ดูบอลที่ญี่ปุ่นกับ 5 ทีมดังใน J-League
ถ้าพูดถึงกีฬาลูกหนังระดับโลก ก็ต้องนึกถึงลีกฟุตบอลอังกฤษ สเปน อิตาลี แต่ถ้าขยับมาพูดถึงฟุตบอลฝั่งเอเชียใครๆก็ต้องยกให้ J-League เป็นลีกอันดับหนึ่ง เพราะเป็นลีกเอเชียที่มีแฟนบอลทั้งชาวไทยและทั่วโลก วันนี้เราเลยรวมทีมดังในดวงใจในลีคแดนปลาดิบมาให้ทุกคนได้รู้จักกันแบบจัดเต็ม
By Suphatthra1.ทีม Kawasaki Frontale
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับตำแหน่งแชมป์ของตารางเจลีค 2 ปีซ้อน กับทีมตัวแทนจากเมืองคาวาซากิที่ไมไกลตากโตเกียว (จังหวัด Kanagawa) คาวาซากิ ฟรอนทาเล่ เรียกได้ว่าแรงสุดฉุดไม่อยู่จริงๆ (ขอเชียร์ออกนอกหน้าเพราะเป็นทีมในดวงใจของคนเขียนเอง)
ทีมนี้มีสีประจำสโมสรคือฟ้าและดำ ซึ่งเป็นสีเดียวกับสโมสร Gremio ทีมดังในลีคบราซิล เนื่องจากทั้งสองทีมเป็นพันธมิตรกันมาตั้งแต่ปี 1997 จึงไม่ต้องแปลกใจว่าลวดลายการฟาดแข้งจะแซ่บและไวไม่ต่างจากบอลบราซิล แถมยังมีนักเตะดาวเด่นอย่าง กองกลาง Kengo Nakamura และกองหน้า Yu Kobayashi ที่คว้ารางวัลผู้เล่นอันทรงคุณค่าในปี 2016และ 2017 มาอยู่ในทีมด้วย
ที่มาของชื่อทีม Frontale เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า "ข้างหน้า" ซึ่งสื่อถึงจิตวิญญาณของนักบุกเบิกที่พร้อมจะท้าทายและก้าวไปข้างหน้าเสมอ และยังสื่อถึงการพร้อมสู้ศึกอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นอีกด้วย สโมสรนี้ถือปรัชญา "ส่งเสริมวัฒนธรรมกีฬาและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมท้องถิ่น” มีการทำกิจกรรมด้านกีฬาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในท้องถิ่นไปพร้อมกับการมุ่งมั่นฝึกอบรมเยาวชนด้านกีฬาด้วย Kawasaki Frontale มีสนามกีฬา Kawasaki Todoroki Stadium เป็นสนามทีมเหย้า
สนามเหย้า : สนามกีฬา Kawasaki Todoroki Stadium
วิธีการเดินทาง : นั่งรถไฟ JR สาย Nambu ลงที่สถานี Musashi-Nakahara เดินอีก 15 นาที หรือนั่งรถไฟสาย Yokosuka มาลงที่สถานี JR Musashi Kosugi ทางออกฝั่งทิศเหนือ แล้วนั่งรถบัสที่ชานชาลาหมายเลข 2 ไปลงที่หน้าสนามกีฬาได้เลย (มีเฉพาะในวันที่มีการแข่งขัน)
2.ทีม Kashima Antlers
ถ้าจะพูดถึงหนึ่งในทีมที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงและโลดแล่นอยู่ในเจลีคมาอย่างยาวนาน ก็คงจะต้องนึกถึงทีม Kashima Antlers (คาชิม่า แอนท์เลอร์ส) ทีมประจำถิ่นของจังหวัดอิบารากิที่มีคนไทยอยู่เยอะมาก มีโลโก้เป็น “กวางเขาเหล็ก”
สิ่งที่ทำให้ทีมนี้โด่งดังมาตลอดก็คือตั้งเเต่เริ่มก่อตั้งเจลีคขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1993 Kashima Antlersก็เป็นทีมที่ไม่เคยตกชั้นลงไปยังลีครองเลยเเม้เเต่ครั้งเดียว แถมด้วยสถิติที่ลงเล่น 24 ฤดูกาลสามารถคว้าเเชมป์เจลีคไปถึง 8 ครั้งทีเดียว แม้เจลีคปีนี้ Kashima Antlers จะตกลงไปอยู่อันดับ 3 ของตาราง แต่ก็ถือว่ายังไม่ทิ้งฟอร์มเดิมไปเท่าไร และยังได้รับการขนานนามว่าเป็นทีมที่มีแนวรับชั้นเยี่ยมและมีแนวรุกที่ดุดันสุดๆเพราะมีดาวดังอย่าง Azuto Uchida, Ken Shoji, Yuto Misao เป็นต้น
ทีมนี้ก่อกำเนิดขึ้นมาในฐานะทีมฟุตบอลของบริษัท Sumitomo ในปี 1947 โดยเคยมีฐานอยู่ที่เมืองOsaka แล้วต่อมาได้ย้ายมาที่เมืองKashima ในจังหวัดอิบารากิ จนได้ลงเล่นบนลีคสูงสุดของญี่ปุ่นมาโดยตลอด
ส่วนสนามเหย้าของทีมนี้ก็คือ Kashima Soccer Stadium อันเป็นสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ในลำดับต้นๆของญี่ปุ่น เพราะสามารถจุแฟนบอลได้ในคราวเดียวถึง 40,728 ที่นั่ง วันไหนที่มีแข่งจะมีแฟนๆโดยเฉพาะชาว Ibaraki ไปรวมตัวกันที่นี่เพื่อเชียร์ทีมในดวงใจกันอย่างเนืองแน่น พร้อมมีรถบัสรับส่งให้ลงที่หน้าสนามกีฬาเลย นอกจากไปเชียร์บอลแล้วที่ Kashima Soccer Stadium ยังมีอะไรๆให้ดู ให้เล่น อีกเพียบ ทั้งจุดชมวิว, โรงยิม, ร้านอาหาร เป็นต้น
สนามเหย้า: Kashima Soccer Stadium
วิธีการเดินทาง: ขึ้นรถบัส High-speed จากสถานี Tokyo ฝั่งทางออก Yaesu ที่ชานชลาหมายเลข 1 แล้วลงที่สถานี Kashima Soccer Stadium หรือ นั่งรถไฟ JR ที่สถานี Mito ไปลงที่สถานี JR Kashima Soccer Stadium
3. ทีม Gamba Osaka
มาถึงทีมดังฝั่งคันไซ Gamba Osaka (กัมบะ โอซาก้า) แม้ในตารางล่าสุดสโมสรแห่งนี้จะรั้งอันดับ 8 หลังจากที่เคยร่วงไปเล่นลีครองมาสักพัก จริงๆแล้วสโมสรนี้เคยมีชื่อเสียงและทำผลงานได้ดีมากๆในอดีต จากการคว้าชัยชนะในเจลีคครั้งแรกในปี 2005 นอกจากนี้ ยังสามารถคว้าแชมป์ AFC champion league ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2008 ก่อนจะฟอร์มตกถึงขั้นต้องลงไปเล่นในดิวิชั่น 2 ในปี 2012 และค่อยๆฟื้นคืนตารางหลักมาอีกครั้ง ซึ่งเหล่าแฟนๆก็พยายามลุ้นให้คืนฟอร์มโดยเร็วกันล้นหลาม สโมสรแห่งนี้ยังเคยเป็นทีมเก่าที่ วิทยา เลาหกุล, นที ทองสุขแก้ว, รณชัย สยมชัย อดีตนักเตะทีมชาติไทยเคยไปค้าแข้งด้วยมาแล้ว
ทีม Gamba อยู่ที่เมือง Suita จังหวัดโอซาก้า มีฉายาประจำทีมว่า”เจ้าเวหา” ปัจจุบันมีบริษัท Panasonic เป็นเจ้าของทีม คำว่า Gamba ในภาษาญี่ปุ่นสามารถแปลว่า “พยายามทำให้ดีที่สุด” ก็ได้ โดยมาจากคำว่า Gambare แต่จริงๆชื่อของทีมมาจากภาษาอิตาลีคำว่า Gamba ที่แปลว่า “ขา”
สโมสรแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1980 ในชื่อ สโมสรฟุตบอล Matsushita ในจังหวัดนารา ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น Gamba Osaka เมื่อย้ายมาอยู่ที่จังหวัดโอซาก้าในปี 1991 และได้เข้าร่วมเจลีคในปี 1992 ส่วนสนามเหย้าของทีมนี้ก็คือที่ Suita City Football Stadium ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ Gamba Osaka ชื่อ Blu STORIA ภายในสนามให้ได้เข้าชมฟรีด้วย
สนามเหย้า : Suita City Football Stadium
วิธีการเดินทาง : นั่งรถไฟ monorail สาย Hankyu Kyoto จากสถานี Minami Ibaraki ไปลงที่สถานี Banpaku-kinen-koen แล้วเดินต่อประมาณ 15 นาที หรือ นั่งรถไฟสาย JR kyoto ลงที่สถานี JR Ibaraki แล้วนั่งรถบัสไปลงที่ Expo'70 Commemorative Stadium เดินต่ออีก 10 นาที
4. ทีม Hokkaido Consadole Sapporo
วินาทีนี้สำหรับแฟนบอลชาวไทย จะไม่พูดถึงทีมนี้ไม่ได้ Hokkaido Consadole Sapporo ในฐานะต้นสังกัดใหม่ของ “ชนาคุง” ชื่อเล่นใหม่ของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ไปเล่นเป็นกองกลางและนำพาสโมสรที่เคยอยู่ท้ายๆของตารางก้าวกระโดดโลดแล่นจนวิ่งแซงขึ้นมาครองตำแหน่งอันดับ 4 ของตารางได้อย่างสวยงาม ที่นี่เป็นสโมสรที่อยู่ในเมืองซัปโปโรบนเกาะฮอกไกโด มีสนามเหย้าคือ Sapporo Dome ที่เป็นสนามไซส์ยักษ์ระดับแนวหน้าของภูมิภาคนี้ นอกจากจะใช้เป็นรังเหย้าของสโมสรแห่งนี้แล้ว ยังถูกใช้สำหรับเป็นสนามเบสบอลของทีม Hokkaido Nippon Ham Fighters ด้วย
ความหมายของชื่อทีมนั้น เกิดจากการผสมคำว่า consado บวกกับคำว่า ole ที่เป็นเสียงร้องแสดงความยินดีในภาษาสเปน ส่วนคำว่า consado นั้นเป็นผวนมาจากคำว่า dosanko ชื่อม้าสายพันธุ์ท้องถิ่นของฮอกไกโด และคำนี้ยังเป็นชื่อเล่นที่ใช้เรียกชาวฮอกไกโดอีกด้วย
สโมสรฟุตบอลอาชีพทีมนี้ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1996 และเป็นทีมแรก ที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นชาวเมืองซึ่งสามารถร่วมลงทุนด้วยในนาม "บริษัท ฮอกไกโด ฟุตบอลคลับ จำกัด (HFC)" เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าอีกหนึ่งอย่างให้กับท้องถิ่น โดยชาวเมืองผู้ถือหุ้นจะได้ออกความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการและสร้างนักกีฬาอาชีพจากท้องถิ่นใน Hokkaido ได้อย่างอย่างเต็มที่ เป็นสโมสรที่ถือได้ว่าเป็นของชาวเมืองอย่างแท้จริง จึงทำให้สโมสรแห่งนี้เติบโตอย่างมีรากฐานมั่นคงและได้รับการสนับสนุนจากชาวเมืองอย่างล้นหลาม
สนามเหย้า : Sapporo Dome
วิธีการเดินทาง : นั่งรถไฟสาย Toho จากสถานี Sapporo Subway ไปลงที่สถานี Fukuzumi แล้วเดินต่อไปที่สนามประมาณ 10 นาที หรือสามารถขึ้นรถ Shuttle bus จากสถานี JR Sapporo ไปลงที่สนามได้เลย (เฉพาะวันที่มีการแข่งขัน)
5.ทีม Sanfrecce Hiroshima
Sanfrecce Hiroshima สโมสรอดีตแชมป์เจลีคสามสมัย ปัจจุบันมีนักเตะชาวไทยอย่าง ”เจ้ามุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา ไปค้าแข้งเป็นกองหน้าอยู่ในทีม โดยทีมมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองฮิโรชิม่า ส่วนชื่อนั้นมาจากการผสมคำว่า San ซึ่งหมายถึงเลข 3 ในภาษาญี่ปุ่นกับ คำว่า frecce ซึ่งแปลว่าลูกศรหรือลูกธนูในภาษาอิตาลี โดยชื่อทีม Sanfrecce มาจากตำนานเรื่องเล่าธนู 3 ดอก ที่โมริ โมโตนาริ ขุนพลสมัยโบราณผู้เรืองอำนาจในแถบฮิโรชิม่าช่วงศตวรรษที่ 16 เคยสอนลูกชายทั้งสามว่าการหักธนูดอกเดียวอาจทำได้ง่ายแต่เมื่อนำธนูมารวมกันถึง 3 ดอกจะแข็งแกร่งจนหักไม่ไหว เพื่อสื่อว่าสามัคคีคือพลังนั่นเอง และเรื่องเล่านี้ก็ปรากฏอยู่ในโลโก้ของสโมสร
สโมสรแห่งนี้เริ่มต้นมาจากการเป็นทีมของบริษัทมาสด้า ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Sanfrecce Hiroshima ในปี 1992 และมาประสบความสำเร็จในช่วงหลังคือการคว้าแชมป์เจลีคได้ 3 สมัยในปี 2012, 2013 และ 2015 นอกจากนี้ทีมนี้ยังเคยคว้าแชมป์ Japanese Super Cupได้ 3 สมัยในปี 2008, 2013 และ 2014 ฉะนั้น แฟนๆจะไม่เคยผิดหวังในเกมการเล่นของสโมสรนี้ที่ดุเด็ดเผ็ดมันด้วยเกมรุกที่เร็วและชัดเจน
ส่วนสนามเหย้าของสโมสรแห่งนี้ คือ Edion Stadium Hiroshima มีขนาดใหญ่ที่สามารถจุแฟนๆได้ 35,000 คน และที่นี่ยังใช้เป็นสนามในการทำกิจกรรมฟุตบอลคลับและสอนการเล่นฟุตบอลให้กับเยาวชนใน Hiroshima ด้วย
สนามเหย้า : Edion Stadium Hiroshima
วิธีการเดินทาง : นั่งรถไฟสาย Astram จากสถานี Hondori ไปลงที่สถานี Koiki-koen-mae แล้วเดินต่อไปที่ Edion Stadium Hiroshima ประมาณ 5 นาที หรือ นั่งรถ Shuttle bus (Hiroshima Electric Railway Bus) จากสถานี JR Yokogawa ตรงไปที่ Edion Stadium Hiroshima