allabout japan
allabout japan

เทศกาลปีใหม่ในแบบฉบับของญี่ปุ่น

เทศกาลปีใหม่ในแบบฉบับของญี่ปุ่น

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของญี่ปุ่นในทุกๆปี มักจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม ไปจนถึงวันที่ 4 มกราคม ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเทศกาลขึ้นปีใหม่เป็นอย่างมาก เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวที่ทำให้ได้มีเวลาพักผ่อนจากการทำงาน อีกทั้งสมาชิกในครอบครัวก็ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันและทำกิจกรรหลายๆอย่างร่วมกัน

By หนึ่ง
การตกแต่งบ้านรับปีใหม่

การตกแต่งบ้านรับปีใหม่

การตกแต่งบ้านรับปีใหม่ในญี่ปุ่นปกติแล้วจะทำให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี ซึ่งของมงคลสำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปก็ เช่น

ประตูสน หรือ คาโดมัทสึ (Kadomatsu) ที่นำมาประดับประตูรั้วบ้าน ลักษณะเป็นไม้ไผ่ปลายแหลมแซมด้วยใบสน ใบเฟิร์น ฟางข้าวและสิ่งมงคลต่างๆ โดยมักจะประดับเป็นคู่ทางซ้ายและขวาของประตูรั้ว ตามความเชื่อว่าเพื่อให้เป็นที่สังเกตของเทพเจ้าให้เข้ามาในบ้านได้ถูกต้อง สนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของต้นไม้เทพเจ้า ส่วนไผ่สีเขียวจมีลำต้นตรงและล้มยากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว

การจัดบ้านมุมหนึ่งในพื้นที่เล็กๆเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าโทโคโนมะ (Tokonoma) และเครื่องสักการะที่นำมาวางนั้นก็จะมี คากามิโคจิ (Kagamimochi) เป็นโมจิกลมๆ สองลูกซึ่งหมายถึงตัวแทนพระอาทิตย์กับพระจันทร์ วางซ้อนกันอยู่ หลังจากผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ไป ประมาณวันที่ 11 มกราคม ก็สามารถนำโมจิทั้งสองลูกไปรับประทานเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับคนในครอบครัว

ส่งท้ายปีเก่าด้วยโซบะข้ามปี "โทชิโคชิ โซบะ" (Toshikoshi Soba)

ส่งท้ายปีเก่าด้วยโซบะข้ามปี "โทชิโคชิ โซบะ" (Toshikoshi Soba)

วันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสิ้นปีชาวญี่ปุ่นจะเรียกวันนี้ว่าโอมิโซกะ (Omisoka) ประเพณีที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างหนึ่งก็คือการรับประทานโซบะ (soba) ที่เรียกกันว่าโซบะข้ามปี หรือ "โทชิโคชิ โซบะ" (Toshikoshi Soba) เพื่อส่งท้ายปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป

มีความเชื่อว่า ความยาวของเส้นโซบะเปรียบได้กับการมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว อีกทั้งลักษณะที่ตัดขาดได้ง่ายก็หมายถึงการตัดเอาเรื่องร้ายๆ ที่ผ่านมาในปีเก่าออกไป

และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือในช่วงสิ้นปีเป็นช่วงที่ส่วนใหญ่ทุกคนจะวุ่นวายอยู่กับการทำความสะอาดและตกแต่งบ้าน การทานโซบะในวันนี้ก็เพราะเป็นอาหารที่ทำรับประทานได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก โซบะข้ามปีนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น เซโระโซบะ (Seiro Soba) ลักษณะเป็นโซบะเย็นที่ทานกับน้ำซอสทสึยุ (Tsuyu) หรือ นิชินโซบะ (Nishin Soba) เป็นโซบะในน้ำซุปร้อนๆ โรยหน้าด้วยปลานิชินต้มน้ำตาล ดังนั้นในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ถ้าไม่ได้ทำโซบะรับประทานเองที่บ้าน แต่ออกไปที่ร้านก็จะพบว่าร้านโซบะแทบทุกร้านจะเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่มาทานโซบะข้ามปี

ประเพณีตำโมจิ “โมจิทสึกิ” (Mochitsuki)

ประเพณีตำโมจิ “โมจิทสึกิ” (Mochitsuki)

โมจิ (Mochi) ถือเป็นอาหารมงคลในหลายโอกาสของชาวญี่ปุ่น และนิยมนำไปเป็นเครื่องสักการะเทพเจ้าตามความเชื่อแต่โบราณด้วย (เทียบได้กับน้ำแดงตามศาลพระภูมิของคนไทย)

ช่วงปีใหม่ชาวญี่ปุ่นจะมีการทำโมจิด้วยวิธีแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า โมจิทสึกิ (Mochitsuki) โดยจะเริ่มจากการใส่ข้าวเหนียวลงในอุซุ (Usu) หรือครกไม้ขนาดใหญ่ แล้วก็ต้องมีใครคนหนึ่งใช้สากไม้ที่เรียกว่าคิเนะ (Kine) ตำลงไปเป็นจังหวะ และมีผู้ช่วยอีกคนมาทำหน้าที่ช่วยพลิกโมจิไปด้วยจนกันได้ออกมาเป็นก้อนแป้งโมจิที่นุ่มเหนียวพร้อมจะนำไปทำขนมและอาหารต่อไป ซึ่งในเทศกาลปีใหม่ชาวญี่ปุ่นก็มักจะนำโมจิมาใส่ในน้ำซุบร้อนๆ สำหรับรับประทานที่เรียกกันว่า โอโซนิ (Ozoni)

“โอเซชิ” (Osechi ryori) อาหารมงคลแห่งเทศกาลปีใหม่

“โอเซชิ” (Osechi ryori) อาหารมงคลแห่งเทศกาลปีใหม่

วันที่ 1 มกราคมในญี่ปุ่นจะมีการทำอาหารมงคลมื้อแรกของปี ที่ทำขึ้นเพื่อรับประทานกันภายในครอบครัวตามความเชื่อตั้งแต่โบราณว่าเป็นเป็นการต่ออายุให้ยืนยาว อาหารมงคลวันปีใหม่หรือ โอเซชิ Osechi Ryori เป็นเมนูที่ประกอบด้วยอาหารหลายชนิด โดยต้องมีอาหารหลัก 3 อย่าง เป็นของพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาคและเป็นอาหารที่มีความหมายเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น

-คาซูโนโกะ หรือไข่ปลาแฮร์ริง ซึ่งเป็นปลาที่วางไข่เป็นจำนวนมาก หมายถึงการมีบุตรหลานสืบตระกูลต่อไป

-ลูกปลาซาร์ดีนตากแห้ง เป็นสิ่งที่สื่อความหมายถึงการเพาะปลูกพืชไร่ให้ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์

-กุ้ง เพราะกุ้งที่มีลำตัวงอเปรียบได้กับการขอให้มีอายุยืนยาวจนหลังคุ้มงอ

-ก้อนทองคำ ทำจากเนื้อเกาลัดนึ่งนำไปบดผสมกับถั่วลันเตาบดและมันฝรั่งบด ปั้นเป็นลูกกลมๆ มีสีเหลืองสวยเหมือนทองคำ เพื่อเป็นสิริมงคลและขอให้มีฐานะร่ำรวย

-คมบุ คือสาหร่ายประเภทหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับความยินดี

-คามาโบโกะ (Kamaboko) คือลูกชิ้นปลาแท่งยาวที่หั่นเป็นแว่นๆ ดูคล้ายพระอาทิตย์ขึ้นในวันปีใหม่หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองเหมือนแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ ยังมีประเพณีชนแก้วในวันปีใหม่ด้วยสาเกเพื่อสุขภาพหรือโทโสะ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวจะดื่มในเช้าวันขึ้นปีใหม่ด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ในสาเกโทโสะนี้มีส่วนผสมของสมุนไพรหลากหลาย เชื่อว่าเมื่อดื่มแล้วโรคภัยที่มีมามาจากปีเก่าจะถูกชะล้างไปพร้อมกับอวยพรให้อายุยืนและมีสุขภาพดีตลอดปี

หนึ่ง

นักอ่านและนักเขียนที่ชอบการเดินทางไปในที่ต่างๆ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น สนใจทุกอย่างเกี่ยวกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะอนิเมะ ศิลปิน Anison, J-Pop และชื่นชอบวง Roselia เป็นพิเศษ