เปรียบเทียบการทำงาน บ.ไทย กับ บ.ญี่ปุ่นในไทย
ใครเรียนภาษาญี่ปุ่นบ้างคะ อยากทำงานบริษัทของญี่ปุ่นหรือเปล่า เงินเดือนจะดีมั้ย แล้วมีอะไรดีไม่ดีเมื่อเทียบกับบริษัทไทยแท้ ลองมาดูกันค่ะ
By Moonlight Yokuบริษัทไทย VS บริษัทญี่ปุ่น แบบไหนดีกว่ากันนะ? เชื่อว่าหลายๆท่านที่เรียนจบทางด้านภาษาญี่ปุ่นหรือต้องการทำงานบริษัทญี่ปุ่นต้องมีลังเลกันบ้าง บทความนี้อาจช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นค่ะ ต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่าเนื้อหาการเปรียบเทียบตามที่จะกล่าวต่อไปนี้ หลายอย่างใช้ข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว แต่หลายอย่างโดยเฉพาะสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (เช่นวัฒนธรรมองค์กร) ก็จะเน้นเขียนตามประสบการณ์ของนักเขียนโดยตรงเป็นหลัก (รวมถึงบุคคลใกล้ตัวของเราด้วย) หากประสบการณ์ที่คุณเจอไม่ตรงกับเราอย่างไรต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ
วัฒนธรรมองค์กร
บริษัทไทย = ความแตกต่างทางสังคมสูงมาก
วัฒนธรรมองค์กรไทยจะมีสิ่งหนึ่งค่ะที่ต่างกับญี่ปุ่นมาก คือความยืดหยุ่นยังไงก็ได้ ประชุม 9 โมงแต่กว่าจะเข้าเนื้อหาจริงอาจจะ 9 โมงครึ่งเพื่อรอเพื่อนรวมงานเป็นต้น ตำแหน่งการรับผิดชอบงานของไทยจะชัดเจน ตรง และไม่ซับซ้อน แต่มักไม่แยกเรื่องงานกับส่วนตัวออกจากกันเสียเท่าไร ซึ่งนี้ก็นับว่าเป็นข้อเสียก็ได้นะคะที่อาจส่งผลกับการทำงาน ส่วนวัฒธรรมปลีกย่อยอื่นๆขอแยกบริษัทไทยเป็น2ประเภทเท่าที่ได้รับประสบการณ์มาแล้วกันนะคะ
1. บริษัทไทยแบบเช้าชามเย็นชาม
อาจจะจั่วหัวข้อแรงไปสักนิด แต่นี่คือเรื่องจริงค่ะที่ไม่ได้มีแค่ในระบบข้าราชการ แต่มีในเอกชนบ้างบางแห่งโดยเฉพาะบริษัทเล็กๆที่มักเจอ คนเดิมที่อยู่อาจไม่ได้ทำงานดีขนาดนั้นแต่เพียงทำตามหน้าที่ ขาดแรงกระตุ้นในการทำงานทำให้ไม่มีความกระตือรือร้น แต่อยู่ได้เพราะเงินเดือนมั่นคงแล้วเขาเองไม่ได้ทำผิดร้ายแรงอะไรที่ทำให้บริษัทพิจารณาไล่ออก คนขยันก็ทำงานแทบตายโดนเอาเปรียบจากกลุ่มนี้ เชื่อว่าแบบนี้หลายท่านน่าจะเคยพบเจอกันมาเองบ้าง
2. บริษัทไทยแบบศรีทนได้ ทนแบกรับทุกอย่าง
ในการทำงานบริษัทไทยบางแห่งที่เน้นใช้คนกันเต็มที่ หน้าที่ส่วนนั้นไม่หนักกายในการใช้แรงงาน ก็หนักสมองในการคิดบริหารงาน ซึ่งบริษัทแบบนี้มักมีเรื่องของโบนัสหรือคอมมิชชั่นเป็นตัวกระตุ้นพนักงานให้กัดฟันสู้เพื่อเงินเดือนค่ะ แล้วเพราะเหตุนี้นี่แหละคนที่ทำงานองค์กรไทยที่มีลักษณะแบบนี้มักไม่ได้เหนื่อยงานแค่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเหนื่อยกับคนหรือสังคมของบริษัทที่แก่งแย่งชิงดีกันด้วย ซึ่งจุดนี้แหละที่ทำให้คนไทยเป็นทั้งเครียดสะสมและโรคซึมเศร้ามามากแล้วค่ะ
บริษัทญี่ปุ่น = บริษัทคือครอบครัว
สำหรับบริษัทญี่ปุ่นแล้วการดูแลของเขาจะไม่ได้มองแค่ว่าคุณคือพนักงานอย่างเดียว แต่คุณคือหนึ่งในองค์กรที่เหมือนบ้านหลังที่2ด้วย แต่ต้องบอกก่อนนะคะว่าครอบครัวแบบญี่ปุ่นเนี่ยเป็นครอบครัวแสนเหนื่อยแสนกดดัน คุณพ่อคุณแม่คาดหวังให้ลูกเรียนได้ท็อปกันทุกคน กฎระเบียบที่มีก็เยอะมาก และมักจะเคร่งเครียดกว่าบริษัทไทย เพราะไม่ใช่แค่ว่าเขาจะมองคุณเป็นครอบครัวแค่เพียงอย่างเดียว เขายังคอยมองการทำงานของคุณด้วย ว่าเติบโตแค่ไหน เน้นให้พยายามเพิ่มๆขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่คุณทำอยู่อาจดีแล้ว แต่คุณห้ามหยุดพัฒนาและต้องพยายามให้มันดียิ่งขึ้นไป ซึ่งจุดนี้แหละค่ะที่ทำให้คนไทยหลายท่านที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้า เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันไม่ดีพอ (ก็เป็นปัญหาที่ได้ยินบ่อยๆ แบบที่สังคมญี่ปุ่นและเหล่ามนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเผชิญอยู่นั่นเอง) สรุปว่าถึงจะ "เหมือนครอบครัว" แต่ก็เครียดอยู่ดีค่ะ
ส่วนระบบการทำงานของบริษัทญี่ปุ่นขอบอกเลยค่ะว่าซับซ้อนมาก และต้องยึดขั้นตอนเป๊ะๆ ต้องรอคนนั้นเซ็นเอกสาร คนนี้อนุมัติ คนโน้นพิจารณา รอระดมสมองกับทีมอย่างเป็นทางการ รอการแก้ไขครั้งที่ 1 2 3 … แต่ทั้งนี้แม้ขั้นตอนงานจะซับซ้อน แต่ก็มีขั้นตอนและเดดไลน์งานที่ชัดเจนมากเช่นกัน เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะทำให้การทำงานบริษัทญี่ปุ่นนั้นเคร่งแล้วเครียดด้วยค่ะ การทำงานแบบนี้สำหรับบริษัทอื่นคู่ค้าที่ต้องติดต่อร่วมกันทำงานแล้วต้องรับเอกสารงานก่อนเดตไลน์งานจริงอาจมีปัญหาในการทำงานร่วมด้วย เพราะเขายึดวันที่ตกลงกันเป็นหลักเลย
หัวหน้างาน
บริษัทไทย : หัวหน้างานร้อยพ่อพันแม่
หัวหน้างานในบริษัทไทยจะมีตำแหน่งงานชัดเจนค่ะ คนนี้คือหัวหน้าแผนก นี่คือรองหัวหน้าแผนก ที่เหลือคือพนักงานทั่วไป ทำให้ไม่มีความซับซ้อนในการรอผู้มีอำนาจตัดสินใจมากนัก แต่ลักษณะหัวหน้าบริษัทไทยหาคำจำกัดความไม่ได้เลยค่ะ เพราะหัวหน้าแบบไทยเนี่ยแต่ละคนแตกต่างกันเยอะจริงๆ แต่จะขอแบ่งเป็น 2 ประเภทให้เข้าใจง่ายๆ
1.หัวหน้างานไทยที่มีภาวะผู้นำที่ดี ; เก่งงานแล้วยังเก่งSoft skillsด้วย
เป็นหัวหน้าที่สั่งงานแล้วไม่ได้ปล่อยผ่านรอแค่วันส่งงานหรือรอจับผิด แต่มีภาวะผู้นำในการเข้ามาสอนงาน คุยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อง เข้าถึงง่ายไม่ดุด่าอย่างเดียว เมื่อมีปัญหาก็เด็ดขาดมากพอที่จะแก้ไขสถานการณ์หรือเข้าไปสอบถามและช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหา ใช้เหตุผลกับความรู้สึกควบคู่ตามสถานการณ์และตามเป้าหมายบริษัท จะมีมากมีน้อยอันนี้แล้วแต่ว่าใครโชคดีได้เจ้านายที่ดีไปนะ
2.หัวหน้างานไทยที่เน้นสั่งอย่างเดียว
ก็เป็นหัวหน้างานแบบที่อาจไม่ดีสักเท่าไรแน่หากพบเจอ แต่ก็มักจะได้ยินกันบ่อยๆเพราะงั้นก็อยากให้รู้ไว้ว่าคนแบบนี้มีอยู่จริงๆนะ สั่งงานไว้แต่รายละเอียดอย่างไรไปศึกษาเอง บรีฟงานรุนแรงต้องได้เป้าหมายตามที่วางไว้ ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ใช้ความรู้สึกส่วนตัวเลือกที่รักมักที่ชัง หรือเลือกปฏิบัติกับพนักงาน ขณะเข้าไปสัมภาษณ์งานหากเราประเมินสถานการณ์ขณะสัมภาษณ์กับหัวหน้างานได้บ้าง อาจทำให้รอดพ้นปัญหานี้ได้บ้างค่ะ
บริษัทญี่ปุ่น : หัวหน้างานซับซ้อน มากกว่า2คน
งงสิคะ คราวนี้สำหรับคนไทยที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นในไทย หลายคนทำนานแล้วก็ยังไม่ชินรูปแบบผังองค์กรแบบญี่ปุ่นผสมไทย ในความเป็นจริงคุณอาจเป็นลูกน้องใต้บังคับของหัวหน้าแผนกชาวไทย 1ท่าน ที่รองลงมาจากซีเนียร์คนญี่ปุ่น ซึ่งเราต้องคอยปรึกษาตลอด ในทางปฏิบัติจึงคล้ายจะเป็นเพื่อนร่วมงานรุ่นเดียวกัน
สำหรับบริษัทญี่ปุ่นแล้วหากเทียบตำแหน่งงานที่เท่ากันของหัวหน้าชาวไทยและชาวญี่ปุ่น เขาจะยึดชาวญี่ปุ่นเป็นหัวหน้างานค่ะ ซึ่งอำนาจการตัดสินใจใหญ่จริงๆหัวหน้าชาวไทยของเรานั้นก็ต้องรอให้หัวหน้าญี่ปุ่นอีกท่านตัดสินใจเช่นกัน ทำให้การประชุมงานกันในบางหัวข้อบางเรื่องวุ่นวายในหลายๆครั้ง ยังไม่รวมกับวัฒนธรรมองค์กรนั้นด้วย เพราะบางองค์กรหัวหน้างานต้องการงานไอเดียใหม่ๆ แต่ซีเนียร์ผู้ตรวจงานคุณด่านแรกอาจเป็นคนหัวเก่า ทำให้การทำงานสับสนต้องแก้ไขเอาใจหัวหน้ากันไป ซึ่งสังคมการทำงานบริษัทญี่ปุ่นในไทยเอาจริงๆก็ตึงเครียดน้อยกว่าในญี่ปุ่นมากแล้วนะคะ
ส่วนหัวหน้างานชาวญี่ปุ่นในบริษัทญี่ปุ่นจะลองสรุปง่ายๆให้เหลือ 2 แบบ ได้แก่แบบแรกเจ้านายสายใจดี เข้าถึงง่าย สุภาพ จริงจังกับงานประมาณนึงแต่เข้าใจลักษณะคนไทย ทำให้ไม่มาจ้ำจี้จำไชกับเรามากนัก กับอีกแบบคือเจ้านายญี่ปุ่นจริงจังแบบสังคมญี่ปุ่น โดยมากมักมาอยู่ที่ไทยไม่นาน หรือมีลักษณะนิสัยที่เนี๊ยบอยู่แล้วตั้งแต่ต้นทำให้การทำงานดูจริงจังแล้วตึงไปเสียทุกอย่าง แบบหลังนี้ถ้าคนไทยไม่ชินอาจต้องปรับตัวกันสักพักเลย เพราะเขาอาจเป็นคนที่ไม่เปิดรับความคิดด้วยทำให้การอธิบายระบบงานใดๆไปลำบากรวมถึงเราเองต้องปรับตัวในการทำงานล่วงหน้าและรอบคอบกับงานให้มากขึ้นด้วย
เงินเดือน
สำหรับวุฒิปริญญาตรีทั่วไป ไม่ว่าคุณจะจบที่ไหน เกรดเฉลี่ยเท่าไร สิ่งนั้นอาจเป็นต้นทุนเพียงเล็กน้อยหรือเพียงคอนเนคชั่นในการเริ่มต้นทำงานเท่านั้น เงินเดือนคุณเมื่อเริ่มต้นจะมีประมาณ 15,000บาท พอกันทุกที่ เพราะสิ่งที่อัพเงินเดือนให้มากขึ้นนั้นจะเป็นประสบการณ์ทำงานและอายุงานค่ะ ความแตกต่างของแต่ละคนจะเริ่มเห็นเมื่อทำงานไปซักพัก
เงินเดือนเริ่มต้นบริษัทไทย : 15,000 บาทขึ้นไป
เรื่องจริงอันแสนเจ็บปวดว่าด้วยเงินเดือนเริ่มต้นที่รับจริงอยู่ที่ 15,000 บาทแม้คุณจะทำงานใจกลางเมือง ซึ่งเมื่อหักค่าครองชีพแล้วอาจไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป คุณอาจเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟบางบริษัทได้ค่ะ บางบริษัทมีแอบให้ความหวังไว้ด้วยว่ายังไม่รวมเบี้ยขยัน+ค่าคอมมิชชั่นนะซึ่งอาจถึง25,000บาท แต่ขอแตะเบรคไว้เลยนะว่าเงินเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ได้กันมาง่ายๆแน่ แล้วยังไม่มั่นคงเอาเสียเลย ซึ่งสิ่งนี้อยากจะเตือนเด็กจบใหม่ด้วยนะในการเลือกบริษัททำงาน ให้พิจารณาความสามารถตัวเองและประเมินเงินเดือนไปก่อน อย่าปล่อยให้เขากดเงินเดือนลงเด็ดขาด!
เงินเดือนเริ่มต้นบริษัทญี่ปุ่น : 18,000 บาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าภาษา)
สำหรับบริษัทญี่ปุ่นอยากแบ่งเรื่องเงินเดือนเป็น2ประเภท
1.ผู้ที่ยื่นสมัครงานโดยไม่ขอใช้ภาษาญี่ปุ่น อาจมีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นมาก่อนบ้าง หรือมาทำงานบริษัทญี่ปุ่นแบบไม่มีความสามารถภาษาญี่ปุ่นเลย ในส่วนนี้เงินเดือนเริ่มต้นจะอยู่สูงกว่าบริษัทสัญชาติไทยเล็กน้อย ตัวเลขที่เห็นบ่อยอยู่ประมาณ 18,000 บาท แต่โดยส่วนมากหากมีพื้นฐานในการใช้ภาษาญี่ปุ่นมาก่อน จบทางด้านนี้โดยตรง แต่เลือกไม่ยื่นภาษา เงินเดือนจะเริ่มต้นที่ 20,000-22,000 บาทค่ะ
2.ผู้ที่ยื่นสมัครงานโดยเจาะจงตำแหน่งที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น ตั้งแต่ระดับ JLPT N3 ขึ้นไป (ความสามารถการใช้จริงอาจต้องการ JLPT N2) ส่วนนี้จะได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000-30,000 บาท การใช้งานภาษาญี่ปุ่นก็อาจไม่มากนัก ใช้เพียงภายในบริษัท หรือสานสัมพันธ์เล็กน้อยกับลูกค้าเป็นต้น
แต่ทั้งนี้ถ้าตำแหน่งที่คุณไปทำมีความยากแล้วยังใช้ทักษะสูงพอสมควร เงินเดือนเริ่มต้นเรทจะอยู่ที่ 30,000-35,000 บาททันที เช่นเป็นล่ามบริหารฝ่ายการตลาดญี่ปุ่น ล่ามโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ จะเป็นตำแหน่งต่างๆที่ไม่ใช่แค่รู้ภาษาไว้เฉยๆ แต่ยังต้องใช้จริงจังทุกวันด้วย (พวกล่ามนั่นเอง) เงินเดือนมากความรับผิดชอบงานก็ยิ่งมาก ความจำเป็นที่ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นในทุกวันก็มากตามไปด้วยค่ะ
โบนัส
บริษัทไทย ในยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้ 2-3 เดือนเป็นพื้นฐานค่ะ แต่จำนวนเงินอาจไม่ได้มากเท่ากับโบนัสปีก่อนที่เคยจ่ายมาแล้ว โดยมากได้รับช่วงต้นปีของทุกปี
บริษัทญี่ปุ่น โดยรวมแล้วจะมากกว่าบริษัทไทย จากประสบการณ์รวมถึงบุคคลรอบตัวของนักเขียน ได้กันราว 3-6 เดือนค่ะ แม้จะได้หลายเดือนแต่ช่วงหลายปีมานี่จำนวนเงินก็น้อยลงจากปีก่อนๆเช่นกัน บางบริษัทที่ผลประกอบการดีมากถึงแม้เศรษฐกิจแบบนี้ ก็อาจได้โบนัส 7-8 เดือนได้ มีทั้งบริษัทให้เงินโบนัสเริ่มตั้งแต่ต้นปี และบริษัทที่พิจารณาจ่ายกลางปีค่ะ
**โบนัสเป็นเพียงน้ำบ่อหน้านะคะ หากใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำงานอาจต้องระวังสักหน่อย
สวัสดิการ
สวัสดิการสำหรับคุณแล้วแบบใดจึงเรียกว่าดีบ้างคะ? หากความต้องการของคุณเป็นเพียงแค่ประกันสังคม ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน มีครัวหรืออาหารว่างให้ สำหรับเรานั่นเรียกว่าสวัสดิการพื้นฐานของบริษัทที่ควรมีตามกฎหมายค่ะ
บริษัทไทย = สวัสดิการพื้นฐานครบ
เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างนึงค่ะที่บริษัทไทยแท้นั้น ส่วนใหญ่สิ่งที่ให้คุณมีเพียงสวัสดิการพื้นฐานตามที่กฏหมายกำหนดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบริษัทดังๆใจกลางกทม. หรือบริษัทใหญ่ในเขตโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งที่จะมีให้เพิ่มเติมก็มักจะเป็นประกันสุขภาพเอกชน / ประกันอุบัติเหตุเอกชน เพิ่มวันลาป่วยได้มากกว่าปกติ บางที่อาจมีโรงอาหาร อาหารกลางวัน / อาหารเย็นให้ฟรี หรือหากคุณทำงานโรงแรมหรือรีสอร์ทก็อาจได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องอาหารที่พักเช่นกัน
บริษัทญี่ปุ่น = สวัสดิการที่นึกถึงใจเขาใจเรา
สำหรับบริษัทญี่ปุ่นในไทยจากประสบการณ์เลย นอกจากสวัสดิการพื้นฐานตามกฏหมายไทยที่ทุกบริษัทควรมีแล้ว สิ่งที่เขาจะให้เพิ่มส่วนใหญ่จะเป็นค่าเดินทางมาทำงานค่ะ (เพราะว่าบริษัทในประเทศญี่ปุ่นให้กันเป็นเรื่องปกติ) ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับที่อยู่และโครงสร้างของบริษัทด้วย สมมติว่าคุณได้ค่าเดินทางเดือนละ 1,500บาท เงินส่วนนี้ก็จะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างดีเลยค่ะ และต่อมาก็เป็นสิทธิในการเปิด OPD เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งสิทธิเริ่มแรกจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000บาท/ครั้ง ซึ่งบริษัทไทยก็อาจมีบ้าง แต่บริษัทญี่ปุ่นจะนิยมมีกันมากกว่าเหมือนเป็นสวัสดิการพื้นฐานไปแล้วค่ะ
เป็นยังไงบ้างคะ คุณเห็นตรงกับเราหรือเปล่า ทั้งเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เงินเดือน เจ้านาย สวัสดิการ ถ้าไม่ตรง คุณเคยเจออะไรที่ต่างออกไปมาเล่าให้ฟังหน่อยนะคะ
แล้วคุณล่ะอยากทำงานกับบริษัทไหนมากกว่ากัน