การพาลูกเข้าอนุบาลที่ญี่ปุ่น ภาค 2 : เอกสาร และของใช้ในโรงเรียน
สวัสดีค่ะ บทความนี้เป็นบทความต่อจาก "การพาลูกเข้าอนุบาลที่ญี่ปุ่น จากประสบการณ์จริง" เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่แม่บ้านได้สัมผัสด้วยตนเอง ญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจทำให้มีการบริหารจัดการของแต่ละจังหวัดหรืออำเภอที่แตกต่างกัน ดังนั้นข้อมูลที่ผู้อ่านจะได้รับจากบทความนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มข้อมูลที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงโรงเรียนอนุบาลในญี่ปุ่นได้ดีขึ้นค่ะ
By แม่บ้านเมกุโระ3 ) ของใช้ในโรงเรียนที่เราต้องเตรียม 1/4
3 ) ของใช้ในโรงเรียนที่เราต้องเตรียม
ของทั้งหมดต่อไปนี้เป็นสิ่งที่แม่บ้านต้องหาเตรียมเองนะคะ ทั้งเลือกซื้อบ้าง ทำเองบ้าง ดัดแปลงบ้าง เราไปดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง? และเยอะขนาดไหนค่ะ
3.1 ) กระติกน้ำ (水筒)
ทางโรงเรียนแนะนำให้เตรียมกระติกน้ำไว้ 2 ขนาดค่ะ คือขนาดใหญ่ (600 มล.) และขนาดเล็ก (350 มล.) ช่วงฤดูร้อนแนะนำให้ใช้กระติกน้ำขนาดใหญ่ แต่ส่วนตัวแม่บ้านใช้กระติกน้ำใหญ่เวลาลูกไปโรงเรียนเต็มวันส่วนกระติกน้ำขนาดเล็กสำหรับวันที่ไปโรงเรียนครึ่งวันค่ะ
คุณครูแจ้งว่าถ้าน้ำในกระติกของลูกหมด จะถูกเติมด้วยน้ำประปา หรือน้ำก็อกค่ะ แต่ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ ประเทศญี่ปุ่นน้ำประปาดื่มได้ค่ะ ส่วนตัวแม่บ้านก็ดื่มน้ำประปาที่บ้านตลอด ไม่เลยกรองหรือต้มเลยค่ะ น้ำประปาที่นี่สะอาดมาตรฐานสูง ส่วนคุณแม่ที่เป็นกังวลเรื่องนี้ก็สามารถเตรียมกระติกน้ำที่มีความจุค่อนข้างมากหน่อยไว้ให้ลูกค่ะ แต่ต้องทดลองใช้แล้วว่าลูกสามารถดื่มได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องให้คุณครูช่วยนะคะ
บางโรงเรียนจะต้องเตรียมกระเป๋าสำหรับสะพายกระติกน้ำด้วย ดังนั้นเช็คให้ดีว่าทางโรงเรียนต้องการแบบไหนนะคะ เพราะกระเป๋าสะพายกระติกน้ำมักจะนิยมขายเป็นเซ็ตคู่กันเลยค่ะ บางทีเราซื้อแต่กระติกน้ำอาจจะหากระเป๋าสะพายที่มีขนาดพอดีไม่ได้ค่ะ
ส่วนวันไหนที่คุณแม่ลืมกระติกน้ำ ทางโรงเรียนจะมีขวดน้ำไว้ให้ลูกดื่มในวันนั้น แต่จะเก็บค่าน้ำ 100 เยนค่ะ แม่บ้านเคยโดนครั้งนึง ทุกวันนี้ยังไม่เคยบอกพ่อบ้านเลยว่าลืมค่ะ ;P
3.2 ) กระเป๋านักเรียน (通園かばん)
กระเป๋านักเรียนสำคัญมากค่ะ ดูเป็นสิ่งของที่หาซื้อได้ง่าย ๆ แต่การเลือกซื้อยากมากค่ะ กว่าจะเจอที่ถูกใจทั้งดีไซน์ ขนาดที่พอดี ฟังก์ชั่นการใช้งาน และราคาที่สมเหตุสมผล การจะเจอกระเป๋าสักใบที่ถูกใจทั้ง 4 ข้อนี่ยากสุด ๆ ไปเลยค่ะ สำหรับผู้ปกครองที่กำลังเลือกซื้อกระเป๋าให้ลูก เรามาดูทั้ง 4 ข้อกันค่ะ
3.2.1 ) ดีไซน์ถูกใจ เด็กในวัยนี้บางคนก็รู้จักที่จะเลือกสีและลายที่ตนเองชอบแล้วค่ะ เห็นมีคุณแม่หลายท่านมาบ่นให้ฟังว่าลูกต้องการสีนี้ ๆ แต่กระเป๋าที่คุณแม่อยากได้ดันไม่มีสีที่ลูกต้องการ จากปัญหาเล็ก ๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายบ้าน ส่วนลูกชายเป็นเดนฉะโอตาคุแบบพ่อค่ะ (คลั่งรักรถไฟมากกก) เลยตั้งใจไว้ว่าจะดูกระเป๋าที่เป็นลายรถไฟให้ลูกค่ะ แต่ราคาก็แรงมาก เลยลองดูกระเป๋าลายธรรมดาแล้วถามลูกดู ลูกก็ไม่ได้ว่าอะไร เลยไปซื้อแผ่นแพทช์รีดร้อนลายรถไฟมารีดติดกระเป๋าให้ลูก เขาก็ดูดีใจค่ะ
3.2.2 ) ขนาดที่พอดี ใส่ของได้ค่อนข้างเยอะ แต่ก็ไม่ควรใหญ่กว่าตัวลูกมากนัก เพราะจะทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ในช่วงแรกเด็กจะเรียนแค่สั้น ๆ หรือครึ่งวัน ซึ่งจะยังไม่มีกล่องข้าวหรือของใหญ่ ๆ ใส่เข้าไปในกระเป๋า แม่บ้านเห็นเด็กหลายคนเลือกที่จะมีกระเป๋าไว้ 2 ใบ ใบแรกขนาดเล็ก หยิบใส่ของได้สะดวก เพื่อให้ลูกได้หัดใช้กระเป๋าก่อนค่ะ ส่วนอีกใบเป็นกระเป๋าขนาดปรกติที่มีขนาดใหญ่กว่า เอาไว้เป็นกระเป๋าที่ใช้จริงเวลาเปิดเรียนเต็มวันค่ะ ซึ่งกระเป๋าขนาดปรกติทางโรงเรียนแนะนำให้ซื้อแบบ 10 – 15 ลิตร ตามขนาดตัวของเด็ก
3.2.3 ) ฟังก์ชั่นการใช้งาน แม่บ้านเลือกกระเป๋าที่มีช่องใส่ขวดน้ำด้านข้าง เพื่อให้เห็นว่าทุกเช้ามีการเตรียมขวดน้ำไว้แล้ว ช่องใส่ของมีแค่ 2 ช่อง คือด้านหน้ากับตรงกลาง ไม่มีช่องซอกแซกยิบย่อย เด็กใช้งานง่าย ซิปลื่นเปิดปิดไม่ลำบาก ทางโรงเรียนแนะนำกระเป๋าที่มีตะขอติดหน้าอกเพราะจะได้ไม่หลุดเวลาครูพาเด็ก ๆ ออกไปนอกโรงเรียนค่ะ
3.2.4 ) ราคาที่สมเหตุสมผล ข้อนี้ยากมากค่ะ เพราะราคากระเป๋าของเด็กในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5,000 – 10,000 เยน! ตกเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1,500 – 3,000 บาท แพงมาก แม่บ้านยังตกใจ โห... ราคานี้เลยหรอเนี่ย? แต่บางทีก็ต้องตัดใจซื้อ เนื่องด้วยเหตุผลทั้ง 3 ข้อตามด้านบน เพราะมันเหมาะสมกับลูกค่ะ
3.3 ) หมวก (園庭用帽子)
หมวกสำหรับเด็กใส่เวลาออกไปเล่นที่สวน หรือออกข้างนอกโรงเรียนค่ะ อย่างโรงเรียนของลูกจะมีสวนเล็ก ๆ อยู่ด้านหลังห้องเรียนค่ะ เวลาชั่วโมงอิสระ ลูกชายจะชอบออกไปเล่นตรงสวน ซึ่งจะครูจะบอกให้สวมหมวกทุกครั้งแต่กันรังสีจากแดดและแมลงค่ะ หน้าร้อนที่ญี่ปุ่นนี่บอกเลยว่าโหดไม่ใช่เล่นนะคะ มีเด็กเล็กหลายคนที่ออกไปข้างนอกโดยไม่สวมใส่หมวกป้องกันเป็นลมกันบ่อยค่ะ
อย่างเนิสเซอรี่ญี่ปุ่นจะให้สวมใส่หมวกเวลาออกข้างนอกพาเด็ก ๆ ไปเดินเล่น วิ่งเล่นที่สวนสาธารณะค่ะ ข้อดีอีกอย่างคือทำให้คุณครูรู้ด้วยว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กของเราหรือเปล่าเมื่อมองไกล ๆ เช่นเนิสเซอรี่ A ใส่หมวกสีม่วง เนิสเซอรี่ B ใส่หมวกสีเหลือง เวลาเจอกันที่สวนก็แยกเด็กเล็กออกจากกันได้โดยง่ายค่ะ ส่วนหมวกที่ทางโรงเรียนของลูกต้องการคือเป็นหมวกปีกกว้างรอบศีรษะ มีสายคล้องคอเพื่อไม่ให้หมวกหล่นหายเวลาลมแรงหรือเด็กวิ่งค่ะ