รู้ไว้ก่อนวางแผน! ไปญี่ปุ่นช่วงไหนราคาถูก ประหยัดงบ และคนน้อย
ช่วงเวลา Off Season สำหรับการเที่ยวญี่ปุ่นจะมีต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึง ช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวของแต่ละภาค ญี่ปุ่นช่วงไหนที่ไม่เหมาะเดินทางไปเที่ยว ช่วงไหนตั๋วเครื่องบินราคาถูก ที่พักราคาถูก วางแผนไปญี่ปุ่นช่วงไหนค่าใช้จ่ายถูก เป็นต้น ใครที่อยากเที่ยวแบบประหยัดงบล่ะก็ต้องอ่านบทความนี้ให้จบนะคะ!
ช่วงเวลาในฤดูท่องเที่ยว (On Season) กับนอกฤดูท่องเที่ยว (Off Season) คืออะไร
ช่วงเวลาในฤดูท่องเที่ยว (On Season) คือ ช่วงเวลาที่อากาศในญี่ปุ่นอบอุ่นไม่ร้อนมาก เย็นสบายไม่หนาวมาก เดินทางท่องเที่ยวได้ง่าย แต่ละสถานที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ทำให้รอคิวเข้าใช้บริการนาน ราคาตั๋ว ค่าที่พักต่างๆ ค่อนข้างแพง ความหมายเดียวกับ High Season ที่เราเรียกกัน โดยหากใครได้มาเที่ยวช่วง On Season ล่ะก็จะได้สัมผัสวิวที่หาไม่ได้ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นซากุระในฤดูใบไม้ผลิ ใบไม้แดงในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี และหิมะในฤดูหนาว
กลับกัน ช่วงเวลานอกฤดูท่องเที่ยว (Off Season) คือ ช่วงที่นักท่องเที่ยวน้อยสุดในรอบปี เนื่องด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือร้อนชื้นและมีฝนตกในช่วงมิถุนายนไปถึงสิงหาคม และอากาศที่หนาวเหน็บของฤดูหนาว ตรงกับ Low Season ที่คุ้นหูกันนั่นเอง
สรุปข้อดีของการท่องเที่ยวในช่วง Off Season
- ตั๋วเครื่องบินและที่พักราคาถูก
- ไม่ต้องแย่งกันเที่ยว ไม่ต้องรอคิวใช้บริการเครื่องเล่น สถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหารนานๆ
- สภาพอากาศในช่วงฤดูร้อนญี่ปุ่นประมาณเดือนกรกฎาคม สิงหาคม ใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้ไม่ต้องปรับตัวมาก เสื้อผ้าที่ใช้ก็เป็นแบบที่ใช้เหมือนของที่ไทย
- ช่วงก่อนเปลี่ยนฤดูกาลใหม่ ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า สามารถช็อปปิ้งของถูกๆ ได้ในช่วงนี้
1. ช่วงเวลาที่ราคาตั๋วเครื่องบินถูกและแพง
ปัจจุบัน ตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางไปญี่ปุ่นถือว่ามีตัวเลือกที่หลากหลาย แต่หลังจากปิดประเทศไปในช่วงโควิด-19 (COVID-19) และเปิดประเทศอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2022 ตั๋วเครื่องบินก็ราคาพุ่งสูงขึ้น ช่วงที่ตั๋วเครื่องบินมีราคาถูกที่สุดของแต่ละภูมิภาคอาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ในภาพรวมแล้วก็คือช่วง เดือนมิถุนายนที่มักจะมีฝนตกชุก และเดือนกันยายนที่เป็นฤดูมรสุมพายุใต้ฝุ่น มักจะมีโปรโมชั่นตั๋วราคาถูกออกมาให้เลือกซื้อกัน
ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่ตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นมีราคาแพง ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวของไทยเอง เช่นเดือนเมษายน ที่ญี่ปุ่นเป็นฤดูชมดอกซากุระแล้วยังตรงกับวันหยุดยาวสงกรานต์ของไทย อีกช่วงก็คือฤดูใบไม้เปลี่ยนสีราวๆกลางเดือนพฤศจิกายน หรือช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ เป็นต้น
2. ช่วงเวลาที่ราคาที่พักถูกและแพง
สำหรับราคาที่พัก โดยปกติแล้ว ที่พักในญี่ปุ่นจะเปิดให้จองล่วงหน้า 6 เดือน โดยในคืนวันอาทิตย์-พฤหัสบดีจะมีราคาถูกกว่าคืนวันศุกร์-เสาร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ของญี่ปุ่น เพราะนอกจากคนต่างชาติอย่างเราแล้ว คนญี่ปุ่นที่เที่ยวในประเทศเองก็ถือว่าเป็นคู่แข่งเช่นกัน
ช่วงเวลาที่ที่พักมีราคาถูก ก็จะเป็นช่วงฤดูร้อนในเดือนมิถุนายนไปจนถึงกันยายน (หรืออ้างอิงข้อมูลเรื่อง Off-Season ของภาคต่างๆด้านล่าง) ส่วนช่วงที่ราคาที่พักมีราคาสูงก็จะเป็นช่วงเทศกาล เช่นปีใหม่ หรือช่วงที่มีการจัดงานเทศกาลมีชื่อเสียงตามภูมิภาคต่างๆ อย่างเช่นเมืองโทคุชิมะที่คนน้อยตลอดปี หากไปในช่วงเทศกาลอาวะโอโดริ (Awa Odori Festival) ที่พักจะมีราคาสูงอย่างมากมาย
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมีที่พักหลายประเภท ถ้าต้องการราคาประหยัด สามารถเลือกเป็นประเภทโฮสเทล แคปซูล หรือดอร์ม ถ้าสามารถนอนโรงแรมเหล่านี้ได้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อย แต่ราคานั้นก็ยังผันผวนตามฤดูกาลและจำนวนคนอยู่ดี
ช่วงเวลา Off Season ที่นักท่องเที่ยวไม่นิยมไปเที่ยวโดยภาพรวม
(ภาพรวมทั่วประเทศ หากต้องการรู้เวลาเฉพาะเจาะจงให้ดูข้อมูลแยกแต่ละภาคด้านล่าง)
1. ฤดูมรสุม ก็คือช่วงที่มีพายุไต้ฝุ่นในญี่ปุ่น มักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม หากไปเที่ยวช่วงที่มีพายุใต้ฝุ่น ไม่เพียงแต่จะเดินทางไม่สะดวก ทิวทัศน์ในการท่องเที่ยวไม่สวยงามอย่างที่คาดหวัง ก็อาจจะต้องพบเจอปัญหาอื่นๆตามมาอีกเช่น การงดบริการของรถไฟ การยกเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบิน ที่ทำให้เกิดความล่าช้าด้วย
2. ฤดูร้อน โดยเฉพาะเดือนที่ร้อนที่สุดอย่างสิงหาคม เนื่องจากฤดูร้อนในญี่ปุ่นมีแดดค่อนข้างแรง และเป็นอากาศที่ให้ความรู้สึกว่าร้อนอบอ้าว การเดินเที่ยวเล่นไม่สบายเหมือนฤดูอื่น ฤดูนี้ตามเมืองต่างๆจึงมักจะมีกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจมาทดแทนเพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาท่องเที่ยว เช่น งานเทศกาลฤดูร้อน งานเทศกาลดอกไม้ไฟ การลดราคาสินค้าของห้างร้านต่างๆ เป็นต้น
3. ฤดูฝน ญี่ปุ่นเรียกกันว่า "สึยุ" (Tsuyu) ก็คือช่วงที่ฝนตกมากในเดือนมิถุนายน ช่วงนี้อากาศจะยังไม่ร้อนเท่าเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม แต่มักจะมีฝนตกแทบทุกวัน ถ้าจะไปเที่ยวก็ต้องกางร่ม ใส่เสื้อกันฝน ทำให้รู้สึกเป็นอุปสรรคและไม่สะดวกสบาย แต่เดือนนี้ก็มีสิ่งสวยงามที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นให้ได้ชม เช่น ดอกอะจิไซหรือดอกไฮเดรนเยีย
อย่างไรก็ตาม ข้อดีอย่างหนึ่งของการเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเวลาข้างต้น ก็คือ นักท่องเที่ยวปริมาณบางตา ที่เที่ยวยอดนิยมที่คนเยอะตลอดปีก็มีจำนวนคนลดลง ทำให้ไม่ต้องเบียดเสียดหรือวุ่นวาย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พัก ตั๋วเครื่องบินก็ไม่สูงเท่าฤดูกาลอื่นๆ ช่วยให้ประหยัดงบประมาณได้อีกด้วย
รู้จักกับช่วง Off Season ของแต่ละภูมิภาค
โดยสรุปแล้ว ในภาพรวม Off Season ของญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวที่อากาศสุดโต่งจนเกินไป (เวลาที่เจาะจงต่างกันไปบ้างแล้วแต่ภาค) เนื่องจากฤดูร้อนนอกจากอากาศจะร้อนจัดแล้วยังมีฝนและมรสุมหรือพายุไต้ฝุ่น ส่วนฤดูหนาวจะมีช่วงที่อากาศหนาวเย็นมากเกินไปและมีหิมะตกหนักมากเกินจนทำให้การเดินทางท่องเที่ยวไม่สะดวกสบาย หรือช่วงเพิ่งเริ่มตกที่หิมะยังน้อยเกิน คนก็ยังไม่อยากไปเช่นกัน
1. ภูมิภาคฮอกไกโด (Hokkaido)
ด้วยสภาพภูมิประเทศของเกาะฮอกไกโด ทำให้พื้นที่นี้มีอากาศเย็นสบายแม้ในฤดูร้อน และเป็นที่หลบร้อนของคนญี่ปุ่น ที่สำคัญมีที่เที่ยวกลางแจ้งหลากหลายที่สวยงามในฤดูร้อนเช่นทุ่งดอกไม้ ฮอกไกโดในช่วงหน้าร้อน (กรกฏาคม สิงหาคม) จึงไม่ใช่ช่วงที่ถูกที่สุดแต่ว่ากลับแพงที่สุด ซึ่งต่างจากที่อื่นๆในญี่ปุ่น
ส่วนช่วง Off Season ของฮอกไกโด เป็นช่วงหลังใบไม้เปลี่ยนสีและหิมะเพิ่งเริ่มตกใหม่ๆ นั่นคือราวๆปลายเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม ช่วงเวลานี้ ใบไม้เปลี่ยนสีเลยจุดพีคไปแล้ว และหิมะก็เพิ่งเริ่มตก เทศกาลและกิจกรรมต่างๆจึงยังไม่น่าสนใจนัก
2. ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku)
พื้นที่นี้ก็มีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นสบายตลอดปี และบางจังหวัดในฤดูหนาวก็จะมีหิมะตกเป็นปริมาณมาก ช่วง Off Season จึงเป็นช่วงที่หิมะทับถมมากที่สุดในเดือนมกราคม เพราะการเดินทางที่ลำบากกว่าปกติและอุณหภูมิที่หนาวเกินไป แต่เนื่องจากเทศกาลหิมะกับเทศกาลฤดูหนาวมักจะจัดหลังช่วงนี้(คือเดือนกุมภาพันธ์) ทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวในเดือนกุมภาพันธ์อยู่บ้างเหมือนกัน
และต่างจากภาคอื่นที่ช่วงฤดูร้อน (กรกฏาคม สิงหาคม) มักจะคนน้อย โทโฮคุเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่คนเยอะในหน้าร้อน เพราะเป็นที่หนีร้อนของคนญี่ปุ่นนั่นเอง โดยอุณหภูมิที่เย็นกว่าภูมิภาคคันโตพอสมควร ทำให้ประชากรเมืองโตเกียวจำนวนมากเลือกมาเที่ยวที่นี่ในหน้าร้อน
3. โตเกียวและภูมิภาคคันโต (Tokyo, Kanto)
พื้นที่โซนนี้ในภาพรวมแล้ว สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี คนก็เยอะตลอดทั้งปีเพราะเป็นประตูสู่ญี่ปุ่น แต่ก็จะมีช่วงที่เรียกว่า Off Season ซึ่งนักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อยกว่าช่วงเวลาอื่นๆ นั่นคือ ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน เป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดและมีมรสุมหรือพายุใต้ฝุ่นบ่อยที่สุด
ที่สำคัญคือ คันโตเป็นภาคที่ประชากรเยอะที่สุดในญี่ปุ่น ในมุมมองของการเที่ยวในประเทศของคนญี่ปุ่น ถือว่าเป็นภาคที่ส่งออกนักท่องเที่ยวให้ภาคอื่น ในช่วงหน้าร้อนชาวโตเกียวจะพากันไปภูมิภาคอื่นๆ เช่น ฮอกไกโด (Hokkaido) หรือโทโฮคุ (Tohoku) ที่อากาศเย็นกว่า
4. ภูมิภาคชูบุ (Chubu)
สำหรับภาคกลางของญี่ปุ่นถือว่ามีคนเยอะตลอดปี เพราะเป็นภาคที่ประชากรเยอะ และโดยตำแหน่งที่อยู่กลางประเทศบวกกับการเดินทางที่สะดวกมากๆ ทำให้คนญี่ปุ่นจากภาคต่างๆเองมาเที่ยวได้ง่ายด้วย แต่ทั้งนี้ก็มีช่วงที่เงียบกว่าปกติ เช่นตั้งแต่มิถุนายน-กันยายน ถือว่าเป็นช่วงที่เงียบที่สุด ซึ่งมีทั้งหน้าฝน อากาศร้อน หน้ามรสุม พายุใต้ฝุ่น ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น Off Season ของพื้นที่นี้เช่นกัน
5. โอซาก้า เกียวโต ภูมิภาคคันไซ (Kyoto-Osaka, Kansai)
ภูมิภาคสำคัญที่ประชากรเยอะอีกแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น มีเมืองสำคัญเช่น เกียวโต (Kyoto) และโอซาก้า (Osaka) โดยพื้นที่นี้มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และแหล่งมรดกโลกหลายแห่ง มีคนเยอะมากมายตลอดปี แต่ถ้าจะให้พูดว่าช่วงไหนที่คนน้อยและถูกที่สุด ก็คงเป็นเดือนสิงหาคมที่อากาศร้อนที่สุดไปจนถึงเดือนตุลาคมที่มักจะมีมรสุม และเป็นช่วงรอยต่อก่อนฤดูใบไม้ร่วง (ใบไม้ยังไม่เปลี่ยนสี) จึงทำให้คนยังน้อย แต่ถ้าช้าไปเพียงนิดเดียวละก็อาจเจอกับนักท่องเที่ยวทั้งญี่ปุ่น ไทย และต่างชาติ จำนวนมากที่แวะมาชมวัดและศาลเจ้าของเกียวโตท่ามกลางใบไม้แดง
6. ภูมิภาคชูโกกุ (Chugoku)
ภูมิภาคชูโกกุก็มีสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างอบอุ่น ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน จนถึงช่วงรอยต่อที่จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง (แต่ใบไม้ยังไม่แดงเต็มที่) ส่วนใหญ่จะมีทั้งฝนตกชุก อากาศก็ค่อนข้างร้อน แถมบางปีอาจมีมรสุมจากพายุไต้ฝุ่น จึงถือเป็นช่วง Off Season เช่นกัน ทั้งจากมุมมองของคนญี่ปุ่นและคนไทย
7. ภูมิภาคชิโกกุ (Shikoku)
ภูมิภาคขนาดเล็กแห่งนี้ ช่วง Off Season ก็คือฤดูร้อนในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เช่นเดียวกับหลายๆ พื้นที่ รวมถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ทิวทัศน์ของใบไม้เปลี่ยนสีปลายฤดูใบไม้ร่วงได้โรยราไปแล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ก็คือ ชิโกกุเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวทั้งคนญี่ปุ่นเองและต่างชาติค่อนข้างน้อย ถ้าหากไม่ไปสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากจนเป็นข้อยกเว้น อย่างเช่น ย่านโดโกออนเซ็น (Dogo Onsen) ซึ่งเป็นหนึ่งในออนเซ็นที่ดังที่สุดในหมู่คนญี่ปุ่น หรือเมืองโทคุชิมะ (Tokushima) ในช่วงเทศกาลอาวะโอโดริ ไม่ว่าจะที่ไหน ภูมิภาคชิโกกุก็ยังถือว่ามีนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างน้อยตลอดปี
8. ฟุกุโอกะและภูมิภาคคิวชู (Fukuoka, Kyushu)
พื้นที่นี้มีอากาศค่อนข้างอบอุ่นตลอดปี เที่ยวง่าย แต่ก็มีช่วง Off Season คือช่วงมรสุมระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม รวมทั้งช่วงรอยต่อระหว่างฤดูกาล เช่นช่วงปลายปีหลังจากใบไม้เปลี่ยนสีร่วงโรยตั้งแต่เดือนธันวาคม ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีต่อไป ซึ่งคิวชูจะมีทิวทัศน์ส่วนใหญ่ที่ดูแห้งแล้งและไม่ค่อยมีหิมะ จึงทำให้ไม่ค่อยมีสิ่งดึงดูดในหน้าหนาว
สำหรับคนไทยที่ไม่ได้ยึดติดว่าต้องเจอหิมะ คิวชูหน้าหนาวเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะโรงแรมจะว่างพอควร แต่ทั้งนี้ถ้าเลือกพักตามเมืองออนเซ็น ก็อาจจะมีราคาแพงอยู่ดี เพราะออนเซ็นเป็นหนึ่งในเป้าหมายของคนญี่ปุ่นเองที่เลือกไปคิวชูในหน้าหนาว
9. เกาะโอกินาวะ (Okinawa)
เกาะโอกินาวะมีสภาพอากาศแตกต่างจากบนเกาะฮอนชูอย่างมาก และเป็นอีกแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่ช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงพีค (Peak Season) ไม่ใช่เพราะคนไทยแต่เพราะคนญี่ปุ่นจากแผ่นดินใหญ่ที่หนีร้อนมาพักผ่อนบนเกาะกันเป็นจำนวนมาก
ส่วนช่วงเวลา Off Season ก็จะอยู่ประมาณเดือนตุลาคมไปถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเดือนตุลาคมอาจมีฝนตกและหลังจากนั้นอากาศค่อนข้างหนาว แต่ไม่มีหิมะตกจึงไม่มีกิจกรรมฤดูหนาว และความหนาวทำให้ไม่ได้รับความนิยมในการมาทำกิจกรรมทางทะเลอย่างการเล่นน้ำ ซึ่งปกติเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องการอากาศอบอุ่น แต่ถ้าเป็นคนไทยซึ่งอยากไปญี่ปุ่นเมื่อไหร่ก็ได้ที่ราคาถูกและไม่ได้เน้นไปเพื่อเที่ยวทะเล ก็ถือเป็นโอกาสดีในการดื่มด่ำกับญี่ปุ่นในราคาประหยัด
ช่วงเวลาใดที่ "ไม่เหมาะ" จะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น
นอกจากฤดูมรสุม ที่มักจะมีพายุใต้ฝุ่นในช่วงเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนตุลาคม ตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ก็ยังมีช่วงเทศกาลกับวันหยุดยาวของชาวญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะออกเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน จึงทำให้สถานที่ท่องเที่ยวและระบบขนส่งสาธารณะค่อนข้างหน้าแน่น หากใครไม่ชอบความวุ่นวายและไม่ชอบไปเที่ยวช่วงที่คนเยอะๆ แนะนำให้หลีกเลี่ยงช่วงเวลาเหล่านี้
วันหยุดปีใหม่ - แน่นอนว่าบริษัทต่างๆหยุดทำการในช่วงส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ทำให้คนญี่ปุ่นเองออกมาเที่ยว แถมวันปีใหม่เองยังเป็นช่วงที่ชาวญี่ปุ่นมักจะเดินทางไปอธิษฐานขอพรรับปีใหม่ตามวัดและศาลเจ้าชื่อดังของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสถานที่ชมแสงพระอาทิตย์แรกของปีใหม่ด้วยเช่นกัน ทั้งวัด ศาลเจ้า แหล่งท่องเที่ยวจะเต็มไปด้วยชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
วันหยุดยาวโกลเด้นวีค (Golden Week) - เป็นวันหยุดที่คนไทยควรรู้จักเอาไว้ที่สุด คือชื่อเรียกวันหยุดยาวต่อเนื่องที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวันมารวมกัน ส่วนใหญ่ก็จะหยุดเป็นเวลา 7-10 วัน ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมช่วงนี้ชาวญี่ปุ่นก็จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากที่เที่ยวและการเดินทางระบบสาธารณะจะเต็มไปด้วยผู้คนแล้ว โรงแรมที่พักก็มักจะมีราคาสูงกว่าปกติด้วย
วันหยุดยาวเทศกาลโอบ้ง (Obon) - โดยทั่วไปจะตรงกับวันที่ 13-15 สิงหาคม แต่ก็มักจะหยุดเพิ่มให้ยาวต่อเนื่องประมาณ 7 วัน ถือเป็นช่วงวันหยุดยาวที่ชาวญี่ปุ่นนิยมเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับบ้านเกิด เพื่อทำกิจกรรมตามประเพณีและความเชื่อในเทศกาลโอบ้ง นั่นคือการจุดไฟรับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ทำสำรับอาหารจัดเลี้ยง ทำความสะอาดสุสาน เป็นต้น การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในช่วงนี้จึงค่อนข้างหน้าแน่น โรงแรมที่พักตามเมืองท่องเที่ยวก็มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน