allabout japan
allabout japan

รู้รอบเรื่องบอนไซญี่ปุ่น

รู้รอบเรื่องบอนไซญี่ปุ่น
pixabay.com

บอนไซคือศาสตร์การจับต้นไม้ใหญ่ใส่กระถางเล็ก โดยไม่ได้เกี่ยวกับการปลูกเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ดูแล ผู้ชม ก็เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์นี้เช่นกัน เป็นเรื่องทางจิตใจไม่ใช่แค่ฝีมือ คนรักบอนไซมือใหม่ต้องอ่าน!

By theneww
ความหมายของบอนไซ

ความหมายของบอนไซ

คำว่าบอนไซ 盆栽 เป็นการนำคำว่า盆ซึ่งแปลว่ากระถาง และคำว่า栽ซึ่งแปลว่าการปลูก มาประกอบเข้าด้วยกัน

ความหมายของบอนไซ ไม่ใช่แค่ตัวต้นไม้อย่างเดียว แต่ยังรวมถึง การปลูก การชื่นชม การพินิจพิจารณาความงามของต้นบอนไซ ที่ปลูกลงในกระถางสำหรับบอนไซโดยเฉพาะ (盆栽鉢) การเฝ้าดูความเจริญเติบโตของกิ่งก้าน รูปทรงของใบไม้ของต้นบอนไซ รวมไปถึงรากที่ชอนไช รวมถึงรูปทรงกระถางด้วย คำว่าบอนไซนั้นรวมถึงทุกอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นงานอดิเรกกึ่งงานศิลปะชนิดหนึ่งของชาวญี่ปุ่น พบเห็นได้ทั่วไปตามบ้านหรือสวนของคนญี่ปุ่น

บอนไซคืออะไร

https://pixabay.com/ja/%E7%9B%86%E6%A0%BD-%E3%82%AB%E3%83%A9%E3%83%9E%E3%83%84-%E6%97%A5%E6%9C%AC-%E6%96%87%E5%8C%96-%E6%97%A5%E6%9C%AC%E5%BA%AD%E5%9C%92-1805499/

บอนไซคืออะไร

นอกจากการนั่งชื่นชมพวกต้นไม้เหล่านั้นแล้ว บอนไซยังรวมไปถึงการจัดแต่งทรงกิ่งต้นไม้ให้ดูเป็นธรรมชาติด้วยเช่นกัน นี่คือจุดเด่นที่ทำให้บอนไซแตกต่างจากการปลูกไม้กระถางอื่นๆ ทั่วไป

กล่าวโดยละเอียดถึงความแตกต่างของบอนไซกับการปลูกไม้กระถางอื่นๆ ทั่วไป ก็คือ ผู้ปลูกบอนไซจะต้องทำการตัดแต่ง ดัดแปลงให้กิ่งของบอนไซมีลักษณะคล้ายกับต้นไม้ใหญ่ทั่วไปที่เราไม่สามารถปลูกได้ อาจจะด้วยข้อจำกัดของบริเวณบ้านที่มี บอนไซจึงถูกดัดแปลงให้เหมือนเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ย่อส่วนลงมาอยู่ในกระถางนั่นเอง

นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่สนใจหรือไม่มีโอกาสพอที่จะปลูกด้วยตนเอง การชมบอนไซแค่เพียงอย่างเดียวก็เป็นงานอดิเรกที่ล้ำลึกและใช้เวลาพอดู

ประวัติของบอนไซญี่ปุ่น

วัฒนธรรมบอนไซของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในยุคเฮอัน โดยนำเข้ามาจากจีนในยุคราชวงศ์ถัง และเริ่มได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและซามูไร โดยทำกันเป็นงานอดิเรกในยุคคามาคุระ

พอเข้าสู่ช่วงยุคเอโดะ บอนไซ ศิลปะการแต่งสวนต่างๆ ก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของบอนไซเลยก็ว่าได้ แม้ว่างานปลูกบอนไซจะเป็นงานอดิเรกทั่วไปของชาวญี่ปุ่น แต่การดูแล จัดแต่งทรง คอยให้น้ำ การเฝ้ามองต้นไม้ 1 ต้นเติบโตขึ้นมานั้นจำเป็นต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร ทำให้ในยุคเมจิบุคคลที่เล่นบอนไซจึงเหลือแต่พวกที่ใจรักมากจริงๆเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นคนในช่วงอายุสูงวัยที่พอจะมีเวลาเหลือ ทำให้หลังจากนั้นค่านิยมการปลูกบอนไซกลายเป็นค่านิยมที่ดูแก่และไม่ทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันในช่วงยุคปี 1990 เป็นต้นมา บอนไซก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติและทั่วโลกมากยิ่งขึ้น ทำให้ความสนใจในหมู่คนญี่ปุ่นเองค่อยๆฟื้นกลับมาอีกครั้ง

การปลูกบอนไซแบบญี่ปุ่น

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/86/Small_Scissors.jpg

การปลูกบอนไซแบบญี่ปุ่น

หลายคนอาจจะคิดว่าบอนไซเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ มีต้นไม้หลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ที่เราสามารถนำมาปลูกเป็นบอนไซได้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดอก สายพันธุ์ใบ สายพันธุ์กิ่ง แม้กระทั่งสายพันธุ์ที่ให้ผลก็นำมาปลูกได้

สำหรับคนญี่ปุ่นต้นไม้ที่นิยมนำมาปลูกบอนไซได้แก่ไม้พันธุ์ต้นสนต่างๆ ต้นสนเกี๊ยะ ต้นสนดำ ไม้พุ่มเตี้ยตระกูลเดียวกับต้น Holly ต้นพลับ ต้นซากุระ ต้นไผ่ เป็นต้น

โดยเมื่อเราได้ต้นไม้ที่ต้องการนำมาปลูกบอนไซแล้ว ขั้นแรกคือการย้ายมาที่กระถางสำหรับปลูกบอนไซโดยเฉพาะ โดยการเลือกกระถางให้เหมาะสมกับต้นไม้ที่นำมาปลูกก็เป็นสิ่งสำคัญ ขนาดของกระถางควรจะอยู่ที่ 1 ใน 3 ของขนาดต้นไม้ นอกจากนี้แล้วภายในกระถางควรจะเป็นเนื้อดินเผา ไม่มีการเคลือบอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนรูปทรงและสีสันก็ให้ขึ้นอยู่กับต้นไม้ที่จะนำมาปลูก

การวางบอนไซควรจะวางในที่ที่แสงแดดส่องถึงได้ดี กล่าวกันว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการปลูกบอนไซคือการให้น้ำ ถ้าให้น้ำน้อยไปบอนไซก็จะเหี่ยวแห้ง ให้น้ำมากไปก็จะเน่าตาย โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะกำหนดการให้น้ำบอนไซโดยขึ้นอยู่กับช่วงฤดู ที่สำคัญคืออย่าให้ดินแห้ง ในทางกลับกันก็อย่าให้น้ำจนท่วม ไม่ควรจะใช้กระถางรองใส่น้ำไว้ตลอด เพราะจะทำให้รากเน่าได้ โดยแต่ละครั้งให้รดน้ำที่รากจนชุ่มเต็มกระถาง ไม่ควรรดไปที่ด้านบนอย่างกิ่งหรือใบหรือดอก

หัวใจของการปลูกบอนไซคือ การตัดราก ตกแต่งกิ่ง และจำกัดการให้น้ำ หากทำได้ครบและดีจะทำให้ต้นบอนไซที่ได้รับการเลี้ยงดูแข็งแรงและไม่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็มีขนาดที่เล็กกะทัดรัด แต่ดูแข็งแรง สวยงามอยู่เสมอ

ที่เที่ยวเกี่ยวกับบอนไซในญี่ปุ่น - Omiya Bonsai Museum

http://www.bonsai-art-museum.jp/

ที่เที่ยวเกี่ยวกับบอนไซในญี่ปุ่น - Omiya Bonsai Museum

แรกเริ่มเดิมที โอมิยะ เมืองใหญ่ทางเหนือของโตเกียว เป็นแหล่งรวมสวนบอนไซมากกว่าสิบที่ ซึ่งเจ้าของสวนและรัฐบาลท้องถิ่นได้รวมตัวกันและตั้งฉายาให้บริเวณนี้มีชื่อว่า Bonsai-cho (盆栽町) หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือ "ตำบลบอนไซ" นั่นเอง โดยไม่ใช่แค่ฉายาแต่เป็นชื่อตำบลจริงๆ บ้านเรือนที่ตั้งอยู่แถวนั้นก็จะมีคำว่า "ตำบลบอนไซ" ในที่อยู่จริงๆด้วยนะ

ที่ญี่ปุ่นเราสามารถหาชมบอนไซได้ทั่วไป ไม่ว่าจะไปตามโรงแรมหรู สวนสาธารณะแบบเสียเงิน เรียวกังตามต่างจังหวัด ที่ไหนๆ ก็อาจมีบอนไซวางไว้เป็นของประดับได้ แต่หากใครมีความสนใจในด้านนี้เป็นพิเศษ เราขอแนะนำพิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซ Omiya Bonsai Museum ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดไซตามะใกล้ กับโตเกียวเมืองหลวงนี่เอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดตัวขึ้นเมี่อปี 2010 เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซที่จัดตั้งโดยรัฐเป็นแห่งแรกของโลก ภายในสวนจะมีการจัดตั้งบอนไซประมาณ 60 ต้น โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ภายในบริเวณอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงวิธีการปลูกบอนไซ คอลเลคชั่นกระถางบอนไซต่างๆ อีกด้วย

Omiya Bonsai Museum
2-24-3 Toro-cho, Kita Ward, Saitama City, Saitama 331-0804 (จากที่อยู่จะสังเกตุได้ว่าพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ Toro-cho ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ Bonsai-cho หรือแขวงบอนไซ นั่นก็เพราะตัวพิพิธภัณฑ์นั้นสร้างตามมาทีหลังนั่นเอง แต่ก็ใกล้กันนิดเดียว)

ค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ 300เยน
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษา ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 150เยน
นักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น 100เยน

เปิดทำการ 9.00 น. ถึง 16.30 น. (เดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม)
9.00 น. ถึง 16.00 น. (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์)
หยุดทุกวันพฤหัสบดี และวันที่ 29 ธันวาคม ถึง 3 มกราคม

การเดินทาง สามารถใช้รถไฟ JR Utsunomiya Line (宇都宮線) ลงสถานี Toro (土呂駅) ทางออกฝั่งทิศตะวันออกแล้วเดินต่ออีกประมาณ 5 นาที
หรือรถไฟ Tobu Noda Line (東武野田線) ลงสถานี Omiya Koen (大宮公園駅) แล้วเดินต่ออีก 10 นาที โดยห่างจากสถานี Ikebukuro สถานีใหญ่ในโตเกียวไม่เกิน30-40 นาที

- www.bonsai-art-museum.jp (อังกฤษ)

ปิดท้าย

ที่โอมิยะ นอกจากในส่วนของพิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซแล้ว ในละแวกใกล้เคียงยังมีสวนบอนไซอีกมากมาย ซึ่งแต่ละที่ต่างก็มีประวัติความเป็นมาและความสวยในคนละแบบ หากใครมีความสนใจในเรื่องนี้สามารถเดินเที่ยวชมต่อจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซต่อได้เลย แล้วคุณจะได้พบกับความงามและความเงียบสงบของธรรมชาติอย่างแท้จริง แล้วจะเข้าใจว่าทำไมงานอดิเรกนี้ถึงอยู่คู่กับคนญี่ปุ่นมาได้หลายร้อยปี

theneww

เรียนจบเอกภาษาญี่ปุ่น เคยไปเรียนที่ญี่ปุ่น
ปัจจุบันทำงานเกี่ยวข้องกับงานขีดเขียนๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น