คุณภาพชีวิตเด็กญี่ปุ่น ภาคสถานที่เล่น
นอกจากไปห้างแบบชาวประเทศกรุงเทพ เรามาดูกันว่าเด็กญี่ปุ่นเวลาออกนอกบ้านไปเล่นอะไรกัน จะได้รู้กันวันนี้แหละว่าภาษีที่ชาวญี่ปุ่นเสียไปได้กลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆอย่างไรบ้าง นอกจากซื้อรถถังและเรือดำน้ำมาโชว์ในวันเด็ก อุ๊บส์!
By แม่บ้านเมกุโระศูนย์เด็กเล็ก "จิโดคัง"
เป็นศูนย์เด็กเล็กเพื่อเด็กเล็กที่จัดตั้งโดยรัฐบาลท้องถิ่น มีในทุกตำบลหรือหมู่บ้าน เป็นสถานที่พบปะให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน รองรับตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนเด็กโต ภายในจะมีห้องสำหรับเด็ก มีของเล่นและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การระบายสี ปั้นดินน้ำมัน เล่นบทบาทสมมุติเป็นต้น หรือจะเป็นกลุ่มคุณแม่ลูกอ่อนที่เข้ามาพูดคุย ทำกายบริหารเล็ก ๆ น้อย ๆ กับทารกร่วมกันก็มี
นอกจากห้องสันทนาการแล้วจิโดคังส่วนใหญ่ยังมีคลาสสำหรับแม่ลูกได้ทำกิจกรรม ต่าง ๆ ร่วมกันอีกด้วย โดยจะแบ่งคลาสตามอายุของลูก อย่างทำการ์ดวันพ่อ ประดิษฐ์ของเล่นสำหรับลูก โดยกิจกรรมส่วนใหญ่จะให้บรรดาคุณแม่ร่วมกันแสดงความคิดเห็นออกไอเดียสิ่งที่อยากทำ โดยมีผู้ดูแลของศูนย์คอยให้ความช่วยเหลือจัดหาอุปกรณ์และให้คำแนะนำ การพบปะระหว่างแม่ ๆ ทำให้ช่วยคลายเครียดได้ดีทีเดียว แถมได้เพื่อนจากกลุ่มนี้ด้วย
สวนสาธารณะ สัญลักษณ์ของประเทศพัฒนาแล้ว
สวนสาธารณะที่ญี่ปุ่นมีเยอะมากโดยเฉพาะโตเกียว ถามว่าเยอะขนาดไหน? เยอะขนาดรัสมี 1 กิโลเมตรรอบบ้านมีสวนเล็กใหญ่ให้พักผ่อนหย่อนใจถึง 8 สวน! ถ้าเป็นที่ไทยอำเภอ 1 จะมีสวนสาธารณะสัก 1 ที่
สวนสาธารณะที่นี่นอกจากม้านั่งที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานแล้ว ส่วนใหญ่จะมีเครื่องเล่นสำหรับเด็กและบ่อทรายด้วย ขี้เกียจพาลูกไปไกล ๆ ก็พาไปเทที่บ่อทรายได้เลย
สระว่ายน้ำ เพราะเด็กทุกคนต้องว่ายน้ำเป็น
สระว่ายน้ำของรัฐค่าธรรมเนียมไม่แพงหาได้ทั่วไปในญี่ปุ่น เพราะโรงเรียนรัฐบาลขนาดกลางที่นี่นิยมสร้างสระว่ายน้ำไว้ในโรงเรียนด้วย เพราะมีหลักสูตรบังคับว่าเด็กทุกคนต้องได้เรียนว่ายน้ำ (ไม่ใช่รำกระบองแบบบ้านเรา) ทำให้แต่ละพื้นที่สร้างสระว่ายน้ำเพื่อรองรับนักเรียนทั้งจากโรงเรียนของตน และโรงเรียนใกล้เคียงด้วย
บางอำเภออย่างเมกุโระบ้านหมวยก็มีสระพิเศษสำหรับเด็ก 0-3 ปี แยกพิเศษต่างหาก แถมค่าธรรมเนียมก็ถูกมาก จ่ายเฉพาะเด็ก 100 เยน ผู้ใหญ่ไม่เสีย สระว่ายน้ำจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เด็กจะได้เล่น ออกกำลังกาย พบปะเพื่อนใหม่ ๆ แถมได้ฝึกว่ายน้ำเอาไว้ด้วย
ห้องสมุด
ห้องสมุดที่ญี่ปุ่น นอกจากจะมีหนังสือให้ยืมทั้งหนังสือทั่วไป สื่อการเรียนการสอน นิทานแผ่นใหญ่ให้เลือกมากมายหลากหลายแล้วยังมีกิจกรรมการเล่านิทานให้เด็กเล็กจนถึงเด็กโตฟังอีกด้วย
(ห้องสมุดแถวบ้านยืมได้สูงสุด 20 เล่ม เป็นเวลา 2 สัปดาห์)
การจัดกิจกรรมจากทางอำเภอหรือรัฐบาลท้องถิ่น
อำเภอญี่ปุ่นขยันจัดกิจกรรมให้เด็กๆมาก ทั้งจากหน่วยงานประจำจังหวัด อำเภอ หรือร่วมมือกับเอกชนเช่นกิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ การไปดูหิ่งห้อย เตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ฝึกกู้ภัยต่าง ๆ อย่างการดับเพลิงโดยใช้ไฟจริงและให้เด็กหัดใช้ถังดับเพลิงจริง สำหรับกิจกรรมบันเทิงทั่วไปก็มีคอนเสิร์ตออเครสต้าสำหรับเด็กเป็นต้น
ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนให้เด็กได้มีโอกาสพบเจอประสบการณ์จริงด้วยตนเอง เปิดโลกทัศน์ของเด็กให้เกิดกระบวนการในการเรียนรู้และต่อยอดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กิจกรรมส่วนใหญ่ฟรีหมด หรืออาจเสียค่าใช้จ่ายแต่ส่วนใหญ่มักจะไม่แพงเลย
กลุ่มคุณแม่ กับการพบปะที่มีคุณภาพที่จัดด้วยตัวเอง
คุณแม่ชาวญี่ปุ่นนิยมรวมตัวกันจัดกิจกรรมตามสถานที่สวนสาธาณนะต่าง ๆ เช่นปิคนิค เล่นโยคะพร้อมกับลูกน้อย บรรดาคุณแม่ผลัดกันอ่านนิทาน สิ่งที่หมวยเหม่งชอบที่สุดคือกลุ่มแม่บ้านต่างด้าว (ต่างชาติ) รวมตัวกันอ่านนิทานในภาษาของตนเองให้เด็กฟัง เด็ก ๆ จะได้รับฟังภาษาที่หลากหลาย ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างจากตนด้วย โตไปไม่เหยียดค่ะ
กิจกรรมธรรมดาอย่างเช่นการทำปิ่นโต ออกไปปูเสื่อใต้ต้นไม้ นั่งกินนั่งพูดคุยกับบรรดาคุณแม่ ลูกเด็ก ๆ ก็เล่นด้วยกัน ลูกโตก็ปล่อยให้เค้าเล่น ฟังเสียงลมและผ่อนคลาย เวลาทำอะไรแบบนี้เวลาจะผ่านไปไวมากจริง ๆ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับคุณภาพชีวิตเด็กญี่ปุ่น ส่วนตัวอยากให้ประเทศไทยพัฒนามาถึงจุดนี้บ้าง ใครอยากให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างไรคอมเม้นต์กันได้นะคะ