All About Japan

สิ่งที่เราต้องเจอ เมื่อไปร้านสะดวกซื้อ

ช็อปปิ้ง ข้อมูล ประหยัด ร้านสะดวกซื้อ ของฝาก
สิ่งที่เราต้องเจอ เมื่อไปร้านสะดวกซื้อ

การซื้อของที่ร้านค้าที่ญี่ปุ่นเมื่อเราได้ของแล้วนำไปคิดเงินที่แคชเชียร์ เราอาจจะต้องเจอกับเรื่องที่ทำให้สงสัยหรือบางทีเป็นเรื่องที่เราไม่เคยสังเกต แต่จะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. เมื่อจ่ายแบงก์ใหญ่

1. เมื่อจ่ายแบงก์ใหญ่

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Series_D_10K_Yen_Bank_of_Japan_note_-_front.jpg

ที่ญี่ปุ่น แบงก์หมื่นเยนจะเป็นแบงก์ที่ใหญ่ที่สุด เวลาซื้อของเมื่อเราจ่ายแบงก์หมื่นเยนพนักงานจะค่อนข้างระวังในการรับแบงก์หมื่นเยนและระมัดระวังในการทอนเงินอยู่เสมอ บางร้านเมื่อพนักงานได้รับแบงก์หมื่นเยน จะหันให้กล้องวงจรปิดหรือให้พนักงานคนอื่นๆได้เห็น และบางทีก็จะพูดออกมาเสียงดังหน่อยว่าได้รับเงินมาหมื่นเยน เพื่อให้พนักงานคนอื่นได้ทราบ ป้องกันความผิดพลาดและความโปร่งใส

แล้วเวลาทอนเงิน พนักงานจะยังไม่เก็บแบงก์ทันที แต่จะวางไว้ด้านบนแคชเชียร์หรือบางที่ เงินก็จะยังอยู่ในถาดรับเงิน พนักงานจะทอนเงินให้ลูกค้าก่อนอย่างครบถ้วน โดยจะนับแบงก์ทั้งหมดที่ได้ทอนให้ลูกค้าเห็น เพื่อป้องกันความผิดพลาดหรือการทวงถามเงินภายหลัง เมื่อทอนเงินถูกต้องครบถ้วนแล้ว พนักงานถึงจะเก็บเงินที่ได้รับลงในเครื่องเก็บเงิน

2. เมื่อจ่ายบัตรเครดิต

2. เมื่อจ่ายบัตรเครดิต

ที่ญี่ปุ่นร้านค้าตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อ ร้านแฟรนไชส์ใหญ่ๆที่มีสาขามากมาย ไปจนถึงร้านระดับชาวบ้านที่ดูแลกันเองแบบครอบครัว ส่วนมากสามารถจ่ายบัตรเครดิตได้ บางที่พนักงานจะรับบัตรเครดิตของเราไปรูดได้เลย แต่บางร้านโดยเฉพาะพวกร้านสะดวกซื้อจะมีเครื่องรูดบัตรวางอยู่ด้านหน้า เพื่อให้ลูกค้าเป็นคนรูดหรือเสียบบัตรเอง ทั้งนี้ก็เพื่อความโปร่งใสในการชำระเงิน

3. เมื่อซื้อน้ำหรือของชิ้นเล็ก

3. เมื่อซื้อน้ำหรือของชิ้นเล็ก

หากเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเราซื้อของชิ้นเล็กๆชิ้นเดียว เช่นซื้อน้ำ1ขวด ที่ดูแล้วเหมือนจะดื่มได้ทันที หรือซื้อขนมชิ้นเล็กๆเช่นลูกอม หมากฝรั่ง พนักงานจะเป็นฝ่ายถามเราว่าเราจะใส่ถุงไหม

ถ้าเราไม่เอาถุงพนักงานจะแปะสติ๊กเกอร์ที่เป็นโลโก้ของร้าน เพื่อเป็นการทำเครื่องหมายว่าสินค้าชิ้นนี้ได้ชำระเงินแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้โดนเข้าใจผิดว่าเป็นขโมย หากเราถือสินค้าเข้าร้านอื่นที่มีสินค้าแบบเดียวกัน พนักงานก็จะไม่เข้าใจผิดว่าเรายังไม่จ่ายเงินอีกด้วย เพราะดูแล้วจะรู้ทันทีว่าเราซื้อมาจากร้านอื่นต่างหาก

4. เมื่อซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

4. เมื่อซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ญี่ปุ่นจะห้ามบุคคลที่อายุต่ำกว่า20ปีดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ ดังนั้นเวลาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ที่ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นจะมีการเช็ค โดยปกติหากพนักงานเจอคนที่หน้าเด็กมากๆจนน่าสงสัย พนักงานก็สามารถขอดูใบขับขี่หรือบัตรประกันสุขภาพเพื่อขอยืนยันอายุได้ (ญี่ปุ่นไม่มีบัตรประชาชน) แต่หลังจากเริ่มใช้กฏนี้มาหลายปี เดี๋ยวนี้มีวิธีที่ไม่ต้องแสดงบัตรแล้ว ในปัจจุบันตามร้านสะดวกซื้อจะมีหน้าจอแบบในภาพให้ลูกค้าทัชปุ่มยืนยัน ว่าตัวเองอายุมากกว่า20ปี โดยเมื่อลูกค้ากดยืนยันแล้ว ทางร้านถึงจะขายให้ได้ค่ะ

การที่ลูกค้าทัชปุ่มยืนยันที่หน้าจอแล้วจะไม่ถือว่าเป็นความผิดของทางร้านแม้ลูกค้าจะโกหก แต่เป็นความผิดของลูกค้าที่ต้องรับผิดเองหากโดนจับได้ ที่ทำเป็นหน้าจอให้ทัชแบบนี้ก็เพื่อความรวดเร็ว รวมทั้งเป็นมาตรการความปลอดภัยของฝั่งร้านค้าและพนักงาน รวมถึงช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ซื้อด้วยค่ะ (เพราะจะได้ไม่ต้องโชว์บัตรบ่อยๆ)

แต่ถ้าถามว่า พนักงานขอดูบัตรทุกคนไปเลยจะปลอดภัยกว่ามั้ย โกหกไม่ได้เหมือนการให้มาทัชสกรีนกันแบบนี้ ก็อาจจะจริง แต่ส่วนใหญ่ก็เกรงใจกันค่ะ แทบไม่เคยเห็นพนักงานที่ขอดูบัตรแบบจริงๆจังๆเลย แถมค่อนข้างเสียเวลาด้วยค่ะ เชื่อว่าสุดท้ายการที่พัฒนากันมาเป็นระบบทัชแบบนี้เป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้งานง่ายขึ้น มีเหตุมีผลดีค่ะ

5. เมื่อสั่งเครื่องดื่มจำพวกกาแฟ

5. เมื่อสั่งเครื่องดื่มจำพวกกาแฟ

ร้านสะดวกที่ญี่ปุ่นสามารถสั่งเครื่องดื่มจำพวกกาแฟได้ที่แคชเชียร์ บางร้านเมื่อเราสั่งแล้วพนักงานจะทำให้เราเรียบร้อย เราแค่หยิบฝาปิดแก้วและกระดาษครอบแก้ว แต่หลายๆร้านจะเป็นบริการตัวเอง เมื่อเราสั่งพนักงานจะคิดเงินและเอาแก้วเปล่าให้เรา แล้วเราต้องไปกดที่ตู้ข้างๆแคชเชียร์เอาเอง ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้คนต่างชาติไม่ค่อยใช้บริการ เพราะอาจจะไม่เข้าใจระบบหรือไม่ทราบวิธีการกดเครื่องดื่ม จึงนิยมไปตามร้านกาแฟ หรือซื้อกาแฟแบบขวดหรือกระป๋องมากกว่า

แต่ข้อดีของกาแฟแบบนี้ก็คือ ราคาถูกเพราะบริการตัวเอง กาแฟดำง่ายๆ เริ่มต้นที่ประมาณแก้วละร้อยเยนถ้วนๆ เมื่อเทียบกับร้านกาแฟทั่วไปที่มักเริ่มที่ประมาณ 250-300 เยน แล้วจะถูกกว่ามาก (ร้อยเยนถ้าคิดเป็นบาทก็สามสิบบาทค่ะ ถูกกว่าบางร้านที่ไทยเสียอีก)

6. เมื่อซื้อผ้าอนามัย/ถุงยางอนามัย

6. เมื่อซื้อผ้าอนามัย/ถุงยางอนามัย

เพื่อเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกค้าผู้หญิง จึงเป็นปกติที่เวลามีลูกค้าที่ซื้อผ้าอนามัย แทบทุกร้านพนักงานจะใส่ถุงกระดาษหรือใส่ถุงทึบให้ เพื่อไม่ให้มองเห็นสิ่งของข้างในถุง ถึงแม้ว่าการซื้อผ้าอนามัยจะเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิง แต่ก็ยังมีคนที่เขินอายเวลาซื้อผ้าอนามัย

บริการแบบนี้ยังรวมไปถึงพวกถุงยางอนามัยหรือพวก sex toy อีกด้วย ทางร้านก็จะห่อถุงกระดาษหรือใส่ถุงทึบให้เช่นกัน

เป็นยังไงบ้างคะ รู้จักอยู่แล้วกี่เรื่องเอ่ย หลายๆเรื่องเป็นสิ่งที่เห็นได้แม้ในไทย แต่ก็ยังมีอีกหลายๆเรื่องที่หลายไม่เคยเห็นหรือยังไม่ทราบว่าทำเพื่ออะไร (แม้แต่คนญี่ปุ่นเอง)

เราเห็นว่าญี่ปุ่นจะใส่ใจในเรื่องการบริการแม้เรื่องเล็กๆน้อยๆ ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส และใส่ใจรายละเอียด ทำให้เรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้เองที่ทำให้ชาวต่างชาติประทับใจ และยกย่องให้เป็นประเทศที่มีการบริการที่ยอดเยี่ยมค่ะ

know-before-you-go