รอบรู้เรื่องเครื่องดนตรีญี่ปุ่น ภาคเครื่องเป่า
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่ามีความสำคัญมากสำหรับพิธีกรรม การแสดงละคร การร่ายรำ การแสดงดนตรีในราชสำนักและนาฏศิลป์ต่างๆ ของญี่ปุ่น เครื่องเป่าหลายอย่างมีมาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 6 เสียอีก มักทำจากไม้ไผ่เพราะมีลักษณะเป็นปล้อง ง่ายต่อการนำมาเจาะรูและประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี มารู้จักกับเครื่องเป่าญี่ปุ่นกันเถอะ
By hikawasa1 ริวเตกิ (Ryuteki)
Ryuteki แปลตามตัวว่า “ขลุ่ยมังกร” ทำจากไม้ไผ่ มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร หรือประมาณ 15 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.3 เซนติเมตร มีทั้งหมด 7 รู กล่าวกันว่าเสียงของริวเตกิแสดงให้เห็นถึงมังกรที่กำลังทะยานขึ้นฟ้า ลักษณะของริวเตกินี้มีความคล้ายคลึงกับขลุ่ยของไทยมากทีเดียว ใช้บรรเลงในการแสดงละครแบบโบราณดั้งเดิมของญี่ปุ่น ตัวขลุ่ยทำจากไม้ไผ่ มีรูรูปไข่ทั้งหมด 7 รูด้วยกัน เสียงที่บรรเลงออกมามีเสียงที่นิ่มนวล
2 ชากุฮาจิ (Shakuhachi)
ชากุฮาจิ เป็นหนึ่งในเครื่องเป่าที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น ทำด้วยไม้ไผ่เช่นกัน เวลาเป่าต้องตั้งลำไม้ไผ่ขึ้นในแนวตั้ง มีรูทั้งหมด 4 รูที่ด้านหน้าของตัวขลุ่ยสำหรับวางนิ้วทั้ง 4 และอีกรูหนึ่งทางด้านหลังสำหรับวางนิ้วหัวแม่มือ ส่วนบนสุดใช้เป่าโดยแนบริมฝีปากลงไป มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 54 เซ็นติเมตร มีคำกล่าวว่าความเป็นมาของชากุฮาจิเกิดขึ้นจากเครื่องเป่าของอียิปต์โบราณ ผ่านเข้าไปทางอินเดียและจีน ก่อนที่จะมาถึงญี่ปุ่นประมาณศตวรรษที่ 7
3 ฮิจิริกิ (Hichiriki)
ฮิจิริกิ เป็นเครื่องดนตรีหลักและมีความสําคัญที่สุดในการดําเนินทํานองเพลงในกางาคุ (Gagaku) ซึ่งเป็นวงดนตรีประกอบการร่ายรำโบราณของญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าด้วยกัน แต่เวลาเป่าจะเสียงดังและหนักแน่นมาก มีเสียงคล้ายกับปี่คลาริเน็ต มีความยาว 18 เซนติเมตร ตัวปี่ฮิจิริกิก็ทำจากไม้ไผ่ด้วยเช่นกัน มีช่องลมทั้งหมด 9 รู ด้านหน้า 7 รู และด้านหลัง 2 รู
ว่ากันว่าถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 6 โดยมีบันทึกว่าปรากฏในสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นมานานมากแล้ว โดยเห็นได้จากการนําไปใช้ในการแสดงละคร การแสดงดนตรี หรือนาฏศิลป์โบราณดั้งเดิมของญี่ปุ่น
4 โคมะบุเอะ (Komabue)
โคมะบุเอะ เป็นเครื่องเป่าอีกชนิดที่ใช้ในวงดนตรีประกอบการแสดงโบราณที่เรียกว่าโคมะงากุ (Komagaku) โคมะบุเอะมีลักษณะสั้นและขนาดเล็กกว่าริวเตกิกับคะงุระบุเอะ โดยมีความยาวเพียง 36 เซนติเมตรเท่านั้น ใช้การเป่ากําหนดเสียงเหมือนกับริวเตกิ นั่นคือจะใช้นิ้วเปิดและปิดช่องลมเป็นเสียงต่างๆ แต่จะมีรูที่มีลักษณะคล้ายรูปไข่น้อยกว่าริวเตกิคือมีเพียง 6 รู ส่วนริวเตกิมี 7 รู
5 คางุระบุเอะ (Kagurabue)
คางุระบุเอะ เป็นเครื่องเป่าที่มีความยาวมากสุดและขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเครื่องเป่าตระกูลเดียวกัน ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร คางุระบุเอะนี้ใช้ในการแสดงมิคางุระ (Mikagura) ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ประกอบพิธีกรรมของศาสนาชินโต โดยปกติจะมีเล่นแค่ในราชสํานักของญี่ปุ่นเท่านั้น มีช่องลมในการกำหนดเสียงเพียงแค่ 6 รูเช่นเดียวกับโคมะบุเอะ
6 โช (Sho)
โช เป็นเครื่องเป่าออร์แกนประเภทลิ้นอิสระ ฐานล่างรูปร่างคล้ายถ้วย ส่วนด้านบนเป็นท่อลมไม้ที่ทำจากไม้ไผ่จำนวน 17 แท่งเสียบเรียงกันในแนวตั้ง มีช่องลมสำหรับเปาอยู่ที่ด้านข้างของถ้วย แต่จะมีอยู่ 2 ท่อที่ไม่สามารถเป่าออกเสียงได้ มีจุดเด่นพิเศษคือสามารถบรรเลงแบบใช้เสียงเดี่ยว (Single Notes) และแบบประสานเสียง (Harmony) ไปพร้อมกัน ซึ่งคล้ายกับแคนในประเทศแถบเอเชีย
7 โนกัง (Noukan)
โนกัง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าที่มีความสำคัญมากสำหรับใช้เป่าบรรเลงในละครโนห์และละครคาบุกิ ถูกประดิษฐ์ขึ้นในศตวรรษที่ 15 โทนเสียงของโนกังจะแหลมสูง มีความยาว 39 เซ็นติเมตรและเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซ็นติเมตร ทำจากไม้ไผ่ มีช่องลมที่กำหนดเสียงทั้งหมด 7 ช่อง เวลาเป่าบรรเลง ลำขลุ่ยจะขนานไปกับพื้น