allabout japan
allabout japan

เรียนคำศัพท์ญี่ปุ่นจากที่เที่ยว (ภาคโอตะ)

เรียนคำศัพท์ญี่ปุ่นจากที่เที่ยว (ภาคโอตะ)

เชื่อว่าหลายๆ คนที่ชื่นชอบประเทศญี่ปุ่นนั้นมีจุดเริ่มต้นจากการติดตามวัฒนธรรมมังงะและอนิเมะของญี่ปุ่น จนทำให้อยากมีโอกาสบินไปเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมเหล่านี้ดูสักครั้ง วันนี้เราเลยได้รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเหล่านี้ พร้อมกับคำศัพท์เบื้องต้นต่างๆ เพื่อช่วยให้เข้าใจความหมายและช่วยเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

By Japan Travel Editor
1. โอตาคุ (Otaku) (おたく/オタク)

https://pixta.jp/

1. โอตาคุ (Otaku) (おたく/オタク)

โอตาคุ หรือบางครั้งคนไทยนิยมเรียกสั้นๆ ว่า โอตะ เป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกคนที่มีความหลงใหลหรือคลั่งไคล้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ โดยส่วนใหญ่จะค่อนข้างเฉพาะเจาะจงไปยังคนที่ชอบมังงะหรืออนิเมะเป็นหลัก แต่ก็สามารถใช้กับคนที่คลั่งไคล้เรื่องอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น ไอดอล ฟิกเกอร์ เกม ดาราศิลปิน หรือแม้กระทั่งงานอดิเรกอย่างการต่อโมเดล หรือคนที่ชื่นชอบเรื่องรถไฟ

ในอดีตนั้นคำว่าโอตาคุเป็นคำที่มีความหมายไปทางลบ จากพฤติกรรมของโอตาคุที่มักจะมีแนวโน้มที่จะคลั่งไคล้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตหรือการเข้าสังคม แต่ในปัจจุบัน เมื่อวัฒนธรรมบันเทิงของญี่ปุ่นขยายตัวมากขึ้น คำว่าโอตาคุก็กลายมาเป็นคำจำกัดความปกติคำหนึ่ง ในปัจจุบัน คนที่เป็นโอตาคุเองก็ยินดีที่จะเรียกตัวเองด้วยคำนี้

ย่านอากิฮาบาระ (Akihabara), โตเกียว (Tokyo)

https://pixta.jp/

ย่านอากิฮาบาระ (Akihabara), โตเกียว (Tokyo)

ย่านอากิฮาบาระ หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกย่อๆ ว่า “อากิบะ” ในอดีตเคยเป็นย่านที่ขึ้นชื่อด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในโตเกียว ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาเป็นย่านที่เต็มไปด้วยร้านขายสินค้าเกี่ยวกับมังงะ อนิเมะ เกม ไอดอล และอีกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับโอตาคุโดยตรง ทำให้ย่านอากิฮาบาระได้รับการขนานนามว่าเป็นสวรรค์ของโอตาคุ และทำให้ธุรกิจหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับโอตาคุเลือกที่จะมาเปิดร้านที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเธียเตอร์ของวงไอดอลชื่อดังอย่าง AKB48 คาเฟ่กันดั้ม เมดคาเฟ่มากมาย ร้านการ์ตูนดังๆ อย่างเช่น Animate รวมถึงร้านเกี่ยวกับการ์ตูนและอนิเมะอีกมากมาย แม้กระทั่งศาลเจ้าเก่าแก่ในพื้นที่อย่างศาลเจ้าคันดะ-เมียวจิน (Kanda Myojin Shrine) ก็ยังปรับตัวและดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเยือนศาลเจ้าด้วยการทำโปสเตอร์ ของฝาก รวมถึงเครื่องรางรูปแบบต่างๆ ให้เป็นตัวละครในอนิเมะอีกด้วย

เวลาเปิด-ปิด: ร้านค้าต่างๆ ภายในย่านอากิบะ เปิดทำการประมาณ 10.00 – 22.00 น.
การเดินทาง: สถานี Akihabara

2. คอสเพลย์ (Cosplay) (コスプレ)

https://pixta.jp/

2. คอสเพลย์ (Cosplay) (コスプレ)

คอสเพลย์ เป็นคำที่เกิดขึ้นจากการนำภาษาอังกฤษคำว่า Costume ที่แปลว่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กับคำว่า Play ที่แปลว่าเล่น มารวมเข้าด้วยกันเพื่อใช้เรียกวัฒนธรรมการแต่งกายเลียนแบบและสวมบทบาทตามตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นตัวละครจากเกม ภาพยนตร์ หรือการ์ตูนเรื่องต่างๆ ที่ตัวเองชื่นชอบ โดยศูนย์รวมตัวของชาวคอสเพลย์ในยุคแรกๆนั้น ก็อย่างเช่นย่านฮาราจูกุ หรืออากิฮาบาระในโตเกียวนี่เอง

ในปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วโลก โดยแม้แต่ชาวอเมริกาหรือชาวยุโรปเองก็มีการแต่งคอสเพลย์กันในวงกว้าง โดยเฉพาะเมื่อเวลาจัดงานเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นหรือภาพยนตร์-การ์ตูนขึ้นในประเทศต่างๆ โดยงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนที่ชื่นชอบคอสเพลย์ในประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน คืองาน “คอมิเก็ต” (Comiket หรือ Comic Market) ซึ่งเป็นงานขายสินค้าเกี่ยวกับการ์ตูนในโตเกียวที่จัดขึ้นปีละสองครั้ง ครั้งละสามวัน ครั้งที่หนึ่งตอนกลางเดือนสิงหาคม และอีกครั้งตอนปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นงานที่มีคนรักอนิเมะและมังงะมาร่วมงานหลายแสนคน และคนที่ชื่นชอบการคอสเพลย์ต่างก็ทุ่มทุนหรือหาไอเดียเจ๋งๆ ในการสร้างชุดมาแต่งคอสเพลย์ในงานนี้กันหลากหลายรูปแบบ

ย่านฮาราจูกุ (Harajuku), โตเกียว (Tokyo)

https://pixta.jp/

ย่านฮาราจูกุ (Harajuku), โตเกียว (Tokyo)

ย่านแฟชั่นชื่อดังในโตเกียวที่พัฒนามาเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมคอสเพลย์ที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยในอดีตจะมีเหล่าคอสเพลย์เยอร์มารวมตัวกันที่สะพานจิงกูบาชิในทุกวันอาทิตย์ เพื่ออวดชุดที่ตัวเองสวมใส่ แต่ในปัจจุบันอาจไม่ค่อยพบการรวมตัวของเหล่าคอสเพลย์เยอร์บริเวณย่านฮาราจูกุมากนัก แต่ก็ยังมีคนที่แต่งตัวคอสเพลย์มาเดินเล่นในย่านนี้อยู่เป็นประจำ

สำหรับใครที่อยากสัมผัสวัฒนธรรมการคอสเพลย์ตัวละครจากการ์ตูน หนัง ละคร อาจจะต้องรอไปเยือนงานเทศกาลต่างๆ เกี่ยวกับเกมหรือการ์ตูนที่จัดขึ้นเฉพาะช่วงเวลา เช่น งานคอมิเก็ต หรืองานเทศกาลสำหรับการแต่งคอสเพลย์โดยเฉพาะ เช่นงานนิปปอนบาชิ สตรีท เฟสต้า (Nipponbashi Street Festa) ซึ่งเป็นงานคอสเพลย์ขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นทุกเดือนมีนาคมในย่านนิปปอนบาชิ ย่านที่เปรียบเสมือนอากิฮาบาระในเมืองโอซาก้า แต่ภายในย่านนี้ โดยเฉพาะบริเวณถนนทาเคชิตะ (Takeshita Road) ก็ยังคงเต็มไปด้วยร้านจำหน่ายเสื้อผ้าคอสเพลย์หลากหลายสไตล์ที่มีความแปลกตา ไปจนถึงแนวน่ารักๆ อย่างโลลิต้า ดังนั้นจึงมีคนแต่ตัวคอสเพลย์มาปรากฏตัวอยู่บ้าง

เวลาเปิด-ปิด: ร้านต่างๆ ภายในย่านเปิดทำการประมาณ 10.00 – 22.00 น.
การเดินทาง: สถานี Harajuku

3. มังงะ (Manga) (漫画)

https://pixta.jp/

3. มังงะ (Manga) (漫画)

คนชอบญี่ปุ่นไม่น้อยเลยน่าจะเคยอ่านหรือวาด "มังงะ" (マンガ)แม้คนไทยอาจจะเรียกสื่อทุกอย่างที่เกี่ยวกับการ์ตูนว่า “การ์ตูน” โดยเพิ่มคำขยายเข้าไปเช่น “หนังสือการ์ตูน” แต่สำหรับคนญี่ปุ่นจะมีคำเรียกเฉพาะแยกกันออกไป อย่างคำว่า “มังงะ” นั้น จะหมายถึง “หนังสือการ์ตูน" เท่านั้น ไม่รวมการ์ตูนที่ฉายทางทีวี

และ "มังงะ" ยังมีการแบ่งประเภทของมังงะแยกย่อยลงไปอีกมาก เช่นมังงะแนวโชเน็น (Shonen) ที่แปลว่า เด็กผู้ชาย ซึ่งหมายถึงการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กวัยรุ่นชายอย่างดราก้อนบอลหรือวันพีซ หรือโชโจ (Shojo) ก็จะเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงอย่างเซเลอร์มูน เป็นต้น ส่วนคำว่าหนังสือการ์ตูนอีกคำที่คนญี่ปุ่นนิยมพูดนั้น คือคำว่า "คอมิกส์" (コミックス) ซึ่งเป็นคำทับศัพท์ของ comics ในภาษาอังกฤษ

พิพิธภัณฑ์มังงะ เกียวโต (Kyoto International Manga Museum), เกียวโต (Kyoto)

https://www.flickr.com/photos/inucara/5036507785/

พิพิธภัณฑ์มังงะ เกียวโต (Kyoto International Manga Museum), เกียวโต (Kyoto)

พิพิธภัณฑ์ในตัวเมืองเกียวโตที่สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของมังงะทั้งในญี่ปุ่นและจากทั่วโลกรวมกว่าสามแสนเล่ม โดยนอกจากการแวะไปสัมผัสหนังสือการ์ตูนจำนวนมากแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ก็มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายแตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลา เช่นการจัดเวิร์คช็อปวาดการ์ตูน การเชิญนักวาดการ์ตูนมาบรรยายให้ความรู้ ไปจนถึงการจัดนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับมังงะซึ่งจะมีการเปลี่ยนธีมไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 ครั้งต่อปี รวมถึงการจำหน่ายของฝากและของที่ระลึกเกี่ยวกับมังงะที่คนรักมังงะไม่ควรพลาด

ค่าเข้าชม: 800 เยน
เวลาเปิด-ปิด: 10.00 – 18.00 น. หยุดทุกวันพุธ (หมายเหตุ เวลาทำการข้างต้นเป็นเวลาในปีปกติ หลังจากปี 2020 อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากอิทธิพลของ COVID-19)
การเดินทาง: รถไฟใต้ดินสถานี Karasuma-Oike

4. อนิเมะ (Anime) (アニメ)

https://pixta.jp/

4. อนิเมะ (Anime) (アニメ)

นอกจากคำว่า “มังงะ” ที่แปลว่าหนังสือการ์ตูนแล้ว ก็ยังมีอีกคำหนึ่งที่มักจะถูกใช้คู่กันอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือคำว่า “อนิเมะ” ที่ดัดแปลงมาจากคำภาษาอังกฤษว่า แอนิเมชั่น (animation) ซึ่งหมายถึงการ์ตูนที่เป็นภาพเคลื่อนไหว

สำหรับชาวญี่ปุ่น คำว่าอนิเมะนี้จะใช้เรียกรวมการ์ตูนทุกเรื่องที่เป็นภาพเคลื่อนไหวทั้งจากญี่ปุ่นและจากทั่วโลก และส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการ์ตูนแบบแบ่งเป็นตอนๆ ที่ฉายรายสัปดาห์ หรือดัดแปลงมากจากมังงะอีกทีหนึ่ง และยังมีคำอีกหลายๆ คำที่เรามักจะพบควบคู่ไปกับอนิเมะ เช่นคำว่า มูฟวี่ “Movie” ซึ่งมีความหมายตรงตัวกับภาษาอังกฤษ เอาไว้เรียกอนิเมะที่ทำเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์และฉายในโรงหนัง หรือคำว่า ONA (Original Net Animation) ที่หมายถึงอนิเมะที่ฉายผ่านอินเตอร์เน็ตและไม่มีฉายทางทีวีในญี่ปุ่น เป็นต้น

ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นเองนั้นก็รับคำศัพท์ต่างๆ มาจากภาษาอังกฤษอยู่ไม่น้อยเลย

โตเกียว อนิเมะ เซ็นเตอร์ (Tokyo Anime Center), โตเกียว (Tokyo)

https://animecenter.jp/

โตเกียว อนิเมะ เซ็นเตอร์ (Tokyo Anime Center), โตเกียว (Tokyo)

ศูนย์รวมนิทรรศการและแหล่งความรู้เรื่องอนิเมะซึ่งตั้งอยู่ในย่านอากิฮาบาระ แม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนพิพิธภัณฑ์ แต่ก็มีจุดเด่นตรงที่มักจะมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับอนิเมะชื่อดังเรื่องต่างๆ ตลอดทั้งปี ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ข้อมูล และเปิดโอกาสให้ได้ลองวาดภาพเคลื่อนไหวดูจริงๆ นอกจากนี้ยังเป็นจุดสำหรับการคถ่ายรูปคู่กับโมเดลตัวการ์ตูนชื่อดังมากมายที่มีขนาดเท่าตัวจริง รวมถึงการซื้อของฝากและของที่ระลึกจากอนิเมะชื่อดังมากมายที่รวมกันไว้ในที่เดียว เหมาะสำหรับการเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดแวะพักเปลี่ยนบรรยากาศสำหรับการไปเยือนย่านอากิฮาบาระ ที่ถือเป็นย่านศูนย์รวมทุกอย่างสำหรับคนที่ชื่นชอบอนิเมะ

ค่าเข้าชม: ฟรี
เวลาเปิด-ปิด:
เวลาทำการช่วงเวลาปกติ 11.00 – 19.00 น.
เวลาทำการช่วง COVID-19 10.00-17.00 (ณ เดือนกันยายนปี 2020 ปิดทำการชั่วคราว)
การเดินทาง: สถานี Ichigaya

5. ไคจู (Kaiju) (怪獣)

https://pixta.jp/

5. ไคจู (Kaiju) (怪獣)

แม้ว่าจะเป็นคนที่ไม่ได้ติดตามวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นแบบจริงจัง แต่ก็เชื่อว่าหลายๆ คนคงคุ้นเคยกับภาพหรือพลอทหนังและการ์ตูนญี่ปุ่นเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดถล่มเมือง ที่ยังคงพบเจอได้ในทุกวันนี้ โดยสัตว์ประหลาดต่างๆ ที่ไม่ว่าจะปรากฏตัวในหนังหรือการ์ตูนเรื่องไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอุลตร้าแมนหรือก๊อตซิลล่า ก็มีคำเรียกรวมๆ ในภาษาญี่ปุ่นว่า “ไคจู” นั่นเอง

ก่อนหน้านี้คำว่าไคจูอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Pacific Rim ที่ได้แรงบันดาลใจจากพลอทการ์ตูนหุ่นยนต์สู้กับสัตว์ประหลาดแบบญี่ปุ่น ซึ่งมีการเรียกสัตว์ประหลาดที่ปรากฏตัวในเรื่องว่า “ไคจู” ตรงๆ แบบภาษาญี่ปุ่น จึงทำให้คนทั่วโลกเริ่มใช้คำว่าไคจูกันมากขึ้น

หินก็อดซิลล่า (Godzilla Rock), อากิตะ (Akita)

https://pixta.jp/

หินก็อดซิลล่า (Godzilla Rock), อากิตะ (Akita)

หินก็อดซิลล่า เป็นโขดหินขนาดใหญ่ริมชายฝั่งทะเลซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณแหลมชิโอเซะ ซากิ (Cape Shiose-Saki) เมืองโอกะ (Oka) จังหวัดอากิตะ (Akita) ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับก็อดซิลล่า ที่เปรียบเสมือนราชาแห่งไคจูของชาวญี่ปุ่น ช่วงเวลายอดนิยมในการไปเยือนหรือถ่ายรูปหินก้อนนี้ก็คือช่วงพระอาทิตย์ตก ซึ่งหากเลือกมุมที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้กับปากหินก้อนนี้ ก็จะได้ภาพที่ดูคล้ายกับก็อดซิลล่ากำลังพ่นแสง ซึ่งดูน่าเกรงขามราวกับว่าเป็นก็อดซิลล่าจริงๆ ที่โผล่มาปรากฏตัวบริเวณชายฝั่งทะเลแห่งนี้

ค่าเข้าชม: ฟรี
การเดินทาง: สถานี Oga แล้วต่อรถแท็กซี่ไปที่แหลม

ผู้เขียน: ชินพงศ์ มุ่งศิริ
เริ่มต้นทำงานเป็นช่างภาพอิสระหลังเรียนจบ เดินทางไปถ่ายภาพที่ประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้งจนครบทั้ง 4 ฤดูอันสวยงาม และเกือบครบทุกภูมิภาค มีผลงานภาพถ่ายตีพิมพ์ในไกด์บุ๊คระดับโลกอย่าง Lonely Planet ถึง 3 เล่ม คือ Discovery Japan, Japan และ Kyoto รวมถึงเว็บไซต์ท่องเที่ยวชั้นนำอย่าง National Geographic Traveler UK, BBC Travel, Travel+Leisure, TIME และอีกมาก
นอกจากการถ่ายทอดความสวยงามของประเทศญี่ปุ่นผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันยังหันมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทางตัวอักษรทั้งในฐานะนักเขียนและนักแปลควบคู่กันไปอีกด้วย

Japan Travel Editor

เรารวบรวมไอเดียเที่ยวญี่ปุ่นอันหลากหลายมาให้คุณ ตั้งแต่ถนนใหญ่สายช้อปปิ้งในเมืองโตเกียว วัดและศาลเจ้าโบราณสุดขลัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งดอกซากุระสีชมพู ใบไม้แดง วิวหิมะขาวๆ ทีมงานของเราจะนำข้อมูลดีๆมาให้คุณ