All About Japan

รู้จักศิลปะการป้องกันตัวแบบญี่ปุ่น

ศิลปะการต่อสู้

ศิลปะการป้องกันตัวของญี่ปุ่นหลายชนิดเป็นทั้งกีฬาและศิลปะที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย บางชนิดก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเช่น คาราเต้, เคนโด้, ยูโด ซึ่งการเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเป็นการฝึกความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ในหัวข้อนี้จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะการป้องกันตัวที่น่าสนใจที่ความเป็นมาและเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นกีฬาป้องกันตัวที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกดังต่อไปนี้

คาราเต้ (Karate)

คาราเต้ (Karate)

https://www.flickr.com/photos/13926043@N07/7667682346

คาราเต้ หรือคาราเต้โด เป็นศิลปะการป้องกันตัวประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นซึ่งปรากฏขึ้นครั้งแรกโดยชาวริวกิวหรือจังหวัดโอกินาวาในปัจจุบัน โดยมีที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่เนื่องจากยุคนั้นเกาะโอกินาวากับจีนมีการติดต่อค้าขายกันอยู่ตลอด วัฒนธรรมหลายๆอย่างในโอกินาวาจึงได้รับอิทธิพลมาจากจีนเป็นส่วนใหญ่รวมทั้งคาราเต้ ที่เริ่มมีการเผยแพร่สู่เกาะโอกินาวาและพื้นที่อื่นๆทั่วญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1921 โดยหลักปรัชญาของคาราเต้ ประกอบด้วย 3K นั่นก็คือ Kihon เป็นท่าพื้นฐาน Kumite เป็นการต่อสู้ และ Kata เป็นการใช้ท่าทางคล้ายเพลงมวย

ภาพลักษณ์ของคาราเต้อาจจะดูรุนแรง โดยเฉพาะภาพการใช้มือฟันอิฐที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ แต่จริงๆแล้วคาราเต้เป็นเรื่องของความสงบและสันติในจิตใจ คือศิลปะรูปแบบหนึ่งที่ต้องใช้ทั้งความคิด จิตใจบวกกับพลังของร่างกาย ทั้งสามอย่างนี้จะต้องฝึกฝนและพัฒนาไปด้วยกัน เอกลักษณ์ของคาราเต้คือการใช้มือและความแข็งแกร่งของกำปั้น สันมือ ข้อศอกในการต่อสู้ โดยปราศจากอาวุธ แต่ใช้การดึงพลังจากร่างกายมารวมให้เป็นหนึ่งในการต่อสู้โจมตี อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญของคาราเต้น่าจะเป็นเรื่องของการต่อสู้กับตนเอง เช่นการฝึกยับยั้งแรงของการโจมตี เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น เรียกว่าเป็นการฝึกเพื่อกำหนดความรุนแรงของการโจมตี เป็นต้น

ปัจจุบันการฝึกคาราเต้มีทั้งในรูปแบบศิลปะป้องกันตัวและกีฬา ซึ่งแต่ละส่วนล้วนแต่มีความสำคัญทั้งการฝึกเพลงมวยคาตะหรือการฝึกต่อสู้คุมิเต้ โดยมีการแบ่งระดับความสามารถด้วยสีของสายโอบิ (Obi) เช่น สีขาว เหลืองเขียว เรียกว่าคิว (Kyu) ส่วนในระดับสายดำซึ่งเป็นความสามารถที่สูงที่สุดจะเรียกว่า ดั้ง (Dan)

เคนโด้ (Kendo)

เคนโด้ (Kendo)

https://www.flickr.com/photos/135210468@N03/34305706412/in/photostream/

เคนโด้ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่ชื่อมีความหมายตรงตัวว่า วิถีแห่งดาบ มีต้นกำเนิดมาจากการใช้ดาบของซามูไรที่สืบทอดกันมายาวนานนับพันปีตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 789 เคนโด้จะใช้ดาบไม้ไผ่ในการฝึกฝนกระบวนท่าการต่อสู้ที่เน้นความรวดเร็ว เด็ดขาดและต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นศิลปะป้องกันตัวแล้ว การฝึกเคนโด้ ก็คือการฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็ง โดยมีแนวคิดเพื่อทำให้ร่างกาย จิตใจ และคมดาบเป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกัน

ในการฝึกเดนโด้จะมีชุดเครื่องแบบและอุปกรณ์ดังต่อไปนี้
・Kendogi หรือชุดเครื่องแบบที่ประกอบด้วยกางเกงฮากามะ (Hakama) เป็นกางกางขายาวมีจีบกว้างด้านในเป็นนวมป้องกันการบาดเจ็บและเสื้อที่เรียกว่า เคโกคิ (Keigoki)
・เสื้อเกราะป้องกันที่เรียกว่าโบกุ (Bogu) มีทั้งหมด 4 ชิ้นสำหรับป้องกันร่างกายไม่ให้ได้รับบาดเจ็บได้แก่ เม็ง (Men) ป้องกันศีรษะ, โด (Do) ป้องกันลำตัว, โคเต (Kote) ป้องกันข้อมือและแขน, ทาเระ (Tare) ป้องกันบริเวณสะโพก
・ชิไน (Shinai) เป็นดาบที่ทำจากไม้ไผ่ 4 ชิ้นมามัดรวมเข้าด้วยกันด้วยเชือกหนัง ใช้สำหรับฝึกฝนหรือฝึกซ้อมแบบทั่วไป
・โบคุโตะ (Bokuto) เป็นดาบไม้ที่ทำมาจากไม้เนื้อแข็งใช้สำหรับฝึกในรูปแบบเป็นทางการ

ปัจจุบันการฝึกเคนโด้ก็มีกฎ-กติกาเหมือนกีฬาป้องกันตัวประเภทหนึ่งสำหรับต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว โดยในการฝึกนั้นปกติจะต้องเริ่มฝึกจากท่ารำคาตะ (Kata) ก่อน จากนั้นจึงค่อยฝึกแบบใส่ชุดเกราะซึ่งเป็นการฝึกต่อสู้ สิ่งสำคัญคือ ผู้ฝึกเล่นเคนโด้ต้องใช้สมาธิสูงมากและมีการตัดสินใจที่รวดเร็ว รอบคอบ แม่นยำ เรียกว่าเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยการชิงไหวชิงพริบบวกกับประสบการณ์ในการฝึกฝนเพื่อความเชี่ยวชาญทั้งในรูปแบบศิลปะป้องกันตัวหรือต่อสู้แบบกีฬา

ไอคิโด (Aikido)

ไอคิโด (Aikido)

https://ja.wikipedia.org/wiki/%E3%83%95%E3%82%A1%E3%82%A4%E3%83%AB:G_Blaize_Kokiu_Nague_2.JPG

ไอคิโด (Aikido) มีความหมายว่า “หนทางแห่งการเป็นหนึ่งเดียวกับพลังชีวิต” เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีแนวคิดในการผสมผสานระหว่างปรัชญา ศาสนา และวิทยายุทธ์ ถูกคิดค้นขึ้นโดยนายอุเอชิบะ โมริเฮ (Ueshiba Morihei) เมื่อราวๆ 100 กว่าปีก่อนในสมัยไทโช (Taisho) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฝึกวิชาสามารถใช้ป้องกันตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธ

จุดเด่นของไอคิโด ก็คือการใช้ทุ่มและควบคุมอย่างรอบคอบ จะไม่รับหรือต้านการจู่โจมจากคู่ต่อสู้โดยตรงแต่จะใช้วิธีการเปลี่ยนทิศทางพลังงานจู่โจมที่พุ่งเข้ามาเพียงเล็กน้อยด้วยการหมุนหรือท่วงท่าอื่นๆที่มีประสิทธิภาพ

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของไอคิโดก็คือ การปฏิเสธการท้าทายที่จะเอาชนะผู้อื่น และไม่สอนให้ทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีการชก เตะ ถีบ แต่จะเน้นการสอนให้ระงับหรือควบคุมความก้าวร้าว ความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามด้วยความเมตตา ไม่ตอบโต้ด้วยพละกำลัง ที่สำคัญคือไม่ต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาทำร้ายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยยึดหลักการ 4 ข้อ ได้แก่

1. นำตัวออกจากทิศทางของการโจมตี
2. โอนอ่อน กลมกลืน ตามแรง และเปลี่ยนทิศทางของการโจมตี
3. ใช้เทคนิคการควบคุมโดยไม่มีเจตนาทำร้าย
4. ยุติความขัดแย้ง ปลดอาวุธ นำกลับเข้าสู่ความสงบดังเดิม

ด้วยปรัชญาที่ว่าทำให้ไอคิโดไม่มีการจัดการแข่งขัน และไม่ได้มีไว้ทำร้ายคู่ต่อสู้ จึงเป็นจุดที่ทำให้ไอคิโดแตกต่างจากศิลปะป้องกันตัวอื่น ๆ ซึ่งการฝึกฝนจะมีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องของการฝึกความแข็งแกร่งของร่างกายกับเทคนิคเฉพาะสำหรับไอคิโด เช่น ท่าทุ่ม เทคนิคในการรุกที่มีทั้งการกระแทกและยึด เทคนิคในการรับอย่างการทุ่มและจับยึด ส่วนความแข็งแกร่งในด้านจิตใจนั้นก็จะเป็นการฝึกควบคุม ผ่อนคลาย ยืดหยุ่นและอดทน พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามอย่างกล้าหาญและเที่ยงตรง

ยิวยิตสู (Jujutsu)

ยิวยิตสู (Jujutsu)

https://www.flickr.com/photos/llorencs/537609827

ยิวยิตสู (Jujutsu) หรือในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า จูจุตสึ มีความหมายว่า ศิลปะของความอ่อน ในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นอีกหนึ่งศิลปะการป้องกันตัวที่มีมานานนับร้อยปีโดยได้รับอิทธิพลมาจากการต่อสู้ของซามูไรในสมัยก่อนและพัฒนามาเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าโดยไม่ใช้อาวุธ

แนวคิดในการต่อสู้แบบยิวยิตสูก็จะใช้พละกำลังและเทคนิคในการการทุ่ม ต่อย เตะ กอดล็อกคู่ต่อสู้ หักแขน ล็อกคอ รวมทั้งท่านอนปล้ำและท่าทำลายฝั่งตรงข้ามที่เป็นเอกลักษณ์ ถือว่าเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่รุนแรงและมีอันตรายมากพอสมควรเมื่อเทียบกับศิลปะป้องกันตัวด้วยมือเปล่าชนิดอื่นๆ เทคนิคการต่อสู้แบบยิวยิตสูถูกนำไปใช้เป็นพื้นฐานการฝึกต่อสู้ด้วยมือเปล่าของหน่วยงานการทหาร เช่น กองทัพสหราชอาณาจักร กองทัพรัสเซีย ส่วนใหญ่เป็นการฝึกที่มุ่งเน้นไปในเรื่องของการทำให้คู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำ โดยในการฝึกซ้อมนั้นจะอยู่ภายใต้ความเชี่ยวชาญของผู้ฝึกสอนและไม่ได้ทำให้คู่ต่อสู้ถึงขั้นเสียชีวิต

ในยุคหลังๆมายิวยิตสูก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ลดอันตรายและความรุนแรงลงมา ทั้งยังได้ถูกพัฒนาเป็นกีฬาอื่นๆอีก อย่างเช่นยูโดซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ที่แตกแขนงมากจากยิวยิตสูนี่เอง

นอกจากนี้ การเผยแพร่ศิลปะป้องกันตัวยิวยิตสูไปทั่วโลกก็ทำให้มีการพัฒนารูปแบบของการต่อสู้ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ยิวยิตสูของญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น บราซิลเลียนยิวยิตสู ที่เน้นการต่อสู้ในท่านอนซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากแบบดั้งเดิม

ปัจจุบัน ยิวยิตสูกลายเป็นกีฬาและศิลปะการต่อสู้ที่สามารถฝึกได้ทุกเพศทุกวัยโดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน ซึ่งการฝึกยิวยิตสูทำให้ร่างกายทุกส่วนได้ออกแรงเผาผลาญไขมัน เสริมสร้างกล้ามเนื้อรวมทั้งพัฒนาสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรง อีกทั้งได้ฝึกฝนจิตใจให้มีสมาธิ มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ภายใต้กฎกติกาและเครื่องป้องกันที่มีความปลอดภัยสูง

ยูโด (Judo)

ยูโด (Judo)

https://ja.m.wikipedia.org/wiki/%E3%83%95%E3%82%A1%E3%82%A4%E3%83%AB:%E8%AC%9B%E9%81%93%E9%A4%A8%E8%AC%9B%E9%81%93%E9%A4%A8%E8%AD%B7%E8%BA%AB%E8%A1%93%E3%83%BB%E5%8F%8C%E6%89%8B%E7%AA%81.JPG

ยูโด (Judo) ศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่นที่มีการพัฒนามาจากศิลปะป้องกันตัวยิวยิตสู โดยคาโน จิโกโระ (Kano Jigoro) มีชื่อเต็มว่า โคโดกังยูโด มีเอกลักษณ์เฉพาะคือการต่อสู้กับคู่ต่อสู้ที่มีอาวุธด้วยมือเปล่าด้วยวิธีโอนอ่อนผ่อนตาม หรือเรียกกันว่า หนทางแห่งความนุ่มนวล (soft way)

จุดเริ่มต้นความเป็นมาของยูโดในประวัติศาสตร์นั้น บุคคลที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดก็คือ คาโน จิโกโระ ที่ได้ค้นพบว่าศิลปะการต่อสู้ยิวยิตสูแบบดั้งเดิมนั้นมีเทคนิคเป็นอันตรายหลายอย่าง เช่น การจิ้มตา การเตะหว่างขา ดึงผม ซึ่งดูโหดร้าย ป่าเถื่อนจนอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามบาดเจ็บสาหัสจากการฝึกได้ ดังนั้นจึงได้เริ่มมีการปรับปรุงแนวคิดในการฝึกซ้อมแบบใหม่ด้วยการยกเลิกเทคนิครุนแรงทั้งหลายออกไปและเน้นการป้องกันตัวเพื่อความปลอดภัยโดยใช้เทคนิคอย่างการล็อคสันหลัง คอ ข้อมือ แล้วเรียกศิลปะการป้องกันตัวนี้ว่า ยูโด

ปัจจุบันยูโดเป็นทั้งศิลปะป้องกันตัวและกีฬาสากลที่มีการผสมผสานเทคนิคการต่อสู้หลายชนิด เช่นการเหวี่ยง 67 ท่า, ท่าทุ่มลง 7 ท่า, ท่าล็อคข้อต่อ 9 ท่า เป็นต้น จุดมุ่งหมายในการฝึกฝนก็เพื่อบริหารร่างกายและจิตใจรวมทั้งสามารถใช่ในการต่อสู้ป้องกันตัวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ โดยมีการกำหนดระดับมาตรฐานความสามารถด้วยสายคาดเอว แบ่งเป็น 2 ระดับใหญ่ๆคือ ระดับคิว (Kyu) เป็นระดับก่อนสายดำซึ่งหมายถึง นักเรียนและระดับดั้ง (Dan) ก็คือระดับผู้นำซึ่งมีความสามารถสูง อีกทั้งมีการแยกระดับความเก่งโดยใช้สีของสายคาดเอวที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศที่มีการเล่นกีฬายูโดด้วย

know-before-you-go