allabout japan
allabout japan

วิธีไปดูซูโม่ที่ญี่ปุ่น

วิธีไปดูซูโม่ที่ญี่ปุ่น

แนะนำวิธีการไปดูซูโม่ที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การจองตั๋ว เวลาแข่ง สถานที่แข่ง ที่นั่ง มารยาท กิจกรรมที่น่าสนใจในสนามซูโม่ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับซูโม่ บรรยากาศรอบสนามซูโม่และสิ่งที่น่าทำในวันที่ไปดูซูโม่

By Japan Travel Editor

ซูโม่คืออะไร

ซูโม่คืออะไร

“ซูโม่” คือหนึ่งในกีฬาญี่ปุ่นแท้ๆที่คนชอบอะไรญี่ปุ่นๆ ควรจะลองไปดูซักครั้ง นอกจากจะเป็นกีฬาที่มีประวัติยาวนานกว่า 1,500 ปีแล้ว ยังมาพร้อมกับเอกลักษณ์มากมายที่หาชมในกีฬาอื่นไม่ได้ ตั้งแต่การแต่งกาย ทรงผม และวิถีชีวิตของนักซูโม่เองก็เป็นสิ่งน่าสนใจไม่แพ้การแข่งขัน รวมถึงพิธีกรรมก่อนและหลังแข่ง เนื่องจากซูโม่ไม่ได้เป็นแค่กีฬาที่แข่งเอาแพ้ชนะ แต่ยังมีความหมายในทางศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆที่แฝงมาด้วย ทำให้เป็นกีฬาที่มีประเพณีแฝงมาให้ชมเยอะพอสมควร ไม่ได้มีให้ดูแค่ผลแพ้ชนะเท่านั้น

กฏกติกามารยาทของการแข่งซูโม่นั้นจริงๆแล้วง่ายดายเอามากๆ การตัดสินแพ้ชนะกันมีกฏแค่ไม่กี่อย่างเท่านั้น
1 ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งล้มลงบนพื้นได้
2 ทำให้อวัยวะส่วนอื่นนอกเหนือจากเท้าแตะพื้นได้
3 ทำให้ร่างกายคู่ต่อสู้ออกจากลานแข่งขันได้

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้การตัดสินแพ้ชนะของซูโม่ทำได้ในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น คนที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยดูซูโม่มาก่อนอาจมองว่าเป็นกีฬาที่ไม่มีอะไรดูเพราะจบอย่างรวดเร็ว แต่เราขอแนะนำว่าการไปดูซูโม่นั้น ไม่ได้ดูแค่ผลแพ้ชนะ แต่ไปเพื่อสัมผัสประเพณี พิธีกรรม และบรรยากาศต่างๆที่อยู่รอบๆการแข่งซูโม่ด้วย

ที่สำคัญการแข่งซูโม่ในวันหนึ่งนั้นมีหลายร้อยคู่ ทำให้สนุกได้ยาวๆ ตื่นเต้นได้ตลอดวัน อย่างคู่ที่เก่งๆนั้นก็แข่งกันได้สนุกแบบที่คุ้มค่าแม้คู่นึงจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เทคนิคต่างๆที่น่าสนใจ หากนั่งดูให้ดีก็จะเห็นว่ามีการโจมตีที่สามารถใช้ได้มากมาย ไม่ได้ใช้แค่พลังและน้ำหนักกดอีกฝ่าย แต่ยังมีการโต้กลับ การหลอกล่อ การใช้แรงของอีกฝ่ายให้เป็นประโยชน์ ทุกครั้งนักซูโม่ที่ตัวเล็กล้มนักซูโม่ที่ตัวใหญ่กว่าได้กองเชียร์ในสนามจะโห่ร้องกึกก้อง เป็นบรรยากาศที่น่าไปสัมผัสด้วยตัวเอง

ลำดับชั้นของซูโม่

ลำดับชั้นของซูโม่

การแข่งซูโม่แบ่งเป็นหลายระดับ คล้ายๆกับกีฬาอื่นๆ เช่นฟุตบอลที่มีลีกหลายระดับจากต่ำไปสูง โดยถ้าเรียงตามลำดับต่ำไปสูงจะได้ดังต่อไปนี้

Banzukegai
Jonokuchi
Jonidan
Sandanme
Makushita
Juryo
Makuuchi

ระดับต่ำสุดเรียกว่า Banzukegai ซึ่งแปลว่าไม่มีระดับ ส่วนระดับสูงสุดคือ Makuuchi เป็นระดับที่เหมือนกับพรีเมียร์ลีกแห่งวงการซูโม่

ในหนึ่งวันซูโม่จะมีแข่งครบทุกระดับไล่จากระดับล่างสุดจนสูงสุด นักซูโม่แทบทุกคนจะได้มาแข่ง 1 แมตช์แน่ๆทุกวัน ยกเว้นคนที่ได้พัก โดยในแต่ละวันที่มีแข่งก็จะเริ่มแข่งตั้งแต่ประมาณแปดโมงครึ่งในยามเช้า ซึ่งเริ่มจาก Banzukegai ไล่ไปเรื่อยๆ โดยระดับล่างๆที่แข่งในตอนเช้านั้นแทบจะไม่มีคนดู ส่วนระดับที่ยิ่งสูงก็จะยิ่งมีคนเข้ามาดูมากขึ้น แฟนซูโม่ตัวจริงส่วนใหญ่จะนั่งติดเก้าอี้ตั้งแต่ประมาณบ่ายสอง (ช่วงที่ระดับ Juryo เริ่มแข่ง) ไปจนจบการแข่งของ Makuuchi ประมาณหกโมงเย็น ถ้าคุณอยากไปชมนักซูโม่เก่งๆเป็นหลักก็ไม่จำเป็นต้องมาแต่เช้าก็ได้ แต่แนะนำให้มาตั้งแต่ประมาณระดับ Juryo แข่ง

ซูโม่แข่งกันที่ไหนเมื่อไหร่

การแข่งขันซูโม่ในญี่ปุ่น ไม่เหมือนกับลีกกีฬาใหญ่ๆอย่างเช่นฟุตบอล ที่จะแบ่งรอบตามฤดูกาลหรือรอบเวลาของปีๆละรอบ แต่ซูโม่จะแบ่งออกเป็นรอบเล็กๆซึ่งปีนึงมีแข่งถึง 6 รอบ และหนึ่งรอบใช้เวลาแข่งแค่สิบห้าวันเท่านั้นก็รู้ว่าใครเป็นแชมป์

ทั้งหกรอบจะจัดกันคนละเวลาและคนละสถานที่ เดือนที่จัดก็คือเดือน 1, 3, 5, 7, 9, 11 โดยในหกครั้งนี้ สามครั้งแข่งที่โตเกียว และที่เหลือแบ่งกันจัดที่โอซาก้า นาโกย่า และฟุกุโอกะ เมืองละหนึ่งครั้ง
เดือน 1, 5, 9 สามครั้ง แข่งที่โตเกียว
เดือน 3 แข่งที่โอซาก้า
เดือน 7 แข่งที่นาโกย่า
เดือน 11 แข่งที่ฟุกุโอกะ

โดยการแข่งซูโม่แต่ละรอบซึ่งจะใช้เวลาสิบห้าวันนั้น ในแต่ละวันก็มักจะมีการแข่งให้ดูเป็นร้อยๆคู่โดยไล่ตั้งแต่นักซูโม่ระดับล่างสุดไปจนระดับบนสุดเลย นักซูโม่ในวงการแทบทุกคนจะมีตารางได้ลงแข่งหนึ่งแมตช์ในทุกๆวัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเลือกไปดูวันที่เท่าไหร่ก็สามารถดูนักซูโม่ดังฝีมือดีได้

สถานที่ดูซูโม่ในญี่ปุ่น

หลังจากเลือกเดือนที่จะไปชมได้แล้ว ก็ต้องเลือกสถานที่ๆจะไปให้ตรงตามที่จัด

สำหรับการแข่งขันทั้งสามรอบของโตเกียวนั้น จะแข่งที่เดียวกันทั้งหมดคือที่ Ryogoku Kokugikan

การแข่งขันที่โอซาก้าจัดขึ้นที่ Osaka Prefectural Gymnasium (Edion Arena Osaka)

การแข่งขันที่นาโกย่าจัดขึ้นที่ Aichi Prefectural Gymnasium

การแข่งขันที่ฟุกุโอกะจัดขึ้นที่ Fukuoka Kokusai Center

สนามซูโม่ของโอซาก้า Osaka Prefectural Gymnasium (Edion Arena Osaka)

สนามซูโม่ของโอซาก้า Osaka Prefectural Gymnasium (Edion Arena Osaka)

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Osaka_Prefectural_Gymnasium.JPG

สถานที่จัดการแข่งเดือน 3 ที่โอซาก้า

สนามแข่งซูโม่ที่นาโกย่า Aichi Prefectural Gymnasium

สนามแข่งซูโม่ที่นาโกย่า Aichi Prefectural Gymnasium

https://ja.wikipedia.org/wiki/%E3%83%95%E3%82%A1%E3%82%A4%E3%83%AB:Aichi_Prefectural_Gymnasium.JPG

สภานที่จัดการแข่งซูโม่เดือน 7 ที่นาโกย่า

สถานที่แข่งซูโม่ที่ฟุกุโอกะ Fukuoka International Center

สถานที่แข่งซูโม่ที่ฟุกุโอกะ Fukuoka International Center

https://ja.wikipedia.org/wiki/%E7%A6%8F%E5%B2%A1%E5%9B%BD%E9%9A%9B%E3%82%BB%E3%83%B3%E3%82%BF%E3%83%BC

สถานที่จัดการแข่งเดือน 11 ที่ฟุกุโอกะ

สนามซูโม่ของโตเกียว Ryogoku Kokugikan

สนามซูโม่ของโตเกียว Ryogoku Kokugikan

สถานที่จัดการแข่งเดือน 1, 5, 9 ที่โตเกียว

สนามแข่งซูโม่เรียวโกคุเป็นสถานที่แข่งซูโม่ที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในวงการซูโม่ญี่ปุ่น ทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์และความน่าสนใจของตัวสถานที่เอง รวมถึงสิ่งต่างๆที่มีให้ทำมากมายนอกจากการดูซูโม่

นอกจากจะเป็นสนามที่มีการแข่งขันบ่อยที่สุดแล้ว ยังเป็นเหมือนกับดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าคนรักซูโม่อีกด้วย เพราะประวัติศาสตร์ต่างๆเกี่ยวกับซูโม่ก็มักจะผูกอย่กับที่แห่งนี้ นอกจากนี้ รอบๆก็ยังเป็นที่รวมค่ายนักซูโม่ที่เยอะที่สุดในญี่ปุ่น ห้างร้านต่างๆมากมายที่ขายอาหารเพื่อนักซูโม่ ร้านที่ขายขนมของฝากเกี่ยวกับซูโม่ และถนนสายประวัติศาสตร์ สวนที่ระลึก หรือรูปปั้นต่างๆเกี่ยวกับฮีโร่นักซูโม่ในอดีตอีกหลายแห่ง

สนามแข่งซูโม่ Ryogoku Kokugikan สามารถเดินทางไปได้โดยรถไฟสาย JR Chuo-Sobu Line หรือรถไฟใต้ดินสาย Toei Oedo Line ไปลงที่สถานี Ryogoku จากสถานีเดินไปจนถึงสนามไม่ไกล และถ้าเป็นวันที่มีแข่งจะมีกิจกรรมต่างๆให้ดูมากมาย เช่นตลาดนัดเล็กๆริมถนนที่มีเอกลักษณ์ตรงธงสีสันหลากหลาย มีของกินของฝากเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับซูโม่ให้เลือกซื้อมากมาย และตามทางเดินริมถนนก็มักจะมีคนจำนวนมากมายืนรอดูนักซูโม่ เหมือนกับสื่อบันเทิงมายืนรอดูดาราเดินพรมแดงที่งานแจกรางวัลลูกโลกทองคำยังไงยังงั้น ถือว่าเป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้ถ้าไม่มาที่สนามแห่งนี้ด้วยตัวเองซักครั้ง

บรรยากาศของเหล่าผู้คนที่มารอชมนักซูโม่ไอดอลของตัวเองหน้าสนาม Ryogoku Kokugikan

รูปปั้นของนักซูโม่ แลนด์มาร์กสวยๆที่หาชมได้ทั่วไปรอบบริเวณสถานี Ryogoku

ตารางการแข่งซูโม่ในแต่ละวัน

หลังจากเลือกได้แล้วว่าจะไปดูซูโม่ที่เมืองไหน รอบเดือนใด ต่อไปเราจะมาทำความคุ้นเคยกับตารางเวลาของการแข่งขันซูโม่ในแต่ละวัน

08:00 เปิดให้เข้าสู่สนามได้
08:25 การแข่งซูโม่เปิดสนามของนักซูโม่ที่ยังไม่มีระดับ หรือ Banzukegai
08:35 การแข่งซูโม่ของระดับล่าง โดยไล่ตั้งแต่ Jonokuchi ขึ้นไปถึง Junidan, Sandanme, Makushita
12:50 พิธีเปิดตัวนักซูโม่ใหม่ที่ได้เลื่อนขึ้นสู่ระดับ Jonokuchi
14:15 พิธีเข้าสู่สนามของนักซูโม่ระดับ Juryo
14:35 การแข่งซูโม่ของระดับ Juryo
15:40 พิธีเข้าสู่สนามของนักซูโม่ระดับ Makuuchi
15:55 พิธีเข้าสู่สนามของ Yokozuna หรือนักซูโม่ที่แข็งแกร่งที่สุดในปัจจุบัน (แน่นอนว่าจัดอยู่ในระดับ Makuuchi)
16:10 การแข่งซูโม่ของระดับ Makuuchi
17:55 พิธีปิดด้วยการรำคันธนู Yumitorishiki

นอกจากนี้แล้วในวันสุดท้าย (วันที่ 15) ของแต่ละรอบการแข่งก็จะมีพิธีมอบรางวัลให้ผู้ชนะเลิศอีกด้วย

ไปดูซูโม่กี่โมงดี

ไปดูซูโม่กี่โมงดี

อธิบายอย่างสั้นๆและจำง่ายที่สุดก็คือ เช้าคนน้อย บ่ายคนเยอะ ถ้าอยากเดินรอบๆสนามเพื่อถ่ายรูป ให้รีบไปเช้าๆ แต่ถ้าอยากเชียร์นักซูโม่เก่งๆ ดังๆ ระดับสูงๆ ให้ไปตอนบ่าย

ตั๋วซูโม่หนึ่งใบนั้นสำหรับหนึ่งวัน เมื่อเราซื้อแล้วสามารถอยู่ในสนามได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น และการแข่งขันในหนึ่งวันของซูโม่นั้นจะมีจัดแข่งทุกระดับ พูดง่ายๆคือนักซูโม่แทบทุกคนจะมีตารางต้องลงแข่งยกเว้นคนที่ได้พัก โดยไล่จากระดับล่างสุดในตอนเช้า ไปจบที่ระดับสูงสุดในเวลาประมาณหกโมงเย็น

ถ้าใครไปดูตั้งแต่เช้าจะพบว่านักซูโม่ที่แข่งอยู่เป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าบางคนตัวยังไม่ใหญ่ด้วย เพราะว่าตอนเช้าเป็นเวลาของนักซูโม่หน้าใหม่นั่นเอง และสนามแข่งก็จะยังเต็มไปด้วยเก้าอี้ที่ว่างเพราะคนส่วนใหญ่มักเลือกจะเริ่มมาชมรอบบ่ายๆ ที่นักซูโม่ดังๆเริ่มลงแข่ง

ในภาพด้านบนถ่ายตั้งแต่เช้าประมาณ 9-10 โมง จะเห็นว่าแม้แต่ที่นั่งสีเขียวใกล้ขอบสนาม ซึ่งเป็นที่นั่งที่ดีและแพงที่สุดที่แฟนพันธ์แท้จะจองกันจนเต็มเสมอ (เรียกว่า ทามาริเซกิ) ก็ยังไม่มีคนมานั่งดู เพราะว่ารอบเช้าๆนั้นยังไม่น่าสนใจเท่ารอบบ่ายนั่นเอง

มารยาทระหว่างชมซูโม่

มารยาทระหว่างชมซูโม่

มารยาทไม่ยาก หลักๆคือเหมือนกับการไปคอนเสิร์ตหรือการชมกีฬาอื่นๆนั่นเอง แต่จะเพิ่มเติมความเข้มงวดขึ้นมาในเรื่องของที่นั่งและการไม่รบกวนผู้อื่น

1. สำหรับผู้คนในทุกที่นั่ง สามารถกินดื่มได้ตามปกติหากรักษาความสะอาดและไม่รบกวนที่นั่งข้างๆ

2. ไม่ควรยืนขึ้นระหว่างการแข่งเพราะจะบังคนที่อยู่ข้างหลัง

3. สำหรับที่นั่งชั้นดีที่สุดที่เรียกว่า ทามาริเซกิ (Ringside) เป็นที่นั่งที่ใกล้กับเวทีที่สุดและเป็นที่นั่งแบบนั่งพื้นทั้งหมด หากจะจองที่นั่งตรงนี้ต้องระวังเรื่องมารยาทของตนเองมากเป็นพิเศษด้วย แม้จะแพงกว่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสบายกว่า อะไรๆก็อาจจะลำบากกว่าเดิมได้ก่อนจองจึงต้องระวัง
สิ่งที่ลำบากกว่าที่นั่งราคาถูกก็อย่างเช่น ห้ามกินอาหาร เข้าออกยากมาก ต้องถอดรองเท้า และการนั่งขัดสมาธิยาวๆก็อาจจะเมื่อยสำหรับคนที่ไม่ชิน เป็นต้น ส่วนใหญ่คนที่นั่งตรงนี้จึงเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้น และเราไม่แนะนำสำหรับมือใหม่

4. ผู้นั่งทามาริเซกิแถวหน้าสุด ต้องระวังนักซูโม่ที่ตกลงจากเวทีมาด้วยตัวเอง (แต่ปกติกรรมการซึ่งนั่งอยู่ข้างหน้า จะเป็นอดีตนักซูโม่และตัวใหญ่เหมือนกัน จะคอยป้องกันให้)

วัฒนธรรมที่จะได้เห็นในลานซูโม่

วัฒนธรรมที่จะได้เห็นในลานซูโม่

นอกจากจะได้ดูการแข่งขัน ได้รู้ว่าใครแพ้ ใครชนะแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการไปดูซูโม่ก็คือ การสัมผัสกับประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการซูโม่ ไม่ว่าจะเป็นพิธีการเข้าสู่สังเวียน การเรียกชื่อและการประกาศผลแพ้ชนะของผู้ประกาศ ชุดที่นักซูโม่แต่ละระดับใส่และทรงผมของนักซูโม่แต่ละระดับ ชุดของกรรมการ พิธีคั่นระหว่างการแข่งขันแต่ละระดับ พิธีกรรมของนักซูโม่ระดับสูงๆหลังจากขึ้นสู่สังเวียนและก่อนที่จะประลองกัน เป็นต้น

อย่างในภาพคือการสาดเกลือเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ซึ่งเป็นพิธีที่เราจะเห็นนักซูโม่ระดับสูงๆหลายคนทำก่อนการเข้าสู่สังเวียน

หากเลือกที่จะไปชมซูโม่แล้วละก็ เราอยากแนะนำให้สนุกไปกับทุกๆอย่างในหนึ่งวัน ตั้งแต่การแข่ง ผลตัดสินแพ้ชนะ ดื่มด่ำกับบรรยากาศอันคึกคัก และหาโอกาสเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆไปในตัวด้วย

การซื้อตั๋วซูโม่

การซื้อล่วงหน้าทางเว็บไซต์น่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เพราะไม่ต้องไปลุ้นหน้างานว่าจะมีที่นั่งว่างเหลือหรือไม่
http://sumo.pia.jp/en/

แต่นอกจากการซื้อจากบนหน้าเว็บไซต์แล้ว ก็ยังมีอีกวิธีคือการไปซื้อที่ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเราไม่แนะนำวิธีนี้เท่าไหร่ เพราะต้องทำหลังจากมาถึงญี่ปุ่นแล้ว คงไม่สามารถจองล่วงหน้าเป็นเดือนๆได้ ที่สำคัญขั้นตอนก็ไม่ถือว่าง่ายซะทีเดียวสำหรับคนทำครั้งแรกหรือคนที่ไม่อ่านภาษาญี่ปุ่น ค่อยๆทำที่บ้านด้วยเว็บจองออนไลน์น่าจะสะดวกกว่า

หากต้องการซื้อตั๋วซูโม่หน้างานสามารถทำตามวิธีนี้ได้เช่นกัน ถึงแม้จะง่ายเพียงแค่เดินไปที่บูทขายตั๋ว แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะมีตั๋วเหลือในวันที่ต้องการ จึงไม่ขอแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว

ขอให้ทุกคนสนุกกับการดูซูโม่นะครับ

ผู้เขียน: รัชวุฒิ เชิดชูวานิช
บรรณาธิการ All About Japan ภาษาไทย เขียนบทความเองบ้างตามสมควร แต่ถนัดขอให้คนอื่นเขียนมากกว่า จุดเด่นคือมีเข็มขัดแค่เส้นเดียวที่ใช้มาตั้งแต่มหาลัยปี1

Japan Travel Editor

เรารวบรวมไอเดียเที่ยวญี่ปุ่นอันหลากหลายมาให้คุณ ตั้งแต่ถนนใหญ่สายช้อปปิ้งในเมืองโตเกียว วัดและศาลเจ้าโบราณสุดขลัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งดอกซากุระสีชมพู ใบไม้แดง วิวหิมะขาวๆ ทีมงานของเราจะนำข้อมูลดีๆมาให้คุณ