รู้ไว้ก่อนไปญี่ปุ่น! อาหารและสิ่งของต้องห้ามที่ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่น
แล้วหนึ่งในสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้มาก่อนอย่าง อาหาร ก็มีการตรวจสอบเช่นกัน หลายคนต้องถูกเชิญเข้าห้องเย็นของด่านตรวจคนเข้าเมืองก็เพราะนำ “อาหารและของกินต้องห้ามนำเข้าญี่ปุ่น” นั่นเอง เป็นหนึ่งในสิ่งที่ตรวจเข้มมากที่สุดแล้วผู้โดยสารไม่ทันระวังตัวเสียด้วย
By Moonlight Yokuความสำคัญของฝ่ายกักกันโรคต่อการตรวจสัมภาระ
ญี่ปุ่นก็เหมือนกับทุกประเทศที่จะต้องมีฝ่ายกักกันโรคจากหน่วยงานกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่นหรือ MAFF (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries) คอยตรวจสอบหน้าด่านร่วมกับฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง
ซึ่งในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราต้องกรอกรายละเอียดข้อตกลงนี้ก่อนเดินทางเข้าเมืองผ่าน Visit Japan Web เพื่อป้องกันโรคระบาดจากบุคคล แต่นั่นก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะควบคุมโรคระบาดอื่น ๆ ที่อาจมากับสิ่งของ อาหาร หรือสัตว์ ในรูปแบบของเชื้อโรคต่างถิ่น อาทิ ไข้หวัดนก อหิวาตกโรค เป็นต้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องลงมาตรวจสัมภาระเองถึงจุดรับกระเป๋าโดยเฉพา
ซึ่งหากท่านใดตอบคำถามไม่ชัดเจนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำการขอตรวจค้นกระเป๋าเดินทาง โดยเราต้องทำการ “สำแดง” หรือเปิดกระเป๋าให้รับการตรวจอย่างชัดเจน หากเกิดสถานการณ์คลุมเครือทางคุณก็อาจถูกเชิญไปชี้แจงที่ห้องสอบสวนของฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง
อาหารและสิ่งของที่ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่นแบบทางการ
Moonlight Yoku ขอสรุปมาแบบอย่างง่ายเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ดังนี้
1. เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ไม่ว่าจะปรุงสุก เนื้อสด และแบบแปรรูปเป็นอาหาร
2. ผักและผลไม้ ทั้งแบบผลไม้สด และแบบแปรรูป ซึ่งแท้จริงแล้วมีผลไม้บางชนิดที่ได้รับการยกเว้นแต่มักไม่ใช่พืชประจำถิ่นในไทย
3. ผลิตภัณฑ์จากนม
4. ธัญพืชทุกชนิดและเมล็ดผักผลไม้
5. ผลิตภัณฑ์จากไข่ แม้แต่เปลือกไข่ก็ห้ามนำเข้า
6. สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมของปลอม เช่น กระเป๋า รองเท้า หากตรวจสอบและโดนจับได้อาจเสี่ยงต่อการโดนปรับและยึดของ
7. แมลง ไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อ ตั๊กแตน หรือสัตว์ประเภทใดก็ตามที่เป็นอันตรายต่อการเกษตรของญี่ปุ่น และโรคระบาดพืช
8. ดิน พืชที่มีดินติดมา ฟางและแกลบข้าว
อ่านบทความเต็ม: www.maff.go.jp (ภาษาไทย)
ตัวอย่างรายการอาหารต้องห้ามที่นำเข้าประเทศญี่ปุ่นแบบไม่คาดคิด!!
1. ไส้กรอกแพ็ค หมูยอ ไส้กรอกอีสาน แคบหมู แฮม เบค่อน หมูหยอง กุนเชียง แหนม น้ำผึ้ง แมลงทอด ไส้อั่ว
2. นมกล่องพาสเจอร์ไรส์ ชีส (ของฝาก)
3. ผักผลไม้แช่อิ่ม ผักผลไม้สด เช่น มะม่วง ข้าวเหนียวมะม่วง ทุเรียน มังคุด เป็นต้น
4. ขนมที่ยังคงสภาพเนื้อสัตว์แปรรูปหรืออาหารสด เนื้อสด เช่น ข้าวตังหมูหยอง ซาลาเปา ขนมปังไส้กรอก แซนวิช ปลาแผ่น เป็นต้น
5. เวย์โปรตีนและนมอัลบูมิน
6. อาหารและขนมจากธัญพืชทุกชนิด เช่น ซีเรียล กราโนล่า คุกกี้ ถั่วคลุกเกลือ อัลมอนด์ เมล็ดแตงโม เมล็ดดอกทานตะวัน เป็นต้น
7. เครื่องปรุงหรือน้ำจิ้มปรุงสดหรือแบบโฮมเมด เช่น น้ำพริก น้ำจิ้มซีฟู้ด กะปิ น้ำจิ้มไก่ ปลาร้า เป็นต้น
8. ผักที่เป็นกลุ่มเครื่องเทศ แม้ว่าจะทำอบแห้งแล้วก็นำเข้ามาไม่ได้ เช่น อบเชย สามเกลือ หอมแดง พริก เป็นต้น
9. ไข่เค็ม โดยเฉพาะไข่เค็มไชยาของฝากจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีแบบที่ยังหมักมาพร้อมกับดิน อันนี้ก็เอาเข้ามาไม่ได้เช่นกันค่ะ
ในทางกลับกัน สำหรับสิ่งของและอาหารที่สามารถนำเข้าไปได้ต้องอยู่ในหีบห่อหรือซองที่มีการปิดผนึกรัดกุม ไม่ใช่ของแห้งที่บรรจุเองโดยการใส่ถุงพลาสติกมัดกับยาง (กรณีนี้หากตรวจเจอโดนทิ้งแน่นอนค่ะ) อาทิ ผงทำอาหาร ปลากระป๋อง เครื่องปรุงบางชนิด เช่น ซีอิ๊วขาว น้ำปลา เป็นต้น
※ หมายเหตุ:ใครที่อาศัยอยู่ญี่ปุ่นแล้วอยากรับประทานแคบหมูล่ะก็สามารถหาซื้อได้ที่เมกก้า ดองกี้โฮเต้ (MEGA DON QUIJOTE) สาขาชิบูย่า (Shibuya) หรือพวกอาหารไทยล่ะก็สามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์ไทยหรือซูเปอร์เอเชียในย่านชินโอคุโบะ (Shin-okubo) นะคะ อย่าเสี่ยงแอบนำเข้ามาเลย หากโดนจับได้ไม่คุ้มแน่นอนค่ะ
โทษของการลักลอบนำเอาอาหารต้องห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น!
ใครที่คิดว่าจะรอด เดี๋ยวนี้ทางสนามบินได้มีน้องหมาคอยตรวจเช็คอย่างเคร่งครัด และค่อนข้างแม่นยำเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงนะคะ (ขณะน้องหมาปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ควรเข้าไปเล่นด้วยนะ)
สำหรับโทษของการลักลอบจะมีทั้งแบบตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และตามเกณฑ์ ในส่วนของตามดุลยพินิจนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เจ้าหน้าที่ประเมิน สมมติว่าเราซื้อแซนวิชรับประทานก่อนขึ้นเครื่องบินแล้วทานไม่หมด จากนั้นมีการพกติดกระเป๋ามาที่ญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่อาจทำเพียงตักเตือนแล้วทิ้งหรือทำลายอาหารจำนวนนั้น พร้อมชี้แจ้งกฎเกณฑ์ให้ทราบทันที
แต่ถ้าหากเป็นการแอบลักลอบนำเข้าอาหารมาในประเทศอาจเพื่อจุดประสงค์ในการใช้รับประทานขณะพักอาศัยที่ญี่ปุ่นหรือได้รับฝากอาหารนำมาให้ผู้ที่พักอาศัยในญี่ปุ่น โดยทั่วไปแล้วญี่ปุ่นมีกฏเกณฑ์ทั้งจำคุกทั้งปรับเงิน ตามพรบ.ควบคุมโรคติดต่อสัตว์และพืช ที่มีการเพิ่มโทษทางกฏหมายเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับการลักลอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์และพืชเข้ามา ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน (โทษปรับสูงสุดอยู่ที่ 50 ล้านเยนสำหรับผู้ทำผิดเชิงพาณิชย์)
อ่านบทความเต็ม: www.maff.go.jp (อังกฤษ)
บทส่งท้าย
เป็นอย่างไรบ้างคะ หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับใครที่กำลังจะเดินทางมาญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ ทั้งนี้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะปรับไปตามการควบคุมโรคระบาดต่อประเทศคู่กรณีในขณะนั้นด้วย ฉะนั้นหากจำเป็นต้องนำอาหารที่สุ่มเสี่ยงเข้าประเทศนั้น จำเป็นที่ต้องรู้ทันข่าวสารเกี่ยวกับประกาศอาหารที่งดนำเข้าจากบางประเทศด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจจะคิดว่าเคยเอาเข้ามาแล้วไม่เป็นไรก็จริง แต่ครั้งต่อไปก็ไม่ควรเสี่ยงอีกนะคะ เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ทำตามกฎหมายของประเทศเค้าดีที่สุด เพื่อที่การท่องเที่ยวและการเดินทางในญี่ปุ่นของคุณจะได้ไม่มีปัญหาตามมา
รู้แบบนี้แล้ว…อย่าแอบนำอาหารและสิ่งของต้องห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่นเลยนะ
※ หากใครที่มีความจำเป็นต้องนำอาหารหรือสิ่งของต้องห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่นล่ะก็ ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก การนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์ของต่างประเทศเข้ามายังญี่ปุ่น (ภาษาไทย)
บทความที่เกี่ยวข้อง:ยาต้องห้ามบินและสารเสพติดที่ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่น