allabout japan
allabout japan

หาเพื่อนญี่ปุ่นกัน : มารยาทโต๊ะอาหารแบบญี่ปุ่น

หาเพื่อนญี่ปุ่นกัน : มารยาทโต๊ะอาหารแบบญี่ปุ่น

แต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมที่ต่างกันไป ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญเรื่องขนบธรรมเนียมและมารยาทเป็นอย่างมาก เราจึงควรเรียนรู้และปฏิบัติตามของเขาเพื่อเป็นการให้เกียรติและเข้ากันได้ดีอย่างไม่ต้องอึดอัดใจ

เรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารญี่ปุ่นนั้นยังมีหลายคนที่ปฏิบัติด้วยความเข้าใจผิด ดังนั้นจึงถือโอกาสมาแนะนำมารยาททั่วไปที่พึงปฏิบัติบนโต๊ะอาหาร

By Japan Travel Editor

มารยาทบนโต๊ะอาหาร

1 วิธีใช้ตะเกียบที่ถูกต้อง

อุปกรณ์รับประทานอาหารที่สำคัญของญี่ปุ่นคือตะเกียบ จึงควรใช้ให้ถูกต้องและพึงระวังว่าไม่ควรใช้ตะเกียบเหมือนเป็นช้อน มีด หรือส้อม วิธีใช้ตะเกียบและข้อควรระวังง่ายๆ มีดังนี้

1 ไม่ควรใช้ตะเกียบเขี่ยเพื่อเลื่อนจานชามให้มาใกล้ตัว
2 ไม่ปักตะเกียบบนข้าวเพราะถือเป็นการให้อาหารคนตาย
3 ระหว่างรับประทานหากต้องการพักให้วางตะเกียบลงบนที่วางตะเกียบ
4 หากไม่มีให้พับซองตะเกียบเพื่อใช้วางแทน
5 และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วให้วางตะเกียบที่ด้านข้างเยื้องไปข้างหน้าจะเป็นการสุภาพที่สุด

2 ห้ามเอาศอกเท้าโต๊ะ

เวลารับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับคนญี่ปุ่น ควรนั่งอย่างสำรวม ไม่เอาศอกเท้าบนโต๊ะเพราะเป็นการทำเสียมารยาท ควรถือชามข้าวหรือถ้วยซุปขณะรับประทานอาหารจึงเป็นมารยาทที่ถูกต้อง โดยยกชามหรือถ้วยขึ้นมาอยู่ในระดับอก

3 ผ้าเย็นสำหรับเช็ดมือเท่านั้น

ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการเสิร์ฟผ้าเย็น เป็นผ้าขนหนูผืนเล็กที่แช่ไว้ในตู้เย็นสำหรับเช็ดมือ ผ้าดังกล่าวไว้ใช้สำหรับทำความสะอาดมือเท่านั้น ไม่นำมาใช้ซับเหงื่อ เช็ดหน้า ลำคอ ขา โต๊ะ และของใช้อื่นๆ

4 เมนูเส้นซดมีเสียงได้

เมื่อรับประทานอาหารที่เป็นเมนูเส้นๆ เช่น โซบะ อุด้ง ราเม็ง คนญี่ปุ่นมักจะซดเสียงดังมาก ในการดูดเส้นเสียงดังแบบนี้ไม่ถือเป็นการเสียมารยาทเนื่องจากการซดเสียงดังเป็นการแสดงถึงความอร่อยของอาหารเส้น และเป็นการให้เกียรติพ่อครัว

5 ของที่กัดแล้วห้ามใส่คืนในจาน

อาหารที่หยิบมารับประทานและกัดลงไปแล้วไม่ควรเอากลับคืนไปวางบนจานอีก สำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ตามมารยาทอย่างเดียวเนื่องจากมีหลายคนถือ อีกทั้งโดยสามัญสำนึกแล้วก็เป็นเรื่องน่ารังเกียจที่เอาของเหลือจากตัวเองไปให้คนอื่นรับประทานต่อ ให้คีบอาหารชิ้นนั้นค้างไว้จนกว่าจะรับประทานจนหมดชิ้น รวมไปถึงไม่ควรใช้ตะเกียบสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของอาหารที่ตัวเองรับประทานไม่ได้ด้วย ให้คีบเฉพาะของที่ตัวเองจะกินเท่านั้น

6 มารยาทในการรับประทานซาชิมิและซูชิ

การรับประทานซาชิมิกับซูชิโดยปกติแล้วจะรินโชยุใส่จานเล็กพอประมาณ ทาวาซาบิลงบนชิ้นซูชิหรือซาชิมิที่ต้องการโดยตรง ไม่ละลายวาซาบิลงในโชยุ ถ้าเป็นซูชิให้จิ้มโชยุด้านที่เป็นเนื้อปลาไม่ใช่ด้านที่เป็นข้าวเพราะข้าวอาจแตกกระจายได้ และรับประทานให้หมดภายในคำเดียว สามารถใช้มือแทนตะเกียบได้

7 กล่าวคำว่า "อิตะดะคิมัส" ก่อนรับประทานอาหาร

"อิตะดะคิมัส (Itadakimasu)" เป็นประโยคที่น่าจะคุ้นหูใครต่อใครดี มีความหมายว่าขอรับอาหารมื้อนี้ กล่าวเพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อพ่อครัว บรรดาเกษตรกรทั้งหลายที่ทำการเพาะปลูกวัตถุดิบในจาน และขอบคุณต่อวัตถุดิบทุกประเภทที่ได้สละชีวิตมาเป็นอาหาร

8 กล่าวคำว่า "โกะจิโซซามะเดชิตะ" หลังรับประทานอาหารเสร็จ

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย คนญี่ปุ่นก็มีคำกล่าวเป็นธรรมเนียมเหมือนเช่นตอนก่อนรับประทาน "โกะจิโซซามะเดชิตะ (Gochisousamadeshita)" คือคำที่ควรกล่าว แปลได้ว่า “ขอบคุณสำหรับมื้ออาหาร” เพื่อแสดงความซาบซึ้งในความเหนื่อยยากของผู้ที่ประกอบอาหารนั้นในทุกฝ่าย

9 น้ำซุปไม่มีช้อนให้

ชุดอาหารญี่ปุ่นมักจะมีน้ำซุปมาด้วย แต่ไม่มีช้อนให้เนื่องจากคนญี่ปุ่นยกถ้วยขึ้นดื่ม มารยาทที่ดีในการดื่มซุปคือใช้มือซ้ายประคองด้านข้างถ้วยซุป ส่วนมือขวาเปิดฝาถ้วย วางหงายฝาเอาไว้ด้านขวามือของถ้วย และเมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็ให้ปิดฝากลับไปเหมือนเดิม

10 ตำแหน่งในการนั่งรับประทานอาหาร

เมื่อมีงานเลี้ยงรับประทานอาหารร่วมกันในห้องส่วนตัว ควรจัดให้แขกคนสำคัญ ผู้หลักผู้ใหญ่ และเจ้านายอาวุโสนั่งไกลจากประตู หรือที่นั่งนั้นสามารถมองเห็นวิวสวยๆ ได้ถนัด แบบนี้ถือเป็น "ที่นั่งสูง" เพื่อเป็นการให้เกียรติ ส่วนที่นั่งซึ่งอยู่ใกล้ประตูมากที่สุดถือเป็น "ที่นั่งต่ำ" สำหรับผู้ร่วมงานที่อายุน้อยกว่า เด็กกว่า

ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย

Japan Travel Editor

เรารวบรวมไอเดียเที่ยวญี่ปุ่นอันหลากหลายมาให้คุณ ตั้งแต่ถนนใหญ่สายช้อปปิ้งในเมืองโตเกียว วัดและศาลเจ้าโบราณสุดขลัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งดอกซากุระสีชมพู ใบไม้แดง วิวหิมะขาวๆ ทีมงานของเราจะนำข้อมูลดีๆมาให้คุณ