allabout japan
allabout japan

รวมเทคนิคการขึ้นรถไฟแบบคนญี่ปุ่น

รวมเทคนิคการขึ้นรถไฟแบบคนญี่ปุ่น

ใครขึ้นรถไฟญี่ปุ่นเป็นแล้ว แต่อยากฝึกฝีมือ เพิ่มความสามารถ มาดูเกร็ดเล็กน้อยของการนั่งรถไฟแบบคนญี่ปุ่นกัน ทั้งเรื่องการดูป้าย การอ่านตารางเวลา สิ่งต่างๆที่รู้แล้วทำให้เราถึงที่หมายได้เร็วและง่ายขึ้นเยอะอีกนะเออ!

By ป้าเมโกะ

ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งรถไฟเลยก็ว่าได้ เพราะมีหลายสายครอบคลุมทั้งประเทศ มีหลากหลายแบบ ผสมผสานกับความเป็นคนละเอียดอ่อนและใส่ใจรายละเอียดของคนญี่ปุ่น จึงทำให้ภายในความธรรมดามีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ ให้เราได้ทึ่งอยู่เรื่อยๆ

เชื่อว่าหลายคนขึ้นรถไฟเป็นแล้ว สามารถเดินทางไปจุดหมายได้ไม่ยาก แต่หากใครสามารถนำสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่สถานีรถไฟของญี่ปุ่นได้ออกแบบไว้มาใช้ประโยชน์ได้ละก็ จะทำให้เปลี่ยนรถ ขึ้นลงได้เป๊ะยิ่งขึ้น การตกรถหรือไปสายจะเป็นอดีตแน่นอน ติดตามอ่านนะคะ

วิธีการอ่านหมายเลขตู้รถไฟ

วิธีการอ่านหมายเลขตู้รถไฟ

หลายคนคงเคยดูอนิเมะหรือละครญี่ปุ่น ที่พระเอกนางเอกนัดกันบนรถไฟ พอถึงสถานีปุ๊บ ประตูรถไฟเปิดมา พระเอกก็จ๊ะเอ๋มาเจอนางเอกในขบวนรถไฟได้พอดี ดิฉันตอนมาแลกเปลี่ยนก็อึ้งมากเพื่อนหาดิฉันเจอในโบกี้พอดีได้อย่างไร (แหมเหมือนนางเอก คริคริ) แต่จริงๆ แล้วง่ายนิดเดียว เพียงอ่านป้ายด้านบนเราก็จะรู้ว่าเราอยู่ตู้ไหน ประตูที่เท่าไร

เช่นจากภาพด้านบน
1号車 หมายถึง รถตู้แรก หมายเลข1
2番ドア หมายถึงประตูที่ 2 ของตู้นั้นๆ นั่นเอง

ทีนี้ใครจะนัดหนุ่มๆให้เปิดประตูรถไฟมาเจอกันเลยเหมือนในละคร ก็รู้วิธีทำแล้วนะ อิอิ

ถ้าอ่านป้ายนี้เป็น จะไม่ต้องเดินไกล!

ถ้าอ่านป้ายนี้เป็น จะไม่ต้องเดินไกล!

มาญี่ปุ่น เราก็ต้องเดิน เดิน เดิน หลายคนที่เคยมาคงเคยบ่นอุบว่าเมื่อยเท้าไปหมด แต่ไม่เป็นไรครั้งนี้เรามีเคล็ดลับ ป้ายนี้คือป้ายที่แสดงว่าตอนนี้เราอยู่ที่สถานีไหน ตู้ที่เท่าไร และถ้าเราจะไปยังสถานีที่เป็นจุดหมายเราควรขึ้นตู้ไหนถึงจะเดินใกล้ที่สุด บรรยายไปก็ดูงงใช่ไหม เราไปดูตัวอย่างกันเลย

เช่นจากภาพ กรอบและเครื่องหมายคำพูดสีน้ำเงินแสดงให้เห็นว่าตอนนี้เรากำลังอยู่สถานี Wakamatsu-kawada E03 ตู้ที่ 1

ถ้าเราต้องการไปช้อปปิ้งที่สถานี Shinjuku-nichiguchi หรือ สถานี E01 โดยที่อยากจะออกทางออก A5 และเดินขึ้นบันไดเลื่อนไม่ไกล ก็ให้เราเลือกนั่งตู้ที่ 2 เพราะมันใกล้บันไดเลื่อนและใกล้ทางออก A5 มากที่สุด (มีสัญลักษณ์บันไดเลื่อน ห้องน้ำ และหมายเลขทางออกกำกับอยู่) เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราประหยัดเวลาในการเดิน ไม่ต้องเมื่อย ไม่ต้องหลง เหลือเวลาไปช้อปปิ้งเพลินๆได้สบายๆ

การอ่านตารางเวลา นัดใครไว้ไม่พลาดแน่นอน

การอ่านตารางเวลา นัดใครไว้ไม่พลาดแน่นอน

คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ตรงเวลามากๆ เผื่อมีนัดกับเพื่อนคนญี่ปุ่น เช็คเวลาเดินรถไฟไว้ก่อนก็อุ่นใจดี

วิธีการอ่านเวลาก็ง่ายๆ ด้านซ้าย (สีน้ำเงิน) เป็นเวลาทำการของวันธรรมดา ส่วนด้านขวา(สีแดง) เป็นเวลาทำการในวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยแถบสีดำตรงกลางหมายถึงชั่วโมง ส่วนเลขตัวเล็กๆ สองข้างตาราง หมายถึงนาที

ตัวอย่างเช่นหากอยากรู้รถขบวนแรกและสุดท้าย เราจะทราบว่ารถไฟเที่ยวแรกของทั้งวันธรรมดาและวันหยุดคือเวลาตีห้า 5:18น. และเที่ยวสุดท้ายของวัน (เลข 0 แถวล่างสุด) ทั้งวันธรรมดาและวันหยุดคือเวลา 24:35น.

ส่วนถ้าอยากดูเวลาว่าคันต่อไปมาเมื่อไหร่ ก็ลองหาดูตามเวลานั้นๆ เช่นถ้าตอนนี้เป็นวันจันทร์เวลา 8:00น. ให้ลองดูบรรทัดที่สี่ด้านซ้าย จะเห็นได้ว่าคันต่อไปที่จะมาคือเวลา 8:02น. นั่นเอง

การสังเกตที่นั่งผู้สูงอายุ คนท้องและคนป่วย

การสังเกตที่นั่งผู้สูงอายุ คนท้องและคนป่วย

ตู้นี้จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปผู้สูงอายุ คนท้องหรือผู้ป่วย หรือรถไฟบางสายก็จะมีสัญลักษณ์สีฟ้าหรือหัวใจสีแดงเหมือนดังภาพด้านบน ตู้โบกี้นี้เป็นที่นั่งเฉพาะที่จัดให้คุณตาคุณยาย ผู้ป่วย หรือผู้ที่มีเด็กเล็ก มีรถเข็น หลายคนที่เคยมาเที่ยวญี่ปุ่นคงแปลกใจและสงสัยว่าทำไมที่ญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยเห็นคนลุกยืนให้ผู้สูงอายุ เพราะว่าคนญี่ปุ่นถือว่าทางรถไฟได้จัดที่นั่งให้ไว้แล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่ต้องไปนั่งในที่ของตนเอง นี่ก็เป็นวิธีคิดอีกแบบที่ไม่เหมือนบ้านเรา วิธีการสังเกตง่ายๆก็คือการดูที่ป้ายตรงฉากกั้นประตูรถไฟแบบดังภาพนั่นเอง

การสังเกตที่นั่งผู้สูงอายุ คนท้องและคนป่วย (ต่อ)

การสังเกตที่นั่งผู้สูงอายุ คนท้องและคนป่วย (ต่อ)

หรือถ้าสถานีรถไฟนั้นไม่มีสัญลักษณ์ดังกล่าวตรงที่กั้นประตู ก็ให้สังเกตที่พื้นบริเวณที่เราต่อแถวจะมีสัญลักษณ์ผู้สูงอายุ คนท้อง คนป่วยอยู่ ดังนั้นใครมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วพาคุณพ่อคุณแม่หรือมีรถเข็นเด็กก็สามารถเลือกนั่งโบกี้นี้ได้ตั้งแต่ต่อแถวรอรถไฟเลย จะช่วยให้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเดินหาที่นั่งภายในตู้ที่คนเบียดเสียด (และอาจจะไม่มีที่นั่งสำหรับคนท้องค่ะ)

โบกี้ผู้หญิง

โบกี้ผู้หญิง

รถไฟในโตเกียวอัดแน่นเหมือนปลากระป๋อง โดยเฉพาะตอนเช้า เหล่าลุงๆซาลารี่แมน (พนักงานบริษัท) ก็เพียบ อาจทำให้ผู้หญิงไม่สะดวกในการนั่งรถไฟ ดังนั้นวิธีจัดการกับปัญหาง่ายๆที่ญี่ปุ่น เขาก็เลยจัดโบกี้พิเศษสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะไปเลย แต่เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเท่านั้นนะ เช่นเวลา 7-9 โมงเช้า (แล้วแต่สายรถไฟ แตกต่างกันไป)

นักท่องเที่ยวอย่างเรา กระเป๋าสัมภาระมากมาย ทางที่ดีหลีกเลี่ยงการเดินทางชั่วโมงเร่งด่วน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ (โดยเฉพาะหนุ่มๆ) ก็สังเกตป้ายชมพูๆดังกล่าว จะได้ไม่หลงไปโบกี้ผู้หญิงนะจ๊ะ

ปุ่มฉุกเฉิน

ปุ่มฉุกเฉิน

หลายคนคงได้ยินข่าว คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายโดยการโดดรถไฟกันเยอะ เผื่อนักท่องเที่ยวอย่างเราๆเกิดแจ็คพอตอยู่ในเหตุการณ์ระทึกขวัญดังกล่าวหรือเกิดมีใครหน้ามืดเป็นลม ก็ให้กดปุ่มแดง ปุ่มฉุกเฉินแล้วรถไฟก็จะหยุดวิ่งเพื่อความปลอดภัยในเวลาฉุกเฉินจ้า

https://www.youtube.com/watch?v=-GF_dku3Mgo

เพลงแต่ละสถานี

หากใครสังเกตดีๆ แต่ละสถานี จะมีเพลงที่เปิดเป็นสัญญาณเตือนก่อนประตูรถไฟปิดที่แตกต่างกัน ฟังไปฟังมามันก็เพราะเหมือนกันนะ ลองสังเกตดู หลายคนเห็นลุงญี่ปุ่นนั่งสัปหงกบนรถไฟ แต่ไหนตื่น ลุกขึ้นเด้งออกจากรถไฟเมื่อถึงสถานีเป้าหมายได้อย่างมหัศจรรย์ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าลุงๆ เขาจำเสียงสถานีที่เขาอยากลงได้ยังไงละ (นับถือ สกิลสูงจริงๆ55) ลองฟังกันดู มีเพลงต่างๆกันไป เกือบจะทุกสถานีเลย ละเอียดจริงๆคนญี่ปุ่นเนี่ย!

เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย

เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ยกับเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยของรถไฟญี่ปุ่นในครั้งนี้ ใครมาญี่ปุ่นก็ลองสังเกตดู เพราะทำให้สามารถนั่งรถไฟได้สะดวกขึ้น และถึงที่หมายได้โดยเหนื่อยน้อยลง แต่จริงๆแล้วรถไฟญี่ปุ่นยังมีสิ่งเล็กๆน้อยๆที่น่าสนใจที่คนญี่ปุ่นได้ออกแบบไว้มากมายนะ เอาไว้เป็นไอเดียดีๆเผื่อสักวันเมืองไทยเราจะเอาไปปรับใช้บ้างเนอะ อิอิ

ป้าเมโกะ

ป้าเมโกะ ผู้ที่ไม่ได้มีคำว่า`ญี่ปุ่น`ในหัวเลย แต่ต้องมาใช้ชีวิตติดเกาะ
ด้วยไลฟ์สไตล์อันเป็นเอกลักษณ์คนรอบข้างให้ตำแหน่ง`ป้า` มาตั้งแต่จำความได้