แบบนี้ก็มีด้วย! 7 ความเชื่อสุดแปลกของคนญี่ปุ่น
แม้ประเทศญี่ปุ่นจะดูเป็นประเทศที่ทันสมัยและมีเทคโนโลยีสุดล้ำมากมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังคงมีความเชื่อในหลายๆ เรื่อง ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน บ้างก็เป็นความเชื่อแปลกๆ และบ้างก็เป็นความเชื่อที่หากรู้ไว้ในฐานะนักท่องเที่ยวก็ไม่เสียหาย และทำให้เข้าใจวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นมากขึ้น จะมีความเชื่อเกี่ยวกับอะไรบ้างนั้นก็ไปดูกันเลย
By Japan Travel Editor1. ความเชื่อเรื่องตัวเลข
เลข 1 สำหรับคนญี่ปุ่นถือเป็นเลขดี ซึ่งมีความหมายโดยทั่วไปว่าการเริ่มต้น หรือการเป็นที่หนึ่ง โดยสังเกตได้จากร้านอาหารและธุรกิจต่างๆ ที่มักจะชอบใช้คำว่า "อิจิ" ซึ่งหมายถึงเลขหนึ่ง มาประกอบกับชื่อร้านหรือธุรกิจของตัวเองเพื่อให้มีความเป็นที่หนึ่งเสมอ
เลข 4 ถือเป็นเลขที่อัปมงคลที่สุดสำหรับชาวญี่ปุ่น เนื่องจากคำว่า “ชิ” ที่หมายถึงเลขสี่ในภาษาญี่ปุ่นนั้นพ้องกับคำที่แปลว่าความตาย โดยไม่ว่าจะทำอะไรก็จะต้องพยายามเลี่ยงเลขสี่ หรือจำนวนสี่ชิ้นอยู่เสมอ เช่นการซื้อดอกไม้ หรือซื้อขนมเป็นของฝากคนอื่น
เลข 5 ถือเป็นเลขดีอีกหนึ่งเลขสำหรับชาวญี่ปุ่น เนื่องจากคำว่า “โกะ” ที่หมายถึงเลขห้าในภาษาญี่ปุ่นถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำว่า “โกะเอ็ง” ซึ่งมีความหมายในทางที่ดีที่แปลว่า “ความสัมพันธ์ หรือการพบรัก” รวมถึงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นไปขอพรที่ศาลเจ้า ก็ยังนิยมโยนเหรียญ 5 เยนเพื่อให้สมปรารถนาอีกด้วย
เลข 9 เป็นเลขอัปมงคลอีกหนึ่งเลขในความเชื่อของชาวญี่ปุ่น เนื่องจากคำว่า “คุ” ที่หมายถึงเลขเก้าในภาษาญี่ปุ่นนั้นพ้องเสียงกับคำที่แปลว่าความเจ็บปวด หรือความทรมาน จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่ชาวญี่ปุ่นพยายามเลี่ยงเหมือนกับเลขสี่ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม
2. ปีชงและการแก้เคล็ด
ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าปีชงไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวในชีวิต และปีชงในแต่ละครั้งจะกินเวลาราว 3 ปี และปีชงสำหรับเพศหญิงและเพศชายนั้นจะแตกต่างกันอออกไป ส่วนความเชื่อโดยทั่วไปนั้นจะคล้ายกับคนไทย ที่เชื่อกันว่าเป็นปีที่เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย ไปจนถึงหนี้สินหรือเรื่องทุกข์ต่างๆ และเป็นช่วงเวลาที่ควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
โดยปีชงตามความเชื่อของคนญี่ปุ่นสำหรับเพศชายคือช่วงอายุ 25 ปี 42 ปี และ 61 ปี ส่วนเพศหญิงอยู่ที่อายุ 19 ปี 33 ปี และ 61 ปี
สำหรับการแก้เคล็ดปีชง โดยทั่วไปจะเป็นการไปขอพรที่ศาลเจ้าเพื่อปัดเป่าโชคร้ายต่างๆ และอาจมีการทำพิธีเพื่อแก้เคล็ดเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ก็เป็นการซื้อเครื่องรางไม่ว่าจะเป็นแบบกระดาษที่เรียกว่า “โอฟุดะ” หรือเครื่องรางเล็กๆ ที่เรียกว่า “โอมาโมะริ” สำหรับพกติดตัวเอาไว้ โดยหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเรื่องการแก้ชงสำหรับชาวญี่ปุ่นคือวัดโซซูจิ (Soshuji Temple) ในจ.โทชิงิ
3. ห้ามเหยียบขอบของเสื่อทาทามิ เพราะจะทำให้โชคร้าย
เสื่อทาทามิถือเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นบ้าน วัด หรือแม้แต่ร้านรวงต่างๆ แต่ชาวญี่ปุ่นเองก็มีความเชื่อว่าห้ามเหยียบไปที่บริเวณขอบของเสื่อทาทามิ เพราะคนที่เหยียบอาจต้องเจอกับโชคร้าย นอกจากนี้ บ้านของคนญี่ปุ่นบางบ้านยังมีการสลักตราสัญลักษณ์ของครอบครัวเอาไว้ที่บริเวณขอบเสื่อทาทามิ การเหยียบไปที่บริเวณนี้จึงเปรียบเสมือนการลบหลู่บรรพบุรุษของเจ้าของบ้านอีกด้วย
4. ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศเหนือ
ในงานศพของคนญี่ปุ่น ศพจะถูกตั้งไว้โดยหันหัวไปทางทิศเหนือ ทำให้คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าหากคนที่ยังมีชีวิตอยู่นอนหันหัวไปในทิศนี้ ก็จะเผชิญกับโชคร้าย หรืออาจจะเกิดเคราะห์ร้ายที่ถึงแก่ชีวิตได้เลย นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมีความเชื่อเรื่องดาวเหนือ ซึ่งถือเป็นดาวประจำทิศเหนือ และยังเป็นดาวแห่งความตาย ดังนั้นการนอนหันหัวไปทางทิศเหนือ เท่ากับเป็นการหันไปหาทิศแห่งความตาย จึงถือว่าเป็นสิ่งไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง
5. ห้ามทำความสะอาดบ้านในวันปีใหม่
การห้ามทำความสะอาดบ้านในวันปีใหม่ รวมถึงในวันมงคลต่างๆ ถือเป็นความเชื่อที่มีร่วมกันทั้งคนไทย คนจีน และคนญี่ปุ่น ซึ่งศาสนาชินโตเชื่อว่าวันปีใหม่นั้น ถือเป็นวันที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี รวมถึงเป็นวันต้อนรับเทพเจ้าอีกด้วย การทำความสะอาดบ้านในวันนี้จึงเปรียบเสมือนการปัดเอาโชคดีและความเป็นศิริมงคลต่างๆ ออกจากบ้าน และอาจทำให้ต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ ไปตลอดทั้งปีนั้นเลย
6. ห้ามตัดเล็บตอนกลางคืน
การห้ามตัดเล็บตอนกลางคืนตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นมีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน บ้างก็เชื่อว่าอุปกรณ์ที่ใช้ตัดเล็บในเวลานั้นจะมีพลังวิญญาณที่สามารถดึงดูดให้วิญญาณเข้ามาหาได้ จนอาจต้องเผชิญกับโชคร้ายต่างๆ และบ้างก็เชื่อว่าอักษรในภาษาญี่ปุ่นคำว่า “โย” ที่แปลว่า “กลางคืน” กับคำว่า “ซึเมะ” ที่แปลว่า “เล็บ” เมื่อเอามารวมกันจะออกเสียงเป็นได้ว่า “โยตสึเมะ” ซึ่งมีความหมายว่า “การตัดอายุให้สั้นลง”
7. ให้เอาเสื้อปิดสะดือในเวลาที่ฝนตกฟ้าร้อง
การให้เอาเสื้อปิดสะดือในวันที่ฝนตกฟ้าร้อง และมีฟ้าผ่า เป็นความเชื่อที่คนญี่ปุ่นใช้สอนเด็กๆ มาเป็นเวลานาน โดยมาจากความเชื่อเรื่องเทพเจ้าไรจิน ซึ่งเป็นเทพแห่งสายฟ้าตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีเพื่อนสนิทคือเทพไรจู ซึ่งเป็นเทพที่ชอบเข้าไปนอนในสะดือคน และเทพไรจินจะปลุกเทพไรจูด้วยการใช้ฟ้าผ่า
ดังนั้นถ้าเด็กคนไหนไม่อยากถูกฟ้าผ่ากลางสะดือ ก็ต้องปิดสะดือให้มิดชิดเพื่อไม่ให้เทพไรจูเข้าไปนอนได้ โดยเหตุผลเบื้องหลังความเชื่อนี้คือการสอนเด็กๆ ให้แต่งตัวอย่างมิดชิดในวันที่สภาพอากาศไม่ดีเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยนั่นเอง
ผู้เขียน: ชินพงศ์ มุ่งศิริ
เริ่มต้นทำงานเป็นช่างภาพอิสระหลังเรียนจบ เดินทางไปถ่ายภาพที่ประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้งจนครบทั้ง 4 ฤดูอันสวยงาม และเกือบครบทุกภูมิภาค มีผลงานภาพถ่ายตีพิมพ์ในไกด์บุ๊คระดับโลกอย่าง Lonely Planet ถึง 3 เล่ม คือ Discovery Japan, Japan และ Kyoto รวมถึงเว็บไซต์ท่องเที่ยวชั้นนำอย่าง National Geographic Traveler UK, BBC Travel, Travel+Leisure, TIME และอีกมาก
นอกจากการถ่ายทอดความสวยงามของประเทศญี่ปุ่นผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันยังหันมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทางตัวอักษรทั้งในฐานะนักเขียนและนักแปลควบคู่กันไปอีกด้วย