ช้อปที่ญี่ปุ่นอย่างประหยัดต้องคิดถึงอะไรบ้าง?
เรตค่าเงิน
เรตค่าเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ราคาของที่จะซื้อมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ยิ่งของที่เราอยากได้มีราคาสูงมากเท่าไหร่ เรตค่าเงินยิ่งมีผลมากเท่านั้น บางครั้งการแลกเงินเยนจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมหรืออัตราการแลกเงินที่สูง ทำให้ต้องวางแผนและดูสถานการณ์เศรษฐกิจให้ดีก่อนที่จะแลกเงินนะคะ
ถ้าอยากซื้อของแบบถูกจริงๆ การคาดการณ์ค่าเงินล่วงหน้าแล้วเลือกเที่ยวในช่วงที่ค่าเงินถูกก็ทำได้ค่ะ (แต่ก็ทำได้ยากและอาจผิดได้) หรือจะแลกเงินเก็บไว้ล่วงหน้าในช่วงที่บาทแข็งหรือเยนอ่อน ก็เป็นอีกทางเลือกนึงค่ะ
ขอคืนภาษีจากร้านค้า
หลายร้านค้าจะต้องมีการซื้อสินค้าให้ครบราคาขั้นต่ำถึงจะสามารถขอคืนภาษีได้ บางร้านเริ่มตั้งแต่ 2,000 เยน หรืออาจต้องการสูงถึง 10,000 เยน ดังนั้นรวบรวมลิสต์สินค้าที่ต้องการเอาไว้ และตรวจสอบว่าอันไหนสามารถซื้อในร้านเดียวกันได้ ก็จะขอคืนภาษีได้ง่ายขึ้นค่ะ
ภาษา
สำหรับคนที่อยากได้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องมีเมนู มีหน้าจอ มีปุ่มมากมาย อย่างคอมพิวเตอร์ กล้อง มือถือ ก็ต้องไม่ลืมที่จะเช็คว่าเครื่องมีการรองรับภาษาไทยหรืออังกฤษมั้ย สื่งที่ควรดูอย่างแรกเลยแน่นอนคือเมนูที่เราใช้งานจริงๆ ลองเปิดคอมหรือมือถือดูว่าสามารถตั้งค่าเป็นภาษาไทยได้หรือไม่
ส่วนอันดับต่อๆไปที่ต้องดู อย่างเช่นคู่มือการใช้นั้น เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะซื้อที่ไหนก็มักจะให้คู่มือแบบหลายภาษาติดมาอยู่แล้ว (แต่อาจจะมีอังกฤษ ไม่มีไทย) เพราะงั้นซื้อที่ไหนก็อาจจะไม่ต่างกันมากค่ะ
ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังสำหรับคอมพิวเตอร์ก็คือ คีย์บอร์ด เพราะถึงแม้ภายในคอมพิวเตอร์จะปรับเมนูต่างๆให้เป็นภาษาไทยได้ แต่ตรงคีย์บอร์ดนั้นก็ไม่มีตัวหนังสือภาษาไทยอยู่ดี ใครที่พิมพ์สัมผัสไม่ได้แนะนำว่าอย่าซื้อคอมพิวเตอร์ที่ญี่ปุ่นค่ะ
กำลังไฟ
สำหรับคนที่อยากได้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือไฟฟ้า อย่างคอมพิวเตอร์ กล้อง มือถือ หรือไดร์เป่าผม ควรเช็คกำลังไฟว่าสามารถใช้กับไฟบ้านเรา 220v ได้หรือไม่? (ญี่ปุ่นใช้ไฟ 110v)
และนอกเหนือจากของที่จะซื้อแล้ว เวลาเตรียมของก่อนไปเที่ยว ก็ควรเช็คกำลังไฟของที่ชาร์จและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะเอาไปใช้ในญี่ปุ่นว่าได้หรือไม่ เช่นที่ชาร์จมือถือและที่หนีบผม ถ้าไม่ตรงละก็ อย่าลืมเตรียมปลั๊กที่แปลงไฟได้มาค่ะ
ภาษีศุลกากร
เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะต้องรับความเสี่ยงด้วยตนเอง (คนหิ้วของแพง ๆ มาเยอะ ๆ นี่ลุ้นกันทุกรอบ) เช่นรองเท้าหรือกระเป๋าแบรนด์เนม ถ้าหิ้วมาแล้วโดนสุ่มตรวจจนต้องเสียภาษีจะคุ้มมั้ยน้อ? และโปรดระวังเช็คเงื่อนไขการนำเข้า สินค้าที่ไม่สามารถนำเข้าได้ หรือนำเข้าได้อย่างจำกัดอย่างบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล ก็ต้องระวังด้วยนะคะ
วิธีแก้ (แบบไม่ลับ) ก็คือแบ่งใส่กระเป๋าคนอื่น อย่าหอบฟาง พยายามใช้กระเป๋าลากแค่ใบเดียว แบบนี้โอกาสโดนสุ่มตรวจก็น้อยลงค่ะ
หรือจะให้ดีที่สุดก็คือ ช้อปแต่พอควร ไม่ต้องซื้อเยอะจนกระเป๋าปริ ซื้อแค่พองาม ลดเวลาช้อปแถมได้เวลาไปเที่ยวเพิ่มด้วยนะ
ประกันและศูนย์ซ่อม
สินค้าเทคโนโลยี เครื่องใช้ไฟฟ้า กล้อง มือถือ พอหิ้วมาแล้วถ้าเสียหรือเจ๊งที่ไทยจะมีศูนย์ซ่อมรองรับมั้ย หรือต้องส่งไปต่างประเทศ เช็คดูกันให้ดีก่อนนะคะ อาจจะแจ๊คพ๊อตเจอสินค้าเปิดไม่ได้หรือเสีย บางทีค่าส่งซ่อมต่างประเทศอาจจะแพงพอ ๆ กับค่าสินค้าก็ได้ค่ะ
สุดท้าย หิ้วจากญี่ปุ่นคุ้มหรือไม่?
แน่นอนว่าของบางอย่างซื้อจากประเทศญี่ปุ่นด้วยตนเองถูกกว่า เพราะไม่ต้องเสียภาษี ค่าขนย้าย และไม่ต้องถูกชาร์จราคาจากพ่อค้าคนกลาง แต่สินค้ามากมายจากญี่ปุ่นตอนนี้ก็มีนำเข้าในไทยแล้ว ราคาอาจจะแพงกว่าเล็กน้อย แต่การซื้อในไทยก็อาจจะคุ้มกว่าเพราะไม่ต้องแบก ไม่เสียเวลาเที่ยว แถมมีป้ายสินค้าเป็นภาษาไทย เคลมประกันก็ง่ายกว่าค่ะ
สินค้าหลายประเภทเช่น กล้อง เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว หลายๆรุ่นที่นิยมบินไปซื้อกันถึงญี่ปุ่นนั้นมีขายในไทย ดังนั้นลองทำลิสต์เช็คสินค้าและราคาดูก่อนว่ามีขายในไทยหรือไม่? ราคาเท่าไหร่? เมื่อไปญี่ปุ่นจะได้เช็คได้ว่าที่ไหนถูกกว่า ถ้าที่ไทยแพงกว่านิดเดียวแนะนำซื้อที่ไทยดีกว่าค่ะ ไม่ต้องเหนื่อยหิ้ว เอาพื้นที่และน้ำหนักกระเป๋าไปซื้อของที่ไม่มีขายในไทยดีกว่าเนอะ