รู้รอบภูมิศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลภาพรวมประชากร
ญี่ปุ่นมีประชากร 126,672,000 คน (ปี 2016) ประชากรส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตเมืองบนชายฝั่งโดยเฉพาะเมืองใหญ่ โดยมีชาวญี่ปุ่นเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในเขตที่เรียกได้ว่าเป็นชนบทอย่างสมบูรณ์แบบ โดยแบ่งเป็นอัตราส่วนตามพื้นที่เกาะหลักทั้ง 5 ได้ดังนี้
เกาะฮอนชู 81%
เกาะคิวชู 10%
เกาะฮอกไกโด 4.2%
เกาะชิโกกุ 1.1%
และเกาะโอกินาวา 0.7%
จังหวัดที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ
อันดับ 1 โตเกียว 13,515,271 คน
อันดับ 2 คานากาวา 9,126,214 คน
อันดับ 3 โอซาก้า 8,839,469 คน
ทั้ง 3 จังหวัดนี้คือเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกๆด้านของญี่ปุ่น ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและ 3 เมืองนี้ก็เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า รวมทั้งอุตสหากรรมขนาดใหญ่ด้วย
ส่วนจังหวัดที่มีประชากรอาศัยอยู่น้อยที่สุด 3 อันดับ คือ
จังหวัดทตโตริ 573,441 คน
จังหวัดชิมาเนะ 694,352 คน
จังหวัดโคจิ 728,276 คน
สาเหตุหลักๆของการย้ายถิ่นฐานจากเมืองเล็กไปเมืองใหญ่ก็คล้ายกับเมืองไทย นั่นคือเรื่องของการย้ายถิ่นเพื่อทำงาน การประกอบอาชีพในเมืองใหญ่ของประชากรวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน ทำให้มีเมืองเล็กๆในชนบทหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนประชากร โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีเด็กนักเรียน และประชากรกลุ่มผู้สูงอายุก็มีเพิ่มมากขึ้น เช่น ตามเมืองเล็กๆในจังหวัดชิมาเนะ
ข้อมูลภาพรวมด้านเกษตรกรรม
ในประเทศญี่ปุ่นมีการทำเกษตรกรรมเป็นพื้นที่ 12.64 % ของทั้งประเทศ แต่มีคนที่เป็นแรงงานด้านเกษตรกรรมเพียง 7.5% เท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเกษตรของญี่ปุ่นก็มีประสิทธิภาพมาก มีผลผลิตทางการเกษตรต่อพื้นที่สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลก โดย 40 % ของพื้นที่การเกษตรเป็นพื้นที่ทำนาข้าว นอกจากนั้นก็เป็นผลไม้ เนื้อสัตว์ ผัก ชา มันฝรั่ง นมและผลิตภัณฑ์จากนมเช่นชีส
หน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเกษตรไม่น้อยไปกว่าภาคอุตสาหกรรมและได้บังคับใช้กฎหมาย Basic Law on Food, Agriculture and Rural Areas 1999-2004 เป็นแนวทางพัฒนาทางการเกษตรของชาติ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเน้นทางด้านเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดช่องว่างรายได้ภาคเกษตรกับภาคอื่นๆ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเกษตรในพื้นที่ชนบทให้ยั่งยืนด้วยสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร
โดยพื้นฐานแล้วเกษตรกรจะมีที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเอง ดังนั้นสาธารณูปโภคพื้นฐานก็ได้รับการดูแลอย่างดีและมีครบครันในหมู่บ้านเกษตรกรรม เช่น ระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศก็จะมีหลากหลายตามลักษณะภูมิประเทศ เช่น ฮอกไกโดจะเพาะปลูกมันฝรั่งบนพื้นราบขนาดใหญ่ จังหวัดอาโอโมริในภูมิภาคโทโฮคุ เป็นแหล่งเพาะปลูกแอปเปิ้ล , เมืองอซุมิโนะ ในจังหวัดนากาโนะ เป็นแหล่งเพาะปลูกวาซาบิ, จังหวัดนีงาตะ เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวพันธุ์ดี เป็นต้น
ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม
การคมนาคมขนส่งในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีระบบการขนส่งสาธารณะที่ได้รับการยอมรับว่ามีความทันสมัย สะดวกสบายและตรงต่อเวลาเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยเฉพาะรถไฟที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น สถานีที่มีคนขึ้นใช้บริการเยอะที่สุดในญี่ปุ่นและในโลกคือสถานีชินจูกุ มีคนมาเดินทางด้วยรถไฟมากกว่า 3.5 ล้านคน/วัน
ญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการรถไฟหลายแห่งทั้งของรัฐบาลและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดินหรือบนดิน เช่นแจแปนเรลเวย์ (JR) กลุ่มบริษัทรถไฟฮังคิว รถไฟเซบุ รถไฟคินเท็ตสึ และบริษัทเคโอ เป็นต้น ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงเมืองหลักเกือบทั่วประเทศ รถไฟของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในเรื่องความตรงต่อเวลา รถไฟที่เร็วที่สุดในประเทศญี่ปุ่นชื่อว่ารถไฟชินคันเซ็น สามารถทำความเร็วได้เกิน 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ระบบการคมนาคมทางอากาศที่ญี่ปุ่นก็มีท่าอากาศยานทั้งหมด 97 แห่ง โดยมีท่าอากาศยานหลักคือท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ (โตเกียว), ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ (โอซาก้า), ท่าอากาศยานนานาชาติชูบุเซ็นแทรร์ (นาโกย่า) สำหรับสนามบินที่ใช้ภายในประเทศก็มีทั้งท่าอากาศยานภูมิภาคและ ท่าอากาศยานท้องถิ่น เช่น ท่าอากาศยานมัตสึยามะในจังหวัดเอฮิเมะ มีสายการบินหลักของประเทศคือ สายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ (ANA) และเจแปนแอร์ไลน์ (JAL)
และในส่วนของระบบการคมนาคมทางทะเล ในประเทศญี่ปุ่นก็มีท่าเรือที่เชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์ ทั้งหมด 21 ท่าเรือที่สำคัญทั่วประเทศ เช่นท่าเรือฟุชิกิในจังหวัดโทยามา ท่าเรือฮิโรชิมา ท่าเรือโอซาก้า ท่าเรือเซ็นได ท่าเรือโตเกียว และท่าเรือโยโกฮามาเป็นต้น
ภัยธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีสาเหตุจาก ธรณีภัยพิบัติ (Geological hazards) เนื่องจากญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับอยู่จำนวนมากทั่วประเทศและที่ตั้งของประเทศบนรอยเลื่อนที่เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก จึงทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรณีอย่างแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ ทั้งแบบภัยพิบัติเล็กๆที่รับมือได้ไปจนถึงภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบเสียหายเป็นวงกว้างหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้การให้ความรู้เรื่องการป้องกันและปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับรัฐบาลและประชาชนผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่น
พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่จะมีสัญญาณไซเรนเตือนภัยที่จะดังเตือนหากมีความเสี่ยงที่จะเกิดสึนามิเมื่อได้ยินเสียงไซเรนแล้วต้องรีบอพยพออกห่างจากฝั่งทะเลและหนีขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุด
ส่วนแผ่นดินไหวนั้นจะมีแผ่นดินไหวเล็กๆที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่แผ่นดินไหวใหญ่แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ก็มีการเตรียมรับมืออยู่ตลอดเวลาเช่น มาตรฐานสิ่งปลูกสร้างต้านทานแผ่นดินไหวที่กำหนดใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ 1981 ซึ่งอาคารบ้านเรือนใดๆ ก็ตาม ต้องได้รับการออกแบบและสร้างเพื่อให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระดับที่กำหนดไว้ได้โดยไม่พังถล่มลงมา เป็นต้น
ผู้เขียน: หนึ่ง
นักอ่านและนักเขียนที่ชอบการเดินทางไปในที่ต่างๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่น รักการดูอนิเมะญี่ปุ่นเป็นชีวิตจิตใจ :)