ถุงยังชีพแบบญี่ปุ่น ซึนามิแผ่นดินไหวก็ไม่หวั่น
อาหาร
ก่อนอื่นเลย สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คืออาหาร โดยญี่ปุ่นมักจะมีกฏง่ายๆว่าเตรียมน้ำและอาหารไว้ให้พออยู่รอดได้ 3 วัน แล้วความช่วยเหลือก็จะมาถึงเอง ซึ่งมานึกๆดูแล้วน้ำหนักก็อาจจะมากพอดู ญี่ปุ่นจึงมีศาสตร์และศิลป์ในการ "ยัดอาหารสำหรับสามวันให้ลงกระเป๋าได้" (ผมตั้งชื่อเอาเอง) ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นหัวใจสำคัญเบอร์หนึ่งของการเอาตัวรอดในภัยพิบัติเลยครับ
มีอาหารแห้งหลายๆอย่าง ที่มีน้ำหนักเบาและจัดใส่กระเป๋าได้ง่ายครับ อย่างเช่นขนมปังแห้ง ข้าว บะหมี่ แกงสำเร็จรูป ขนมปังกระป๋อง อาหารแท่งเป็นต้น แต่อาหารเหล่านี้ บางอย่างสามารถกินได้เลย แต่บางอย่างก็ต้องใช้น้ำและความร้อนในการปรุง เพราะงั้นการจะจัดเตรียมก็ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยครับ
คัมปัง (ขนมปังแห้ง)
แคลอรี่สูงน้ำหนักเบา คือหัวใจของอาหารยังชีพ ขนมปังคัมปัง แบบในภาพในเป็นขนมปังที่เบา เล็ก แต่ให้แคลอรี่เยอะ
ที่เน้นแคลอรี่เยอะเพราะว่าเป้าหมายของการเตรียมสิ่งของเหล่านี้ ก็เพื่อให้เรามีชีวิตรอดได้นานที่สุดในสถานการณ์คับขัน เพราะฉะนั้นอาหารจึงเน้นดีไซน์แบบไม่กลัวอ้วน ไม่เน้นไดเอท ใส่แคลอรี่มาให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อเป็นพลังงานในการเอาตัวรอดนั่นเอง และแน่นอนว่าที่ต้องแห้งที่สุดก็เพื่อจะได้เก็บได้นานๆเป็นปีนั่นเอง เพราะของเหล่านี้ไม่เตรียมกันบ่อยๆ เตรียมครั้งเดียวแล้ววางไว้ในบ้านเป็นปีๆ หากไม่ต้องอพยพ ก็อาจไม่ได้ใช้เลยก็มี
เนื่องจากอาจจะไม่อร่อยมาก (แต่ผมกินแล้วโอเคนะ) แถมออกแบบมาเพื่อให้พลังงานเป็นหลัก ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมกินในเวลาปกติเพราะอ้วนโดยใช่เหตุ แต่สำหรับคนที่งานยุ่ง เผาผลาญดี อยากได้ของที่พลังงานเยอะๆ กินง่ายพกง่าย มันอาจจะเหมาะเอาไว้กินเล่นก็ได้นะ
อาหารแห้งพร้อมทาน
อาหารแห้งพร้อมทาน ในที่นี้มีหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะหมายถึงข้าวในซองที่นำไป freeze-dry จนแห้ง ทำให้มีน้ำหนักเบาและขนาดเล็ก พกพาสะดวก เป็นอาหารที่เหมาะมากในการจัดถุงยังชีพ เพราะพื้นที่กระเป๋านั้นมีจำกัดแน่นอน
ข้าวสำเร็จรูปนั้นมีหลายเกรด ที่วางขายอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่สามารถปรุงได้ด้วยน้ำร้อนหรือไมโครเวฟ แต่อย่างข้าวสำหรับถุงยังชีพแบบในภาพนั้น เนื่องจากถูกออกแบบให้เหมาะกับการใช้ชีวิตในช่วงภัยพิบัติที่การเตรียมน้ำร้อนอาจจะเป็นเรื่องยาก จึงทำออกมาให้สามารถใช้น้ำอุณหภูมิธรรมดาในการปรุงได้! แต่ต้องแช่นานหน่อยนะ
อย่างรุ่นในภาพ หากใช้น้ำร้อนใช้เวลา 15 นาที แต่จะใช้น้ำธรรมดาก็ได้ แค่นานหน่อยต้องรอ 60 นาที แต่การที่ไม่ต้องการน้ำร้อนและไมโครเวฟนี่แหละ ทำให้แค่หาแหล่งน้ำสะอาดให้เจอ ก็เอาตัวรอดได้แล้ว ไม่ต้องก่อไฟหรือหาไฟฟ้า
นอกจากจะสามารถกินได้ในช่วงภัยพิบัติแล้ว ก็ยังมีประโยชน์สำหรับคนที่ชอบปีนเขา เดินป่า หรือเดินทางไกลๆด้วยครับ
เซ็ทอาหารสำเร็จรูป
ถ้าเลือกไม่ถูก งั้นกินมันทุกอย่างเลยมั้ย?
เนื่องจากสินค้าสำหรับจัดถุงยังชีพ เป็นธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่น (เพราะแทบทุกคนชอบมีไว้ติดบ้านเพื่อความสบายใจ) จึงมีหลายเจ้าออกสินค้ามาหลากหลายรูปแบบ การแข่งขันที่สูงทำให้มีสินค้าให้เลือกเยอะ เป็นผลดีต่อผู้บริโภคครับ
สำหรับใครที่ขี้เกียจจัดเอง หรือไม่รู้จะทำยังไง ก็จะมีบางร้านที่จัดเตรียมมาเป็นเซ็ทให้เลยแบบนี้ครับ โดยมักจะมีคู่มือและรายละเอียดมาให้เป็นตัวอย่างว่าสามารถกินได้กี่วัน ให้พลังงานเท่าไหร่ วันไหนกินถุงไหนก่อนเป็นต้นครับ ข้อดีของเซ็ทแบบนี้ก็คือ เราไม่ต้องวางแผนมาก ทำตามได้เลย แถมเราได้กินหลากหลายทำให้มีกำลังใจในการอพยพและเอาตัวรอดมากกว่ากินแต่ของเดิมๆทุกวัน (แบบในหนังซอมบี้นั่นแล ถ้ากินขนมปังแห้งๆทุกวันมันไม่มีกำลังใจนะ ถึงจะมีแรงก็เถอะ)
แต่ถ้ามาเป็นเซทแบบนี้ มักจะแพงกว่าซื้อแยกเอาเอง และการเตรียมการก็ยากกว่านะ เพราะหลายๆอย่างต้องมีน้ำ มีไฟที่ใช้อุ่นอาหาร ที่สำคัญคือ การจัดใส่กระเป๋านี่จะลำบากเพราะมีซองหลายขนาด หลายรูปแบบ
น้ำ
น้ำสำหรับจัดถุงยังชีพนั้น ไม่ใช่น้ำดื่มธรรมดา แต่เป็นน้ำที่สามารถเก็บได้นานมากๆ ส่วนใหญ่ที่เห็นวางขายในตลาดจะโฆษณาตัวเลขอยู่ที่ 5 ปี
หลายคน (รวมถึงผมด้วย) มักจะสงสัยว่ามันต่างกับน้ำธรรมดายังไง น้ำขวดแบบอื่นมันเก็บนานห้าปีไม่ได้เหรอ คำตอบก็คือได้ครับ แต่ว่าไม่นานเท่า น้ำแร่ทั่วไปในท้องตลาดมักมีอายุอยู่ได้ประมาณ 2 ปีครับ (ซึ่งก็นานอยู่นะ)
แล้วเจ้าน้ำสำหรับจัดถุงยังชีพมันมีอะไรต่างจากน้ำขวดทั่วไป ทำไมเก็บได้นานกว่า สิ่งสำคัญเบอร์หนึ่งเลยก็คือ ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคที่ดีกว่าครับ เพราะแม้ว่าน้ำบริสุทธิ์นั้นเชื้อโรคจะเติบโตได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเติบโตไม่ได้เลยนะครับ ถ้ามีเวลาที่นานพอเชื้อก็สามารถเติบโต เพิ่มปริมาณเยอะพอให้เป็นโทษกับเราได้
สำหรับคนที่สงสัยในเรื่องรสชาติ คนส่วนใหญ่แยกไม่ออกครับ (ผมเองก็แยกไม่ออก) แต่ในทางทฤษฎี นอกจากการฆ่าเชื้อที่กรรมวิธีไม่เหมือนน้ำทั่วไปแล้ว น้ำที่เอาไว้จัดถุงยังชีพนั้นยังมีแร่ธาตุต่างๆ น้อยกว่าน้ำขวดทั่วๆไปอีกด้วย เพราะงั้นคนที่แยกออกก็มีครับ
หมวกกันภัย
หมวกที่แข็งแรง ป้องกันส่วนหัวได้ดีก็สำคัญมาก เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในยามฉุกเฉินของคนญี่ปุ่น เพราะภัยพิบัติส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ซึ่งจะมีอันตรายจากสิ่งของจากบนเพดาน บนตู้ หรือบนตึกสูงที่หล่นใส่หัวเราได้
ในกรณีของไทยเนื่องจากภัยพิบัติที่เจอมักไม่ได้มาในรูปแบบแผ่นดินไหว จึงอาจจะข้ามชิ้นนี้ไปได้ แต่มีติดไว้ก็อุ่นใจครับ
เครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟฉาย วิทยุ ที่ชาร์จถ่าน
เครื่องใช้ไฟฟ้าหลักๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือ วิทยุครับ แม้จะเป็นยุคสมาร์ทโฟนแล้ว แต่ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ นอกจากสมาร์ทโฟนจะไม่เหมาะสมเพราะกินไฟมากแล้ว ก็ยังอาจเกิดเหตุอะไรที่ทำให้การกระจายข่าวทางอินเตอร์เน็ตเป็นไปไม่ได้ก็ได้ครับ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีแบ็คอัพไว้ตลอด ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดก็คือเทคโนโลยีที่อยู่มานาน ดูแลง่าย พังยาก อย่างวิทยุครับ ไม่ว่าจะญี่ปุ่น ไทย หรือประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ ระบบการกระจายข่าวสารทางวิทยุก็จะยังถูกใช้ไปอีกนานครับ โดยเฉพาะในช่วงภัยพิบัติ
ในปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก หลายๆคนจะใช้อุปกรณ์แบบ all in one อย่างเช่นในภาพด้านบน ที่เป็นทั้งวิทยุ ไฟฉาย ที่ชาร์จแบตมือถือในอันเดียว แบบนี้น่าจะเหมาะกับคนสมัยนี้มากกว่าครับ และหากมีระบบชาร์จแบตเตอรี่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นแบบมือหมุนหรือโซล่าร์เซลล์ ก็ยิ่งอุ่นใจกว่าแบบใช้ถ่านครับ
Survival Sheet
ผ้าห่มผืนใหญ่ที่ทำจากอลูมิเนียม ใช้ป้องกันลมและความหนาวได้ดีมาก แถมยังมีประโยชน์อื่นด้วยเช่นรองนั่ง ห่มนอน ห่มเดิน ขนาดก็เล็กสุดๆพับใส่ถุงยังชีพได้ไม่ยาก เป็นหนึ่งในของสำคัญในถุงยังชีพของญี่ปุ่น
ทำมาจากอลูมิเนียมผสมกับเส้นใยโพลิเอสเตอร์ ที่ต้องมีอลูมิเนียมก็เพราะความสามารถในการกันลมและอุณหภูมิที่เหนือกว่าพลาสติกหรือผ้ามากๆ ที่เมืองไทยอาจจะไม่จำเป็นเท่าไหร่ในภาคที่ร้อน แต่ถ้าอยู่ทางเหนือหรืออีสาน ในบริเวณที่ประสบภัยหนาวกันบ่อยๆละก็ เตรียมเอาไว้ก็ไม่เลวนะ
อุปกรณ์ทำแผลและยาที่จำเป็น
สุดท้ายนี้ที่ลืมไม่ได้ก็คงจะเป็นยา หลักๆแล้ว สิ่งที่จำเป็นก็จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือยารักษาโรคทั่วไป นอกจากนี้ก็ยังมียาประจำตัว ที่จะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่บุคคลครับ
・อุปกรณ์ทำแผลและห้ามเลือด เช่นผ้าพันแผล กรรไกร สำลี ยาฆ่าเชื้อโรค
・ยาบรรเทาปวด ลดไข้
・ยาแก้ปวดท้อง อาหารเป็นพิษ
・ยาทาภายนอก เช่นแก้คัน แก้ผื่น
・ยารักษาโรคประจำตัว
หากเตรียมการดีๆ การเอาตัวรอดในเวลาซักสามสี่วัน จนกว่าจะมีความช่วยเหลือมาถึงก็ไม่ใช่เรื่องยาก แม้เราจะไม่มีภัยพิบัติเยอะเหมือนที่ญี่ปุ่น แต่จะลองเตรียมถุงยังชีพเก็บไว้ที่บ้านดูกันก็ไม่เลวนะครับ