คันโต คันไซ ฮอกไกโด คิวชู ไปไหนดี?
ข้อมูลพื้นฐาน
คันโต(Kanto)
ภูมิภาคคันโต (Kanto) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะฮอนชูประกอบด้วย 8 จังหวัดคือโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น (Tokyo Metropolitan), อิบารากิ (Ibaraki), โทชิงิ (Tochigi), กุนมะ (Gumma), ชิบะ (Chiba), ไซตามะ (Saitama), คานากาวา (Kanagawa) และยามานาชิ (Yamanashi)
จุดเด่น : เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงคือกรุงโตเกียว ศูนย์กลางความเจริญของประเทศ และมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกจากความทันสมัยแล้วก็มีสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมอย่างวัดและศาลเจ้าหลายแห่ง และที่สำคัญอีกอย่างคือสามารถชมวิวภูเขาไฟฟูจิได้อย่างใกล้ชิดในพื้นที่จังหวัดยามานาชิ
คันไซ (Kansai)
หรืออีกชื่อหนึ่งว่าภูมิภาคคินกิ (Kinki) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะฮอนชู ประกอบด้วย 6 จังหวัดคือ โอซาก้า(Osaka), นารา (Nara), เกียวโต (Kyoto), ชิงะ(Shiga), วากายามา (Wakayama) และเฮียวโงะ (Hyogo)
จุดเด่น : เป็นภูมิภาคที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามายาวนาน โดยมีเมืองหลวงเก่าในอดีตตั้งอยู่ถึงสองแห่งคือเกียวโตและนารา อีกทั้งยังเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญที่เป็นมรดกโลกหลายแห่งด้วย เช่น อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์นาราโบราณ และกลุ่มอาคารในเกียวโตอีกจำนวนมากที่ได้รับการบันทึกเป็นมรดกโลก
ฮอกไกโด(Hokkaido)
ภูมิภาคฮอกไกโด (Hokkaido) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดโดยเป็นทั้งชื่อภูมิภาคและจังหวัดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากเกาะฮอนชู ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ที่มีเกาะฮอกไกโดเป็นศูนย์กลางและมีซัปโปโร (Sapporo) เป็นเมืองเอก
จุดเด่น : เป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ ประชากรเบาบาง มีอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาวแต่ในฤดูร้อนเย็นสบายกว่าที่อื่น มีสถานที่ท่องเที่ยวในฤดูหนาวเป็นที่รู้จักหลายแห่ง รวมทั้งเทศกาลหิมะที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี นอกจากนี้ยังมีธรรมชาติที่สวยงามและทุ่งดอกไม้หลากสีสัน เช่นทุ่งดอกลาเวนเดอร์ ทุ่งดอกพิงค์มอสเป็นต้น
คิวชู (Kyushu)
ภูมิภาคคิวชู (Kyushu) เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ประกอบด้วย 7 จังหวัดคือ ฟุกุโอกะ (Fukuoka), ซากะ (Saga), นางาซากิ (Nagasaki), คุมาโมโตะ (Kumamoto), โออิตะ (Oita), มิยาซากิ (Miyazaki) และจังหวัดคาโกชิมะ (Kagoshima)
จุดเด่น : ภูมิภาคนี้มีสภาพภูมิประเทศแบบสูงต่ำสลับกัน มีทะเลและภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ อากาศค่อนข้างอบอุ่น และเต็มไปด้วยแหล่งน้ำพุร้อนหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ เช่น ออนเซนทรายร้อน (sand bath)ในคาโกชิมะ รวมทั้งอาหารพื้นเมืองน่าลิ้มลองหลายชนิด
ฤดูท่องเที่ยวที่โดดเด่นของแต่ละภูมิภาค
แน่นอนว่า "ภูมิภาค" นั้นเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมหลายจังหวัด หากมองหาดูจะมีที่เที่ยวที่เหมาะกับทั้งสี่ฤดูแน่นอน แต่เราลองอ้างอิงจากความนิยม และช่วงไฮซีซั่น-โลว์ซีซั่นของแต่ละพื้นที่เพื่อสรุปคร่าวๆ ว่าเมื่อไหร่ควรไปที่ไหน
คันโต (Kanto)
ฤดูท่องเที่ยวที่น่าสนใจในภูมิภาคนี้คือช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูชมดอกซากุระบานที่มีจุดชมดอกซากุระที่สวยงามและมีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น สวนชินจูกุเกียวเอน (Shinjuku Gyoen) ในโตเกียว, สวนริมแม่น้ำโอคากาวะ (Ookagawa river)ในเมืองโยโกฮามา, ทะเลสาบคาวากูชิโกะ(Kawaguchiko) พร้อมกับชมวิวภูเขาไฟฟูจิ แต่ในฤดูหนาวจะไม่น่าสนใจเท่าภาคอื่นเพราะมีหิมะตกน้อย
คันไซ (Kansai)
ภูมิภาคคันไซถือได้ว่าเป็นสถานที่ชมใบไม้แดงหรือใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วงที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของประเทศหลายแห่งโดยเฉพาะในจังหวัดเกียวโต เช่น อาราชิยามา (Arashiyama), วัดโทฟุคุจิ (Tofukuji) รวมทั้งในจังหวัดอื่นก็สวยงามไม่แพ้กัน เช่น ภูเขาโคยะซัง (Koyasan) ในจังหวัดวากายามา, สวนสาธารณะรอบปราสาทโอซาก้า เป็นต้น และแน่นอนว่าก็สามารถหาสถานที่สวยงามในฤดูอื่นๆได้เช่นกัน เช่นฤดูใบไม้ผลิก็มีที่ชมซากุระได้อยู่มากมาย
ฮอกไกโด (Hokkaido)
ฮอกไกโดเป็นภูมิภาคใหญ่ที่มีอากาศดีตลอดปี สามารถไปเที่ยวได้ทุกฤดู โดยเฉพาะฤดูร้อนที่อากาศจะเย็นกว่าภาคอื่น เหมาะกับการขับรถท่องเที่ยว แต่อีกฤดูที่โดดเด่นที่สุดก็คือฤดูหนาว ที่มีหิมะตกเยอะมหาศาล มีวิวสีขาวสุดอลังการ มีทั้งลานสกีและกิจกรรมที่จัดขึ้นเฉพาะหน้าหนาวในฮอกไกโดอย่างเช่นการล่องเรือตัดน้ำแข็ง ที่สำคัญคือมีเทศกาลหิมะที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีอย่างเทศกาลหิมะซัปโปโร (Sapporo Snow Festival), เทศกาลหิมะเมืองโอตารุ (Otaru Snow Light Path Festival) ส่วนฤดูที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมคือฤดูใบไม้ร่วง เพราะว่าภาพลักษณ์ของฮอกไกโดถูกผูกติดอยู่กับหิมะ ทำให้คนเลือกที่จะรอไปช่วงที่มีหิมะตกเลย (แต่แน่นอนว่าถ้าอยากชมใบไม้แดงก็มี)
คิวชู (Kyushu)
ที่ภูมิภาคคิวชูก็เหมาะกับการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีเช่นกัน ซึ่งในแต่ละฤดูก็จะมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือช่วงฤดูร้อนเดือนสิงหาคมของทุกปีที่มีการจัดงานเทศกาลดอกไม้ไฟสุดยิ่งใหญ่อลังการหลายงาน เช่น งานเทศกาลดอกไม้ไฟที่แม่น้ำชิคุโกะ (Chikugo river) ในฟุกุโอกะ, งานเทศกาลดอกไม้ไฟริมอ่าวคินโกะ ในคาโกชิมะ (Kagoshima Kinko Bay Summer Night) เป็นต้น แต่จะไม่ค่อยมีหิมะตกหนัก ทำให้ช่วงฤดุหนาวเป็นโลว์ซีซั่นของคิวชู
การเดินทางในแต่ละภูมิภาค
คันโต(Kanto)
สนามบินหลักของภูมิภาคนี้คือสนามบินนาริตะ (Narita Intl.) และสนามบินฮาเนดะ (Haneda Intl.)
ในส่วนของการเดินทางในภูมิภาคนั้นก็มีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเฉพาะเมืองใหญ่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่นรถไฟเจอาร์ ( JR East), รถไฟใต้ดินในโตเกียว (Tokyo Metro), รถบัสประจำทางสาธารณะมากมาย ซึ่งมีตั๋วหรือพาสต่างๆสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะเช่น JR TOKYO Wide Pass ที่เหมาะกับการเดินทางท่องเที่ยวในโตเกียวและพื้นที่รอบๆ เช่นฟูจิ นิกโก้ ชิบะ ไซตามะ กุนมะ ถือว่าเป็นภูมิภาคที่สะดวก แต่เนื่องจากมีรถไฟหลากหลายสายจึงอาจจะเข้าใจยากไปบ้าง
คันไซ (Kansai)
สนามบินหลักของภูมิภาคนี้คือสนามบินคันไซ (Kansai Intl.)
คล้ายๆกับภูมิภาคคันโต คันไซมีศูนย์กลางเป็นเมืองใหญ่อย่างโอซาก้าที่มีรถไฟมากมาย แต่หากออกจากโอซาก้าไปแล้ว ก็จะพบว่าภาพรวมยังมีหลายพื้นที่ๆรถไฟยังครอบคลุมไม่เท่าคันโต การเดินทางภายในภูมิภาคก็มีทั้งพาสรถไฟเจอาร์ (JR West) และพาสของรถไฟเอกชนอีกหลายบริษัทให้เลือกตามแผนการเดินทางที่ครอบคลุมทุกพื้นที่เช่น Kintetsu Rail Pass, Kansai Thru Pass ตลอดจนรถบัสที่วิ่งให้บริการทั่วทุกพื้นที่ทั้งในเมืองและท้องถิ่นด้วย
ฮอกไกโด (Hokkaido)
สนามบินหลักของภูมิภาคนี้คือสนามบินนิวชิโตเสะ (New Chitose Intl.)
การเดินทางในฮอกไกโดก็จะมีบริการหลักๆคือ รถไฟเจอาร์ (JR Hokkaido) และรถบัสประจำทาง รถไฟใต้ดินมีแค่ในซัปโปโร ครอบคลุมพื้นที่เล็กๆเท่านั้น แต่บางพื้นที่ระบบขนส่งสาธารณะอาจจะไม่ครอบคลุมเพราะหลายส่วนเป็นธรรมชาติและป่าเขาที่กว้างใหญ่ไพศาล ต้องใช้การเช่ารถยนต์ขับเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการเดินทางอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากในภูมิภาคนี้
คิวชู (Kyushu)
สนามบินหลักของภูมิภาคนี้คือสนามบินฟุกุโอกะ (Fukuoka Intl.)
การเดินทางในภูมิภาคคิวชูก็จะมีพาสรถไฟเจอาร์ที่แบ่งเป็น 3 รูปแบบหลักๆคือ JR Northern Kyushu Area สำหรับเดินทางในคิวชูเหนือ, JR Southern Kyushu Area สำหรับเดินทางในคิวชูทางใต้ และ JR All Kyushu Area ที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาค นอกจากนี้จุดเด่นที่น่าสนใจของรถไฟในคิวชูก็คือขบวนรถไฟท่องเที่ยวต่างๆมากมาย เช่นรถไฟอะโสะบอย (Aso Boy), รถไฟยุฟุอิน โนะ โมริ (Yufuin no Mori) เป็นต้น
อาหารท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค
คันโต (Kanto)
มีอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงที่น่าสนใจอย่างหลากหลายในภูมิภาคนี้ เช่น เส้นโฮโต (Hoto Noodles) อาหารประเภทเส้นลักษณะคล้ายอุด้งแต่เส้นแบนของจังหวัดยามานาชิ, หม้อไฟอังโคะนาเบะ (Ankou Nabe) ของจังหวัดอิบารากิ, ขนมยาคิมันจู (Yaki Manju) ของจังหวัดกุนมะ เป็นต้น
คันไซ (Kansai)
เมื่อนึกถึงอาหารขึ้นชื่อของคันไซเชื่อว่าหลายๆคนต้องนึกถึง ทาโกยากิ (Takoyaki) อาหารขึ้นชื่อของโอซาก้าเป็นอันดับแรกๆ แน่นอน ซึ่งนอกจากทาโกะยากิแล้วก็ยังมีเมนูอื่นๆที่น่าลิ้มลองไม่แพ้กัน เช่น โอโคโนมิยากิ (Okanomiyaki) สูตรเฉพาะของคันไซ, เนื้อโกเบ (Kobe Beef) ของเมืองโกเบ ที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก
ฮอกไกโด (Hokkaido)
สำหรับภูมิภาคนี้ก็ขึ้นชื่อเรื่องของอาหารทะเลสดๆ โดยเฉพาะปูขน (Hairy Crab),ปูทาราบะ (King Crab) แล้วก็ยังมีเมนูท้องถิ่นที่น่าสนใจ เช่น ไคเซนด้ง (Kaisen-don)คือการนำเอาอาหารทะเลสดๆ มาโปะลงบนชามข้าวสวยซึ่งสามารถเลือกวัตถุดิบได้ตามความชอบและเนื้อย่างเจงกิสข่าน เมนูอาหารที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจิตวิญญาณของชาวฮอกไกโดเลยทีเดียว
คิวชู (Kyushu)
อาหารท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อในคิวชูก็มีหลากหลายเมนูซึ่งหากมีโอกาสไปเที่ยวพื้นที่นี้ก็ไม่ควรพลาดลิ้มลองอาหารเหล่านี้ เช่น ฮาคาตะราเมน (Hakata Ramen) สุดยอดราเมนในฟุกุโอกะที่ได้รับความนิยมระดับต้นๆของประเทศ, ปลาหมึกโยบุโกที่มีกระดองตัวใส (Yobuko Squid) ของจังหวัดซากะ, อิคินาริ ดังโงะ (Ikinari Dango) ขนมปังทำจากแป้งมันเทศนึ่งข้างในเป็นไส้ถั่วแดง ของจังหวัดคุมาโมโตะ