All About Japan

หมดห่วง! แนะนำการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภาษาญี่ปุ่น

รู้ลึกเรื่องญี่ปุ่น
หมดห่วง! แนะนำการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภาษาญี่ปุ่น

มาเที่ยวญี่ปุ่นทีไร อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกแล้วปวดหัวทุกที เพราะไม่รู้จะใช้เครื่องไฟฟ้าในญี่ปุ่นยังไงที่มีแต่ภาษาญี่ปุ่น วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปแนะนำวิธีใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าญี่ปุ่น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ รีโมทไฟ LED รีโมทแอร์ และเครื่องระบายอากาศในห้องน้ำญี่ปุ่นค่ะ

อุปกรณ์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่มีภาษาอังกฤษ!?

อุปกรณ์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่มีภาษาอังกฤษ!?

https://pixta.jp/

อุปกรณ์ไฟฟ้าญี่ปุ่นบางทีก็ทำให้เราปวดหัวได้เนื่องจากฟังก์ชั่นการใช้งาน และปุ่มกดทั้งหลายเป็นภาษาญี่ปุ่น เมื่อเดืนทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นในหลายๆ ครั้งนักท่องเที่ยวมักประสบปัญหาการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวล้ำนำเทคโนโลยีตามโรงแรมหรือที่พักต่างๆ ด้วยความที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น

ดังนั้นเวลาจะใช้งานทีก็ลำบาก ครั้งนี้จึงมาแนะนำอุปกรณ์ไฟฟ้า ปุ่มกดและฟังก์ชั่นการทำงานของอุปกรณ์ 3 อย่างที่พบเจอได้บ่อยๆ ซึ่งก็คือ รีโมทไฟ LED รีโมทแอร์ และเครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ ลองไปดูกันว่าอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานกันอย่างไรบ้าง

1. รีโมทไฟ LED

1. รีโมทไฟ LED

ไฟ LED คืออะไร เรามาทำความรู้จักกันก่อน LED ย่อมาจากคำว่า Light-Emitting Diode หรือไดโอดชนิดเปล่งแสงที่ติดตั้งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสง ไฟ LED ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นหลอดแสงสีฟ้า คิดค้นโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่นที่นำทีมโดยชูจิ นากามุระ (Shuji Nakamura) จากบริษัท Nichia เมื่อปี 1995 หลอดไฟ LED แบ่งออกเป็นไฟ LED แสดงสถานะบนจอแสดงผลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น นาฬิกาดิจิทัล ไฟแสดงภายในรถยนต์ เป็นต้น กับไฟ LED ให้แสงสว่างที่เรากำลังจะกล่าวถึงการใช้งานรีโมทไฟ LED ดังต่อไปนี้

การใช้งานรีโมทไฟ LED สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

การใช้งานรีโมทไฟ LED สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

- เริ่มด้วยการกดปุ่มเปิดไฟที่เป็นภาษาญี่ปุ่นคำว่า 全灯 (เซนโต) จะทำให้ไฟทั้งหมดติดขึ้น หรือบางรุ่นจะเป็น 点灯 (เทนโต) คือไฟติดนั่นเอง
- ถ้าต้องการปรับไฟให้สว่างมากขึ้น กดปุ่ม 明 (อาคารุย) ซึ่งมักจะมีลูกศรชี้ขึ้นกำกับเป็นสัญลักษณ์ไว้ด้วย
- ถ้าต้องการปรับไฟให้สว่างน้อยลง กดปุ่ม 暗 (คุไร) ซึ่งมักจะมีลูกศรชี้ลงกำกับเป็นสัญลักษณ์ไว้ด้วย
- หากอยู่ในช่วงกลางคืนที่ใกล้จะเข้านอนแล้ว สามารถปรับไฟให้เป็นแบบไฟกลางคืนได้โดยการกดปุ่ม 常夜灯 (โจยะโต) แสงจะนุ่มนวลขึ้น
- ฟังก์ชั่นการนอนหลับก็มีให้ใช้สะดวก กดปุ่ม スリープタイマー 60分/30分 สามารถตั้งเวลาสลีปได้ 30 นาทีและ 60 นาที
- ปัจจุบันมีการพัฒนาไฟให้สามารถเลือกหลอดไฟ LED ได้ด้วย โดยถ้ากด 白い色 (ชิโร่ยอิโระ) เป็นสีเดย์ไลท์ออกสีขาวโทนเย็น หรือกด 暖かい色 (อาตะตะไคอิโระ) แสงก็จะออกสีเหลืองอมส้มโทนอบอุ่น
- หากสิ้นสุดการใช้งานไฟก็ให้กดปุ่ม 消灯 (โชโต) เพื่อปิดไฟ

2. รีโมทแอร์

2. รีโมทแอร์

https://pixta.jp/

รีโมทแอร์คงเป็นที่รู้จักและใช้งานกันตามบ้านเรือนเป็นปกติ มีแบบแผงคอนโทรลติดผนังซึ่งมักจะติดอยู่บนผนังบริเวณประตู ห้องน้ำ หรือบริเวณหัวเตียง กับรีโมทแบบมือถือ ที่ญี่ปุ่นจะมีทั้งแอร์และฮีทเตอร์ที่สามารถปรับการใช้งานให้เหมาะสมกับฤดูกาลต่างๆ ได้ และนี่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ

การใช้งานรีโมทแอร์ สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

การใช้งานรีโมทแอร์ สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

https://pixta.jp/

- เริ่มใช้งานด้วยการกดปุ่ม 運転 (อุนเต็น) หมายถึงการขับเคลื่อนทำงานหรือการเปิดแอร์นั่นเอง
- หากกดปุ่ม 冷房 (เรโบ) จะเข้าสู่ฟังก์ชั่นของทำความเย็น
- หากต้องการทำความร้อนก็ให้กดปุ่ม 暖房 (ดัมโบ) เครื่องปรับอากาศก็จะปรับเป็นฮีทเตอร์
- การไล่ความชื้นในห้องก็สามารถทำได้ โดยการกดปุ่ม 除湿 (โจชิตสึ) ช่วยสำหรับให้ตากผ้าในห้องได้
- มีปุ่มสำหรับโหมดตากผ้าโดยเฉพาะด้วย คือปุ่ม ランドリー (ลอนดรี) ตรงกับคำว่า Laundry ในภาษาอังกฤษ
- ในการปรับอุณหภูมิใหกดปุ่ม 温度 (อนโดะ) ซึ่งมักจะมีลูกศรชี้ขึ้นและชี้ลงกำกับไว้ ปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นก็กดลูกศรขึ้น ปรับอุณหภูมิให้ลดลงก็กดลูกศรลง หรือเป็นเครื่องหมายเพิ่ม (+) ลด (-) ในรีโมทบางตัว
- หากต้องการปรับระดับความแรงของลม ให้กดปุ่ม 風量 (ฟูเรียว) หน้าจอจะแสดงระดับลม โดย 強 (เคียว) หมายถึงลมแรง 弱 (จาคุ) หมายถึงลมเบา และ 微風 (บิฟู) หมายถึงลมอ่อนๆ
- ยังมีโหมดระบายอากาศให้ด้วย โดยการกดปุ่ม 送風 (โซฟู) ก็ช่วยให้อากาศสดขึ้นได้
- ปุ่ม スウィング (สวิง) เหมือนภาษาอังกฤษคำว่า swing ใช้ปรับให้ใบพัดหมุนหรือหยุดนิ่ง
- ปุ่ม 風向 (ฟูโค) สำหรับปรับทิศทางของใบพัดให้เป่าสูงหรือต่ำ
- สำหรับปุ่ม ハイパワー (ไฮเพาเวอร์) มาจากคำว่า High Power ในภาษาอังกฤษ ใช้สำหรับเร่งแอร์เต็มที่
- และเมื่อใช้งานเสร็จต้องการปิดแอร์ก็ให้กดปุ่ม 停止 (เทชิ) แปลว่าหยุดการทำงาน

3. เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ

3. เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ

https://pixta.jp/

เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ เป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่จะทำให้การอาบน้ำน่ารื่นรมย์มากยิ่งขึ้น หากรู้สึกว่าอุณหภูมิของห้องน้ำร้อนก็เปิดลมเย็น หากรู้สึกว่าอุณหภูมิของห้องน้ำเย็นก็เปิดลมร้อน และมีลมที่ช่วยระบายความชื้นในห้องน้ำที่มักมีขนาดเล็กและปิดทึบไม่มีทางระบายอากาศ มีลมร้อนช่วยเป่าเสื้อผ้าที่ซักตากไว้ให้แห้ง เหมาะสำหรับช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกสำหรับญี่ปุ่นที่อากาศมีความชื้นค่อนข้างมากจริงๆ

การใช้งานเครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

การใช้งานเครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

- ฟังก์ชั่นหลักๆ มี 4 ฟังก์ชั่น ได้แก่ 標準換気 (เฮียวจุนคันคิ) กับ ブロー換気 (โบลวคันคิ) สำหรับการระบายอากาศ 暖房 (ทัมโบ) ลมเป่าร้อน 涼風 (เรียวฟู) ลมเป่าเย็น 乾燥 (คันโซ) ทำให้แห้ง
- หากต้องการระบายอากาศปกติ ให้กดปุ่ม 標準換気 (เฮียวจุนคันคิ)
- หากต้องการระบายความชื้นหลังการอาบน้ำหรือต้องการให้ห้องน้ำแห้ง ให้กดปุ่ม ブロー換気 (โบลวคันคิ) จะมีลมเป่าออกมาทำไล่ความชื้น
- ปุ่มการใช้งานอื่นๆ มีปุ่ม 24 時間 (นิจูโยะจิกัง) สำหรับการระบายอากาศ 24 ชั่วโมง
- ปุ่ม タイマー切替 (ไทเมอร์คิริคาเอะ) สำหรับกดเปลี่ยนการตั้งเวลาให้ลมเป่า เช่นเข้าห้องน้ำเวลาเท่าไรก็กดปุ่ม 入時刻 (นิวจิโคคุ) ตั้งเวลาเข้า และตั้งเวลาที่จะออกจากห้องน้ำโดยกดไปที่ 切残時間 (เซ็ตซังจิกัง) ลมก็จะหยุดทำงาน
- หากต้องการหยุดการทำงานทั้งหมด ให้กดปุ่ม 停止 (เทชิ)
- สำหรับการตั้งเวลาเป็นตัวเลข ให้กดปุ่ม 時計/セット (โทะเค/เซ็ต) แล้วกดลูกศรเลื่อนขึ้นลงตรงหน้าจอแสดงตัวเลขดิจิทัลเวลา
- และเมื่อตัวกรองสกปรกจนมีไฟเตือนแสดง ให้กดปุ่ม フィルターリセット (ฟิลเตอร์รีเซ็ต) เพื่อจัดการทำความสะอาดตัวกรอง

ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย

know-before-you-go