การพาลูกเข้าอนุบาลที่ญี่ปุ่น ภาค 2 : เอกสาร และของใช้ในโรงเรียน
สวัสดีค่ะ บทความนี้เป็นบทความต่อจาก "การพาลูกเข้าอนุบาลที่ญี่ปุ่น จากประสบการณ์จริง" เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่แม่บ้านได้สัมผัสด้วยตนเอง ญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจทำให้มีการบริหารจัดการของแต่ละจังหวัดหรืออำเภอที่แตกต่างกัน ดังนั้นข้อมูลที่ผู้อ่านจะได้รับจากบทความนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มข้อมูลที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงโรงเรียนอนุบาลในญี่ปุ่นได้ดีขึ้นค่ะ
By แม่บ้านเมกุโระ3 ) ของใช้ในโรงเรียนที่เราต้องเตรียม 3/4
3 ) ของใช้ในโรงเรียนที่เราต้องเตรียม 3/4
3.10 ) เสื้อผ้าสำรอง (着替え)
เสื้อผ้าสำรองเป็นเสื้อผ้าที่จะต้องทิ้งไว้ที่โรงเรียนสำหรับเปลี่ยน เช่น เสื้อ กางเกง กางเกงใน ถุงเท้า และอื่น ๆ ทางโรงเรียนแนะนำให้เตรียมไว้ 2 – 3 เซ็ต แต่สำหรับแม่บ้านคิดว่าไม่น่าพอสำหรับลูกชายค่ะ เปลี่ยนชุดบ่อยเหลือเกินนน ต้องเตรียมชุดที่เหมาะกับฤดูตอนนั้นด้วย อากาศหนาวมากเป็นเสื้อแขนยาวหนา ๆ หรืออากาศร้อนเตรียมเสื้อแขนสั้น
บางฤดูทางโรงเรียนอาจจะต้องการให้ผู้ปกครองเตรียมชุดเพิ่ม เช่น ฤดูใบไม้ผลิเตรียมเสื้อกันลม (คล้ายเสื้อกันหนาวแต่บางกว่า) หรือฤดูร้อนเตรียมชุดว่ายน้ำเพิ่มด้วย เพราะครูจะชอบเปิดน้ำให้เด็กเล่นช่วงหน้าร้อนค่ะ หรือบางโรงเรียนก็มีสระว่ายน้ำเล่นน้ำกันอย่างจริงจังไปเลย
3.11 ) ผ้ารองยืนเวลาเปลี่ยนเสื้อผ้า (着替えマット)
เป็นผ้ารองยืนเวลาที่ครูเปลี่ยนเสื้อผ้าเด็กด้านนอก เพราะหลายครั้งที่ตัวเด็กมักจะเปรอะเปื้อนไปด้วยดินและทราย ทำให้ต้องมีแผ่นรองยืนเพื่อไม่ให้เท้าเด็กสัมผัสกับพื้นที่เลอะเวลาเปลี่ยนชุด ตัวผ้าเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดประมาณแผ่นรองจานบนโต้ะอาหารค่ะ
3.12 ) กระเป๋าผ้าสำหรับใส่เสื้อผ้าที่เปลี่ยนกลับบ้าน (エコバッグ)
ผู้ปกครองจะเตรียมเป็นถุงพลาสติกธรรมดาหรือถุงผ้าแบบใช้ซ้ำก็ได้ ส่วนตัวแม่บ้านเลือกที่จะใช้เย็บถุงผ้าใช้เองเพราะต้องใช้บ่อยมาก ใช้เกือบทุกวันเพราะลูกเปลี่ยนชุดเกือบทุกวัน จะเป็นถุงพับรักษ์โลกที่ซื้อตามห้างหรือซุปเปอร์ทั่วไปก็ไม่มีปัญหาค่ะ ขอให้เขียนชื่อให้ชัดเจน เห็นง่ายก็โอเค สำหรับคนที่ใช้ถุงผ้าแบบไม่กันน้ำ บางครั้งทางโรงเรียนจะขอให้เตรียมถุงพลาสติกกันน้ำด้วย เพราะอาจจะมีชุดที่เปียกน้ำกลับบ้านอย่างชุดว่ายน้ำในหน้าร้อน
3.13 ) กระเป๋าใส่เสื้อผ้าสำรอง (着替え用衣類袋)
เป็นกระเป๋าหูรูดขนาดใหญ่ มีหูหิ้วสำหรับถือสองข้าง ความจุประมาณถุงขยะขนาดเล็ก ของที่ต้องเก็บไว้ที่โรงเรียนอย่าง เสื้อผ้าสำรอง เป็นผ้ารองยืน กระเป๋าผ้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ชุดว่ายน้ำ และอื่น ๆ จะถูกใส่ไว้ในนี้หมดค่ะ กระเป๋าในนี้จะถูกเก็บไว้ที่โรงเรียนตลอด จะส่งคืนก็ต่อเมื่อจบเทอมการศึกษา
เวลาที่เสื้อผ้าสำรองหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปถูกนำไปใช้ เราจะใส่เสื้อผ้าสำรองหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำรองลงไปในกระเป๋าลูกค่ะ คุณครูจะให้เด็ก ๆ เอาเสื้อผ้าและของใช้ออกจากกระเป๋า ไปเก็บยังกระเป๋าใส่เสื้อผ้าสำรองของตนเองที่โรงเรียนค่ะ ให้ผู้ปกครองจำไว้ว่าได้กลับมาแบบไหน ก็ใส่กลับเข้าไปแบบนั้นค่ะ
เคยมีเหตุการณ์ที่เสื้อผ้าสำรองของลูกที่โรงเรียนหมดค่ะ ทางโรงเรียนจะมีชุดและกระเป๋าอีโค่แบ็คให้ยืม แล้วเราจึงนำมาซักให้เรียนร้อยแล้วส่งคืนทางโรงเรียนค่ะ อย่างหมวกก็เช่นกันค่ะ ยกเว้นกางเกงในที่จะต้องเสียเงินให้กับทางโรงเรียนแบบขวดน้ำ และกางเกงในนั้นจะเป็นของลูกเลยค่ะ ไม่ต้องคืน
3.14 ) กระเป๋าใส่หนังสือและรูปภาพ (作品袋)
กระเป๋าหูหิ้วขนาด A3 สำหรับใส่หนังสือหรือภาพวาดของลูกกลับบ้านค่ะ บางครั้งเด็กอ่านหนังสือที่โรงเรียนแล้วยังอ่านไม่จบ หรืออยากยืมเอากลับไปบ้านเพื่อให้ผู้ปกครองอ่านให้ ครูก็จพนำหนังสือใส่กระเป๋าใบนี้แล้วให้เด็กนำกลับบ้านค่ะ
ในส่วนของกระเป๋าใส่รองเท้าในห้องเรียน (上履き袋) กระเป๋าใส่มาสก์ (マスク袋) กระเป๋าผ้าสำหรับใส่เสื้อผ้าที่เปลี่ยนกลับบ้าน (エコバッグ) กระเป๋าใส่เสื้อผ้าสำรอง (着替え用衣類袋) กระเป๋าใส่หนังสือและรูปภาพ (作品袋) แม่บ้านเลือกที่จะทำด้วยตนเองค่ะ
ตอนแรกก็ไม่มั่นใจ เพราะไม่เคยเย็บผ้าด้วยจักรมาก่อน แต่ก็ลองศึกษาการใช้จักรและการเย็บแพทเทิร์นผ่านทาง Youtube ค่ะ อยากบอกว่าคลิปเย็บผ้าของคนญี่ปุ่นเข้าใจง่ายมากค่ะ ขนาดแม่บ้านไม่ได้ภาษาเลยยังดูและทำตามได้อย่างสบาย ๆ เลยค่ะ เขาอัดวีดีโอไว้อย่างละเอียดมาก และมีแพทเทิร์นที่หลากหลายด้วยค่ะ เนื่องจากมีกระเป๋าหลายใบที่ทางโรงเรียนกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องการไซซ์เท่านี้ ๆ แม่บ้านจึงต้องเย็บกระเป๋าเองค่ะ ส่วนนึงที่แม่บ้านเลือกที่จะเย็บเองเพราะอยากให้ของใช้ของลูกมีลวยลายและสีเดียวกัน เวลาถูกวางไว้กับของเพื่อน ๆ เห็นปรู้ดจะได้รู้ทันทีว่านั่นของลูกเราค่ะ ง่ายสำหรับแม่และคุณครูด้วยค่ะ
แต่สำหรับคุณแม่ที่เย็บผ้าไม่เป็น หรือไม่ถนัดงานเย็บ ไม่ต้องเป็นกังวลไปค่ะ คุณแม่สามารถหาซื้อแบบสำเร็จรูปได้ทั่วไป อย่างในห้าง Aeon หรือตามร้านร้อยเยน หรือบนออนไลน์ก็มีขายค่ะ หรือถ้าอยากให้ของเป็นลวดลายเซ็ตเดียวกัน ที่ญี่ปุ่นก็มีร้านรับเย็บกระเป๋าอยู่ทุกที่ค่ะ เพื่อนแม่บ้านก็เคยใช้บริการ เข้าไปเลือกผ้า สีของเชือกและริบบิ้น และแจ้งกับทางร้านว่าต้องการทรงไหน ขนาดเท่าไหร่ เขาก็จะตัดจัดส่งให้ตามเวลาที่กำหนดค่ะ แต่แนะนำให้รีบไปสั่งทำตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหลายร้านในโตเกียวคิวยาวมาก ใช้เวลาถึง 3 เดือนกว่าจะถึงคิวก็มีค่ะ หรือลองถามในกลุ่มเฟสบุ๊คแม่บ้านคนไทยก็มีคนรับทำค่ะ