allabout japan
allabout japan

รู้จักมารยาทบนโต๊ะอาหารสไตล์คนญี่ปุ่น

รู้จักมารยาทบนโต๊ะอาหารสไตล์คนญี่ปุ่น

อาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญ มารยาทบนโต๊ะอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเป็นต้องรู้ไว้เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าประเทศไหนก็เรื่องที่ทำได้และทำไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ค่อนข้างมีรายละเอียดในข้อควรปฏิบัติเวลาร่วมโต๊ะรับประทานอาหารด้วยกัน

By Japan Travel Editor

มารยาทบนโต๊ะอาหารของคนไทยและคนญี่ปุ่น

มารยาทบนโต๊ะอาหารของคนไทยและคนญี่ปุ่น

https://pixta.jp/

ถ้าลองเปรียบเทียบเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารของไทยเรากับของญี่ปุ่นก็จะเห็นได้ว่ามีทั้งที่คล้ายกันและต่างกัน ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาเนื่องจากเป็นไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ อย่างอุปกรณ์ที่ใช้รับประทานอาหารของไทยใช้ช้อนส้อม ส่วนของญี่ปุ่นใช้ตะเกียบซึ่งถ้าหากนั่งร่วมโต๊ะรับประทานกับคนญี่ปุ่นก็ต้องระวังมารยาทเรื่องตะเกียบให้มาก

เรื่องมารยาทแปลกๆ ที่ต่างกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นยังมีอีก เช่น เรื่องการซดอาหารที่เป็นลักษณะน้ำแกงหรือพวกซุปต่างๆ ถ้าเป็นของไทยจะต้องซดอย่างระวังไม่ให้เกิดเสียงดังถึงจะดูมีมารยาท ต่างกับญี่ปุ่นที่เมนูเส้นกับน้ำซุปต้องซดให้เสียงดังซู้ดซ้าดเข้าไว้เพื่อแสดงให้คนทำเห็นว่าจานนั้นแสนอร่อยมากมายเพียงใด ในส่วนที่เป็นมารยาทสากลทั่วไปก็คิดว่าน่าจะรู้กันดี อย่างเช่น การไม่คุยเสียงดังขณะรับประทาน ไม่เล่าเรื่องที่ไม่เหมาะสมเช่น ข่าวฆาตกรรม เรื่องที่ชวนคลื่นไส้ เรื่องห้องส้วม เป็นต้น

มารยาทในการใช้ตะเกียบของคนญี่ปุ่น

มารยาทในการใช้ตะเกียบของคนญี่ปุ่น

https://pixta.jp/

มารยาทเรื่องแรกที่ควรศึกษาไว้คือมารยาทการใช้ตะเกียบของคนญี่ปุ่น เนื่องจากตะเกียบเป็นอุปกรณ์รับประทานอาหารที่สำคัญและขาดไม่ได้ จึงมีข้อควรระมัดระวังหลายข้อ ดังนี้

- ตะเกียบตามร้านอาหารส่วนใหญ่เป็นตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งจะมีวิธีการหักที่ถูกต้องด้วย โดยขั้นแรกให้ดึงตะเกียบออกจากซอง ถือตะเกียบในแนวนอนแล้วแยกตะเกียบออกตามแนวยาว ไม่ถือตะเกียบตั้งชี้ขึ้นหรือลงแล้วแยกตะเกียบออกตามแนวขวางเพราะเป็นการเสียมารยาท

ตอนแยกออกมือหรือแขนอาจไปโดนคนข้างๆ ได้ และระหว่างรับประทานถ้าต้องการพักให้วางตะเกียบลงบนที่วางตะเกียบ แต่ถ้าไม่มีก็ให้พับซองตะเกียบเพื่อใช้วางแทน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็ใส่ตะเกียบกลับเข้าซองและพับปลายซองเพื่อให้รู้ว่าเป็นตะเกียบใช้แล้ว

- ไม่ควรปักตะเกียบลงบนข้าว คนญี่ปุ่นถือเพราะหมายถึงการให้ข้าวกับคนตาย

- เวลาคีบอาหารขณะรับประทานแล้วอาจทำตก ก็ให้ถือจานเล็กๆ หรือถ้วยแบ่งไปรอง ไม่ควรใช้มือตัวเองรอง

- ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบอาหารมาวางในจานตัวเองแล้วคีบกลับไปวางคืนเหมือนเดิม เพราะอาหารนั้นเป็นของที่รับประทานกันหลายคน

- ไม่ควรใช้ตะเกียบจิ้มอาหารหรือเสียบอาหารเพราะเป็นการใช้อุปกรณ์ผิดวิธี

- ไม่ควรถือตะเกียบข้ามหน้าคนอื่นเพื่อไปคีบอาหาร หรือใช้ตะเกียบเลื่อนจานอาหารให้เข้ามาหาตัวเอง

คำพูดที่ใช้ประจำเวลารับประทานข้าว

คำพูดที่ใช้ประจำเวลารับประทานข้าว

https://pixta.jp/

ต่อมาเป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับคำกล่าวก่อนและหลังรับประทานอาหาร คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องกล่าวว่า "อิตาดาคิมัส (Itadakimasu)" แปลว่าขอรับอาหารนะคะ/ครับ ก่อนที่จะเริ่มรับประทานอาหาร เพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อพ่อครัวผู้ปรุงอาหาร ต่อบรรดาเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกจนได้วัตถุดิบดีๆ มาประกอบอาหาร และต่อเหล่าวัตถุดิบที่ได้สละชีวิตมาเป็นอาหารให้รับประทาน

และกล่าว "โกะจิโซซามะเดชิตะ (Gochisosamadeshita)" แปลว่าขอบคุณสำหรับอาหาร หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เพื่อแสดงความซาบซึ้งขอบคุณผู้คนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องในอาหารที่อุตส่าห์เหนื่อยยากและลงทุนลงแรงเพื่อให้ได้อาหารมื้อนี้

มารยาทในการรับประทานซูชิ

มารยาทในการรับประทานซูชิ

https://pixta.jp/

อาหารขึ้นชื่อที่มีเฉพาะญี่ปุ่นอย่างซาชิมิและซูชิก็มีวิธีรับประทานที่ควรรู้ไว้ เริ่มจากรินโชยุใส่จานน้ำจิ้มเล็กๆ ในปริมาณพอดีๆ ทาวาซาบิลงบนชิ้นซูชิหรือซาชิมิที่ต้องการรับประทานโดยตรง ไม่ใส่วาซาบิลงในโชยุแล้วคนให้ละลาย ถ้าเป็นซูชิให้จิ้มโชยุด้านที่เป็นเนื้อปลาไม่ใช่ด้านที่เป็นข้าวเพราะข้าวอาจแตกกระจายได้

ควรรับประทานให้หมดในคำเดียว ไม่เลือกรับประทานแค่หน้าซูชิ แต่ถ้าซูชิคำใหญ่เกินไปไม่สามารถรับประทานได้ในคำเดียว ก็ให้รับประทานข้าวปั้นครึ่งหนึ่งก่อนแล้วนำหน้าซูชิห่อข้าวปั้นที่เหลือเพื่อรับประทานให้หมดคำ เราสามารถใช้มือแทนตะเกียบในการรับประทานซูชิได้ไม่ถือว่าเป็นการเสียมารยาท

การใช้ผ้าโอชิโบริ

การใช้ผ้าโอชิโบริ

เรื่องของผ้าร้อนผ้าเย็นที่ร้านอาหารนำออกมาต้อนรับก็มีวิธีใช้ที่ต้องรู้ไว้ก่อน เมื่อเข้าไปรับประทานอาหารในร้าน เขาจะมีผ้าขนหนูผืนเล็กๆ ที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "โอชิโบริ (Oshibori)" เตรียมไว้ให้ มีทั้งแบบเย็นและแบบร้อน

โอชิโบรินั้นเอาไว้ใช้สำหรับทำความสะอาดมือเท่านั้น อันที่จริงก็สามารถนำมาใช้เช็ดหน้าได้เหมือนกันเพียงแต่อาจโดนคนญี่ปุ่นมองว่าเป็นพวกมนุษย์ลุงแก่ๆ ที่ใช้งานผ้าไม่ค่อยถูกประเภทนัก และไม่ควรนำผ้าไปเช็ดอย่างอื่น เช่น ซอส โชยุ หรือคราบต่างๆ บนโต๊ะ เนื่องจากโอชิโบริมักเป็นผ้าที่ทางร้านอาหารเช่ามาจากร้านที่ให้บริการเช่าผ้าโอชิโบริ มีการนำไปซัก และนำกลับมาวนใช้ใหม่ ถ้ามีรอยเปื้อนซักไม่ออกก็จะไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก

การรับประทานเมนูประเภทเส้น

การรับประทานเมนูประเภทเส้น

https://pixta.jp/

สำหรับการรับประทานอาหารประเภทเส้น เช่น โซบะ อุด้ง ราเม็ง สามารถส่งเสียงดูดเส้นได้ ไม่เหมือนที่อื่นที่รับประทานกันเงียบๆ และมองว่าการซดเสียงดังเป็นการเสียมารยาท แต่ญี่ปุ่นกลับมองว่าการดูดเส้นให้มีเสียงจะยิ่งทำให้การรับประทานอาหารอร่อยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดูดเส้นเวลารับประทานโซบะจะทำให้กลิ่นของโซบะกระจายทั่วปากเพิ่มความอร่อยให้กับการรับประทานได้อีกระดับ

ถ้านั่งรับประทานเงียบๆ อาจโดนมองว่าไม่มีความสุขในการรับประทานได้ การส่งเสียงดูดเส้นดังๆ นอกจากแสดงถึงความอร่อยของอาหารเส้นนั้นๆ แล้วยังเป็นการให้เกียรติพ่อครัวที่ปรุงอาหารอีกด้วย

ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย

Japan Travel Editor

เรารวบรวมไอเดียเที่ยวญี่ปุ่นอันหลากหลายมาให้คุณ ตั้งแต่ถนนใหญ่สายช้อปปิ้งในเมืองโตเกียว วัดและศาลเจ้าโบราณสุดขลัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งดอกซากุระสีชมพู ใบไม้แดง วิวหิมะขาวๆ ทีมงานของเราจะนำข้อมูลดีๆมาให้คุณ