การปฏิบัติให้ถูกประเพณีเมื่อไปวัดหรือศาลเจ้า

วัดและศาลเจ้าญี่ปุ่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวเลือกมาเที่ยว แสดงให้เห็นถึงลักษณะทางศาสนาและวัฒนธรรมเก่าแก่ มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวญี่ปุ่น ดังนั้นการเข้าไปเยี่ยมชมวัดหรือศาลเจ้าจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวควรปฏิบัติตามให้ถูกต้อง
By Japan Travel Editorรู้จักความแตกต่างของวัดและศาลเจ้า

https://pixta.jp/
ธรรมเนียมปฏิบัติและขั้นตอนการไปไหว้พระและศาลเจ้าในญี่ปุ่นก็แตกต่างกันบ้างเนื่องจากวัดกับศาลเจ้านั้นก็มีความแตกต่างกัน ลองมาดูกันว่าทั้งสองแห่งต่างกันอย่างไร
1. คำลงท้ายชื่อ
- วัดลงท้ายด้วย ji หรือ tera หรือ dera
- ศาลเจ้าลงท้ายด้วย jingu หรือ jinja หรือ taisha
2. ทางเข้า
- หน้าศาลเจ้าเป็นเสาโทริอิ เมื่อเข้ามาก็จะเจอบ่อน้ำสำหรับล้างมือหรือบ้วนปากก่อนเข้าไปภายในศาลเจ้าเพื่อชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์
- หน้าวัดเป็นซุ้มประตู เมื่อเข้ามาจะเจอกระถางธูปขนาดใหญ่ที่ควันธูปจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปได้ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น
3. สิ่งสักการะ
- สิ่งสักการะบูชาของวัดจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือเจ้าแม่กวนอิม
- สิ่งสักการะบูชาของศาลเจ้าคือเทพเจ้าต่าง ๆ ที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละศาลเจ้า
พอจะรู้ลักษณะของวัดและศาลเจ้ากันแล้ว ต่อไปมาดูกันว่าเราควรปฏิบัติตามธรรมเนียมของแต่ละที่อย่างไร
การปฏิบัติตัวตามธรรมเนียมที่ถูกต้องในวัด

https://pixta.jp/
การล้างมือก่อนเข้าวัด เพื่อเป็นการชำระล้างตามธรรมเนียมญี่ปุ่น
- เมื่อถึงบริเวณหน้าซุ้มประตูทางเข้าให้โค้งคำนับเป็นการทำความเคารพก่อนเข้าไป
- เมื่อเจอบ่อน้ำตรงทางเข้าก็ใช้กระบวยตักน้ำขึ้นมาด้วยมือซ้ายล้างมือขวา และใช้กระบวยตักน้ำด้วยมือขวาล้างมือซ้าย
- น้ำที่เหลือเทรดใส่มือแล้วล้างปากโดยไม่ให้ปากสัมผัสกับกระบวย
- ถือกระบวยตั้งขึ้นเพื่อให้น้ำที่ยังเหลืออยู่ไหลลงมาล้างด้ามจับ
การจุดธูปไหว้พระ และการไหว้พระขอพรในวัด

https://pixta.jp/
- เดินไปตรงกระถางธูป จุดธูปและเทียนไหว้พระแล้วปักลงไป
- โบกควันจากกระถางธูปเข้าหาตัวเอง เพื่อเป็นสิริมงคล เสริมโชคลาภในด้านต่างๆ
- ยืนสงบนิ่ง โยนเหรียญ 5 เยนหรือ 100 เยนลงกล่องบริจาคหรือเรียกกันว่ากล่องไม้ไซเซ็นบาโกะ จากนั้นยืนโค้งคำนับหนึ่งครั้ง
- กรณีถ้ามีกระดิ่งให้สั่นกระดิ่ง และพนมมือขึ้นเพื่ออธิษฐานขอพร (ไม่จำเป็นต้องปรบมือ)
- เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วให้โค้งคำนับอีกรอบ
การปฏิบัติตัวตามธรรมเนียมที่ถูกต้องในศาลเจ้า

https://pixta.jp/
การเดินเข้าศาลเจ้าผ่านเสาโทริอิ และล้างมือก่อนเข้าศาลเจ้า
- หยุดยืนที่หน้าเสาโทริอิ โค้งคำนับ 1 ครั้งเพื่อทำความเคารพต่อเทพเจ้า
- เดินลอดผ่านเสาโทริอิบริเวณข้างซ้ายหรือข้างขวา ไม่ลอดผ่านตรงกลางเนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นทางผ่านของเทพเจ้า
- เมื่อเจอบ่อน้ำตรงทางเข้าก็ใช้กระบวยตักน้ำขึ้นมาด้วยมือซ้ายล้างมือขวา และใช้กระบวยตักน้ำด้วยมือขวาล้างมือซ้าย
- น้ำที่เหลือเทรดใส่มือแล้วล้างปากโดยไม่ให้ปากสัมผัสกับกระบวย
- ถือกระบวยตั้งขึ้นเพื่อให้น้ำที่ยังเหลืออยู่ไหลลงมาล้างด้ามจับ
การไหว้พระขอพรในศาลเจ้า

https://pixta.jp/
- เมื่อเดินมาถึงหน้าศาลเจ้าจะเห็นกล่องไม้ใหญ่ที่มีช่องแบ่งเป็นร่อง ให้โยนเหรียญ 5 เยนหรือ 100 เยนลงไปเพื่อเป็นการบริจาค แล้วดึงเชือกเพื่อสั่นกระดิ่ง
- โค้งคำนับ 90 องศา 2 ครั้ง ปรบมือเสียงดัง 2 ครั้งเพื่อเป็นการเรียกเทพเจ้า จากนั้นพนมมืออธิษฐานขอพร แล้วโค้งคำนับอีก 1 ครั้ง
- ขาออกก็เดินลอดเสาโทริอิและหันกลับไป โค้ง 1 ครั้งเพื่อเป็นการทำความเคารพ
เสี่ยงเซียมซีและซื้อเครื่องรางญี่ปุ่นเสริมดวง

https://pixta.jp/
ก่อนออกไปจริงๆ ถ้าเจอจุดเสี่ยงเซียมซีก็ลองเสี่ยงโชคดู หลังเสี่ยงเซียมซีแล้วตามธรรมเนียมปฏิบัติจะต้องนำใบเซียมซีติดตัวกลับบ้านไปด้วยเพื่อความโชคดี แต่ถ้าสมมติว่าเสี่ยงได้ใบไม่ดี ก็ให้นำไปผูกไว้ตรงบริเวณที่ทางวัดหรือศาลเจ้านั้นๆ กำหนด
สุดท้ายแล้วอย่าลืมแวะไปเลือกหาซื้อเครื่องรางกัน เครื่องรางในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอมาโมริ (Omamori) เป็นถุงผ้าขนาดเล็ก พกพาสะดวกสำหรับเป็นสิ่งคุ้มครองและเป็นที่พึ่งทางใจ ควรใส่ไว้ในกระเป๋าหรือกระเป๋าสตางค์ เครื่องรางยอดนิยมส่วนใหญ่ก็เป็นเครื่องรางที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ ความรัก การเรียน การงาน การค้าขาย ความร่ำรวย เป็นต้น โดยจะเป็นตัวอักษรเขียนไว้บนถุงเครื่องราง อย่างเช่น
交通安全 Kotsu anzen : ขอให้ขับขี่ปลอดภัย
健康祈願 Kenko kigan : ขอให้ไม่เจ็บป่วย ทุกวันมีความแข็งแรง
長寿祈願 Choju kigan : ขอให้มีสุขภาพดีและอายุยืน
商売繁盛 Shobai hanjo : ขอให้มีความเจริญมั่งคั่งทางการค้าขาย
恋愛成就 Renai joju : ขอให้มีความรักที่ดี
縁結び Enmusubi : ขอให้พบเนื้อคู่และครองคู่กันอย่างมีความสุข
学業成就 Gakugyo joju : ขอให้ประสบความสำเร็จทางการศึกษา
และอีกมากมาย แต่ละวัดและศาลเจ้าก็จะมีชื่อเสียงในเครื่องรางแต่ละประเภทไม่เหมือนกันด้วย ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวที่วัดและศาลเจ้าญี่ปุ่นก็หวังว่าจะเป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับทุกคน
ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย