รู้จักสนามบินนาริตะ
สนามบินนาริตะ
คนเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลายคนคงคุ้นหูกับสนามบินแห่งนี้เป็นอย่างดี แต่สนามบินนาริิตะจริงๆแล้วเป็นแค่สนามบินอันดับ 2 ของญี่ปุ่น รองจากอันดับ 1 คือสนามบินฮาเนดะ โดยสนามบินนาริตะเปิดให้ทำการเมื่อปี 1978 พื้นที่ขนาดเกือบ 7,000 ไร่ ประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสารมากถึง 3 terminal และมีอาคารพิเศษสำหรับเครื่องบินชาเตอร์ไฟลท์ ให้บริการการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศญี่ปุ่น
สนามบินนาริตะตั้งอยู่ที่เมืองนาริตะ จังหวัดจิบะ แม้จะไม่ได้ตั้งอยู่ในอาณาเขตของโตเกียว แต่ก็เป็นสนามบินหลักสำหรับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมาท่องเที่ยว หรือคนในประเทศที่จะไปทำธุระในแถบคันโต มีสายการบินให้บริการจากทั่วโลก
หลังจากเปิดทำการมาเกือบ 40ปี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาสถิติของผู้ใช้สนามบินแห่งนี้ทะลุ 1,000 ล้านคนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สนามบินนาริตะ Terminal 1 สำหรับการบินไทย
ที่นี่เป็นอาคาร 5 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ที่อาคารผู้โดยสารแห่งนี้แบ่งออกเป็นโซนด้านทิศเหนือ และด้านทิศใต้
ชั้น B1 เป็นจุดลงรถไฟ
ชั้น 1 จะมีล็อบบี้ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ จุดขึ้นรถบัส รถแท็กซี่
ชั้น 4 เป็นล็อบบี้สำหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ร้านอาหาร
ชั้น 5 จะเป็นโซนร้านอาหาร ร้านขายสินค้า และจุดชมเครื่องบิน
ที่โซนร้านอาหารจะมีอาหารหลากหลายประเภททั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารจีน อาหารนานาชาติ รวมไปถึงร้านคาเฟ่ บาร์ โดยที่อาคารนี้จะมีร้านอาหารมากที่สุดในบรรดา 3อาคาร ส่วนสายการบินที่ให้บริการในอาคารนี้จะเป็นสายการบินในเครือ Star Alliance ทั้งหมดรวมถึงสายการบินการบินไทยของเราด้วย (เคาน์เตอร์เช็คอิน F) (ยกเว้นสายการบิน Air India) แล้วก็ตามมาด้วยสายการบินในเครือ Skyteam ทั้งหมด (ยกเว้น China Airline และ China Eastern Airline) เป็นต้น
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาทางสนามบินได้เปิดตัวศูนย์ให้บริการนักท่องเที่ยว Visitor Service Center ขึ้นที่บริเวณล็อบบี้ผู้โดยสารขาเข้า โดยที่ศูนย์จะมีให้บริการข้อมูลท่องเที่ยว จำหน่ายตั๋วเข้าสถานที่ท่องเที่ยว ตั๋วรถไฟ แพ็คเกจทัวร์ จองโรงแรม บริการทัวร์รอบสนามบินโดยไกด์นำทางภาษาอังกฤษ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่รอต่อเครื่องบินเป็นเวลานาน โดยเคาน์เตอร์ให้บริการด้านข้อมูลและการจองตั๋วต่างๆ จะเปิดตั้งแต่ 8.00 น. ถึง 20.00 น. ไม่มีวันหยุด ส่วนบริการนำเที่ยวรอบสนามบินจะเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 9.00 น. จนถึง 17.00 น.
สนามบินนาริตะ Terminal 2 ที่มีทั้ง Air Asia และ Scoot
อาคารผู้โดยสารแห่งนี้เปิดให้บริการในปี 1992 ในตอนที่เปิดตอนแรกนั้นได้รับการจัดให้เป็นอาคารผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มีด้วยกัน 4ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 1ชั้น
ชั้นใต้ดินจะเป็นทางเข้าสภานีรถไฟ
ชั้น 1 เป็นล็อบบี้สำหรับผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ จุดเช็คอินสำหรับผู้โดยสารขาออกเที่ยวบินในประเทศของสายการบิน JAL และจุดขึ้นรถบัส รถแท็กซี่
ชั้น 2 เป็นจุดตรวจสัมภาระของผู้โดยสารขาออกเที่ยวบินภายในประเทศ และเป็นล็อบบี้สำหรับผู้โดยสารขาออกของเที่ยวบินภายในประเทศด้วย
ชั้น 3 เป็นล็อบบี้สำหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ
ชั้น 4 เป็นโซนร้านอาหาร ร้านขายสินค้า และจุดชมเครื่องบิน ร้านอาหารในโซนนี้จะไม่เยอะเท่าอาคารแรก แต่ก็มีหลายประเภทอาหารอยู่เหมือนกัน
ในส่วนของสายการบิน จะมีสายการบินจากไทยมาลงคือ Thai Airasia X (เคาน์เตอร์เช็คอิน N) และ Scoot (เคาน์เตอร์เช็คอิน B) และนอกจากนี้ก็ยังมี Air India สายการบิน China Airline สายการบิน China Eastern Airline และสายการบินในเครือ oneworld ทั้งหมด (ยกเว้นสายการบิน Air Berlin) เป็นต้น และสายการบินประเภท Low Cost หลายๆที่ใช้อาคารผู้โดยสารนี้
สนามบินนาริตะ Terminal 3 าำหรับโลว์คอสต์บินภายในญี่ปุ่น!
อาคารผู้โดยสารใหม่ล่าสุด เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2015 ยังใหม่เอี่ยม และตกแต่งภายในได้สวยมากๆ ใครที่จะบินโลว์คอสต์ต่อจากโตเกียวไปเมืองอื่นๆ เช่นซัปโปโรในฮอกไกโด ต้องมาใช้บริการแน่นอน!
มีอยู่ด้วยกัน 4ชั้น
ชั้น 1 เป็นจุดขึ้นรถบัส
ชั้น 2 เป็นล็อบบี้สำหรับผู้โดยสารขาออกทั้งในและระหว่างประเทศ มีเคาน์เตอร์เช็คอิน ฟู้ดคอร์ท ล็อบบี้สำหรับผู้โดยสารขาเข้าทั้งในและระหว่างประเทศ จุดรอผู้โดยสาร รวมอยู่ในชั้นเดียว
ชั้น 3 และ 4 จะเป็นจุดสำหรับผู้โดยสารที่คนนอกเข้าไปไม่ได้
ความโดดเด่นของอาคารนี้จะอยู่ที่การตกแต่งภายใน ซึ่งทางสนามบินเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ของ Muji ผ่านการตกแต่งที่เรียบง่ายตามสไตล์ของแบรนด์ ทั้งยังตกแต่งทางเดินให้เหมือนเป็นลู่วิ่ง สร้างความผ่อนคลายให้กับนักท่องเที่ยวที่เพิ่งใช้เวลาส่วนมากบนเครื่องบินไปกับการเดินทางได้ดีทีเดียว
ในส่วนของสายการบินที่ใช้อาคารนี้จะเป็นสายการบิน Low Cost และสายการบินภายในประเทศทั้งหมด ทำให้ไม่มีเล้าจน์ใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนร้านอาหารก็พอมีบ้าง แต่จะจำนวนน้อยที่สุดในบรรดาอาคารทั้งหมด สายการบินที่ให้บริการได้แก่ สายการบิน Jetstar สายการบิน Spring Japan สายการบิน Jeju Air สายการบิน Vanilla Air เป็นต้น
หากสนใจเรื่องการนั่งเครื่องบินโลว์คอสต์ภายในประเทศญี่ปุ่น สามารถติดตามได้ที่นี่
สายการบินจากไทยที่มาลงนาริตะ
จากไทยมาที่สนามบินนาริตะนั้นมีให้เลือกด้วยกันหลายสายการบิน มีทั้งแบบ Full Service Airline และแบบ Low Cost Airline และมีทั้งแบบบินตรงและแวะพัก การบินแบบตรงจากไทยมายังนาริตะมีให้บริการด้วยกัน 5สายการบินคือ
สายการบินการบินไทย วันละ 4เที่ยวบิน (รอบ 06.50 น. รอบ 07.35 น. รอบ 22.10 น. รอบ 23.50 น.)
สายการบิน Air Asia X วันละ 2เที่ยวบิน (รอบ 11.15น. รอบ 23.45 น.)
สายการบิน Scoot วันละ 1เที่ยวบิน (รอบ 00.45 น.)
สายการบิน ANA วันละ 2เที่ยวบิน (รอบ 00.30 น. รอบ 06.50 น.)
สายการบิน JAL วันละ 1เที่ยวบิน (รอบ 08.10 น.)
ส่วนสายการบินแบบแวะพักก็มีให้เลือกด้วยกันหลายเจ้า เช่น Singapore Airline, Cathay Pacific Airline เป็นต้น แล้วแต่ว่าใครจะสะดวกเวลาไหน และมีงบในกระเป๋าเท่าไหร่
[PR] ร่วมชิงรางวัลตั๋วเครื่องบินไปกลับญี่ปุ่น และตั๋วชมฟุตบอลโอลิมปิกรอบชิงชนะเลิศ
การเดินทางจากสนามบินนาริตะถึงโตเกียว
เมื่อคุณเดินทางมาถึงสนามบินนาริตะแล้วต้องการต่อรถเข้าเมืองโตเกียว ที่นี่ก็มีบริการขนส่งหลากหลายรูปแบบให้บริการ โดยเฉพาะรถไฟที่มีให้เลือกจากสองบริษัท คือ JR ที่ทุกคนรู้จักกันดีและ Keisei
Keisei Skyliner, Access Express, Narita Express เป็นรถเร็วที่แนะนำ ซึ่งแต่ละสายก็จะมีจุดจอดที่ต่างกัน ใครจะไปทางไหน ขึ้นรถอะไรดี ควรต้องเช็คเส้นทางให้แน่ใจก่อน
Keisei Skyliner จะเป็นสายที่วิ่งเข้าโตเกียวได้เร็วสุด ซึ่งใช้เวลาเพียง 36นาที ค่าบริการ 2,470เยน รถไฟจะจอดที่สถานี Nippori (日暮里駅) และไปสุดสายที่สถานี Keisei Ueno (京成上野駅) สถานีที่ทุกท่านจะสามารถเดินไปเที่ยวสวนอุเอโนะหรือตลาดอาเมโยโกะต่อได้ทันที
Access Express เป็นรถของ Keisei อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งช้ากว่าเล็กน้อย แต่ราคาจะถูกกว่าเยอะมาก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาทีถึง1ชั่วโมงหากต้องการเข้าไปยังใจกลางโตเกียว แต่มีสถานีจอดรายทางเยอะกว่า Skyliner มากๆค่าบริการแล้วแต่สถานี รถแบบที่เดินทางไปยัง Ueno ก็มี แต่ก็มีรถที่ไปยังที่อื่นด้วย เช่นอาซากุสะ (浅草駅) สถานี Nihonbashi (日本橋駅) สถานี Shinbashi (新橋駅) สถานีShinagawa (品川駅) เป็นต้น
Narita Express เป็นรถไฟแบบเร็วที่สุดของ JR ใช้เวลา 60-90นาทีแล้วแต่สถานี
หากไปสถานีโตเกียว (東京駅) จะใช้เวลาประมาณ 60 นาที ราคา3,020 เยน
หากไปสถานีโยโกฮามะ (横浜駅) จุใช้เวลาประมาณ 90 นาที ราคา 4,300 เยน
นอกจากนี้ยังไปสถานีดังอื่นๆที่รถไฟของ Keisei ได้อีกด้วย เช่นสถานีชิบูยะ (渋谷駅) สถานีชินจูกุ (新宿駅) สถานีอิเคะบุคุโระ (池袋駅)เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสถานีที่คนไทยนิยมจองห้องพักกัน
ส่วนใครที่มาโตเกียวจนพรุนแล้วอยากจะผ่านไปที่จังหวัดอื่นเลย ก็สามารถต่อรถบัสที่สนามบินไปยังจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียงได้ เช่น จังหวัดคานางาวะ (神奈川県) จังหวัดชิซูโอกะ (静岡県) จังหวัดไซตามะ (埼玉県) จังหวัดยามะนาชิ (山梨県) จังหวัดนางาโนะ (長野県) เป็นต้น
- www.narita-airport.jp (อังกฤษ)
สรุป
แม้จะอยู่ไกลจากโตเกียวประมาณหนึ่ง แต่ก็มีสายการบินจากไทยให้บริการเที่ยวบินตรงอยู่หลายที่ ทำให้ง่ายและสะดวกต่อการเดินทางมากๆ มีเที่ยวบินทั้งจากต่างประเทศ และเที่ยวบินในประเทศที่ครบครัน แถมจากสนามบินเข้าตัวเมืองยังมีตัวเลือกในการเดินทางอีกหลากหลายประเภท อาคารผู้โดยสารที่กว้างขวางและทันสมัย ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่เพิิ่งเปิดใหม่รอให้บริการ
พนักงานต้อนรับผู้โดยสารที่ให้บริการอย่างเป็นมิตร สิ่งอำนวยความสะดวก ร้านอาหารหลากหลายรายการ สนามบินนาริตะจึงเป็นสนามบินที่สำคัญที่สุดของนักเที่ยวญี่ปุ่นก็ว่าได้
- www.narita-airport.jp (อังกฤษ)