allabout japan
allabout japan

รวมของฝากประเภทงานฝีมือท้องถิ่นญี่ปุ่น

รวมของฝากประเภทงานฝีมือท้องถิ่นญี่ปุ่น

เลิกซื้อโตเกียวบานาน่า แล้วมารู้จักของฝากทำมือแบบญี่ปุ่นสุดเลอค่ากันเถอะ รับรองว่าชอบใจทั้งผู้ให้และผู้รับ วันนี้เราคัดเลือกงานฝีมือที่น่าสนใจ 10 อย่าง ซึ่งมีทั้งของที่พบได้ทั่วไปตามเมืองต่างๆ ไปจนถึงของขึ้นชื่อที่หาได้เฉพาะในแต่ละเมืองเท่านั้นมาฝากกัน

By Japan Travel Editor
1. เครื่องรางญี่ปุ่น โอมาโมริ (Omamori)

https://pixta.jp/

1. เครื่องรางญี่ปุ่น โอมาโมริ (Omamori)

เครื่องรางญี่ปุ่น หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “โอมาโมริ” (Omamori) มีลักษณะเป็นถุงผ้าขนาดเล็กผูกด้วยเชือก และหาซื้อได้ตามวัดและศาลเจ้าแทบทุกแห่ง โดยชาวญี่ปุ่นจะนิยมพกเครื่องรางชนิดนี้ติดตัวเอาไว้เสมอ และจะช่วยนำโชคในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ช่วยให้สุขภาพดี ช่วยให้เดินทางปลอดภัย ช่วยให้เรียนและสอบผ่าน ช่วยด้านการเงิน และช่วยด้านความรัก วัดหรือศาลเจ้าบางแห่งในญี่ปุ่นอาจจะมีเครื่องรางที่มีชื่อเสียงแตกต่างกันออกไป เช่นบางแห่งมีชื่อเสียงเรื่องเครื่องรางด้านความรักโดยเฉพาะ หรือวัดและศาลเจ้าบางแห่งก็ออกแบบเครื่องรางให้มีความน่ารักหรือความสวยงามมากขึ้นเพื่อให้ใช้เป็นทั้งเครื่องรางและเครื่องประดับพร้อมๆ กัน

ด้วยขนาดที่เล็กกะทัดรัดและราคาไม่แพง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีราคาอยู่ที่ 500 – 1,000 เยน และหาซื้อได้ง่ายตามวัดและศาลเจ้า ทำให้ปัจจุบันเครื่องรางญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในของฝากยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว แต่เครื่องรางชนิดนี้ยังมีความเชื่อเสริมอีกสองอย่างคือต้องนำไปทิ้งหรือเปลี่ยนใหม่ทุกปี และหากจะนำไปทิ้ง ต้องกลับไปทิ้งที่วัดหรือศาลเจ้าที่ซื้อมา ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องยากมากนักในยุคที่การเดินทางไปญี่ปุ่นค่อนข้างง่ายดาย แต่สำหรับใครที่ไม่เคร่งครัดในความเชื่อตรงนี้ ก็อาจจะเก็บเอาไว้เพื่อสะสมหรือเพื่อเป็นที่ระลึกก็ได้เช่นกัน

2. เครื่องเขินญี่ปุ่น ชิกกิ (Shikki)

https://pixta.jp/

2. เครื่องเขินญี่ปุ่น ชิกกิ (Shikki)

ใครที่ทานอาหารญี่ปุ่นบ่อยๆ ไม่ว่าจะที่เมืองไทยหรือญี่ปุ่น คงคุ้นเคยกับภาชนะใส่อาหารชนิดหนึ่งที่มีน้ำหนักเบา ทำจากไม้ เคลือบด้วยสีแดงหรือดำเป็นหลัก และอาจจะมีการวาดลวดลายเป็นสีทองประดับเอาไว้ด้วย ซึ่งภาชนะที่ว่านี้ก็คือ “เครื่องเขิน” ซึ่งถือเป็นงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าคนญี่ปุ่นนั้นรู้จักการผลิตและใช้เครื่องเขินมาตั้งแต่สมัยโจมง หรือกว่าเก้าพันปีมาแล้ว

โดยกรรมวิธีหลักในการผลิตเครื่องเขินก็คือการนำภาชนะที่ทำจากไม้มาทาด้วยน้ำหล่อเลี้ยงในเนื้อเยื่อของต้นไม้ (หรือหากเทียบกับงานฝีมือของไทย ก็คล้ายคลึงกับการ “ลงรัก” ด้วยการทาน้ำยางจากต้นรัก) จากนั้นอาจจะเสริมด้วย “มากิเอะ” หรือการวาดลวดลายสีทองลงไปประดับบนภาชนะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายที่สื่อถึงฤดูกาลต่างๆ

เสน่ห์ของเครืองเขินญี่ปุ่นนั้นคือสีสันที่โดดเด่น และสัมผัสที่นุ่มนวล นอกจากนี้จุดเด่นของเครื่องเขินคือยิ่งใช้มากเท่าไร และเวลาผ่านไปมากเท่าไร สีและความแวววาวบนภาชนะก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้การเคลือบอุรุชิยังมีข้อดีตรงที่ช่วยให้ความร้อนซึมผ่านมาข้างนอกได้ยาก และยังเก็บอุณภูมิได้ดี จึงช่วยให้อาหารไม่เย็นเร็วจนเกินไป และยังทำให้สามารถจับถือถ้วยที่ใส่ซุปหรือข้าวร้อนๆ ได้อย่างสะดวก ปัจจุบันเครื่องเขินญี่ปุ่นยังคงหาซื้อได้ทั่วไปในเมืองต่างๆ แต่ปัจจุบันยังมีการเปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น พลาสติก และอาจมีการใช้สารเคลือบแบบอื่นที่ไม่ใช่ยางอุรุชิจริงๆ เพื่อให้มีราคาที่ถูกลง โดยเครื่องเขินแท้ๆ ที่เคลือบด้วยยางอุรุชินั้นอาจมีราคาประมาณหนึ่งหมื่นเยนขึ้นไปเป็นอย่างน้อย

3. ตุ๊กตาซารุโบโบะ (Sarubobo)

https://pixta.jp/

3. ตุ๊กตาซารุโบโบะ (Sarubobo)

ตุ๊กตาซารุโบโบะ เป็นของขึ้นชื่อประจำเมืองทาคายาม่า จ.กิฟุ เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างหมู่บ้านโบราณชิราคาวาโกะ ทำให้หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากับตุ๊กตาซารุโบโบะนี้อยู่บ้าง โดยลักษณะทั่วไปของตุ๊กตาซารุโบโบะจะเป็นตุ๊กตาที่ผลิตจากผ้า จุดเด่นคือไม่มีใบหน้า และสีดั้งเดิมจะเป็นสีแดง โดยในปัจจุบันยังมีความเชื่อว่าตุ๊กตาซารุโบโบะนี้เป็นเครื่องรางนำโชคอย่างหนึ่งอีกด้วย จึงทำให้มีการผลิตตุ๊กตาสีอื่นๆ ขึ้นมา เพื่อสื่อถึงการนำโชคในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่นตุ๊กตาซารุโบโบะสีแดงหมายถึงโชคด้านชีวิตคู่และครอบครัว สีทองหมายถึงด้านการเงิน สีชมพูหมายถึงด้านความรัก และสีน้ำเงินหมายถึงด้านการเรียนและการทำงาน

ด้วยหน้าตาที่หน้ารัก แถมยังช่วยนำโชค และมีราคาแค่หลักร้อยหรือพันเยนขึ้นอยู่กับขนาด ตุ๊กตาซารุโบโบะจึงเหมาะสำหรับการเป็นของฝากที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของที่ระลึกทั่วไปในเมืองทาคายาม่า รวมถึงหาซื้อได้ตามร้านของฝากในเมืองนาโกย่าเช่นกัน

4. พัดญี่ปุ่น อุชิวะ และ เซนสุ

https://pixta.jp/

4. พัดญี่ปุ่น อุชิวะ และ เซนสุ

พัดญี่ปุ่นในปัจจุบันมีอยู่สองแบบหลักๆ ที่พบได้ทั่วไป แบบแรกคือพัดที่เรียกว่า “อุชิวะ” (Uchiwa) เป็นพัดทรงกลมแบบไม่ต้องกางออก ซึ่งคนญี่ปุ่นนิยมใช้กันในช่วงฤดูร้อน และพัดอีกรูปแบบหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคยและนิยมซื้อเป็นของใช้ของฝากกันมากกว่า ก็คือพัดที่เรียกว่า “เซนสุ” (Sensu) หรือพัดกระดาษแบบพับได้ ซึ่งถือเป็นงานฝีมือที่รวบรวมเอาทักษะขั้นสูงในด้านต่างๆ มารวมกันเพื่อสร้างสรรค์พัดเล็กๆ อันนึงให้กลายเป็นงานฝีมือที่มีมูลค่าและความสวยงาม ตั้งแต่งานไม้ที่ต้องค่อยๆ ฝนก้านพัดแต่ละก้านให้มีขนาดเท่ากัน และการเจาะลวดลายต่างๆ ลงบนก้านแต่ละก้าน งานกระดาษที่ต้องผลิตกระดาษที่มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น และสามารถสร้างแรงลมที่มากพอโดยไม่ต้องออกแรงจนมากเกินไป รวมถึงงานศิลปะในการวาดลวดลายต่างๆ ลงบนผืนกระดาษ

ด้วยความพิเศษและความสวยงามของพัดญี่ปุ่นนี้ ทำให้นอกจากการเอาไว้คลายร้อนแล้ว ยังมีการนำไปใช้ในอีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เป็นอุปกรณ์เสริมในการแสดงละครโนะหรือคาบุกิ ไปจนถึงการนำมาคลี่เพื่อโชว์ลวดลายและวางเอาไว้เฉยๆ ในฐานะที่เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ทั่วไปในญี่ปุ่นในราคาไม่กี่พันเยน ไปจนถึงหลายหมื่นหรือแสนเยนตามความประณีตและวัสดุที่ใช้

5. ตะเกียบญี่ปุ่น

https://pixta.jp/

5. ตะเกียบญี่ปุ่น

แม้ว่าตะเกียบจะเป็นอุปกรณ์ในการทานอาหารที่พบได้ในหลายประเทศในแถบเอเชีย แต่วัฒนธรรมหนึ่งของญี่ปุ่นที่ทำให้ตะเกียบญี่ปุ่นมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์กว่าที่อื่น ก็คือวัฒนธรรมที่แม้แต่คนในบ้านเดียวกัน แต่ละคนก็ต้องมีตะเกียบประจำตัวของใครของมัน และคนญี่ปุ่นยังใช้ตะเกียบในการทานอาหารแทบทุกชนิด ทำให้ในญี่ปุ่นมีการผลิตตะเกียบอย่างดี และมีรูปทรง หน้าตา ขนาด และการออกแบบที่ไม่เหมือนกันออกมามากมาย เพื่อให้แต่ละคนเลือกใช้ไปเป็นตะเกียบประจำตัวของตนเอง ซึ่งตะเกียบชั้นดีเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้วัสดุเป็นไม้ และอาจมีการเพิ่มมูลค่าด้วยการเพิ่มลวดลายหรือการแกะสลักต่างๆ เพิ่มเข้ามา รวมถึงอาจมีการแถมที่วางตะเกียบที่เข้าชุดกันมาให้อีกด้วย

จุดเด่นสำคัญของตะเกียบญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับตะเกียบของประเทศอื่นๆ คือปลายตะเกียบจะมีลักษณะเรียวแหลมเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเลาะส่วนต่างๆ ของปลา ซึ่งเป็นเมนูหลักของชาวญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมีข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้ตะเกียบอยู่มากมาย รวมถึงมีการตั้ง “วันแห่งตะเกียบ” ขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับตะเกียบของชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

6. เครื่องเหล็กนัมบุ

https://pixta.jp/

6. เครื่องเหล็กนัมบุ

เครื่องเหล็กนัมบุ เป็นของขึ้นชื่อประจำจ.อิวาเตะ ที่มีการสืบทอดทักษะในการผลิตมากว่า 400 ปี โดยจุดเริ่มต้นของเครื่องเหล็กนัมบุนั้นมาจากตระกูลนัมบุที่เป็นผู้ปกครองแคว้นในอดีตได้เชิญช่างเหล็กฝีมือดีมายังเขตปกครองของตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพของชุดเกราะและเครื่องใช้ต่างๆ ประกอบกับพื้นที่ของจ.อิวาเตะที่มีทรายเหล็กคุณภาพดีซึ่งเหมาะแก่การทำเครื่องเหล็ก โดยเครื่องใช้ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันและยังคงสร้างชื่อเสียงในฐานะเครื่องเหล็กนัมบุก็คือกระทะ หม้อ แต่ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ “กาต้มน้ำเหล็ก” ที่มีคุณภาพ น้ำหนักเบา เก็บอุณหภูมิได้ดี รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ โดยที่เห็นกันบ่อยที่สุดคือเครื่องเหล็กนัมบุที่ผิวมีลวดลายเหมือนตุ่มทรงกลมเล็กๆ

สำหรับใครที่อยากมาเลือกซื้อให้ถึงแหล่งผลิต รวมถึงอาจได้ชมขั้นตอนการผลิตต่างๆ ภายในโรงงาน ขอแนะนำให้เดินทางมาที่เมืองโมริโอกะใน จ.อิวาเตะ ซึ่งในปัจจุบันยังมีโรงงานผลิตเครื่องเหล็กนัมบุอยู่เป็นจำนวนมากภายในเมือง

7. เครื่องลายครามอาริตะ

https://pixta.jp/

7. เครื่องลายครามอาริตะ

เครื่องลายครามอาริตะเป็นของขึ้นชื่อประจำเมืองอาริตะ ในจ.ซากะ ซึ่งมีการผลิตต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 400 ปี โดยจุดเริ่มต้นของเครื่องลายครามอาริตะนั้นมาจากอดีตผู้ปกครองแคว้นซากะที่ไปร่วมรบในสงครามเกาหลีที่กินเวลากว่า 7 ปี และเมื่อสงครามสิ้นสุด จึงได้นำความรู้ในการผลิตเครื่องลายครามที่ได้รับจากเกาหลีและจีนกลับมาด้วย

ประกอบกับมีการค้นพบแหล่งแร่ที่ใช้ทำเซรามิกเนื้อขาวชั้นดีที่เมืองอาริตะ และการเชิญช่างฝีมือจากจีนและเกาหลีเข้ามาถ่ายทอดกรรมวิธีในการผลิตในช่วงแรก ทำให้คุณภาพและความสวยงามของเครื่องลายครามอาริตะมีความโดดเด่นมาตั้งแต่ในยุคนั้น ถึงขนาดที่มีการส่งออกไปยังยุโรปตั้งแต่ปี 1650 เนื่องจากชนชั้นสูงในฝรั่งเศสนั้นชื่นชอบความสวยงามของเครื่องลายครามอาริตะอย่างมาก และสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสแวะไปเยือนเมืองอาริตะ นอกจากการไปเลือกซื้อและดูวิธีการผลิตเครื่องลายครามอาริตะถึงโรงงานต่างๆ แล้ว ก็ไม่ควรพลาดแวะไปที่พิพิธภัณฑ์เซรามิกคิวชูเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา และชมความสวยงามของเครื่องลายครามเก่าแก่อายุหลายร้อยปีที่มีการรวบรวมเอาไว้เป็นจำนวนมากอีกด้วย

8. ตุ๊กตาฮากาตะ (Hakata Ningyo)

https://pixta.jp/

8. ตุ๊กตาฮากาตะ (Hakata Ningyo)

ตุ๊กตาฮากาตะ หรือฮากาตะนิงเงียว เป็นของขึ้นชื่อประจำจ.ฟุกุโอกะ ที่มีประวัติความเป็นมากว่า 400 ปี แม้จะได้ชื่อว่าเป็นตุ๊กตา แต่ความเป็นเอกลักษณ์ของตุ๊กตาฮากาตะคือการผลิตจากดินเผา และมีการวาดลวดลายและลงสีสันบนตัวตุ๊กตาอย่างประณีต โดยในยุคแรกจะนิยมปั้นเป็นรูปหญิงสาวในชุดกิโมโน หรือนักรบที่มีร่างกายกำยำ รวมถึงบุคคลต่างๆ ที่อิงตามความเชื่อและประวัติศาสตร์ในแถบฟุกุโอกะ และในอดีตนั้นตุ๊กตาเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำไปถวายให้กับวัดและเจ้าเมือง แต่หลังจากที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันตุ๊กตาฮากาตะก็กลายเป็นของประดับตกแต่งยอดนิยมอย่างหนึ่งที่หลายคนเลือกซื้อกลับไปเป็นของฝากและของแต่งบ้าน ความสนุกอีกอย่างหนึ่งของการซื้อตุ๊กตาฮากาตะในปัจจุบันคือทางร้านมักจะมีตุ๊กตาเปล่าๆ ที่เราสามารถลงสีและวาดลวดลายต่างๆ ได้เอง รวมถึงมีราคาเริ่มต้นเพียงไม่กี่พันเยน ตุ๊กตาที่เราได้วาดและลงสีด้วยตัวเองจึงเหมาะทั้งสำหรับการเก็บเป็นของที่ระลึกและของฝากที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น

9. มีดทำครัวญี่ปุ่น

https://pixta.jp/

9. มีดทำครัวญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีหลายเมืองที่ผลิตอาวุธและมีดคุณภาพสูงมาแต่อดีต หนึ่งในนั้นคือเมืองซาไก จ.โอซาก้า ซึ่งเมืองซาไกนั้นมีชื่อเสียงในฐานะเมืองที่ผลิตอาวุธชั้นดีทั้งมีด ดาบ และปืนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง การผลิตอาวุธจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เหล่าช่างตีเหล็กในเมืองซาไกจึงได้พยายามหาทางออกด้วยการหันมาผลิตมีดสำหรับทำครัว ซึ่งกรรมวิธีและทักษะในการตีเหล็กที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากการผลิตดาบซามูไรนั้นส่งผลให้มีดทำครัวที่ผลิตจากเมืองนี้มีความทนทาน เบา และคมอย่างมาก จนถือเป็นแหล่งผลิตมีดทำครัวอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน และยังว่ากันว่าเชฟในญี่ปุ่นจำนวนมากนั้นต่างก็ใช้มีดซาไกเป็นมีดประจำตัวในการทำครัว

โดยในปัจจุบันนอกจากการผลิตมีดจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองซาไกแล้ว นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสไปเยือนเมืองนี้ก็สามารถแวะเลือกซื้อมีดจากร้านต่างๆ รวมถึงแวะชมพิพิธภัณฑ์งานฝีมือซาไก (Sakai City Traditional Crafts Museum) ที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับมีดซาไก และมีตัวอย่างมีดชั้นดีให้ชมเป็นจำนวนมาก

10. เซรามิกญี่ปุ่น แก้วชา และถ้วยชาม

https://pixta.jp/

10. เซรามิกญี่ปุ่น แก้วชา และถ้วยชาม

นอกจากเครื่องเขินญี่ปุ่นที่เป็นภาชนะอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นแล้ว งานเซรามิกญี่ปุ่นก็ยังเป็นอีกหนึ่งอย่างที่มีความโดดเด่นและสวยงามไม่แพ้กัน โดยสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ คือจานชาม และถ้วยชา ซึ่งมีผู้ผลิตที่หลากหลาย และสามารถหาซื้อได้ตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยเยน ไปจนถึงหลักแสนหรือหลักล้านสำหรับผลงานของแบรนด์หรือช่างฝีมือที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง จุดเด่นของงานซารามิกญี่ปุ่นคือน้ำหนักเบา และทนทาน และปัจจุบันยังมีรูปแบบที่หลากหลายตั้งแต่สไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เน้นความเรียบง่าย มีสีสันและลวดลายที่ไม่ฉูดฉาด ไปจนถึงรูปแบบที่ทันสมัยและมีลวดลายน่ารักๆ ประดับอยู่

ในแต่ละเมืองของญี่ปุ่นนั้นมักจะมีบริษัทหรือช่างฝีมือที่ผลิตงานเซรามิกขึ้นชื่ออยู่ แต่นอกจากการไปเดินเลือกซื้อตามร้านค้าหรือบนห้างสรรพสินค้าแล้ว อีกสถานที่หนึ่งที่สามารถหาซื้องานเซรามิกญี่ปุ่นได้หลากหลาย และอาจจะมีราคาถูกเป็นพิเศษด้วย ก็คือตามตลาดนัดวันหยุดในเมืองต่างๆ ซึ่งมักจะมีร้านค้าที่นำงานเซรามิกทั้งแบบมือสอง หรือแบบแฮนด์เมดที่ผลิตเองมาให้เลือกซื้อกันหลากหลายรูปแบบ

ผู้เขียน: ชินพงศ์ มุ่งศิริ
เริ่มต้นทำงานเป็นช่างภาพอิสระหลังเรียนจบ เดินทางไปถ่ายภาพที่ประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้งจนครบทั้ง 4 ฤดูอันสวยงาม และเกือบครบทุกภูมิภาค มีผลงานภาพถ่ายตีพิมพ์ในไกด์บุ๊คระดับโลกอย่าง Lonely Planet ถึง 3 เล่ม คือ Discovery Japan, Japan และ Kyoto รวมถึงเว็บไซต์ท่องเที่ยวชั้นนำอย่าง National Geographic Traveler UK, BBC Travel, Travel+Leisure, TIME และอีกมาก
นอกจากการถ่ายทอดความสวยงามของประเทศญี่ปุ่นผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันยังหันมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทางตัวอักษรทั้งในฐานะนักเขียนและนักแปลควบคู่กันไปอีกด้วย

Japan Travel Editor

เรารวบรวมไอเดียเที่ยวญี่ปุ่นอันหลากหลายมาให้คุณ ตั้งแต่ถนนใหญ่สายช้อปปิ้งในเมืองโตเกียว วัดและศาลเจ้าโบราณสุดขลัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งดอกซากุระสีชมพู ใบไม้แดง วิวหิมะขาวๆ ทีมงานของเราจะนำข้อมูลดีๆมาให้คุณ