5 จุดท่องเที่ยวดีไซน์สวยและน่าเที่ยวในโตเกียว

สำหรับใครที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ หรือจุดถ่ายรูปที่ไม่เหมือนใครในโตเกียว วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ 5 จุดท่องเที่ยวที่มีทั้งดีไซน์สวยและน่าเที่ยวในโตเกียว ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ โรงละคร หอสมุด ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว หรือหอศิลป์ ที่รับรองว่าได้ทั้งความสนุก ประทับใจ และไม่เหมือนใครอย่างแน่นอน
By ชินพงศ์ มุ่งศิริ1. พิพิธภัณฑ์โฮะคุไซ (Sumida Hokusai Museum)

https://pixta.jp/
พิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงผลงานของคัตสึชิคะ โฮะคุไซ ปรมาจารย์ด้านภาพพิมพ์แกะไม้อุกิโยะเอะ แม้หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้ แต่เชื่อว่าคงคุ้นเคยกับภาพของคลื่นยักษ์และภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งเป็นผลงานสุดคลาสสิคที่มีการเผยแพร่ซ้ำจำนวนมาก และกลายเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน

https://pixta.jp/
ผลงานดังกล่าวมีชื่อว่า “The Great Wave off Kanagawa” หรือ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนางาวะ” และซึ่งเป็นหนึ่งในภาพในชุด Thirty-six Views of Mount Fuji หรือ ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ โดยนอกจากตัวพิพิธภัณฑ์ด้านในจะมีความน่าสนใจแล้ว รูปแบบอาคารก็ยังเป็นอาคารสมัยใหม่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และสวยงามจากการใช้แผ่นอลูมิเนียมและรูปทรงที่คล้ายกับเกลียวคลื่น ซึ่งออกแบบโดยเซจิมะ คาซุโยะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในระดับโลก
การเดินทาง:สถานีเรียวโอโกคุ (Ryogoku Station)
2. ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ (Tama Art University Library)

ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ เป็นห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่มีมีปริมาณผู้เยี่ยมชมจากบุคคลภายนอก หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสูงมาก ในปี 2006 ห้องสมุดแห่งเดิมก่อนปรับปรุงมีผู้ใช้บริการ 38,000 คน ขณะที่ปี 2012 ห้องสมุดแห่งใหม่มีผู้ใช้บริการกว่า 86,000 คน เนื่องมาจากชื่อเสียงและความสวยงามของหอสมุดที่กว้างขวาง มีผนังกระจก เพดานสูง ซุ้มโค้งขนาดใหญ่ซึ่งช่วยให้เห็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรอบ ๆ วิทยาเขตได้เป็นอย่างดี

โดยห้องสมุดแห่งนี้ให้บริการหนังสือด้านศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นประมาณ 77,000 เล่ม หนังสือต่างประเทศ 47,000 เล่ม และหนังสือโบราณอีก 1,500 เล่ม และยังมีชั้นล่างเป็นแกลเลอรี่ศิลปะอีกด้วย
การเดินทาง:สถานีฮาชิโมโตะ (Hashimoto Station) ต่อรถบัสจากจุดขึ้นรถหมายเลข 6 ไปลงป้าย "Tama Art University (Tama Bijutsu Daigaku)"
3. โรงละครสาธารณะ ซา โคเอนจิ (Za Koenji Public Theatre)

https://pixta.jp/
โรงละครสาธารณะ ซา โคเอนจิเป็นโรงละครขนาดเล็กในโตเกียวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะโรงละครที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่น ด้วยรูปทรงที่พลิ้วไหวล้ายกับเตนท์ที่ถูกลมพัดไปมาและสอดคล้องกับแนวคิดในการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการแสดงในโรงละครแห่งนี้

https://pixta.jp/
ถึงแม้จะมีหน้าตาที่ล้ำสมัยและแตกต่างจากอาคารอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบ แต่โรงละครแห่งนี้ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับชุมชนโดยการทำหน้าที่เป็นทั้งศาลากลางสำหรับจัด การประชุม และการบรรยาย นอกเหนือไปจากการแสดงละครและคอนเสิร์ตตามปกติ และยังมีคาเฟ่ที่มีบรรยากาศสุดเก๋ไก๋อยู่ด้านในตัวอาคารเช่นกัน
การเดินทาง:สถานีโคเอ็นจิ (Koenji Station)
4. ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาซาคุสะ (Asakusa Culture Tourist Information Center)

https://pixta.jp/
อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวใจกลางย่านอาซาคุสะที่มีความโดดเด่น เตะตา ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของเคงโกะ คุมะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นระดับตำนานที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการใช้เส้นสายและการใช้ไม้เป็นวัสดุหลักของอาคาร โดยตัวอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาซาคุสะ แห่งนี้จะมีทั้งหมด 8 ชั้น เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012

https://pixta.jp/
ที่นี่มีแนวคิดที่จะรวมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการท่องเที่ยวไว้อย่างครบครันในที่เดียว ทั้งจุดรับแลกเงินตราต่างประเทศ ตู้รับฝากกระเป๋าเดินทาง ห้องรับรอง ห้องประชุม และบริการอื่นๆ อีกมาก และโซนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่นักท่องเที่ยวก็คือบริเวณดาดฟ้า ที่สามารถมองเห็นวิวมุมสูงของย่านอาซาคุสะ รวมถึงตัววัดอาซาคุสะได้อย่างชัดเจน
การเดินทาง:สถานีอาซาคุสะ (Asakusa Station)
5. ศูนย์ศิลปะนานาชาติโตเกียว (The National Art Center Tokyo)

https://pixta.jp/
อาคารที่เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น และยังมีจุดเด่นตรงที่ตัวอาคารที่ถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่โดดเด่นด้วยรูปทรงโค้ง และการใช้วัสดุที่เป็นกระจกจำนวนมากจนให้ความรู้สึกที่อ่อนช้อย นุ่มนวล และยังได้ประโยชน์จากการเปิดรับแสงจากภายนอกได้เป็นจำนวนมาก และยังเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่ไม่มีนิทรรศการประจำอยู่เลยเหมือนกับหอศิลป์ทั่วไป
นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเยือนจึงควรตรวจสอบล่วงหน้าอีกครั้งว่ามีการจัดแสดงงานแบบใดอยู่ในช่วงเวลานั้น และที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่ใช้จัดงานสำคัญๆ ทางด้านศิลปะหลายงาน เช่น Japan Media Arts Festival
การเดินทาง:สถานีโนกิซากะ (Nogizaka Station)
ผู้เขียน: ชินพงศ์ มุ่งศิริ
เริ่มต้นทำงานเป็นช่างภาพอิสระหลังเรียนจบ เดินทางไปถ่ายภาพที่ประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้งจนครบทั้ง 4 ฤดูอันสวยงาม และเกือบครบทุกภูมิภาค มีผลงานภาพถ่ายตีพิมพ์ในไกด์บุ๊คระดับโลกอย่าง Lonely Planet ถึง 3 เล่ม คือ Discovery Japan, Japan และ Kyoto รวมถึงเว็บไซต์ท่องเที่ยวชั้นนำอย่าง National Geographic Traveler UK, BBC Travel, Travel+Leisure, TIME และอีกมาก
นอกจากการถ่ายทอดความสวยงามของประเทศญี่ปุ่นผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันยังหันมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทางตัวอักษรทั้งในฐานะนักเขียนและนักแปลควบคู่กันไปอีกด้วย