รอบรู้เรื่องซามูไร
ซามูไรคืออะไร ต่างกับนินจาอย่างไรบ้าง และพวกเขาเหล่านั้นเคยมาที่ประเทศไทยหรือไม่ รอบรู้เรื่องซามูไร มีคำตอบให้ที่นี่!
By ป้าเมโกะซามูไรคืออะไร
ซามูไร (侍) คือนักรบโบราณของญี่ปุ่น ว่ากันว่าซามูไรมีมาตั้งแต่สมัยเฮอัง (ประมาณ ค.ศ. 794 - ค.ศ. 1185) ในสมัยนั้นซามูไรเป็นเพียงผู้ถูกว่าจ้างให้มาปราบชนกลุ่มน้อยในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเท่านั้น โดยมักจะถูกจ้างจากเจ้าของที่ดินหรือตระกูลที่ร่ำรวยและมีอำนาจ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็มักจะถูกว่าจ้างต่อเพื่อคอยปกป้องตระกูลเหล่านั้นต่อไป ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า คำว่า ‘ซามูไร’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘ซะบุระอุ’ ซึ่งแปลว่า ‘รับใช้’ นั่นเอง ดังนั้นหลักการที่ซามูไรยึดถือปฏิบัติ คือหลัก ‘บูชิโด’ (武士道) หรือวิถีแห่งนักรบ โดยจะยึดคติภักดีต่อเจ้านายเป็นสำคัญ เน้นความกตัญญู ยึดถือธรรมชาติ ตามหลักของพุทธนิกายเชนนั่นเอง
จากนักรบที่ถูกว่าจ้างธรรมดา ซามูไรเริ่มมีชนชั้นและบทบาททางสังคมมากขึ้น เนื่องจากในสมัยก่อนมีการแย่งชิงอำนาจระหว่าง 2 ตระกูลใหญ่ ได้แก่ตระกูลมินาโมโตะและตระกูลไทระ โดยตระกูลใหญ่ที่มีซามูไรในการควบคุมมากมาย ได้ต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจจากจักพรรดิญี่ปุ่น และท้ายที่สุดแล้วตระกูลมินาโมโตะก็สามารถเอาชนะตระกูลไทระ และยึดอำนาจจากจักรพรรดิ และตั้งตนเป็นโชกุนขึ้นมาได้สำเร็จ เกิดขึ้นเป็นรัฐบาลโชกุนยุคคามาคุระ โดยมีมินาโมโตะ โยริโทโมะ เป็นโชกุนคนแรก ซามูไรจากตระกูลมินาโมโตะก็เลยมียศฐาบรรดาศักดิ์มากขึ้นกว่าเดิม และบทบาทของซามูไรโดยรวมก็มีมากขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน เช่นจากแต่ก่อนคอยเป็นเป็นเหมือนนักรบรับจ้างเป็นหลักเท่านั้น ซามูไรก็มีหน้าที่อื่นๆเช่น คอยเก็บภาษี และทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองคล้ายๆกับตำรวจในปัจจุบัน
จนกระทั่งในยุคเอโดะที่เป็นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นสงบสุข ไม่ค่อยมีสงครามภายใน ความต้องการกองกำลังรบต่างๆก็น้อยลง ซามูไรจึงค่อยๆลดบทบาทและเริ่มหันมาประกอบอาชีพอื่น เช่น เปลี่ยนเป็นข้าราชการทั่วไป เป็นครู หรือเป็นศิลปินตามแบบที่ตนเองถนัด และในที่สุดในปี 1868 ซึ่งเป็นปีที่ระบบศักดินาต่างๆ รวมถึงตำแหน่งอย่างเช่นโชกุนและไดเมียว(ผู้ปกครองหัวเมืองหรือเจ้าเมือง) ของญี่ปุ่นได้หมดสิ้นลง บรรดาชนชั้นซามูไรก็หมดลงไปด้วยเช่นกัน
ดาบของซามูไร
อาวุธประจำกายของซามูไรจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากดาบคู่ใจที่เราคุ้นตากันนั่นเอง ดาบซามูไรหรือนิฮงโต (日本刀) ที่แปลว่าดาบญี่ปุ่น เป็นคำเรียกที่ใช้แยกดาบญี่ปุ่นและดาบตะวันตกออกจากกัน ดาบญี่ปุ่นมีคมข้างเดียว เพื่อใช้ฟันและตัด ปกติซามูไรจะพกดาบ 2 เล่มไว้กับตัว นั่นคือดาบเล่มยาวและเล่มสั้น ดาบเล่มสั้นคือดาบประจำตัวที่ไม่จำเป็นต้องฝากไว้ข้างนอกก่อนเข้าเคหะสถานหรือบ้านของคนอื่น โดยดาบของญี่ปุ่นมักมีหน่วยวัดความยาวเป็น ชะกุ (尺) ซึ่ง 1 ชะกุมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
ดาบของซามูไรมีหลากหลายประเภทแบ่งตามความยาวและลักษณะการใช้งาน โดยที่พบได้บ่อยก็เช่น 4 ประเภทต่อไปนี้
1.ทาชิ (太刀)
ชื่อดาบมาจากตัวอักษรที่แปลว่า "อ้วน" และ "ดาบ" มีความยาวประมาณ 2 ชะกุ หรือประมาณ 60 เซนติเมตร เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยเฮอัง (ประมาณปี 794-1185) แต่ก่อนมักใช้รบโดยนักรบมักจะใช้ดาบทาชินี้ฟันศัตรูจากหลังม้า ถือว่าเป็นดาบที่มีขนาดใหญ่ความแหลมคมเป็นอย่างมาก
2.คะตะนะ (刀)
มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร เริ่มประดิษฐ์เมื่อสมัยมุโระมะชิ (室町時代) หรือประมาณปี 1392-1573 เป็นดาบที่ได้รับความนิยมมากเพราะมีลักษณะเด่นที่ความคม เบาบาง มีปลายแหลมข้างเดียวโดยปลายงุ้มขึ้น ว่ากันว่าเป็นดาบที่แหลมคมมากสามารถคร่าชีวิตศรัตรูได้เพียงการลงดาบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ต่างกับดาบทาชิที่ปลายดาบโค้งลง จึงทำให้ดาบคะตะนะได้รับความนิยมมากกว่าดาบทาชิในเวลาต่อมา
3.วากิซาชิ (脇差)
เป็นดาบสั้นที่ซามูไรไว้พกคู่กับดาบยาว เช่น ดาบทาชิและดาบคะตะนะข้างต้น มักจะความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เชื่อว่าดาบชนิดนี้เริ่มปรากฏครั้งแรกประมาณระหว่างปี 1332-1369 ดาบวากิซาชิเป็นดาบที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีว่าบุคคลคนนี้เป็นซามูไรจริงหรือไม่ และยังใช้บอกลำดับชนชั้นและสถานะของตนอีกด้วย ดังนั้นด้วยความที่ดาบวากิซาชิเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของซามูไรแต่ละคน ดาบวากิซาชินี้จึงเป็นดาบเดียวกันกับที่ซามูไรใช้ในการฮาราคีรี (腹切り) หรือการฆ่าตัวตายโดยการคว้านท้องเพื่อเป็นการไถ่โทษตัวเองของซามูไรนั่นเอง
4.ทันโต (短刀)
ทันโตเป็นมีดสั้น ชื่อเขียนด้วยตัวอักษรที่แปลว่า "สั้น" และ "ดาบ" เมื่อรวมกันแล้วจึงแปลได้ว่าดาบสั้น มักจะมีความยาวตั้งแต่ประมาณ 15-30 เซนติเมตร เริ่มมีมาประมาณกลางสมัยเฮอัง อาจมีคมข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มักจะเป็นดาบเรียบแบน ต่างกับคะตะนะที่จะมีรอยงุ้มและโค้งเว้ามากกว่า ดาบทันโตนี้มีไว้สำหรับแทงและตัดโดยเฉพาะ เหล่าซามูไรมักจะพบดาบทันโตกันแทนดาบวากิซาชิเมื่อก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ดาบวากิซาชิขึ้นนั่นเอง
ความแตกต่างของซามูไรกับนินจา
หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าซามูไรและนินจานั้นต่างกันอย่างไร เพราะดูเหมือนว่าทั้งคู่จะมีภารกิจหลักคือสู้รบเหมือนกัน สามารถกล่าวง่ายๆ ซามูไรก็คือทหาร ส่วนนินจาก็คือสายลับนั่นเอง
หลักที่ต่างกันชัดๆก็คือ ซามูไร จะยึดคำสอนตามหลัก บูชิโด (武士道) หรือวิถีแห่งนักรบอย่างเคร่งครัด โดยจะยึดถือความจงรักภักดีต่อเจ้านายโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆในหน้าที่ ยึดถือในเกียรติและศักดิ์ศรีและภาระหน้าที่ของตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งต่างกับนินจาที่จะรับงานสอดแนม ลอบสังหาร หรืองานตามสั่งต่างๆ ตามแต่ค่าจ้างที่จะตกลงกัน ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าซามูไรจะสังกัดอยู่ในตระกูลใหญ่และมีอำนาจ แต่นินจานั้นจะอิสระ สามารถรับงานตามค่าจ้างที่ตนพอใจ ดังนั้นด้วยความที่ซามูไรมีคนที่มีอำนาจคอยปกครองและมีการยึดถือคำสอนที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซามูไรจึงมีหน้ามีตาและมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่านินจา
อีกจุดที่สังเกตได้ชัด คือ เรื่องการแต่งกาย ตามภาพนินจาที่เราเคยเห็นกันนั้น นินจาจะแต่งตัวสีดำ รัดกุม เหลือเพียงส่วนตาที่ไม่ถูกปกคลุมเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วนินจาก็ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าสีดำเสมอไป เพราะด้วยภารกิจหลักคือการสอดแนม ดังนั้นจึงต้องแต่งกายให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่แต่งตามกันไป เช่น อาจปลอมตัวเป็นพ่อค้า ชาวบ้าน หรือซามูไรก็ได้ตามแต่สถานการณ์ ส่วนซามูไรนั้น จะแต่งกายด้วยกิโมโน ตอนออกรบก็จะมีเสื้อเกราะครบชุดตามฐานะและตำแหน่ง มีอาวุธคู่กายคือดาบที่กล่าวไปข้างต้นไม่เหมือนนินจาที่จะใช้อาวุธหลากหลายตามแต่สถานการณ์ เน้นความกะทัดรัด เช่น ดาวกระจายที่เรามักเห็นกันหรืออาวุธอื่นๆที่พกพาสะดวก ไม่ใหญ่โตจนเป็นจุดสนใจของคนรอบข้าง
ซามูไรในไทย ออกญาเสนาภิมุข
ที่ไทยเราก็เคยมีซามูไรเช่นกัน โดยซามูไรที่เป็นที่รู้จักดีมีชื่อว่า ยามาดะ นางามาซะ (山田長政) เข้ามากรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่เดิมยามาดะเป็นเพียงซามูไรชั้นผู้น้อยในญี่ปุ่น ต่อมาเข้ามาในประเทศไทยและได้มีโอกาสรับราชการในกองทหารอาสาญี่ปุ่น จากนั้นจึงค่อยๆมีตำแหน่งสูงขึ้นจนได้เป็นเจ้ากรมทหารอาสาญี่ปุ่นและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข (ตำแหน่ง ออกญา เทียบเท่ากับพระยา)
ต่อมาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เกิดข้อพิพาทขึ้นในเรื่องการแย่งชิงอำนาจหลังจากพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต ออกญาเสนาภิมุข จึงถูกเนรเทศจากกรุงศรีอยุธยาและได้ไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา แต่จนบั้นปลายชีวิตของออกญาเสนาภิมุขก็ยังคงวนเวียนกับการแย่งอำนาจในเมืองหลวง จนในที่สุดเขาก็เสียชีวิตจากการที่พระเจ้าปราสาททองได้ให้เจ้าเมืองนครเก่า (เจ้าเมืองไชยา) แอบลอบวางยาพิษจนสิ้นใจ
ลองไปที่เที่ยวเกี่ยวกับซามูไร ณ Samurai Kembu Theater Kyoto
แม้ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นจะไม่มี"ซามูไร" ตัวเป็นๆ จริงๆ ให้เห็นกันแล้ว แต่เรื่องราวของซามูไรนั้นยังสามารถหาเรียนรู้ได้ทั่วไป ชาวต่างชาติอย่างเราๆก็สามารถเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ได้ อย่างเช่นที่ Samurai Kembu Theater Kyoto ไม่เพียงแต่จะมีโชว์ซามูไรอันตระการตาแล้ว เรายังสามารถทดลองเป็นซามูไรกันได้อีกด้วย เพราะที่นี่เขามีคลาสสอนทั้งการแสดงและการใช้ดาบซามูไรในการต่อสู้ และยังมีให้แต่งตัวซามูไรแบบแท้ๆอีกด้วย ใครอยากสัมผัสวิถีนักรบญี่ปุ่นละก็ ที่นี่เป็นที่เที่ยวที่พลาดไม่ได้เลย
- www.samurai-kembu.jp (อังกฤษ)
สรุป
ซามูไรถือเป็นนักรบที่มีเกรียติ ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถ้าใครที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์หรือมีโอกาสลองแวะไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ลองไปเยี่ยมชมที่เที่ยวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เราสามารถสัมผัสจิตวิญญาณบูชิโดของเหล่านักรบซามูไรได้ดูนะคะ