เส้นทางลับในโทโฮคุ : อนเซ็นและวัฒนธรรมท้องถิ่น
ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku Region) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดทั้ง 6 นั้น เคยถือกันว่าเป็นดินแดนชายขอบของประเทศญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้สะดวกทั้งทางรถไฟ เครื่องบิน และรถยนต์ ทำให้มีผู้เดินทางไปดื่มด่ำทัศนียภาพธรรมชาติอันตระการตาของภูมิภาคแห่งนี้กันมากยิ่งขึ้น การเดินทางครั้งนี้เราจะไปที่จังหวัดมิยากิ (Miyagi) อิวาเตะ (Iwate) และอาโอโมริ (Aomori)
บ่อน้ำพุร้อนอันเงียบสงบ และการอาบน้ำเพื่อการบำบัด
การที่ญี่ปุ่นมีการปะทุของภูเขาไฟอยู่ทั่วหมู่เกาะทำให้ดินแดนแห่งนี้มีบ่อน้ำพุร้อน (อนเซ็น) อยู่เป็นจำนวนมาก และแม้ว่าเมืองรีสอร์ทบ่อน้ำพุร้อนจะหาได้ง่ายในเกือบทุกจังหวัด แต่ถ้าคุณกำลังมองหาสถานที่ที่อยู่ห่างไกลจากผู้คนหรือมีความเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น บ่อน้ำพุร้อนลับหรือ ฮิโต (Hitou) ในภาษาญี่ปุ่นก็คือจุดหมายที่มีรางวัลอันแสนคุ้มค่ารออยู่
ฮิโต (Hitou) ในภูมิภาคโทโฮคุมักจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยอาจอยู่ลึกเข้าไปในภูเขา และเกือบจะเรียกได้ว่าสามารถเข้าถึงได้ด้วยรถส่วนตัวเท่านั้น หลายแห่งมีที่พักแบบเรียบง่าย ไว้คอยให้บริการผู้ที่กำลังมองหาประโยชน์จากการบำบัดรักษา สำหรับการอาบน้ำเพื่อการบำบัดหรือที่เรียกว่า โทจิ (Toji) นั้นจำเป็นต้องลงแช่ในน้ำที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุในเป็นประจำทุกวัน เป็นเวลาหลายวันหรือหลายเดือน และบ่อน้ำพุร้อนอันเงียบสงบที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ก็ล้วนคุ้มค่าแก่การไปเยือน ไม่ว่าจะเพียงวันเดียวหรือนานกว่านั้นก็ตาม
สุกะยุอนเซ็น (Sukayu Onsen)
ตามตำนานกล่าวว่ามีการค้นพบบ่อน้ำพุร้อนของที่นี่เมื่อกว่า 300 ปีมาแล้วโดยกลุ่มพรานป่าที่ได้เห็นกวางบาดเจ็บมารักษาบาดแผลที่นี่จนอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ชื่อเดิมของที่นี่คือ ชิกะยุ (Shikayu) หรือภาษาญี่ปุ่นว่า “น้ำร้อนของกวาง” ก็มีที่มาจากตำนานดังกล่าว ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น สุกะยุ (Sukayu) ซึ่งหมายถึง “น้ำร้อนที่เป็นกรด” เนื่องจากน้ำของที่นี่มีความเป็นกรดสูง
สุกะยุอนเซ็น (Sukayu Onsen) รองรับทั้งผู้มาเยือนระยะสั้นและผู้ที่ต้องการพักเป็นเวลานาน เพื่อรับประโยชน์จากการบำบัดรักษาด้วยการอาบน้ำ อีกทั้ง ยังมีพื้นที่ครัวส่วนกลางให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการทำอาหารด้วยตนเองอีกด้วย
ที่นี่มีบ่ออาบน้ำอยู่มากมาย ซึ่งไฮไลท์ได้แก่ ฮิบะเซ็นนินบุโระ (Hiba Sennin-buro) หรือ “อ่างอาบน้ำสำหรับพันคน” อันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับที่ไหน ภายในพื้นที่ 260 ตารางเมตรของที่แห่งนี้ มีบ่ออาบน้ำหลายจุดที่ทำจาก ฮิบะ (Hiba) ซึ่งเป็นไม้สนชนิดหนึ่งของอาโอโมริ (Aomori) ทำให้บรรยากาศดูราวกับว่าสามารถรองรับคนได้ถึง 1,000 คน แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีจำนวนน้อยกว่านั้นมากก็ตาม
นอกจากจะมีบ่อที่ผู้ชายและผู้หญิงสามารถอาบน้ำร่วมกันได้โดยมีรั้วกั้นแล้ว ที่นี่ยังมีมีพื้นที่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะด้วย การผ่อนคลายด้วยการแช่อนเซ็นน้ำสีขาวขุ่นราวกับนมในโรงอาบน้ำที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์นี้ ยากจะเชื่อว่าเป็นปี 2021 แล้วอย่างแท้จริง
・สุกะยุอนเซ็น (Sukayu Onsen)
http://www.sukayu.jp/
ฟุเกะโนะยุอนเซ็น (Fukenoyu Onsen)
ฟุเกะโนะยุอนเซ็น (Fukenoyu Onsen) ตั้งอยู่ลึกในเขตฮะจิมันไต (Hachimantai) ซึ่งล้อมรอบไปด้วยภูเขาในจังหวัดอาคิตะ (Akita) พร้อมความภาคภูมิใจกับการเป็นบ่อน้ำพุร้อนลับที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณนี้ เห็นได้ชัดว่าคงมีไม่กี่คนที่มาเจอฟุเกะโนะยุอนเซ็น ฟุเกะโนะยุอนเซ็น (Fukenoyu Onsen) เข้าโดยบังเอิญ เพราะเราต้องขับรถผ่านเส้นทางบนภูเขาที่แวดล้อมด้วยป่าไม้บีชจนถึงระดับความสูง 1,100 เมตรเหนือน้ำทะเลก่อนที่จะไปถึงที่นั่น
ฟุเกะโนะยุอนเซ็น (Fukenoyu Onsen) แตกต่างจากสุกะยุอนเซ็น (Sukayu Onsen) อันยิ่งใหญ่ตรงที่มีขนาดเล็กกว่ามาก แต่ก็ยังคงมีที่พักราคาสมเหตุสมผลสำหรับทั้งผู้มาใช้บริการแบบ โทจิ (Toji) และลูกค้าทั่วไป และแม้ว่าบ่ออาบน้ำในที่ร่มซึ่งทำจากไม้ ฮิบะ (Hiba) ก็น่าเพลิดเพลินพอแล้ว แต่ขุมทรัพย์ที่แท้จริงของฟุเกะโนะยุ (Fukenoyu Onsen) นั้นอยู่ที่บ่ออาบน้ำกลางแจ้งแบบต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งแบบแยกเพศ และแบบหญิงชายรวมกันต่างหาก
เพียงแค่เดินออกจากบริเวณแผนกต้อนรับ ผู้เข้าพักก็สัมผัสได้ถึงกลุ่มไอน้ำพวยพุ่งขึ้นจากที่เปิดโล่งกลางป่า และความเงียบสงบในการผ่อนคลายภายใต้ท้องฟ้าเปิดโล่ง พร้อมกับมองไปยังป่าดงพงไพรที่รายล้อมอยู่นั้นก็เป็นความงามที่ยากจะหาสิ่งใดมาเทียบได้
・ฟุเกะโนะยุอนเซ็น (Fukenoyu Onsen)
https://www.fukenoyu.jp/ENG/index.html
สุคาวะโคเก็นอนเซ็น (Sukawa Kogen Onsen)
สุคาวะโคเก็นอนเซ็น (Sukawa Kogen Onsen) อันเต็มไปด้วยบรรยากาศแบบชนบท ตั้งอยู่ทางตอนเหนือจากภูเขาคุริโคมะ (Mt. Kurikoma) ที่ระดับความสูง 1,126 เมตร ในจังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ใกล้กับบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดอาคิตะ (Akita) และจังหวัดมิยากิ (Miyagi) แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็มีผู้เดินทางมาเพลิดเพลินกับน้ำแร่ที่มีฤทธิ์เป็นกรดของที่นี่เป็นเวลากว่า 300 ปีแล้ว โดยผู้ใช้บริการในปัจจุบันมีทั้งผู้มาเยือนแบบวันเดียว และนักปีนเขาที่แวะมาอาบน้ำหลังปีนเขาเสร็จ ตลอดจนเหล่า โทจิ (Toji) ที่มาพักแบบระยะยาว
การมีน้ำ 6,000 ลิตรพุ่งออกจากแหล่งต้นน้ำในทุกนาที ทำให้ที่นี่มีบ่ออาบน้ำที่มีน้ำไหลอย่างอิสระให้เพลิดเพลินอยู่มากมาย โดยแม้จะมีบ่ออาบน้ำในที่ร่มทั่วไปอันกว้างขวางอยู่ แต่ความรู้สึกอยากท้าทายทำให้ผู้เขียนตัดสินใจลงแช่บ่อในร่มชั้นบนซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศา ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาคือความรู้สึกซาบซ่านไปทั้งตัวและความกระปรี้กระเปร่าอย่างเหลือเชื่อ
จากนั้นผู้เขียนก็ออกไปสัมผัสความเป็นธรรมชาติกลางป่าเขาด้วยการลงแช่บ่อกลางแจ้งขนาดใหญ่ โดยในฤดูใบไม้ร่วงเช่นนี้ก็มีลมเย็น ๆ หอบเอาความสดชื่นไปทั่วผืนน้ำ และยังช่วยขจัดละอองไอน้ำที่พวงพุ่งขึ้นมาเป็นครั้งคราว จนทำให้ได้เพลิดเพลินกับหินก้อนใหญ่ที่รายล้อมบ่ออาบน้ำอยู่
・สุคาวะโคเก็นอนเซ็น (Sukawa Kogen Onsen)
https://komachi-shuttle.com/english/sukawa-kurikoma-en/
นามาริอนเซ็น (Namari Onsen)
แม้ว่าอนเซ็นนี้จะไม่ได้อยู่บนที่สูงเหมือนที่อื่น ๆ ข้างต้น แต่นามาริอนเซ็น (Namari Onsen) ในจังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ก็ยังคงมีบรรยากาศอันเป็นส่วนตัวที่แสนเงียบสงบเป็นอย่างยิ่ง เพียงขับรถจากเมืองฮานะมากิ (Hanamaki) เข้าไปในเนินเขาเป็นช่วงสั้น ๆ ก็จะได้พบกลุ่มโรงแรมเพียงไม่กี่แห่ง โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ ฟูจิซังเรียวกัง (Fujisan Ryokan) โรงแรมโครงสร้างไม้เซลโควาแบบดั้งเดิมอันเงียบสงบซึ่งมีประวัติศาสตร์กว่า 600 ปี และเป็นสถานที่โปรดของนักเขียนชาวญี่ปุ่นอย่างเคนจิ มิยาซาวะ (1896–1933) และอีกหลายคน
ฟูจิซังเรียวกัง (Fujisan Ryokan) มีบ่อแบบ คาเคะนางาชิ (Kake-nagashi) ซึ่งมีน้ำพุร้อนไหลอย่างอิสระอยู่หลายบ่อ โดยบางบ่ออยู่ติดกันแม่น้ำสายเล็ก ๆ ด้วย และที่พักแห่งนี้ยังมีบ่อที่อยู่ลึกในธรรมชาติซึ่งรู้จักกันในชื่อ ชิราซารุโนะยุ (Shirasaru no Yu) หรือ “น้ำร้อนของลิงขาว” ซึ่งดูเหมือนสระว่ายน้ำแบบขอบสูง 1.25 เมตรมากกว่า ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้สัมผัสได้ถึงความกว้างขวางอันน่ารื่นรมย์ได้แก่เพดานสูงกว่าตึกสองชั้นของโรงอาบน้ำของที่นี่
・นามาริอนเซ็น ฟูจิซังเรียวกัง (Namari Onsen Fujisan Ryokan)
https://namari-onsen-ryokan.com/
วัฒนธรรม และประเพณีอันเปี่ยมชีวิตชีวา
การที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่รุนแรงซึ่งมีหิมะตกหนัก และฤดูหนาวยาวนานส่งผลให้ผู้คนในภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku Region) จำเป็นต้องมีไหวพริบและความสามารถ ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมอันเปี่ยมชีวิตชีวาของชาวโทโฮคุ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสึการุชามิเซ็น (Tsugaru Shamisen) ของอาโอโมริ (Aomori) เทศกาลฤดูร้อนต่าง ๆ อันน่าตื่นตาตื่นใจ หรืองานฝีมือที่ออกแบบให้ทั้งทนทานและใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศอันหนาวเย็นได้เป็นอย่างดี
เมืองฮิโรซากิ (Hirosaki) ในจังหวัดอาโอโมริ (Aomori) เป็นอดีตเมืองใต้ปราสาทที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของตระกูลสึการุ ข้ามจากปราสาทฮิโรซากิ (Hirosaki Castle) ไปคือที่ตั้งของ “สึการุฮันเนะปุตะวิลเลจ” (Tsugaru-han Neputa Village) ซึ่งจัดแสดงวัฒนธรรมสึการุในแง่มุมต่าง ๆ ในแบบที่เข้าใจง่ายไว้ในที่เดียว
สิ่งแรกที่จะได้พบเมื่อเดินเข้าไป ได้แก่ ฮิโรซากิเนปุตะฮอลล์ (Hirosaki Neputa Hall) ซึ่งมีรถลากเนปุตะของจริงตั้งแสดงอยู่ โดยในฤดูร้อนของทุกปีในช่วงเทศกาลเนปุตะ (Neputa Festival) ของฮิโรซากิ (Hirosaki) จะมีขบวนแห่รถลากที่นำกระดาษ วาชิ (Washi) มาพันรอบโครงลวดแล้วทาสีสดในดีไซน์สะดุดตาแบบนี้ไปรอบถนนในตัวเมืองยามราตรี พร้อมกับจุดไฟจนมีสีสันสว่างสดใส
ฮอลล์แห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นเวทีแสดงดนตรีสึการุชามิเซ็น (Tsugaru Shamisen) แบบสด ๆ อีกด้วย โดยแม้ว่าชามิเซ็นจะเป็นเครื่องดนตรีที่พบได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับสึการุชามิเซ็นนั้นจะมีส่วนคอหนากว่าและบรรเลงโดยเน้นการเคาะมากกว่า อันเป็นการปรับให้เข้ากับฤดูหนาวอันหนาวเย็นโดยตรง
หลังชมการแสดง ผู้เขียนก็ได้ลองเล่นไปนิดหน่อย ซึ่งครูผู้เชี่ยวชาญของผู้เขียนดูจะสนุกเป็นอย่างมาก ประสบการณ์นี้และสิ่งอื่น ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสงานฝีมือแบบดั้งเดิมของสึการุ ไม่ว่าจะเป็นการทำตะเกียบเคลือบแลคเกอร์หรือการลงสีโคมไฟ เนปุตะ (Neputa) รูปปลาทองอันเล็ก ต่างเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในหมู่บ้านแห่งนี้
・สึการุฮันเนะปุตะวิลเลจ (Tsugaru-han Neputa Village)
http://neputamura.com/en/
เมืองคุโรอิชิ (Kuroishi) ที่อยู่ไม่ไกลจากฮิโรซากิก็มีเทศกาลเนปุตะแบบสึการุที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นเดียวกัน โดยเป็นประเพณีที่ย้อนกลับไปถึงสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603–1867) ที่จะมีขบวนแห่รถลากมากกว่า 50 คันผ่านไปตามใจกลางเมืองเป็นประจำทุกปี แม้ว่าโดยทั่วไปกระดาษหลากสีสันที่ตกแต่งภายนอกตัวรถจะถูกส่งต่อหรือถูกทิ้งหลังหมดเทศกาล แต่ร้านในท้องถิ่นอย่าง IRODORI ก็ได้คันพบวิธีนำงานศิลปะแบบดั้งเดิมเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
ร้าน IRODORI ตั้งอยู่บนถนนนาคามาจิโคมิเสะ (Nakamachi Komise Street) ย่านการค้าที่สร้างขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน มีพื้นที่อันแสนอบอุ่นที่ผสมผสานระหว่างเวิร์กช็อปกับแกลอรี โดยมีการตกแต่งโต๊ะและผนังด้วยโคมไฟและพัดกระดาษหลากสีที่ทำขึ้นโดยใช้กระดาษจากรถลากในเทศกาล โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ทั้งแบบที่ทำสำเร็จแล้วหรือจะทำขึ้นเองก็ได้ สิ่งที่ต้องใช้มีแค่กาวและอุปกรณ์อีกเล็กน้อยเท่านั้น จึงเป็นกิจกรรมที่แทบจะไม่มีข้อผิดพลาดเลยและสามารถสัมผัสได้ถึงวัฒนธรรมสึการุในรูปแบบที่แสนพิเศษ
・IRODORI
https://www.facebook.com/irodorikuroishi
เขตอากิอุ (Akiu) ในเมืองเซนได (Sendai) จังหวัดมิยากิ (Miyagi) ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทบ่อน้ำพุร้อนชั้นเลิศหลายแห่งและช่องเขาไรไรเคียว (Rairai-kyo Gorge) อันงดงามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหมู่บ้านงานฝีมือแบบดั้งเดิมอากิอุ (Akiu Traditional Craft Village) อีกด้วย ที่นี่ก่อตั้งขึ้นในปี 1988 โดยเป็นแหล่งรวมช่างฝีมือหลากหลายผู้เชี่ยวชาญงานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงงานย้อมคราม ตุ๊กตาโคเคชิ งานไม้ และงานเครื่องรัก โดยนอกจากจะซื้อชิ้นงานสำเร็จได้แล้ว ลูกค้ายังสามารถลองสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้อีกด้วย
เซนไดทันสุ คุมะโนะโด (Sendai Tansu Kumanodo) มีความเชี่ยวชาญด้านการทำ ทันสุ (Tansu) หรือตู้เคลือบแลคเกอร์แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะมีขนาดและราคาเกินความคาดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วไปอยู่สักหน่อย แต่เหล่าช่างฝีมือของที่นี่ต่างยินดีช่วยเหลือลูกค้าในการทำตะเกียบเคลือบแลคเกอร์เป็นของตัวเอง ในโปรแกรมแบบประสบการณ์ตรงที่ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงนี้ ลูกค้าจะได้รับแท่งไม้ที่ยังไม่ได้ตกแต่งมาสองแท่ง ซึ่งจะนำมาตัด ขัดทราย และลงสี ก่อนที่จะเคลือบแลคเกอร์จากพืชจริงๆ ลงไป ซึ่งต้องใช้เวลาสองสามวันจนกว่าจะแห้ง ทั้งนี้ที่นี่มีบริการส่งตะเกียบที่ทำเสร็จแล้วทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
・เซนไดทันสุ คุมะโนะโด (Sendai Tansu Kumanodo)
http://sendai-kumanodou.com/
เมื่อขับรถจากอากิอุ (Akiu) เข้าไปในหุบเขาไม่ไกลก็จะได้พบกับโรงกลั่นเหล้ามิยางิเคียวของนิกกะวิสกี้ (Nikka Whisky’s Miyagikyo Distillery) ซึ่งเปิดทำการในปี 1969 โดยเป็นโรงกลั่นแห่งที่สองของทางบริษัท ทั้งนี้การมาชมที่นี่จะทำให้ทราบถึงเหตุผลที่ทำให้วิสกี้ของญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดและงานฝีมืออันเลื่องชื่อของญี่ปุ่นที่เห็นได้ชัดเจนในขั้นตอนอันยาวนานในการผลิตวิสกี้ชั้นดีของนิกกะ รวมถึงการใช้หม้อกลั่น Coffey แบบดั้งเดิมและการทดสอบอย่างเข้มงวด
ไม่ว่าจะดื่มวิสกี้หรือไม่ ไกด์ทัวร์ฟรีของที่นี่ก็มีสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับทุกคน โดยพนักงานจะนำผู้มาเยือนผ่านไปตามทัศนียภาพธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์เข้าไปในอาคารต่างๆ ซึ่งมีทั้งโรงกลั่นที่ยังคงมีหม้อกลั่นทำด้วยทองแดงขนาดใหญ่ตั้งอยู่ โรงต้ม และโรงบ่มที่มีการบ่มวิสกี้ชนิดต่างๆ ไว้ในถังไม้โอ๊กจากแคลิฟอร์เนีย ปิดท้ายด้วยโอกาสในการชิมวิสกี้และไวน์แอปเปิลของนิกกะ สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มเหล้าก็สามารถเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ได้
・โรงกลั่นเหล้ามิยางิเคียวของนิกกะวิสกี้ (Nikka Whisky’s Miyagikyo Distillery)
https://www.nikka.com/eng/
ก้าวใหม่แห่งประวัติศาสตร์ และประเพณี
แม้ว่าชาวโทโฮคุจะยังคงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และดำเนินประเพณีที่สืบทอดมาแต่อดีต แต่ก็มีองค์ประกอบแห่งการผสมกลมกลืนระหว่างความเก่ากับความใหม่อยู่ ดังจะเห็นได้จากอาหารท้องถิ่นอย่าง กิวตัน (ลิ้นวัว) ที่แต่เดิมจะเสิร์ฟด้วยการย่าง โดยปัจจุบันมีการนำมาแล่บาง ๆ แล้วนำไปลวกในเมนูหม้อไฟรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า กิวตันชาบูชาบู (Gyutan Shabushabu) หรือในสถาปัตยกรรมที่มีการปรับปรุงอาคารเก่า ๆ ในฮิโรซากิ (Hirosaki) ให้รองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ และการออกแบบอาคารใหม่ๆ ให้มีองค์ประกอบแบบในประวัติศาสตร์ในเขตโทโยมะ (Toyoma) จังหวัดมิยากิ (Miyagi)
ตัวอย่างเช่น ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยฮิโรซากิ (Hirosaki Museum of Contemporary Art) มีการแปลงโฉมอาคารโกดังอิฐที่เคยเป็นโรงกลั่นไซเดอร์ระดับอุตสาหกรรมให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่และร้านอาหาร โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดในเดือนมิถุนายนปี 2020 ซึ่งยังคงเก็บรักษาผนังสีดำและส่วนรองรับที่ทำด้วยเหล็กของเดิมเอาไว้ ควบคู่กับการนำกล่องใส่แอปเปิลมาสร้างสรรค์เป็นพื้นที่แกลอรีสไตล์โมเดิร์นที่จัดแสดงผลงานเชิงทดลองของศิลปินจากนานาชาติได้อย่างชาญฉลาด
・พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยฮิโรซากิ (Hirosaki Museum of Contemporary Art)
https://www.hirosaki-moca.jp/en/
ส่วน Cafe & Restaurant BRICK ในโกดังอิฐที่อยู่ติดกันนั้นก็เป็นมากกว่าร้านค้าและคาเฟ่ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนอกเหนือจากเมนูสไตล์ตะวันตกเต็มรูปแบบทั้งอาหารจานหลัก สลัด พาสต้า ของหวาน และเครื่องดื่มแล้ว BRICK ยังให้ความเคารพต่อรากเหง้าของโกดังด้วยน้ำไซเดอร์รสแอปเปิลแบบคราฟท์บริวของทางร้านเองอีกด้วย โดย A-Factory บริษัทผู้ผลิตไซเดอร์ยอดนิยมของอาโอโมริก็ยังมาทำไซเดอร์ทั้งแบบหวาน แบบดราย และแบบกึ่งหวานโดยกลิ่นในถังโลหะอยู่ที่นี่
・Cafe & Restaurant BRICK
https://hirosaki-brick.com/
ที่เชิงเขาอิวาเตะ (Iwate) ในบริเวณรีสอร์ทฮะจิมันไต นอร์ทเธิร์น แกรนด์ ฮะจิมันไต (Northern Grande Hachimantai) เป็นร้านอาหารตะวันตกแห่งใหม่ที่เปิดในเดือนกันยายนปี 2021 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับประทานอาหารสำหรับทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
พื้นที่รับประทานอาหารหลักมีความสว่างและกว้างขวาง โดยมีหน้าต่างบานใหญ่ที่มองเห็นทิวทัศน์แนวเนินขนาดย่อมของภูเขาอิวาเตะ (Mt.Iwate) โดยนอกเหนือจากจะเสิร์ฟอาหารเที่ยงและอาหารค่ำที่รังสรรค์จากวัตถุดิบเลิศรสในท้องถิ่นอย่างเนื้อหมูโทชูฉะและเนื้อวัวอิวาเตะแล้ว ที่นี่ยังมีบาร์ซึ่งมีสต็อคเครื่องดื่มอย่างดี และมีแม้แต่เวิร์กช็อปทำอาหารเพื่อการแบ่งปันวัฒนธรรมอาหารของอิวาเตะและส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในท้องถิ่นอีกด้วย
・Northern Grande Hachimantai (ノーザングランデ八幡平)
https://n-grande.com/
เขตโทโยมะ (Toyoma) ในเมืองโทเมะ (Tome) จังหวัดมิยากิ (Miyagi) เป็นเมืองใต้ปราสาทเก่าซึ่งมีการผสมผสานสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยเอโดะจนถึงปัจจุบันภายในระยะที่สามารถเดินได้อย่างสบาย แม้จะไม่มีตัวปราสาทอยู่แล้ว แต่ก็ยังคงมีกำแพงปูนสีขาว ประตูรั้วไม้เก่า และแม้แต่บ้านซามูไรบางแห่งหลงเหลืออยู่ ซึ่งการเป็นฉากถ่ายทำละครเช้าเรื่อง Okaeri Mone (ยินดีต้อนรับกลับบ้าน โมเน) ที่ฉายทางช่องโทรทัศน์ยอดนิยมของญี่ปุ่นอย่าง NHK ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมปี 2021 ก็มีส่วนดึงดูดแฟนละครที่ต้องการตามรอยละครเรื่องนี้ด้วย
เมืองแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านสมัยเมจิของจังหวัดมิยากิ (Miyagi) จากการที่มีโครงสร้างที่ได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดีจากสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868–1912) อยู่หลายแห่ง โดยสถานที่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ พิพิธภัณฑ์การศึกษาโทโยมะ (Toyoma Education Museum) อาคารโครงสร้างไม้อันโดดเด่นที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงเรียนประถมโทโยมะจินโจ ที่นี่สร้างเสร็จในปี 1888 โดย มิยะไดคุ (ช่างไม้ผู้ก่อสร้างวัดและศาลเจ้า) ซึ่งไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงเรียน และปัจจุบันตัวอาคารก็ได้รับการกำหนดให้เป็นทรัพย์สินสำคัญทางวัฒนธรรมของชาติ
・พิพิธภัณฑ์การศึกษาโทโยมะ (Toyoma Education Museum)
http://toyoma.co.jp/facilities-kyoiku/
ปัจจุบันเทคนิคที่เหล่า มิยะไดคุ (Miya-daiku) ใช้นั้นมีการนำไปใช้ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมและโรงละครโนห์ โมริบุไต (Traditional Performing Arts Museum/Mori Butai Noh Theater) ซึ่งเดินไปไม่ไกลจากหลังอาคารโรงเรียนเก่า ทั้งนี้ละครโนห์ของโทโยมะมีความรุ่งเรืองมากว่า 300 ปี และสถานที่ที่คุมะ เค็นโก เป็นผู้ออกแบบนี้ก็สร้างขึ้นในปี 1996 โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นอย่างไม้ ฮิบะ และหินชนวนตามธรรมชาติ การผสมผสานองค์ประกอบของดีไซน์แบบโมเดิร์นกับละครโนห์แบบดั้งเดิมที่ปรากฏอยู่ในโครงสร้างกลางแจ้งแห่งนี้ ได้รับการรังสรรค์ขึ้นให้เป็นสถานที่อันเปี่ยมมนต์เสน่ห์อย่างแท้จริง
・พิพิธภัณฑ์ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมและโรงละครโนห์ โมริบุไต (Traditional Performing Arts Museum/Mori Butai Noh Theater)
https://kkaa.co.jp/works/architecture/noh-stage-in-the-forest/
นี่แค่เริ่มต้น
ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku Region) อันกว้างใหญ่และหลากหลายแห่งนี้ขอเชิญชวนทุกท่านให้ไปค้นพบและกลับไปเยือน หากได้ลองย่างเท้าเข้าไปที่นี่แล้วจะต้องติดใจจนอยากกลับไปอีก ประวัติศาสตร์อันลุ่มลึก ประเพณีอันเปี่ยมชีวิตชีวา และทัศนียภาพอันตระการตา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ สู่เส้นทางที่น้อยคนจะได้ลองสัมผัส
บ่อน้ำพุร้อนลับที่แนะนำไปข้างต้นนี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น และอีกที่ที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้มในการไปเยือน ได้แก่ โรงแรมเซนไดอากิอุฮ็อตสปริง ซาคัน (Sendai Akiu Hot Spring Hotel Sakan) ในอากิอุอนเซ็น (Akiu Onsen) ซึ่งผสมผสานประเพณีนับพันปีเข้ากับสัมผัสแบบโมเดิร์นได้อย่างกลมกลืน
ในการเดินทางให้ครอบคลุมสถานที่ที่บรรยายไป ทางที่ดีอาจเริ่มต้นจากในโตเกียว (Tokyo) โดยให้มุ่งไปที่จังหวัดมิยากิ (Miyagi) เสียก่อน จากนั้นตามด้วยจังหวัดข้างเคียงอย่างอิวาเตะ (Iwate) ก่อนจะปิดท้ายการเดินทางที่จังหวัดอาโอโมริ (Aomori)
การเดินทางจากโตเกียว (Tokyo) ไปภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku Region) นั้นทำได้ง่าย เพราะสามารถเดินทางได้สะดวกโดยเครือข่ายรถไฟชินคันเชน (Shinkansen) ที่จริงแล้วการเดินทางจากโตเกียว Tokyo ไปเซนได (Sendai) นั้นใช้เวลาแค่ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ การเช่ารถขับจะช่วยให้สามารถท่องไปนอกเมืองต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและอิสระมากที่สุด โดยเฉพาะการแวะเวียนไปบ่อน้ำพุร้อนอันเงียบสงบนั่นเอง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิภาคโทโฮคุ โปรดเยี่ยมชม https://tohoku-japan.jp/th/