allabout japan
allabout japan

3เทคนิคเล็กๆน้อยๆ ในการเที่ยวญี่ปุ่นแบบประหยัด

3เทคนิคเล็กๆน้อยๆ ในการเที่ยวญี่ปุ่นแบบประหยัด

เทคนิคเล็กๆน้อยๆในการประหยัดเงินระหว่างเที่ยวญี่ปุ่น ที่หลายคนอาจจะมองข้ามครับ บางข้ออาจจะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้าสนใจอยากเซฟเงินไว้ช็อปต้องลองอ่านดูครับ

By รัชวุฒิ เชิดชูวานิช

นั่งสายการบินโลว์คอสต์ภายในญี่ปุ่น เมื่อต้องไปไกลๆ

นั่งสายการบินโลว์คอสต์ภายในญี่ปุ่น เมื่อต้องไปไกลๆ

การนั่งเครื่องบินภายในประเทศญี่ปุ่น หากเราเลือกนั่งโลว์คอสต์เป็นหลักละก็ มักจะถูกกว่าชินกังเซ็นครับ นอกจากนี้ การนั่งเครื่องบินแทนรถไฟก็สามารถประหยัดเวลาได้เยอะมากอีกด้วย

เปรียบเทียบระยะเวลาเดินทาง
・โตเกียว-ฟุกุโอกะ::5ชั่วโมงโดยรถไฟ 1ชั่วโมงโดยเครื่องบิน
・โตเกียว-ซัปโปโร: 8ชั่วโมงโดยรถไฟ (ไม่นิยม) 1ชั่วโมงโดยเครื่องบิน
・ซัปโปโร-ฟุกุโอกะ:13ชั่วโมงโดยรถไฟ (ไม่นิยมอย่างมาก) 2ชั่วโมงครึ่งโดยเครื่องบิน
・โอซาก้า-ซัปโปโร: 11ชั่วโมงโดยรถไฟ (ไม่นิยมอย่างมาก) 2ชั่วโมงโดยเครื่องบิน

จะเห็นได้ว่า แม้ญี่ปุ่นจะมีรถไฟที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่การเดินทางระหว่างเมืองใหญ่ๆที่ไกลกันมากๆ แท้จริงแล้วก็ยังไม่นิยมใช้รถไฟกันขนาดนั้นครับ ใครที่จะไปหลายๆเมืองในทริปเดียวและเป็นห่วงเรื่องเวลา ควรพิจารณาการนั่งโลว์คอสต์เป็นอย่างยิ่ง

ยกเว้นก็แต่บางเส้นทางสั้นๆอย่าง โตเกียว-โอซาก้า, โตเกียว-ฮิโรชิม่า, โอซาก้า-เซ็นได, โตเกียว-ฟุกุโอกะ เส้นทางเหล่านี้ใกล้เกินกว่าที่เครื่องบินจะเป็นประโยชน์ ทำให้การนั่งรถไฟก็ยังสะดวกกว่าอยู่ดีครับ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีเส้นทางโลว์คอสต์นะ อย่างเช่นฮิโรชิม่า-โตเกียว หรือ โตเกียว-ฟุกุโอกะบางทีผมก็จะเลือกนั่งโลว์คอสต์แทนชินกังเซ็นครับ

ซื้อน้ำหรือขนมจากร้านขายยา

ซื้อน้ำหรือขนมจากร้านขายยา

เวลาเราอยากได้อาหารเครื่องดื่มเล็กๆน้อยๆ มาทานระหว่างการเดินเที่ยว ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นน่าจะเป็นเป้าหมายแรกใช่มั้ยครับ แต่ว่าจริงๆแล้วร้านสะดวกซื้อนั้นไม่ใช่ที่ๆถูกที่สุดที่เราจะซื้อของเหล่านี้ได้นะ แต่เป็นร้านขายยาต่างหาก น้ำและขนมนั้น ถ้าเป็นยี่ห้อเดียวกัน แทบทั้งหมดจะขายในร้านขายยาถูกกว่าในร้านสะดวกซื้อครับ

เหตุผลก็เพราะว่า เป็นหนึ่งในวิธีการเรียกลูกค้าของร้านขายยาครับ ร้านขายยานั้นปกติเป็นร้านที่คนจะเข้าก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องซื้อยา วิตามิน สบู่แชมพู หรือผลิตภัณท์สุขภาพอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ซื้อกันทุกวัน คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่ได้มีความจำเป็นต้องเข้าร้านขายยาทุกวัน ทำให้ร้านขายยาจำนวนลูกค้าค่อนข้างน้อยครับ ร้านขายยาที่นำอาหารเครื่องดื่มที่คนซื้อทุกวันมาวางนั้น ก็เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าที่เดินเข้าร้านนี่แหละครับ และแน่นอนว่า ถ้ามีลูกค้าเข้าร้านเยอะขึ้น ยาก็ขายได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะงั้นร้านขายยาจึงยอมขายขนมและน้ำในราคาที่ถูกกว่าร้านสะดวกซื้อครับ จะมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่แคชเชียร์ของร้านขายยาอาจจะไม่ได้ทำงานเร็วเท่าร้านสะดวกซื้อ บางที่ก็อาจไม่มีหลอดให้ พูดง่ายๆคือ "สะดวก" สู้ร้านสะดวกซื้อไม่ได้ครับ

เพราะงั้น ถึงจะไม่ได้อยากซื้อยา แต่ถ้าไม่ได้รีบเร่งหรือไม่เรื่องมากกับแบรนด์ของกินและน้ำดิื่ม (ร้านขายยาปกติจะมีของกินและน้ำให้เลือกน้อยกว่าร้านสะดวกซื้อ) เดินเข้าร้านขายยาจะได้ซื้อน้ำและขนมในราคาถูกกว่าครับ

ในปัจจุบันนี้ มีร้านขายยาหลายร้านที่สามารถปรับปรุงตัวเองขึ้นมาจนเรียกลูกค้าได้ไม่แพ้ร้านสะดวกซื้อ เช่น มัตสึโมโตะคิโยชิ หรือ ซูรูฮะ ซึ่งเป็นที่นิยมมากจนมีสาขาที่ประเทศไทยครับ

ลองนอนโรงแรมแคปซูล

ลองนอนโรงแรมแคปซูล

อีกหนึ่งในนวัตกรรม(หรือเปล่า)การประหยัดพื้นที่ของญี่ปุ่น

เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ค่อนข้างแออัด มีความหนาแน่นของประชากรสูง และนักท่องเที่ยวมักกระจุกตัวอยู่ในเมือง การเกิดขึ้นของธุรกิจอย่างโรงแรมแคปซูลจึงเป็นเรื่องที่ถือว่ามีเหตุผล และแม้หลายๆประเทศจะมีโรงแรมแบบคล้ายๆกันเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แต่โรงแรมแคปซูลก็ยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น ที่นักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะแบ็คแพคเกอร์หรือนักท่องเที่ยวสายลุย) น่าจะลองนอนซักครั้งนะ

ข้อดีของโรงแรมแคปซูล
・ถูกแน่นอน เพราะขนาดที่เล็กกว่า โดยเฉพาะถ้าเทียบกับโรงแรมขนาดห้องปกติที่อยู่ย่านเดียวกัน
・ส่วนใหญ่จะทำเลดีใกล้สถานี (เพราะถ้าไม่ใช่ทำเลดีๆ ที่แพงๆ โรงแรมเองก็ไม่ได้อยากประหยัดที่กันแบบนี้หรอกนะ)
・ส่วนใหญ่จะมีบริการเล็กๆน้อยๆ ที่ครบครัน บางทีก็ครบยิ่งกว่าโรงแรมสามดาวที่เป็นห้องส่วนตัวบางที่เสียอีก เช่นตู้เครื่องดื่ม เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ห้องส่วนกลางที่มักมีหนังสือให้อ่านฟรี และอื่นๆ
・เหมาะมากๆกับผู้ที่อยากพบปะกับเพื่อนชาวต่างชาติใหม่ๆ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อดีสุดๆ ที่ต่อให้นอนโรงแรมห้าดาวก็หาไม่ได้

รัชวุฒิ เชิดชูวานิช

บรรณาธิการ All About Japan ภาษาไทย เขียนบทความเองบ้างตามสมควร แต่ถนัดขอให้คนอื่นเขียนมากกว่า จุดเด่นคือมีเข็มขัดแค่เส้นเดียวที่ใช้มาตั้งแต่มหาลัยปี1