allabout japan
allabout japan

นักพากย์ในญี่ปุ่น อาชีพที่มากกว่าการพากย์เสียง

นักพากย์ในญี่ปุ่น อาชีพที่มากกว่าการพากย์เสียง

รู้จักอาชีพยอดนิยมของญี่ปุ่น นักพากย์ (Seiyuu) นั้นมีมากกว่าพากย์เสียง กว่าจะมาเป็นนักพากย์ที่ประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นหนึ่งในอาชีพในฝันอันดับต้นๆของหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่น ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ทำได้แค่ฝันจริงๆ แต่ถ้าเป็ฯเราจะทำได้มั้ยนะ ต้องลองอ่านดู

By หนึ่ง

เรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพนักพากย์ในประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกตามภาษาญี่ปุ่นว่า เซยู (Seiyuu) หมายถึง ผู้ที่ให้เสียงในผลงานต่างๆ เช่น ทีวีอนิเมะ ภาพยนตร์อนิเมะ เกม เป็นต้น

นักพากย์คืออะไร?

นักพากย์ในญี่ปุ่นหรือ เซยู เรียกอีกอย่างว่า CV ย่อมากจาก Character Voice หมายถึงผู้ทำหน้าที่พากย์เสียงที่เป็นเจ้าของคาแรกเตอร์นั้น ซึ่งนอกจากจะให้เสียงแล้วยังต้องทำเหมือนเป็นนักแสดงอยู่ด้วย เพื่อให้เข้าถึงคาแรกเตอร์อย่างสมจริง และเสียงในอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ก็ต้องออกมาตามคาแรกเตอร์ด้วย

ที่ประเทศญี่ปุ่น วงการอนิเมชั่นเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมมาก ในแต่ละปีก็มีการผลิตทีวีอนิเมะ ภาพยนตร์อนิเมะ รวมทั้งเกมอนิเมะนับร้อยเรื่อง ดังนั้นสายงานอาชีพนักพากย์จึงมีจำนวนมากไม่แพ้คนทำงานวงการบันเทิงด้านอื่นเลยทีเดียว

อีกทั้งทางญี่ปุ่นเองก็ให้การสนับสนุนงานนักพากย์เป็นอย่างดีและในปัจจุบันก็มีโรงเรียนฝึกสอนผู้เป็นนักพากย์ขึ้นมากมายกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ เช่นโรงเรียนนักพากย์ Nihon Narration Engi Kenkyujo ที่ผลิตนักพากย์มีชื่อเสียงออกมามากมาย เช่น ซาโอริ ฮายามิ (Saori Hayami) นักพากย์และนักร้องที่มีผลงานเป็นที่รู้จักในบทบาทของ โชโกะ นิชิมิยะ จากภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง รักไร้เสียง (A Silent Voice) และนาโอะ โทยามา (Nao Touyama) นักพากย์และนักร้องสาวอีกคนที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์กับผลงานที่หลายคนจำได้ดีในบทบาทของ จิโตเกะ คิริซากิ จากทวีอนิเมะเรื่อง รักลวงป่วนใจ (Nisekoi)

กว่าจะได้เป็นนักพากย์

กว่าจะได้เป็นนักพากย์

ก่อนจะได้เป็นนักพากย์มืออาชีพก็ต้องผ่านการคัดสรรคุณภาพอย่างเข้มงวด มีนักพากย์หลายคนที่ให้สัมภาษณ์ว่าตัดสินใจเข้าโรงเรียนนักพากย์เพราะชื่นชอบในอนิเมะและมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นนักพากย์ตามความฝัน ซึ่งบางคนก็ผ่านการออดิชั่นพร้อมรับทุนการศึกษาและมีผลงานเดบิวท์ตั้งแต่อายุยังน้อย สำหรับการเรียนในโรงเรียนนักพากย์นั้นก็มีทั้งเรื่องของการใช้เสียง การแสดงออกด้านแอคติ้ง ท่าทางต่างๆ การฝึกร้องเพลง หรือยาวไปจนถึงกระบวนการผลิตอนิเมะ เพราะที่ญี่ปุ่นนักพากย์ก็คืองานแสดงประเภทหนึ่งไม่แตกต่างจากเหล่านักแสดงหรือนักร้อง

แต่เส้นทางสู่การเป็นนักพากย์นั้นก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องผ่านการเรียนโรงเรียนนักพากย์มาก่อนเสมอไป เพราะในวงการนักพากย์ญี่ปุ่นก็มีหลายคนที่เริ่มต้นเส้นทางด้วยการเป็นนักร้องหรือนักแสดงมาก่อน แต่มาประสบความสำเร็จกับสายงานนักพากย์มากกว่าจึงเลือกสายงานนี้เป็นงานหลัก เช่น มาโมรุ มิยาโนะ (Mamoru Miyano) นักพากย์ชายผู้มีความสามารถล้นเหลือ ซึ่งมีผลงานทั้งในฐานะนักร้อง J-Pop นักแสดงและงานพากย์ที่สร้างชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือบทบาทของ ยางามิ ไลท์ จากเรื่อง Death Note

ผลงานเปิดตัวหรือ เดบิวท์ (Debut) ในฐานะนักพากย์

ผลงานเปิดตัวเรื่องแรกหรือเดบิวท์มีความสำคัญมากสำหรับก้าวแรกในฐานะนักพากย์หน้าใหม่ ซึ่งโรงเรียนนักพากย์ส่วนใหญ่จะมีคอนเนคชั่นก็สตูดิโอผู้สร้างอนิเมะ เอเจนซี่ต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีการออดิชั่นนักพากย์หน้าใหม่ ก็จะได้รับโอกาสในการมาร่วมการออดิชั่น และถือเป็นโอกาสของหน้าใหม่ที่จะเปิดตัวสู่สาธารณะชนด้วย นักพากย์บางคนได้เดบิวท์ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น 19-20 ปี ก็ถือว่าเริ่มต้นได้เร็ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จ หรือมีชื่อเสียงตั้งแต่งานแรก บางคนกว่าจะเริ่มประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมจนมีผลงานต่อเนื่องก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างสูงเลยทีเดียว

และต้องยอมรับว่าบางครั้งการที่จะเปิดตัวในฐานะนักพากย์ได้สำเร็จตามความคาดหวังของแต่ละคนนั้น นั้นเรื่องของดวง ก็เป็นส่วนหนึ่งเพราะนักพากย์ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่างานพากย์อนิเมะเรื่องแรกของตัวเองจะมีกระแสโด่งดังและได้ผลตอบรับที่ดีหรือไม่ ถ้าผลออกมาเป็นเชิงบวก อนิเมะได้รับความนิยมโอกาสต่างๆทั้งหลายก็จะเข้ามาในชีวิตที่จะต่อยอดงานอื่นได้ เช่น งานร้องเพลงประกอบอนิเมะ รวมทั้งงานพากย์เรื่องต่อๆไป และได้ฐานแฟนคลับซึ่งในยุคนี้มีความสำคัญไม่น้อยเลย เพราะในความเป็นจริงก็คือมีแฟนอนิเมะจำนวนมากที่นักพากย์มีผลต่อการเลือกชมอนิเมะ นั่นหมายความว่าถ้านักพากย์มีฐานแฟนคลับเยอะ โอกาสที่จะได้รับงานพากย์เป็นตัวหลักหรือ Main Character ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

งานและรายได้ของนักพากย์

งานและรายได้ของนักพากย์

ถ้าสรุปสั้นๆ เว็บไซต์รวมข้อมูลเงินเดือนของญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า เงินเดือนของนักพากย์เฉลี่ยอยู่ที่ 210,000 - 290,000 เยน ต่อเดือน (ไม่ต่างจากคนทำงานออฟฟิศทั่วไปเลย)

สำหรับวันเวลาทำงานนั้นไม่มีการกำหนดไว้ แต่ปรกติจะเริ่มกันตั้งแต่ 10 โมงเช้าไม่ต่างจากงานทั่วไปนัก หรือบางทีเริ่มสตาร์ทงานกันตอน 4 – 6 โมงเย็น ตามสไตล์กองถ่ายเลยก็มี แถมงานที่ต้องทำช่วงดึกก็มีประปรายเหมือนกัน (โดยเฉพาะงาน live สดทางวิทยุ) ถือกันว่างานรอบดึกกับนักพากย์มักจะมาควบคู่กัน

และแม้นักพากย์จะเป็นอาชีพคล้ายฟรีแลนซ์ ไม่ได้ทำงานทุกวัน แต่ถ้ามีงานทำทุกวันก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความนิยมของตัวเอง นักพากย์ที่ขายดี ในหนึ่งวันต้องวิ่งรอกไปสตูดิโอหลายๆแห่ง ในขณะที่คนขายไม่ออก ทั้งปีไม่มีงานเลยก็มี

และอย่างที่ได้กล่าวถึงไปแล้วว่านักพากย์ในญี่ปุ่นไม่ได้ทำแค่พากย์เสียงอย่างเดียว โดยเฉพาะนักพากย์หญิงถ้าหน้าตาดี มีความสามารถ ร้องเล่นเต้นได้ ก็จะมีงานอีเวนท์อื่นๆตามมาอีกมากมาย (โดยส่วนใหญ่เกี่ยวกับอนิเมะ) ตลอดจนงานถ่ายแบบนิตยสาร ออกรายการทีวี รายการวิทยุ เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา ออกอัลบั้มหรือซิงเกิ้ลเป็นของตัวเองในฐานะศิลปินนักร้อง ได้จัดคอนเสิร์ตของตัวเอง บางคนก็อาจจะมีงานแสดงละครโทรทัศน์หรือละครเวทีด้วย

ในการผลิตอนิเมะญี่ปุ่นสักเรื่องหนึ่งนั้น ส่วนที่ได้รับเงินตอบแทนมากที่สุดก็คือส่วนของนักพากย์ ที่นักพากย์ระดับสูงๆ ได้พากย์เรื่องหนึ่งก็มีรายได้แบบใช้ชีวิตอยู่ได้ทั้งปีเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม รายได้ของนักพากย์ในญี่ปุ่นทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากการเซ็นสัญญากับเอเจนซี่หรือต้นสังกัด

สำหรับเรื่องตัวเลขรายได้นั้น ทางต้นสังกัดหลายๆแห่งก็มักจะไม่เปิดเผย แต่ถ้าเป็นเงินค่าสัญญารายปีหรือเงินรายได้รวมจากบริษัทผู้สร้างอนิเมะจ่ายให้ เรียกว่าเป็นเงินโบนัสตามส่วนแบ่ง ก็มีทั้งนักพากย์ที่ได้รับค่าตอบแทนตรงนี้เยอะถึงหลักหลายสิบล้านเยนต่อปี แล้วก็มีนักพากย์ที่ได้แค่ประมาณหลักแสนเยนต่อปีก็มี (น้อยกว่าเงินเดือนคนทั่วไปอีก)

ตัวอย่างรายได้
นักพากย์ในญี่ปุ่นนั้นก็มีการเเบ่งระดับ (Rank) เช่นกัน โดยแบ่งจาก A ถึง F ตามความสามารถเเละความนิยมเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่กำหนดรายได้ของนักพากย์โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าถ้าได้พากย์เป็นคาแรกเตอร์หลักแล้วจะมีรายได้มากขึ้น โดย นักพากย์ในกลุ่ม Rank A จะได้รับค่าตอบแทนอยู่ที่ 45,000 เยน /ตอน ซึ่งใน 1 ตอน มีความยาวประมาณ 25 นาที สมมติว่าเป็นนักพากย์ Rank A กับงานพากย์ทีวีอนิเมะ 1 เรื่อง ที่ส่วนใหญ่มีประมาณ 13 ตอน ก็จะได้รับค่าตอบแทน 585,000 เยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 169,000 บาท)

ดังนั้นเมื่อรายได้ขึ้นอยู่กับ Rank นักพากย์ก็ต้องพัฒนาความสามารถตัวเอง ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ด้วยการรับงานมากขึ้น เพื่อการสร้างความนิยมให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานร้องเพลงหรือออกอีเวนท์ต่างๆ ไม่ต่างจากอาชีพสายนักร้องนักแสดงอื่นๆ

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าสายงานนักพากย์ในญี่ปุ่นนั้น มีบทบาทไม่ต่างจากไอดอลหรือดารานักร้องบ้านเรา ถ้าอนิเมะเรื่องไหนดังมาก นักพากย์ก็จะได้ออกอีเวนท์ใหญ่ๆ ได้แสดงคอนเสิร์ตท่ามกลางผู้ชมนับหมื่น (ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในแวดวงอนิเมะที่ประเทศญี่ปุ่น)

นักพากย์บางคนที่โด่งดังมากๆ ถึงขนาดจัดคอนเสิร์ตในสถานที่สำหรับจัดคอนเสิร์ตระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น อนิเมะ K-On! กับ Live Concert: Come With Me ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2011 ที่ไซตามะ ซุปเปอร์อารีน่า (Saitama Super Arena) งานนี้มีผู้ชมคอนเสิร์ตกว่า 35,000 คน เทียบเท่ากับคอนเสิร์ตของนักร้องดังเลยทีเดียว

ในทางตรงกันข้ามทุกวันนี้ก็มีนักพากย์หน้าใหม่จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่พบความสำเร็จในอาชีพเพราะการแข่งขันที่สูงมาก ว่ากันว่ามีนักพากย์ในอัตราส่วนมากถึง 80% ที่ต้องไปหางานอื่นๆทำควบคู่กับงานพากย์เพื่อหารายได้เสริม หรือไม่ก็เปลี่ยนสายอาชีพไปเลยก็มี

สรุปแล้ว งานนักพากย์หรือ เซยู ในประเทศญี่ปุ่นก็คืองานแบบ All Function ในวงการบันเทิง ที่เป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย แต่การที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เรียกว่าถ้ามีใจรักจริงๆก็ต้องงัดความสามารถทุกอย่างในตัวที่มีออกมาใช้ รวมทั้งรูปร่างหน้าตา พรสวรรค์ และจังหวะชีวิตด้วย

หนึ่ง

นักอ่านและนักเขียนที่ชอบการเดินทางไปในที่ต่างๆ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น สนใจทุกอย่างเกี่ยวกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะอนิเมะ ศิลปิน Anison, J-Pop และชื่นชอบวง Roselia เป็นพิเศษ