7 หม้อไฟจาก 7 จังหวัดในญี่ปุ่น

หม้อไฟเป็นอีกหนึ่งอาหารประจำฤดูหนาวของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในวันหิมะตกหนักๆ แบบนี้ ไม่อยากจะออกไปไหนไกลกว่าหน้าเตาหม้อไฟเลยจริงๆ ครั้งนี้ก็เลยจะมาแนะนำ 7 อันดับหม้อไฟเด็ดประจำแต่ละท้องถิ่น เพราะแต่ละที่ก็มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ อร่อยเด็ดทุกหม้อเลยล่ะ
By ขนมโตเกียว7. คิจินาเบ = キジ鍋 (จังหวัดมิเอะ)

หม้อไฟเนื้อไก่ฟ้า หรือ คิจินาเบ (キジ鍋) เป็นหม้อไฟที่นิยมกินกันในจังหวัดมิเอะ โดยมักจะเป็นเนื้อไก่ฟ้าที่เลี้ยงในฟาร์มแต่ปล่อยให้วิ่งได้อย่างอิสระ เนื้อจึงมีมันน้อย และไม่เลี่ยนมัน นุ่มและเปี่ยมด้วยวิตามินและคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะในฤดูหนาวๆ แบบนี้ยิ่งเนื้อนุ่มแน่นอร่อยเด็ด มักจะกินกับต้นหอม ผักกาด แครอท และผักอื่นๆ โดยน้ำซุปมักจะเป็นน้ำซุปผสมโชยุ
6. อังโคนาเบ =あんこう鍋 (จังหวัดอิบาระกิ)

อังโคเป็นชื่อปลาชนิดหนึ่งในสายพันธุ์เดียวกับปลาอุก หรือบ้างก็เรียกว่าปลากบจาน เป็นปลาน้ำลึกที่ถูกจัดว่าหน้าตาน่าเกลียดที่สุดชนิดหนึ่งเลยทีเดียว แต่เนื้อกลับหวานอร่อย กรุบกรอบเด้งดึ๋ง เรียกว่าถ้าของดีฝั่งคันไซคือปลาปักเป้า (ฟุกุ=ふぐ) แล้ว ฝั่งคันโตก็มีปลาอุก (อังโค=あんこう) นี่แหละ โดยเฉพาะในฤดูหนาว เนื้อปลาอุกจะอร่อยเป็นพิเศษ เหมาะมากๆ ที่จะเอามาลวกในหม้อไฟร้อนๆ กินในวันที่หิมะตกปรอยๆ มีความสุขที่สุด
5. มตสึนาเบ =もつ鍋 (จังหวัดฟุกุโอกะ)

มตสึนาเบ (もつ鍋 ) เป็นหม้อไฟของดังของจังหวัดฟุกุโอกะ ดังมากจนแพร่กระจายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น จึงสามารถหากินได้ไม่ยาก หม้อไฟมตสึนี้ โดยมากมักจะใส่เครื่องในของหมูหรือไม่ก็วัวที่สุดแสนจะเด้งดึ๋งเคี้ยวมัน และเปี่ยมไปด้วยสารอาหารที่เชื่อว่าดีต่อผิวพรรณของสาวๆ อีกด้วย ตัวซุปมีรสชาติจัดจ้านถูกใจคนไทย โดยมักจะปรุงรสด้วยโชยุและกระเทียม โปะหน้าด้วยพริกหรือเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น บางร้านก็จะโปะไข่ปลาเมนไตโกะหรือไข่ปลาค็อตเข้าไปเพื่อเพิ่มรสชาติ และมักจะปิดท้ายหม้อด้วยเส้นบะหมี่ลงไปต้มในน้ำซุปเข้มข้น อิ่มอร่อยสบายท้อง
4. จังโกะนาเบ = ちゃんこ鍋 (จังหวัดโตเกียว)

จังโกะนาเบ (ちゃんこ鍋) เป็นหม้อไฟที่นักกัฬาซูโม่นิยมกิน และซูโม่ที่รีไทร์ไปแล้วก็มักจะเปิดร้านจังโกะนาเบด้วยเช่นกัน มีลักษณะพิเศษคือ (ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า) ขนาดใหญ่ยักษ์สำหรับชาวซูโม่ และเครื่องก็จะเป็นอะไรก็ได้ไม่จำกัด ขอให้มีอยู่ในตู้เย็นและเน้นปริมาณโปรตีนเยอะๆ เข้าว่าก่อน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ (ประมาณ 1/4 ตัว ติดหนัง) ปลา (ทอดก่อนแล้วนำมาทำเป็นลูกชิ้น) เต้าหู้ก้อนใหญ่ เนื้อวัว ผัก และสารพัดที่จะนึกออก โยนลงไปเลย ปรุงรสน้ำซุปกระดูไก่ด้วยเหล้าสาเกปรุงอาหารและมิริน ถึงจะฟังดูเฮลตี้ แต่สุดท้ายมักจะเสริฟพร้อมเบียร์เย็นๆ ตบท้ายด้วยการนำเส้นอุด้งลงไปต้มในน้ำซุปก้นหม้อ อร่อยลืมอ้วน
3. ซุปคาเร่นาเบ = スープカレー鍋 (จังหวัดฮอกไกโด)

ซุปคาเร่นาเบ (スープカレー鍋) หรือหม้อไฟแกงหะหรีญี่ปุ่น เป็นอาหารใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในจังหวัดฮอกไกโดเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเริ่มต้นมาจากซุปคาเร่ก่อน คือเหมือนนำแดงกะหรี่มาทำให้กลายเป็นซุป ต้มกับผักนานาชนิด สามารถซดได้อย่างเอร็ดอร่อย และภายหลังได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหม้อไฟอีกที โดยใช้น้ำซุปรสแกงกะหรี่ แล้วนำเนื้อสัตว์และผักนานาชนิดลงไปต้ม กินกับข้าวสวยร้อนๆ เหมาะกับวันหิมะตกหนักๆ ของฮอกไกโด เพราะว่าไม่ต้องออกไปไหนไกล นั่งล้อมวงกินหม้อไฟแกงกะหรี่ร้อนๆ ร่างกายก็อบอุ่นได้แล้ว
2. ฟุกุนาเบ = フグ鍋 (จังหวัดยามางุจิ)

ฟุกุนาเบ (フグ鍋) ก็คือหม้อไฟเนื้อปลาปักเป้านี่เอง ปลาปักเป้าอย่างที่ทราบกันว่าเป็นปลาอันตรายที่มีพิษ ฉะนั้นร้านที่จะทำอาหารเกี่ยวกับปลาปักเป้าได้นั้นต้องมีไบอนุญาติและมีผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ จึงไม่สามารถหากินได้ตามร้านทั่วไป และจัดว่าเป็นอาหารราคาแพงที่น่าลิ้มลองสักครั้ง หม้อไฟเนื้อปลาปักเป้านี้ จะใช้น้ำซุปจากสาหร่ายคมบุเป็นหลัก และต้มกับกระดูกปลาปักเป้าและผักนานาชนิดเพื่อเพิ่มความเข้มข้น ก่ินจะนำเนื้อปลาปักเป้าเข้าไปลวกและจิ้มกับน้ำจิ้มปองสุ (ออกรสเปรี้ยวสดชื่น) น้ำซุปที่เหลือจากหม้อไฟมักจะนำมาปรุงรสด้วยเกลือเพิ่ม และนำข้าวสวยลงไปตุ๋น กลายเป็นข้าวอบซุปปลาปักเป้า
1. โฮโตนาเบ = ほうとう鍋 (จังหวัดยามานาชิ)

พูดถึงจังหวัดยามานาชิ แน่นอนว่าคนญี่ปุ่นแทบทุกคนจะนึกถึง โฮโตนาเบ (ほうとう鍋 )
หม้อไฟที่มักจะใส่อุด้งเส้นแบนๆ ตุ๋นกับผักสารพัดชนิดในน้ำซุปเต้าเจี้ยวมิโสะ และโดยมากมักจะใส่ฟักทองเป็นส่วนประกอบหลักจนทั่วญี่ปุ่นมักจะเรียกหม้อไฟที่ใส่ฟักทองว่าโฮโตนาเบกันไปหมดเลยทีเดียว ความหวานละมุนจากเนื้อฟักทองผสมกับความเค็มกลมกล่อมกำลังดีของน้ำซุปมิโสะ กับเส้นอุด้งนุ่มๆ ละลายในปาก รับรองว่ากินหมดคนเดียวได้ทั้งหม้อแน่ๆ