ลุยที่เที่ยวติดสายรถไฟใต้ดินของเกียวโต
Kyoto Subway
รถไฟใต้ดินของเกียวโตมีทั้งหมด 2 สายคือ Tozai Line (สายสีแดง) ให้บริการทั้งหมด 17 สถานี จากสถานีต้นทาง Rokujizo ไปถึงสถานีปลายทาง Uzumasa Tenjingawa ตัวย่อสถานีขึ้นต้นด้วย T (ที่ย่อมาจาก Tozai)
และ Karasuma Line (สายสีเขียว) ให้บริการทั้งหมด 15 สถานี จากสถานีต้นทาง Kokusaikaikan ไปถึงสถานีปลายทาง Takeda ตัวย่อสถานีขึ้นต้นด้วย K ที่ย่อมาจาก Karasuma
[K-06] สถานีอิมาเดงาวะ (Imadegawa Station)
ย่านถนนอิมาเดงาวะ เป็นย่านที่พักอาศัย เรียงรายไปด้วยบ้านเรือน มีอาคารจำพวกอพาร์ทเมนต์อยู่ประปรายที่ไม่สูงมากนัก มีร้านค้า ร้านอาหาร และพวกร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการตลอด เป็นย่านที่ค่อนข้างสะดวกสบายและบรรยากาศเงียบสงบ อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับพระราชวังอิมพีเรียลเกียวโต (Kyoto Imperial Palace) และสวนอิมพีเรียลเกียวโตที่ล้อมรอบพระราชวัง จึงมีต้นไม้เขียวขจี มีทั้งคลองล้อมรอบ ให้บรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย และยังสามารถเดินไปจนถึงสะพานข้ามแม่น้ำคาโมะ (Kamo River) ได้อีกด้วย
Nishijin Textile Center
ศูนย์สิ่งทอนิชิจิน เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องจัดแสดง เวทีแฟชั่นโชว์ และร้านจัดจำหน่ายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ที่นี่จัดแสดงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งทอมากมาย เช่น แบบแพทเทิร์นชุดกิโมโนสมัยโบราณ หูกทอผ้าแบบดั้งเดิม เป็นต้น มีนิทรรศการที่จัดแสดงขั้นตอนในการทอผ้าให้ชมอย่างละเอีบด ถ้าหากสนใจเพิ่มเติมก็สามารถเข้าคลาสเพื่อลองทอผ้าด้วยตัวเองได้ด้วย หรือหากใครสนใจอยากถ่ายรูปตอนใส่ชุดกิโมโนในสไตล์เกอิชา หรือกิโมโน 12 ชั้นแบบหญิงสาวในราชสำนักสมัยก่อนก็สามารถเช่าใส่เพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึกได้ สำหรับแฟชั่นโชว์ชุดกิโมโนก็มีจัดเดินโชว์ทุกๆ ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีสิ่งทอและกิโมโนสวยๆ ให้เลือกซื้อเลือกหากลับไปอีกด้วย
[K-09] สถานีชิโจ (Shijo Station)
แถวสถานีชิโจเป็นย่านที่คนพลุกพล่าน เต็มไปด้วยร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ สามารถเดินเที่ยวช้อปปิ้งได้จุใจ มีทั้งย่านชินเคียวโงกุ (Shinkyogoku) และถนนเทรามาจิ (Teramachi) ซึ่งเป็นย่านถนนคนเดินที่เรียงรายไปด้วยร้านขายสินค้าแทบจะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ขนม ร้านอาหาร คาเฟ่ ของที่ระลึก หนังสือ อีกทั้งแยกย่อยออกไปตามตรอกซอกซอยที่เชื่อมต่อถึงกันได้หมดอีกด้วย
Nishiki Market
ตลาดนิชิกิ เป็นตลาดสดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเกียวโต มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี สมัยก่อนเป็นตลาดค้าปลาอย่างเดียว แต่ต่อมาพ่อค้าแม่ค้าก็นำสินค้าหลากชนิดเข้ามาจำหน่าย จนตลาดขยับขยายไปมากกว่า 100 ร้าน มีทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ร้านอาหาร ร้านขนมพื้นเมืองต่างๆ มากมายที่เป็นสไตล์สตรีทฟู้ดส์ ได้รับฉายาว่าเป็นครัวของเกียวโตเลยทีเดียว ของขึ้นชื่อเมืองเกียวโตที่ห้ามพลาดและหาชิมได้ที่ตลาดนิชิกินี้ก็อย่างเช่น ทาโกะทามาโงะ (Tako Tamago) ที่เป็นปลาหมึกสอดไส้ไข่นกกระทา ไอศครีมซอฟท์เสริฟชาเขียว ซาลาเปาทอดเป็นรูปตัวเม่น เทมปุระเสียบไม้ เป็นต้น
[T-11] สถานีซังโจเคฮัง (Sanjo Keihan Station)
สถานีซังโจเคฮังอยู่ใกล้กับแม่น้ำคาโมงาวะ (Kamogawa River) ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเกียวโตแห่งหนึ่ง มีร้านอาหารน่านั่งที่เปิดให้บริการในช่วงเย็นๆ ผู้คนสัญจรไปมาตลอด ยิ่งช่วงเย็นๆ จะมีคนมาทำกิจกรรมริมแม่น้ำกันเยอะ และไม่ไกลกันนั้นก็เป็นที่ตั้งของย่านคาวารามาจิ (Kawaramachi Shopping District) ซึ่งเป็นย่านช้อปปิ้งที่มีการผสมผสานระหว่างเกียวโตเก่ากับเกียวโตสมัยใหม่
ย่านกิอง (Gion)
กิอง เป็นย่านดังของเกียวโตที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแบบดั้งเดิมของเกียวโต อาคารบ้านเรือน ร้านอาหาร ร้านน้ำชา และร้านค้าต่างๆ จะเป็นอาคารไม้แบบดั้งเดิม เป็นย่านที่จะได้เจอเกอิโกะ (Geiko) ซึ่งเป็นการเรียกเกอิชาของเกียวโต และได้เจอไมโกะได้ง่ายด้วย เกอิชาเหล่านี้จะแต่งชุดกิโมโนดั้งเดิมคอยทำหน้าที่ดูแลแขกในร้านน้ำชา และมีการแสดงโชว์อยู่ตลอด จุดน่าสนใจของย่านกิองคือการเดินชมสถาปัตยกรรมโบราณของเมืองที่ถนนฮานามิโคจิ (Hanamikoji) ซึ่งอยู่ระหว่างถนนชิโจ (Shijo-dori) ไปถึงวัดเค็นนินจิ (Kenninji Temple) ตามเส้นทางและตรอกซอกซอยต่างๆ จะมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขนมเก๋ๆ และหากใครมาช่วงเดือนกรกฎาคม ก็มีจัดงานเทศกาลกิอง (Gion Festival) ซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเทศกาลญี่ปุ่นด้วย
[T-12] สถานีเกียวโต ชิยาคุโชะมาเอะ (Kyoto Shiyakusho-mae Station)
สถานีเกียวโต ชิยาคุโชะมาเอะ แปลว่า สถานีหน้าที่ว่าการอำเภอเกียวโต เชื่อมต่อกับ Zest ซึ่งเป็นช้อปปิ้งมอลล์ใต้ดินขนาดใหญ่ของเกียวโต หลากหลายด้วยร้านอาหาร ร้านขนม ร้านกาแฟ และร้านน้ำชาบรรยากาศน่านั่ง มีโซนร้านหนังสือที่มีขนาดใหญ่อยู่ทั้งสองฝั่งทางเดิน ร้านค้าประเภทเสื้อผ้าบูติก กระเป๋า รองเท้า ของที่ระลึก เครื่องสำอาง ร้านขายยาก็มีมากมายไม่แพ้กัน
ริมแม่น้ำคาโมงาวะ (Kamogawa River)
สองฝั่งของแม่น้ำคาโมงาวะเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ ของคนเกียวโต ช่วงเย็นๆ จะเห็นคนมาพักผ่อน นั่งชมวิว บ้างก็ปั่นจักรยาน บ้างก็ออกกำลังกายตามถนัด ตั้งแต่ช่วงถนนชิโจ (Shijo-dori) ไปจนถึงถนนซันโจ (Sanjo-dori) เป็นย่านพอนโตโจะ (Pontocho) ซึ่งเป็นย่านรวมร้านอาหารบรรยากาศดี อิซากายะ ผับ และบาร์มากมายที่อยู่ริมแม่น้ำ ร้านส่วนมากจะเปิดทำการในช่วงเย็นไปจนถึงดึกๆ ยิ่งถ้ามาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่นี่ก็จะเป็นจุดชมซากุระขึ้นชื่อ สองข้างทางของแม่น้ำจะอ่อนหวานไปด้วยสีชมพูของดอกซากุระ ส่วนถ้ามาในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็จะได้ชมใบไม้เปลี่ยนสีสุดโรแมนติก
[K-08] [T-13] สถานีคาราสึมะโออิเกะ (Karasuma Oike Station)
คาราสึมะโออิเกะ เป็นย่านสำนักงานที่มีอาคารออฟฟิศทันสมัย อาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน และหน่วยงานต่างๆ อยู่รายล้อม ดูแปลกตากว่าย่านอื่นๆ ในเกียวโต แต่ก็สวยไม่แพ้กัน ตามชั้นล่างของอาคารเหล่านั้นก็เปิดเป็นคาเฟ่น่านั่ง ร้านค้า ช็อปแบรนด์มากมาย ในขณะที่อีกด้านเป็นย่านที่พักอาศัยที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนเก่าแก่ของเกียวโตสมัยก่อนที่เปิดเป็นร้านค้าเล็กๆ และคาเฟ่เก๋ๆ บรรยากาศเรโทรหน่อยๆ สอดแทรกด้วยอาคารแมนชั่นสมัยใหม่ นับเป็นย่านที่ผสมผสานยุคเก่ากับยุคใหม่ของเกียวโตได้อย่างกลมกลืน
Kyoto International Manga Museum
พิพิธภัณฑ์การ์ตูนนานาชาติเกียวโต เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2006 เป็นพิพิธภัณฑ์การ์ตูนที่เกิดจากความร่วมมือของทางเมืองเกียวโตกับทางมหาวิทยาลัยศิลปะเซกะ (Kyoto Seika University) ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมหนังสือการ์ตูนทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาต่างประเทศ มีทั้งหนังสือการ์ตูนเก่าและใหม่รวมแล้วกว่า 3 แสนเล่ม อาคารพิพิธภัณฑ์มีทั้งหมด 4 ชั้น แบ่งเป็นโซนๆ หาง่าย เช่น โซนนิทรรศการหนังสือการ์ตูน (Manga Expo) จัดแสดงหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่นำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ และรวบรวมหนังสือการ์ตูนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โซนวาดภาพเหมือน (Manga Portrait) ที่จะมีนักวาดการ์ตูนมาวาดรูปเหมือนเราให้ออกมาเป็นลายเส้นการ์ตูนหลายแบบ และโซนสตูดิโอ (Manga Studio) ที่มีนักวาดมืออาชีพมาสาธิตขั้นตอนการวาดการ์ตูนให้ดู เป็นต้น
ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย