอยู่ในเมืองนิชิโนมิยะ (Nishinomiya) จังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) และเป็นสนามของทีมเบสบอลอาชีพชื่อทีม Hanshin Tigers มีความจุสนามถึง 80,000 ที่นั่ง และการออกแบบทางสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากสนามโปโลกราวส์ (Polo Grounds Stadium) สนามในตำนานของวงการเบสบอล ที่นิวยอร์ก
แต่ว่าความสำคัญที่สุดของโคชิเอ็งไม่ได้อยู่ที่ขนาดสนามอันใหญ่โต หรือแม้แต่ทีมเบสบอลอาชีพที่เป็นเจ้าของสนาม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทีมอาชีพที่เก่งทีมหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะพูดถึงวันนี้
เพราะคำว่า "โคชิเอ็ง" กลับถูกจดจำในฐานะของการแข่งขันเบสบอลระดับมัธยมปลายที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่แข่งขันที่นี่ทุกปี โดยสนามนี้ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่แห่งความฝันของนักเรียนมัธยมปลายชายที่รักเบสบอลทั่วประเทศญี่ปุ่น ใครก็ตามที่เล่นเบสบอลก็คงอยากจะมีโอกาสได้ลงแข่งขันในสนามแห่งนี้สักครั้งในชีวิต
เนื่องจากการแข่งขันนี้มีชื่อจริงที่ยาวเหยียดว่า การแข่งขันเบสบอลชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่นของโรงเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศ (全国高校野球選手権大会) ด้วยเหตุนี้เองหลายๆคนจึงเรียกชื่อการแข่งขันแบบย่อๆว่า โคชิเอ็ง ตามชื่อสนาม โดยการแข่งขันนี้จะจัดการแข่งขันในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนซึ่งตรงกับเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นการแข่งขันที่มีความสำคัญมากที่สุดของชีวิตนักเรียนมัธยมปลายญี่ปุ่นที่เล่นเบสบอล โดยจะเริ่มตั้งแต่รอบคัดเลือกระดับจังหวัด เพื่อหาโรงเรียนที่เป็นตัวแทนของจังหวัดหรือภูมิภาคไปสู่การแข่งขันเพื่อหาทีมชนะเลิศระดับประเทศต่อไป แน่นอนว่าเส้นทางการไปสู่รอบชิงชนะเลิศไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย ทุกทีมต้องฝ่าฟันตั้งแต่รอบคัดเลือกประจำจังหวัดที่แข่งกันกว่าพันทีม เพื่อเป็นตัวแทนจังหวัดละทีม ไปชิงสุดยอดแห่งความฝันและความทรงจำในฤดูร้อนครั้งหนึ่งในชีวิต ณ สนามโคชิเอ็งให้ได้
สำหรับผู้แพ้ความฝันจะจบลงแค่นั้น แต่สำหรับผู้ชนะ ก็ยังมีโอกาสที่จะถูกแมวมองเรียกตัวไปร่วมทีมเบสบอลอาชีพอีกด้วย
ระบบการแข่งขันของโคชิเอ็ง
ระบบของโคชิเอ็งก็คล้ายกับการแข่งขันคัดเลือกกีฬามัธยมปลายประเภทอื่นๆ นั่นคือจะคัดเลือกตัวแทนระดับจังหวัดเพียงแค่ทีมเดียว (ยกเว้นบางจังหวัดใหญ่ๆเช่น โตเกียว โอซาก้า ฮอกไกโด ที่จะได้ตัวแทนจังหวัดละ 2 ทีม) เพื่อเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายที่สนามโคชิเอ็ง จากจำนวนกว่าสามพันโรงเรียนที่เข้าร่วม จะเหลือเพียง 56 โรงเรียนสุดท้ายที่ดีที่สุด ที่ได้มาสัมผัสสนามในตำนานแห่งนี้ ซึ่งนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับชมรมเบสบอลของโรงเรียนแล้ว ตัวนักกีฬาทุกคนในทีมก็ยังมีโอกาสได้ก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพจนถึงทีมชาติอีกด้วย เนื่องจากการแข่งขันรายการนี้มักจะมีแมวมองจากทีมกีฬาอาชีพมาเฟ้นหาดาวรุ่งเพื่อเซ็นสัญญาเข้าสังกัดอยู่เป็นประจำ และสิ่งที่จะตามมาก็คือเกียรติยศชื่อเสียงพร้อมทั้งเงินทอง เพราะนักกีฬาอาชีพนั้นรายได้ไม่น้อยเลย
บ่อยครั้งที่ โคชิเอ็ง มักจะปรากฏในมังงะ อนิเมะ รวมทั้งซีรีส์ ทีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็ยกตัวอย่างเช่น ทัช (Touch) ครอสเกม (Cross Game) และเอชทู (H2) ผลงานของอาจารย์ อาดาจิ มิตสึรุ (Adachi Mitsuru) นักเขียนผู้ชื่นชอบการเขียนการ์ตูนกีฬา สำหรับงานของนักเขียนท่านอื่น ๆ ก็เช่น Big Windup! ผลงานของ อาสะ ฮิกูชิ (Asa Higuchi) เป็นต้น
“มุ่งหน้าสู่โคชิเอ็ง” เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆจากมังงะ อนิเมะ หรือซีรีส์ญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเบสบอล และโคชิเอ็งไม่ใช่เพียงแค่เป็นสนามแข่งชิงแชมป์เบสบอลนักเรียนเท่านั้น แต่อาจเรียกได้ว่าเป็น “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่หากมีโอกาสได้ไปในฐานะนักกีฬาเบสบอลจะเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตนักกีฬากันเลย
โคชิเอ็งไม่ได้มีความหมายเฉพาะกับนักกีฬาในทีมเบสบอล แต่บรรยากาศที่มีมนต์ขลังแบบเฉพาะตัว ทั้งกล้องถ่ายทอดสด ผู้ชมนับหมื่นชีวิตในแต่ละนัด เสียงดนตรีสุดคึกคักจากวงดุริยางค์และทีมเชียร์ที่แต่ละโรงเรียนที่ขนกันมาเต็มความจุบนสแตนด์พร้อมทั้งเตรียมทีเด็ดมาโชว์กันเต็มที่ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นคือความสุข ความทรงจำในวัยมัธยมที่มีความหมายกับทุกคนในสนามแห่งนี้อย่างที่สุด
โคชิเอ็งปีนี้
ในปี2018 นี้ โคชิเอ็งแข่งเป็นครั้งที่ 100 พอดี ก็มีเรื่องราวของโรงเรียนเกษตร "คานาอาชิ โนเงียว" ทีมเล็กๆ จากจังหวัดอาคิตะ (Akita) ที่สร้างความประทับใจให้แฟนกีฬาเบสบอลทั่วญี่ปุ่นด้วยเรื่องราวเสมือนหลุดมาจากพล็อตในการ์ตุนที่กลายเป็นความจริง และกำลังเป็นที่กล่าวถึงในขณะนี้ แม้ว่าสุดท้ายจะจบลงด้วยการเป็นเพียงรองแชมป์ จากการพ่ายแพ้ต่อทีมเบสบอลโรงเรียนแชมป์ 5 สมัยไปแบบขาดลอย แต่ความพ่ายแพ้และน้ำตาของทีมเบสบอลโรงเรียนการเกษตรคานาอาชิ เป็นภาพที่ทำให้กองเชียร์ต่างก็ร้องไห้ตามด้วยความผิดหวัง อย่างไรก็ตามการเข้ามาถึงรอบนี้ได้ แม้จะไม่ได้แชมป์แต่ก็เป็นรองแชมป์ที่มีเรื่องราวน่าจดจำไปอีกนาน
ชื่อของจังหวัดอาคิตะแปลว่า "ทุ่งนาในฤดุใบไม้ร่วง" เป็นจังหวัดแห่งการเกษตรที่มีประชากรน้อยเกือบที่สุดในญี่ปุ่น (อันดับที่ 38 จาก 47 จังหวัด) และประชากรวัยรุ่นยังคงลดลงเรื่อยๆ ส่วนตัวคานาอาชิเอง ก็ไม่ใช่โรงเรียนกีฬา เป็นโรงเรียนการเกษตรเต็มรูปแบบเพียงโรงเรียนเดียวจาก 56 ตัวแทนรอบสุดท้ายในโคชิเอ็ง ซึ่งนอกจากนักเรียนจะต้องเรียนวิชาสายสามัญแล้วก็ยังต้องเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตรโดยจะต้องลงพื้นที่ปฏิบัติจริงในพื้นที่ไร่ สวน หรือโรงเรือนด้วย และแน่นอนว่าคนที่เป็นนักกีฬาก็ต้องมีการซ้อมเพิ่มเข้ามาอีก
ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์นับร้อยปีของโคชิเอ็ง ทีมเบสบอลโรงเรียนเกษตรคานาอาชิเคยผ่านเข้ามาเล่นในโคชิเอ็งได้ 5 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดก็คือเมื่อปี 2007 หรือ 11 ปีที่แล้ว โดยในครั้งนั้นก็ตกรอบแรกและบอกลาการแข่งขันไปอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าทั้ง 18 คนในทีมครั้งนี้ ไม่เคยมีประสบการณ์ในโคชิเอ็งมาก่อนเลย แต่ถึงจะไร้ประสบการณ์พวกเขาก็มุ่งมั่นฝ่าฟันเอาชนะทีมใหญ่ๆได้สำเร็จ
โดยเส้นทางการล้มยักษ์ของโรงเรียนเกษตรคานาอาชิ เริ่มจากเอาชนะคาโกชิม่า จิตสึเกียว 5-1, โอกากิ นิฮอน 6-3, โยโกฮาม่า 5-4, โอมิ 3-2 กระทั่งถึงรอบรองชนะเลิศก็สามารถเอาชนะ นิฮอนไดกาคุ เดนไซ ขาประจำโคชิเอ็งที่เคยเข้ามาเล่นในรายการนี้ถึง 17 ครั้ง แบบเฉียดฉิว 2-1 สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมจากจังหวัดอาคิตะที่ผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกในรอบ 103 ปี ที่สำคัญอีกอย่างคือโรงเรียนเกษตรคานาอาชิ ใช้นักกีฬาตัวจริง 9 คนเป็นคนเดิมตลอดอีกทั้งยังเป็นผู้เล่นชุดเดิมตั้งแต่การแข่งขันระดับจังหวัดจนมาถึงรองชิงชนะเลิศระดับประเทศ โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนตัวเลยสักครั้งเดียว
ดาวเด่นที่ทุกคนจับตามองก็คือผู้เล่นตำแหน่งพิชเชอร์ "โยชิดะ โคเซย์" นักเรียน ม.6 ที่ทำหน้าที่เป็นตำแหน่งพิชเชอร์ทำหน้าที่ขว้างลูกคนเดียวมาตลอด ในขณะที่ทีมโรงเรียนอื่นจะมีพิชเชอร์สับเปลี่ยนกันไป
และเพราะเป็นทีมหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าแข่งในรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี ทางศิษย์เก่าของโรงเรียนจึงได้เปิดรับบริจาคค่าใช้จ่ายต่างๆ จากศิษย์เก่าด้วยกันเองรวมทั้งคนในท้องถิ่นผ่านหน้าเว็บไซต์โรงเรียน ซึ่งหลังประกาศออกไปก็ได้รับผลตอบรับดีเกินคาด ทำให้พูดถึงในสื่อดังกลายเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างทำให้คนทั่วประเทศอยากจะสนับสนุนทีมจากโรงเรียนเกษตรกรแห่งนี้พร้อมกับร่วมบริจาคเงินเกินเป้า 50 ล้านเยนที่ศิษย์เก่าตั้งเป้าไว้
ในรอบชิงชนะเลิศที่ต้องแข่งขันกับทีม “โอซาก้าโทอิน” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ถึงแม้จะสู้เต็มที่แต่ก็ถูกทำคะแนนทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ โยชิดะ โคเซย์ต้องยอมสละตำแหน่งมือขว้างให้เพื่อนในอินนิ่งที่ 6 เพราะเริ่มบาดเจ็บและไม่มีแรงขว้างลูกเบสบอล และถูกคู่แข่งตีได้ติดต่อกันตั้งแต่อินนิ่งที่ 4-5 เพราะความที่เป็นพิชเชอร์คนเดียวในทีมจึงต้องทำงานหนักตั้งแต่รอบคัดเลือกโดยทำสถิติขว้างลูกถึง 1,517 ลูก
ท้ายที่สุดทีมโรงเรียนคานาอาชิก็เป็นฝ่ายแพ้ให้ขาประจำโคชิเอ็งอย่าง โอซาก้าโทอิน แบบขาดลอย 13-2 แต่ก็เป็นรองแชมป์ที่ได้รับคำชื่นชมและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมจำนวนมมาก กับความพยายามและเสียงตะโกนร้องเพลงโรงเรียนอย่างสุดพลังของพวกเขาเมื่อแข่งชนะทุกครั้ง เรื่องราวอันน่าทึ่งของโรงเรียนเกษตรคานาอาชิ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้โรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่โดดเด่นเรื่องกีฬาได้มีความฝันและพลังในการต่อสู้เพื่อไปให้ถึงโคชิเอ็งให้ได้ด้วย